Saturday, May 18, 2024
ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

บ๊ะจ่าง หรือขนมจ้าง อาหารแห่งความรักษ์

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 35
เรื่อง : ฬียากร เจตนานุศาสน์
ภาพประกอบ : วิชาญ ชัยรัตน์

บ๊ะจ่าง หรือขนมจ้าง อาหารแห่งความรักษ์

เรื่องราวในวัฒนธรรมจีนเป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตคนไทยอย่างใกล้ชิด ถึงช่วงปีใหม่ ไหว้เจ้า วันตรุษ ไหว้พระจันทร์วันสารท หรือไหว้บรรพบุรุษของคนจีน ไม่ว่าวันไหน ก็ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์ไปด้วยกันกับเรา เพราะคนจีนกับไทยนั้นใกล้ชิดผูกพันกันมายาวนาน และในเดือน ๕ เป็นอีกเดือนหนึ่งที่มีเทศกาลสำคัญของคนจีนคือเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง…หรือขนมจ้างข้าวเหนียวที่ปรุงรสใส่หมูใส่เห็ดหอมและไข่แดงห่อด้วยใบไผ่นึ่งร้อนๆ และอร่อย เรารู้เพียงแค่นั้น แต่คราวนี้เราจะทำความรู้จักบ๊ะจ่างกันให้มากกว่านั้น

อาหารทุกอย่างมีที่มา…
บ๊ะจ่างก็เช่นกัน


สำหรับความเป็นมาของอาหารชนิดนี้ต้องย้อนเล่าไปถึงประวัติของเทศกาลบ๊ะจ่างก่อนเลย เพราะอาหารชนิดนี้เกิดมาเพื่อเทศกาลนี้โดยเฉพาะ ก่อนจะแพร่หลายไปเป็นอาหารที่สามารถรับประทานได้ไม่จำกัดเฉพาะในช่วงเทศกาลเท่านั้นอีกต่อไป นั่นก็เพราะพอใครได้ชิมครั้งแรกก็ติดใจในรสชาติที่มีความหอมกลมกล่อม มีเอกลักษณ์ และสามารถอิ่มได้แทนอาหารมื้อหลักอย่างง่ายๆในเวลาที่ไม่มีเวลากับมื้ออาหารมากนัก แถมสารอาหารครบหมวดหมู่ และที่สำคัญอีกอย่างคือเป็นอาหารที่เราคงทำเองได้ไม่ง่ายนักเพราะเอกลักษณ์สำคัญของขนมชนิดนี้ก็คือต้องห่อด้วยใบไผ่ขนาดใหญ่ และการห่อนั้นก็ต้องเป็นคนมีฝีมือที่จะห่อ และหากใครสามารถทำได้ทั้งสองอย่างคือทำบ๊ะจ่างได้อร่อย ห่อบ๊ะจ่างด้วยใบไผ่ได้สวย ก็เตรียมเปิดร้านรอขายในช่วงเทศกาลไหว้บ๊ะจ่างที่จะมีขึ้นในเดือนห้าของทุกปีไว้ได้เลย

จากการค้นคว้าและสืบหาในหลายแหล่งข้อมูล มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือพอให้สรุปได้ว่าตำนาน “บ๊ะจ่าง” ของชาวจีนแผ่นดินใหญ่มีความแตกต่างจากตำนานของชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในเมืองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันค่อนข้างมาก เรื่องราวที่มาของเทศกาลบ๊ะจ่างจากประเทศจีนนั้นเกิดขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงนักกวีผู้มีความสามารถและยังเป็นขุนนางผู้ซื่อสัตย์ รักชาติ จงรักภักดียึดถือคุณธรรม และชอบช่วยเหลือชาวบ้านแห่งรัฐฉู่ ชื่อว่า ชูหยวน (Qu Yuan)

แต่คนดีมีคุณธรรมก็ต้องมีฝ่ายตรงข้ามที่คิดไม่ซื่อคอยสกัดแข้งสกัดขาเป็นเรื่องธรรมดา อาจเพราะไปขัดผลประโยชน์คนชั่วเข้าในที่สุด ชูหยวนถูกขุนนางกังฉินใส่ร้ายจนถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกเนรเทศออกนอกเมือง หลังจากนั้นไม่นาน รัฐฉู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ผู้หูเบาและขุนนางทรราชจึงถูกโจมตีโดยรัฐฉินที่เข้มแข็งกว่าจนล่มสลายในที่สุด ทำให้ชูหยวนเสียใจเป็นอย่างมาก จึงแต่งบทกวีพรรณนาความน้อยเนื้อต่ำใจที่ถูกใส่ร้ายจนทำให้บ้านเมืองล่มสลายต้องกลายเป็นคนสิ้นชาติ ชูหยวนตัดสินใจกระโดดน้ำฆ่าตัวตายที่แม่น้ำเปาะล่อกัง (บางตำรากล่าวว่าเป็นแม่น้ำแยงซีเกียง) ในวันที่ ๕ เดือน ๕

ต่อมาเมื่อชาวบ้านที่ประทับใจความซื่อสัตย์และรักชาติของชูหยวนทราบเรื่อง จึงพากันห่อเสบียงออกเรือตามหาเพื่อจะนำร่างของเขากลับมาประกอบพิธีให้อย่างสมเกียรติระหว่างทางก็นำเสบียงที่นำติดตัวมาไม่ว่าจะเป็นข้าวปั้น หรือไข่ต้มหย่อนลงในน้ำเพื่อหวังให้พวกปูปลากิน จะได้ไม่ไปกัดกินร่างไร้วิญญาณของชูหยวนให้เสียหาย จากนั้นทุกปีเพื่อเป็นการระลึกถึงความดีของกวีผู้รักชาติเมื่อถึงวันที่ ๕ เดือน ๕ ชาวบ้านจะนำอาหารโปรยลงในแม่น้ำเปาะล่อกังเพื่อเป็นการเซ่นไหว้ดวงวิญญาณชูหยวน

เมื่อทำมาได้สองปี มีชาวบ้านผู้หนึ่งฝันเห็นชูหยวนในชุดอันสวยงาม และได้กล่าวขอบคุณชาวบ้านที่นำอาหารไปโปรยเพื่อเซ่นไหว้ แต่ชูหยวนบอกว่าอาหารเหล่านั้นได้ถูกสัตว์น้ำกินเสียจนหมด เนื่องจากบริเวณนั้นมีสัตว์น้ำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชูหยวนจึงแนะนำให้นำอาหารเหล่านั้นห่อด้วยใบไผ่หรือใบจากก่อนแล้วค่อยนำไปโยนลงน้ำในปีต่อมาชาวบ้านต่างก็ทำตามที่ชูหยวนแนะนำ ชูหยวนก็มาเข้าฝันชาวบ้านอีกว่าได้กินมากหน่อย แต่ก็ยังโดนสัตว์น้ำมาแย่งไปกินได้ ชาวบ้านต้องการให้ชูหยวนได้กินอาหารที่พวกเขาเซ่นไหว้ไปให้อย่างอิ่มหนำสำราญ จึงถามชูหยวนว่าควรทำเช่นไรดีได้คำแนะนำว่าเวลาที่จะนำอาหารไปโยนลง

แม่น้ำให้ตกแต่งเรือเป็นรูปมังกร เมื่อสัตว์น้ำทั้งหลายเห็นก็จะนึกว่าเป็นเครื่องเซ่นของพระยามังกร จะได้ไม่กล้ามากิน จึงทำให้เป็นที่มาของประเพณีการไหว้ขนมจ้าง(ขนมบ๊ะจ่าง) และประเพณีการแข่งเรือมังกรมาจนถึงปัจจุบัน

เอกลักษณ์สำคัญของขนมชนิดนี้ก็คือ ต้องห่อด้วยใบไผ่ขนาดใหญ่ และการห่อนั้นก็ต้องเป็นคนมีฝีมือที่จะห่อ และหากใครสามารถทำได้ทั้งสองอย่างคือทำบ๊ะจ่างได้อร่อย ห่อบ๊ะจ่างด้วยใบไผ่ได้สวยก็เตรียมเปิดร้านรอขายในช่วงเทศกาลไหว้บ๊ะจ่างที่จะมีขึ้นในเดือนห้าของทุกปีไว้ได้เลย

แต่เทศกาลบ๊ะจ่างของชาวจีนในประเทศไทยไม่มีการจัดแข่งเรือมังกร เพราะตามตำนานของชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ประเทศไทยเล่าไว้อีกแบบว่าตำนานบ๊ะจ่างนั้นเกิดขึ้นในยามบ้านเมือง

กำลังมีภัยจากสงคราม ยามออกรบเสบียงของทหารจะทำจากข้าวเหนียวและห่อในใบไผ่ให้แน่นเพื่อเก็บไว้กินได้นานๆ เมื่อข้าศึกฝ่ายตรงข้ามแฝงกายเข้ามาเป็นสายลับเพื่อหาทางโจมตีเมือง เหล่าทหารที่ทราบเรื่องจึงใช้วิธีเขียนสาส์นลับ วางแผนกลศึกต่างๆ ใส่จดหมายแล้วยัดลงในบ๊ะจ่างแทนการส่งโดยนกพิราบเพื่อลวงข้าศึก และรักษาความลับทางการทหารไว้ไม่ให้ข้าศึกไหวตัวทัน จนบ้านเมืองพ้นวิกฤต สามารถปราบไส้ศึกชนะสงคราม และกลับมาสงบสุขดังเดิม

ชาวเมืองจึงสำนึกในบุญคุณและยกให้บ๊ะจ่างเป็นของศักดิ์สิทธิที่นำความสงบสุขกลับมาให้แก่บ้านเมือง เมื่อถึงวันที่ ๕ เดือน ๕ ของทุกปีชาวบ้านจึงผูกบ๊ะจ่างเพื่อทำการสักการะกราบไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษเพื่อขอบคุณที่ช่วยให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุขสืบต่อกันมา เรียกว่าไม่ว่าตำนานแบบไหนก็มีความดีงามยกย่องเชิดชูอาหารนามบ๊ะจ่างนี้ในทุกวันที่ ๕ เดือน ๕ ของทุกปีเช่นกัน และแน่นอนว่าในปีนี้ถ้าใครได้อ่านบทความนี้แล้วได้รู้จักที่มาของบ๊ะจ่างมากขึ้น อาจทำให้นึกอยากออกไปหาซื้อบ๊ะจ่างมากินแม้จะล่วงเลยช่วงเทศกาลมาก็เป็นได้

ส่วนผสมและเครื่องปรุงของบ๊ะจ่าง

บ๊ะจ่างเป็นอาหารที่มีเอกลักษณ์ของรูปลักษณ์ภายนอกที่ซ่อนความเฉพาะตัวไว้ภายใน ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะหน้าตาของบ๊ะจ่างที่แม้ในปัจจุบันอาจมีคนทำเป็นอาชีพเพิ่มมากขึ้น การปรับหรือเปลี่ยนแปลงวัตถุดิบบางอย่างก็อาจมีบ้างที่ต่างไปจากเดิม กระนั้นหน้าตาของบ๊ะจ่างที่เห็นจากภายนอกต่างหากที่ยากจะเปลี่ยนไป เพราะเนื้อแท้ของความเป็นบ๊ะจ่างอยู่ที่การห่อด้วยใบไผ่และผูกเชือกเท่านั้น ที่สำคัญใบไผ่ที่นำมาใช้ห่อบ๊ะจ่าง ต้องเป็นไผ่พันธุ์ที่มีใบขนาดใหญ่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งถ้าใครต้องการให้มีคุณภาพก็ต้องนำเข้ามา

จากประเทศจีนเท่านั้นวัตถุดิบหลักของการทำบ๊ะจ่าง สิ่งที่ขาดไม่ได้จึงคือใบไผ่ จากนั้นก็ข้าวเหนียวเนื้อหมูปรุงรส ไข่เค็มแดง และถั่วลิสง เริ่มต้นด้วยการนำข้าวเหนียวดิบแช่น้ำค้างคืนก่อนนำมาผัดกับไชโป๊สับที่ทอดน้ำมันแล้ว ใส่ถั่วลิสงกุ้งแห้งทอด และกระเทียม ปรุงรสด้วยผงพะโล้พริกไทย เกลือ และซีอิ๊วขาว ผัดต่อไปจนข้าวเหนียวสุกแล้วนำมาห่อด้วยใบไผ่เป็นทรงสามเหลี่ยม ใส่หมูที่หมักแล้ว กุนเชียง ไข่เค็มแดง

เห็ดหอม และอาจมีเม็ดแปะก๊วย จัดเรียงให้สวยงามแล้วใช้ใบไผ่ที่เหลือห่อจนมิด จากนั้นผูกเชือกแล้วนำไปนึ่ง หากใครจะใส่เผือกกวนเพิ่มเข้าไปก็จะได้บ๊ะจ่างไส้หวาน

About the Author

Share:
Tags: ชาวจีน / คนจีน / อาหาร / เทศกาลไหว้เจ้า / วัฒนธรรม / ไหว้เจ้า วันตรุษ / อาหารไทย / ไหว้พระจันทร์ / ไหว้บรรพบุรุษ / วัด ประเพณี วัฒนธรรม การละเล่น / วันสารท / ฉบับที่ 35 / บ๊ะจ่าง / ขนมจ้าง / วัฒนธรรมจีน /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ