Saturday, May 18, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป บทความแนะนำ

เกาะพระทอง แสนหวง และ…ห่วงใย

ป่าเสม็ดขาว สวยอย่างนี้ไม่มีที่ไหนอีกแล้ว สูงต่ำเท่าๆ กันอายุไม้ก็น่าจะไล่เลี่ยกัน เป็นความงดงาม คือความสุดมหัศจรรย์แห่งความงามกว่าที่ไหนๆ

หลายอย่างเปลี่ยนไป เช่น สนทะเล… อยู่ดีๆ ก็งอกงามมาขึ้นเป็นแนวกว้างยาวนับกิโล เช่นเดียวกับป่าเสม็ดขาวที่งอกงาม งดงามขึ้นมาอย่างอลังการ ถือเป็นความสวยอย่างมหัศจรรย์ เป็นของขวัญจากทะเลที่มาแต่งแต้มเพิ่มคุณค่าให้เกาะพระทอง

กวางม้า เอกลักษณ์ของเกาะพระทอง เคยมีอยู่มากมายแต่ก็ถูกรบกวนและถูกล่าจากชาวบ้านจนมีจำนวนน้อยลงในที่สุด ได้เกิดข้อตกลงกันในหมู่ชาวบ้านว่าจะเลิกล่ากวางเพื่อช่วยสงวนรักษากวางชนิดนี้สืบทอดไปยังอนุชนรุ่นหลัง

บนเกาะพระทอง นอกจากจะมีต้นไม้แปลกๆ ให้ได้ดูแล้ว ก็ยังมีสัตว์นานาพันธุ์ บางอย่างเป็นสัตว์ป่าหายาก อย่างเช่นนกตะกรุมฝูงสุดท้ายของประเทศ และนกอื่นๆ อีกเกือบ ๑๔๐ ชนิด ทั้งนกป่า นกน้ำ ที่โดดเด่นก็อย่างเช่น กานน้ำ เหยี่ยวแดง กระสานวล นกปากซ่อม รวมถึงนกหายากอย่างฝูงนกแก๊กนับสิบนับร้อย (วันที่ไปถึงที่พัก ปรากฏว่าต้นไทรเหนือบ้านพักกำลังออกลูกเต็มต้น จึงได้ต้อนรับฝูงนกแก๊กที่ผลัดกันเข้ามากินตลอดทั้งวัน ทุกวันที่เราพักอยู่) รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหลายชนิดดำรงชีวิตพึ่งพิงระบบนิเวศบนเกาะพระทอง เช่น หมูป่า กวางม้า

นับเป็นความโดดเด่นที่ตอกย้ำถึงลักษณะเฉพาะและความหลากหลายทางธรรมชาติของเกาะพระทองประสาช่างภาพ พอแดดแรงเลยสิบโมงเช้า ก็มักเก็บกล้อง กลับที่พักก่อน สักบ่ายสามโมงค่อยว่ากันใหม่ ใครอยากสนุกและไม่กลัวแดดก็ลองชวนขาวบ้านออกไปหาอาหารทะเลตามแบบฉบับที่ชาวเกาะพระทอง ที่พวกเขายังคงดำรงชีวิตโดยใช้ภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ วาง “อวนทบหาด” หาปลากินกันได้ง่ายๆ อย่างน่าประหลาดใจตะวันชายบ่ายคล้อย ออกไปเที่ยวกันอีกสักรอบ เข้าสู่ Hi-light ของการท่องเที่ยวบน

เกาะพระทอง นั่นคือเดินทางลึกเข้าไปในเขตภูมิประเทศที่เป็นทุ่งหญ้าสะวันนา ที่มีอยู่เพียง ๒ แห่งในประเทศไทย (มั้ง?) คือเป็นทุ่งหญ้าใบยาว สูงเกือบถึงต้นขาสลับป่าโปร่ง ซึ่งมีความงดงามเป็นพิเศษ เมื่อแสงอาทิตย์ในยามใกล้ตกดินสาดแสงสีส้มแดง เปลี่ยนสีทุ่งหญ้าให้กลายเป็นสีทองแวววับ และในบางห้วงเวลาสายลมพัดผ่านใบหญ้าพลิ้วเป็นระลอกราวกับคลื่นสีทองแสนตระการตา นี่คือภาพแห่งความทรงจำของผู้ที่ได้เห็น ที่พากันกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่านี่คือภาพ “แสนงาม”

ป่าโกงกางบนบนเกาะพระทองสวยสมบูรณ์แบบขึ้นเบียดเสียดกันอย่างแน่นขนัด เป็นทั้ง “ปราการธรรมชาติ” และ “แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน”
เฉพาะอย่างยิ่ง ที่เป็นขวัญใจของผู้มาเยือนที่ต่างไปรอชมบรรยากาศอันตระการตาของทั้งหญ้าสีทองงามอร่ามสุดสายตาที่เริ่มต้นตั้งแต่แสงแรกของตะวันและอีกครั้งในช่วงย่ำสนธยาที่ดวงอาทิตย์ใกล้จะลับฟ้า
ชีวิตบนเกาะพระทองเรียบง่ายอยู่ง่าย และกินง่าย เมื่ออยากจับปลาก็เพียงนำตาข่ายผืนเล็กๆ ลงไปกาง…เดินลุยน้ำออกไปลึกสักแค่เอวแล้วเดินลากอวนขนานไปกับฝั่งสัก ๔๐-๕๐ เมตร ก็เดินลากอวนกลับขึ้นฝั่งมาปลดปลาได้คราวละมากๆทำครั้งเดียวพอกินไป ๒-๓ วัน
ด้านตะวันออกของเกาะพระทองเป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ได้ถูกบุกรุกทำลายดังเช่นที่อื่น จึงคงสภาพเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนตามธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์มากถือเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญ เป็นคลังอาหารตามธรรมชาติชั้นเลิศของชาวเกาะ เพราะมีทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา โดยเฉพาะกับ “ปูดำ” ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่โดดเด่นให้ชาวบ้านได้จับกินและจับขาย
ถ้าใครอยากไปเที่ยวเกาะพระทอง ควรมีวันสบายๆ สัก ๓ คืนกำลังดี เพราะทำให้ได้สัมผัสกับความสุขสงบของบรรยากาศแสนเพลิน ที่สำคัญ ท่ามกลางความเงียบ มีแต่เสียงลม เสียงคลื่น นกร้อง… เท่านั้นจริงๆ
ไปอยู่บนเกาะพระทอง ๓ วัน ไปดูเขาวางลอบวาง “กัด” ที่รูปร่างหน้าตาเหมือนกรงดักหนู เอาไปหย่อนทิ้งน้ำไว้ไม่กี่ชั่วโมงก็กู้ขึ้น ได้ปูดำวันละ ๒๐-๓๐ ตัว เราก็เลือกเอาแต่ตัวกำลังกินมากิน หรือเอาไปขายส่วนตัวที่ยังไม่ได้ขนาดก็ปล่อยกลับลงน้ำไปวันข้างหน้าค่อยมาเจอกันใหม่
กุ้งกุลาขนาด ๔-๕ ตัวกิโลหาได้ง่าย (อย่างยิ่ง) ตามแหล่งน้ำที่น้ำทะเลท่วมถึงบนเกาะพระทองแต่ต้องรอค่ำๆ หน่อย เขาถึงจะขึ้นมานอนเกยตลิ่งเอาไฟไปส่องเห็นตาแดงๆ สวนกลับมาก็หาทางจับเอาด้วยวิธีต่างๆ คืนหนึ่งก็ได้หลายกิโลเอาการ

เกาะพระทอง อาจจะเป็นเกาะหรือแผ่นดินสุดท้ายของประเทศที่รวบรวมความงดงามความหลากหลายทางชีวภาพ ความโดดเด่นของพันธุกรรมพืช สัตว์หลายชนิดที่ควรค่าแก่การสงวนรักษาไว้ให้เป็นมรดกของชาติ ของโลก เอาไว้เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย…

เกาะพระทอง ทอดตัวสงบนิ่งแนบชิดกับธรรมชาติอยู่อย่างนี้มาเนิ่นนานนับเนื่องด้วยศตวรรษ ปราศจากการรบกวนของผู้คนรอบข้าง ด้วยเหตุผลเดียว… “ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีนาประปา” จึงไม่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนหรือนัพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลาย และเป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งว่าในปี ๒๕๖๒ นี้ เมื่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้นำไฟฟ้าขึ้นไปบนเกาะพระทองแล้วอะไรจะเกิดขึ้น?

About the Author

Share:
Tags: สัตว์น้ำ / สัตว์ทะเล / ธรรมชาติ / พังงา / สิ่งแวดล้อม / vacation / travel / ฉบับที่ 35 / ทะเล / เกาะพระทอง / เที่ยว / คุระบุรี / สัตว์ / เกาะ / สัตว์ป่า / ท่องเที่ยวเชิงจิตอาสา / ท่องเที่ยว /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ