Sunday, May 5, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป บทความแนะนำ

เกาะพระทอง แสนหวง และ…ห่วงใย

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 35
เรื่อง / ภาพ : นภันต์ เสวิกุล

“เกาะพระทอง” ตั้งอยู่ที่ อ.คุระบุรี จ.พังงา เป็นเกาะที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เรียนรู้วิถีชุมชน หรือท่องเที่ยวเชิงจิตอาสา CSR เพราะบนเกาะมีความสงบมีธรรมชาติที่ยังสมบูรณ์ ไม่ใช่เกาะแห่งแสงสี หรือการท่องเที่ยวแบบสะดวกหรูหราผู้สนใจข้อมูลท่องเที่ยวเกาะพระทองเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โทร. ๐ ๗๖๔๘ ๑๙๐๐-๒

เกาะพระทอง

แสนหวง และ…ห่วงใย

ช่วงชีวิตการทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เนิ่นนานเกิน ๓๐ ปี ทำให้มีโอกาสได้เดินทางไปโน่นมานี่ปีละหลายๆ เดือน …โดยส่วนตัวผมชอบหาดทรายชายทะเล และหลงใหลโลกสีคราม (ดำน้ำแบบ Scuba มา ๓๕ ปีเข้าไปแล้ว) และจะว่าไปก็มีส่วนอยู่ในคณะทำงานวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแถวๆ ภูเก็ต พังงา กระบี่ จนกลายเป็นที่ฝังใจ เพราะเคยเห็นด้วยตาตนเองมาตั้งแต่สมัยที่ชาวบ้านทั้งสามจังหวัดนี้ยังไม่รู้จักนักท่องเที่ยว แม้แต่ฝรั่งเองก็ยังไม่รู้จักหาดป่าตอง กะตะ กะรน และในช่วงปีเหล่านั้นก็ยังเคยไปปูเสื่อนอนอยู่บนเกาะพีพี มุกเม็ดงามของจังหวัดกระบี่ ในสมัยที่ยังไม่มีโรงแรมเลยสักแห่งมิพักต้องพูดถึงจังหวัดพังงา ถ้าเจมส์ บอนด์ 007 จะไม่ผ่านมาโฉบเอาเขาตะปู เขาพิงกัน ในอ่าวพังงาไปเป็นฉากในภาพยนตร์ ใครๆ ก็คงยังไม่รู้เลยเสียด้วยซ้ำว่าอยู่ส่วนไหนของโลก

แต่ถึงอย่างนั้น กว่าผมจะรู้จัก “เกาะพระทอง” ก็อีกนานหลายปีหลังจากนั้น เมื่อครั้งไปฝังตัวทำสารคดีเรื่อง “เมืองตะโกลา” ที่เชื่อว่าเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดมาแต่ครั้งที่เป็นส่วนหนึ่งของ “เส้นทางสายไหมทางทะเล” แล้วเราไปพบหลักฐานทางโบราณคดีแถวเกาะคอเขามิใช่น้อย ว่าเคยเป็นที่จอดเรือเพื่อรับน้ำจืด หรือแวะพักหลบมรสุม หรืออาจเป็นชุมทางการค้าระหว่างอินเดียตะวันออกกับนครศรีธรรมราชและไชยา แล้วเกาะที่อยู่ติดๆ กันกับเกาะคอเขานั่นก็คือเกาะพระทอง ซึ่งถึงทุกวันนี้ ชื่อนี้ก็ยังไม่เป็นที่คุ้นหูคุ้นปากของนักท่องเที่ยวชาวไทย ตลอดจนนักท่องเที่ยวนานาชาติเลย ซึ่งก็ขอภาวนาให้เป็นเช่นนี้ไปอีกนานแสนนาน เพราะถ้าพูดกันตรงๆ ผมก็ไม่เชื่อขี้หน้าใคร หรือราชการหน่วยไหน ว่าจะมีปัญญารักษาเกาะพระทองให้งดงามดังสภาพที่เหลืออยู่ หรือเป็นอยู่ในทุกวันนี้

การเดินทางไปยังเกาะแห่งนี้ไม่ได้ยากลำบากเกินไป เพียงแต่ตั้งหลักให้มาถึงจังหวัดพังงา แล้วเดินทางต่อไปยังพื้นที่ของคุระบุรี แล้วต่อเรือมายังเกาะพระทอง ถ้ามาถึงตอนเช้าๆ การแวะหาอาหารอร่อยระหว่างทางที่ขับรถผ่านก็เป็นความสุขที่จะได้ลิ้มรสขนมจีนแกงปู ห่อหมกภูเก็ต หรือแม้แต่ข้าวแกงปักษ์ใต้รสชาติจัดจ้าน

“เกาะพระทอง” ตั้งอยู่ใน อ.คุระบุรี จ.พังงา มีพื้นที่ราว ๑๐๒ ตารางกิโลเมตร ถือเป็นเกาะใหญ่อันดับ ๕ ของประเทศ แต่เพราะตำแหน่งของเกาะแนบชิดอยู่กับแผ่นดินใหญ่มีระยะที่ห่างจากฝั่งไม่มากนัก ถ้าไม่สังเกตก็อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบริเวณนี้เป็นเกาะ ผู้คนทั่วไปจึงไม่ค่อยรู้จักหรือให้ความสำคัญนักพื้นที่ส่วนใหญ่บริเวณส่วนกลางของเกาะถูกกันไว้เป็น “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเกาะระ-เกาะพระทอง” ส่วนชาวบ้านที่อาศัยบนเกาะรวมตัวกันชุมชนเล็กๆ ด้านทิศเหนือ ใกล้อำเภอคุระบุรี และด้านใต้ ห้อยลงมาเกือบถึงอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ผู้ต้องการไปเยือนสามารถเลือกได้ว่าจะเดินทางไปเริ่มต้นที่บริเวณไหนเพื่อนั่งเรือต่อไปยังชุมชนใดของ

เกาะ ซึ่งการเดินทางส่วนใหญ่ก็มักใช้ระยะเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ไม่ ๒๐ นาที ไปจนถึง ๑ ชั่วโมงก็จะถึงปลายทางผมเองแรกๆ ก็ยังคุ้นเคยที่จะเดินทางไปพักที่กระท่อมมอแกน ซึ่งต่อมาได้รับผลกระทบจากสึนามิ ก็เลยไม่ค่อยได้กลับไปทางนั้นแต่ชอบที่จะไปบ้านทุ่งละอองเพื่อที่จะขึ้นเกาะทางด้านใต้ แถวๆ บ้านเกาะคอเขา ซึ่งมีบ้านพรรคพวกที่เขาอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ ทำ Homestay ชื่อบ้านเทพอมร ทางด้านใต้ของเกาะ ก็เป็นบ้านพักธรรมดาๆ นี่ละ แต่อาหารการกินไม่ธรรมดาเลย ไปทีไรเขาก็ต้อนรับเป็นอย่างดี พาไปดูนี่ดูนั่น ไปจับปูแทงกุ้งกินกันตามยถากรรม (ดูน่าสงสาร)

ไปเกาะพระทองหลายๆ ครั้งเข้าก็คุ้นเคยจดจำได้ว่า ครั้งที่ไปแรกๆ เทียบกับไปหลังเหตุการณ์สึนามินั้น เกาะพระทองเปลี่ยนไปไม่ใช่น้อย และแน่ละ การโดนคลื่นยักษ์ปะทะเข้ามาทางด้านติดทะเลอันดามัน รวมทั้งซอกซอนเข้ามาตามแนวคลองที่เชื่อมต่อกับทะเลเปิด ย่อมส่งผลต่อทั้งสภาพภูมิประเทศตลอดจนพันธุ์พืชชนิดต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายอย่างเปลี่ยนไป เช่นสนทะเล… อยู่ดีๆ ก็งอกงามมาขึ้นเป็นแนวกว้างยาวนับกิโลเช่นเดียวกับป่าเสม็ดขาวที่งอกงาม งดงามขึ้นมาอย่างอลังการ ถือเป็นความสวยอย่างมหัศจรรย์ เป็นของขวัญจากทะเลที่มาแต่งแต้มเพิ่มคุณค่าให้เกาะพระทอง

ด้วยความที่เคยสำรวจความเสียหายจากเหตุการณ์สึนามิ ทำให้พอจะนึกภาพออกว่าเมื่อคลื่นยักษ์สาดกระจายไปทางไหน เมล็ดพืชก็ลอยตามน้ำไปทางนั้น ส่วนที่อยู่ไม่ได้ก็จมโคลนตายไป แต่ถ้าไปจมโคลนจมเลนเอาตรงที่ชอบ ก็อยู่รอดงอกงามขึ้นมาเป็นสังคมพืชใหม่ แนวไม้แปลกๆ เกิดขึ้นในป่าชายหาดป่าชายเลน หรือป่าดิบทะเลบนเกาะพระทองที่เกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากคลื่นสึนามิ ก็อยู่ในลักษณะที่ว่านี้ ล้วนเป็นความแปลกตาน่าสนใจยิ่ง เมื่อผสานเข้ากับสังคมพืชดั้งเดิมที่มีทั้งป่าชายหาด ป่าพรุ ป่าเสม็ด ตลอดจนพืชอิงอาศัยและดอกกล้วยไม้หายาก ที่ต่างอวดช่อหลากสีสันในแต่ละฤดูกาล ก็ได้กลายเป็นความโดดเด่นของเกาะพระทองอย่างยากที่จะหาพื้นที่ใดมาเทียบได้

เดินทางเข้าไปถึงพื้นที่แล้ว ก่อนอื่นก็ต้องเข้าที่พัก ตั้งหลัก และกินอาหารอร่อยๆ แบบว่าเก็บผักหญ้าเอาแถวๆ นั้นมาปรุงให้กินสักมื้อหนึ่งก่อน…จะหาได้สักกี่แห่งเชียวในประเทศไทยที่ยังคงบรรยากาศเช่นนี้ อิ่มหนำสำราญแล้ว ก่อนจะออกเดินทางไปไหนๆ ก็ทำตัวให้ทะมัดทะแมงสักหน่อย เพราะเราจะไปในวันแดดแรง ต้องเตรียมให้พร้อมทั้ง

แว่นตากันแดด หมวกปีกกว้าง และน้ำดื่ม (อย่าลืมติดถุงขยะเล็กๆ ติดตัวไปด้วย) พาหนะที่จะน้ำเราออกไปสัมผัสความแปลกตาน่าชมของเกาะพระทองไม่ได้หรูหราอะไรเป็นรถอีแต๊กปรับอากาศแบบลมโกรกทุกทิศทาง ตัวรถและที่นั่งเป็นไม้ โยกเยกหนีบเนื้อได้ ดังนั้น ควรเพิ่มความระมัดระวังไว้สักหน่อยก็จะปลอดภัย รวมทั้งต้องรู้ว่าอาจกระโดกกระเดกถึงตกรถเอาง่ายๆ ก็อย่ามัวเพลินชี้ชวนกันถ่ายภาพ …พร้อมแล้วก็ไปกันเถอะ

เดินทางท่องเที่ยวบนเกาะพระทองให้สนุก ได้รู้เยอะเห็นแยะ ก็ต้องเดินทางลึกเข้าไปในอุทยานแห่งชาติเกาะระ-เกาะพระทอง ซึ่งทุกวันนี้ยังเป็นพื้นที่ซ้อนทับอยู่

กับถนนที่มีอยู่เส้นเดียว เป็นถนนซีเมนต์แคบๆ เป็นเส้นชีวิตของผู้คนบนเกาะ สำหรับพาลูกไปส่งโรงเรียน ไปซื้อกับข้าว หรือไปท่าเรือเพื่อติดต่อกับโลกภายนอก เขาเล่าให้ฟังว่า ขับขี่ได้สบายก็แต่เฉพาะหน้าแล้งส่วนในหน้าฝน จะใช้ได้ตลอดเส้นทางหรือไม่นั้นยังต้องฝากไว้กับโชค เพราะทางส่วนใหญ่อยู่บนเส้นทางธรรมชาติที่เป็นทรายเนื้อละเอียดสีขาวสะอาดกว่าหาดทรายไหนๆ ในประเทศไทย แต่บางครั้งก็อาจมีน้ำท่วมเป็นระยะๆ หรืออาจติดหล่มทรายถึงกับใช้สัญจรไม่ได้ติดต่อกันหลายๆ วัน ถ้าเป็นมอเตอร์ไซค์ชาวบ้านนี่ก็ยังพอลัดเลาะไปได้

ตามลำต้นเสม็ดหลายๆ ต้นมีกล้วยไม้ พืชอิงอาศัยต่างๆ มอส ไลเค่น ตะไคร่น้ำ ขึ้นอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน อีกทั้งยังมีเอื้องปากนกแก้ว กล้วยไม้พันธุ์หายากให้ชมกันบนเกาะแห่งนี้

การเดินทางของเราผ่านเข้าไปในผืนป่าพรุสลับกับทุ่งหญ้าอันกว้างใหญ่ มีทั้งแอ่งน้ำใสและเนินทรายสูงต่ำ และกลุ่มต้นไม้ที่เคยเห็นคุ้นตาสมัยเด็กๆ ทั้งกระพ้อ หมากชนิดต่างๆ เฉพาะอย่างยิ่งเหลาชะโอนดงใหญ่ๆอย่างนี้ เคยเห็นก็แต่ในป่าฮาราลาล่า หรือริมแม่น้ำตากใบในสมัยก่อน แต่เดี๋ยวนี้ก็แทบจะไม่เหลือให้เห็นแล้ว…

ยิ่งลึกเข้าไปก็ยิ่งตื่นตาตื่นใจกับความหลากหลายและขนาดของต้นไม้ เช่นพะยอมขนาดหลายคนโอบ ส่งกลิ่นหอมยวนใจ เฉพาะอย่างยิ่ง การที่ได้เห็นป่าเสม็ดขาวใหญ่โตกว่าที่ไหนๆ ที่เคยเห็นมาในชีวิต ครอบคลุมพื้นที่กว่าหมื่นไร่ ถือเป็นหนึ่งในไฮไลต์อันโดดเด่นของเกาะพระทอง

About the Author

Share:
Tags: สัตว์น้ำ / สัตว์ทะเล / ธรรมชาติ / พังงา / สิ่งแวดล้อม / vacation / travel / ฉบับที่ 35 / ทะเล / เกาะพระทอง / เที่ยว / คุระบุรี / สัตว์ / เกาะ / สัตว์ป่า / ท่องเที่ยวเชิงจิตอาสา / ท่องเที่ยว /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ