Monday, May 6, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

พิชัย นิรันต์ กับชีวิตนอกกรอบสุดมันส์

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 61
เรื่อง/ภาพ: ทีมงานนิตยสารอนุรักษ์

      อาจารย์พิชัย นิรันต์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ท่านได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2546 ที่ท่านอายุ 67 ปี ท่านเคยได้รับรางวัลจากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติหลายต่อหลายครั้ง และแน่นอนที่สุด นอกจากการที่ท่านได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว ท่านยังเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ศิลป์ พีระศรีอีกด้วย

      ผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ของอาจารย์พิชัยคือ ภาพวาดสีน้ำมันที่มีสีสันฉูดฉาด เป็นภาพเขียนนามธรรมที่นำแนวคิดและสัญลักษณ์มาจากพุทธศาสนา ปัจจุบันอาจารย์พิชัยยังคงเขียนภาพทุกวันที่บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ แม้จะต้องแบ่งเวลาไปทำอย่างอื่นบ้าง แต่เมื่อตกดึก หากแรงกายยังเหลือ อาจารย์จะขอเขียนภาพซักเล็กน้อยก่อนเข้านอน จนเป็นกิจวัตร และในปีนี้อาจารย์กำลังเตรียมผลงานการแสดงเดี่ยวอีกด้วย

พิชัย นิรันต์

กับชีวิตนอกกรอบสุดมันส์

วัยเรียน วันซน

      “เราไม่เคยทำได้เหมือนคนอื่นหรอก เราไม่เข้าใจ ตอนนั้นเรามันโง่” อาจารย์พิชัยได้กล่าวขึ้นมา ในขณะที่ท่านกำลังเล่าถึงเรื่องราวครั้งเมื่อเข้าเรียนใหม่ๆ ที่ศิลปากร ท่านได้พูดแทนใจของนักศึกษาหลายๆ คน ที่เพิ่งได้เข้าสู่โลกรั้วมหาวิทยาลัย การเข้าเรียนตามหลักสูตรนั้นแสนจะน่าเบื่อ เพราะมักจะต้องเริ่มเรียนจากหนึ่งใหม่ในทุกวิชา ยิ่งในคณะศิลปะ วิชาวาดเส้นต้องวาดให้เหมือนถึงจะได้เกรดที่ดี หากเราทำไม่ได้ ก็จะยิ่งรู้สึกกดดัน เหนื่อย ท้อแท้ และมีคำถามมากมาย เมื่อเปรียบเทียบกับที่เพื่อนๆ หรือรุ่นพี่ที่ทำได้เกรด A

      “ตอนนั้นในวิชาสีน้ำ ส่วนใหญ่อาจารย์จะให้วาดและศึกษาจากธรรมชาติ ต้นไม้ ดอกไม้ ก่อน จนไปถึงสิ่งชีวิตต่างๆ แล้วจึงค่อยศึกษาวาดคน มีครั้งนึงเราต้องวาดปลาช่อนในคลอง หากสังเกตดีๆ หัวปลาช่อนจะเต็มไปด้วยแม่สี ผสมทีไรก็เน่าทุกที วาดออกไม่เหมือนจริงเลย วาดออกมาแล้วเหมือนรูปปั้นดินเผา” นั่นแหละ เป็นเหตุผลว่าทำไม การวาดภาพต้องเริ่มจากการมีพื้นฐานที่ดี เราต้องรู้ Academic ทฤษฎีสีต่างๆ ก่อน ตอนนั้นก็ไม่เข้าใจหรอก แต่พอโตมาถึงเข้าใจว่า บทเรียนที่อาจารย์ศิลป์สร้างเอาไว้นั้นถูกต้องเป็นอย่างดีแล้ว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียน ก่อนที่จะเปิดกว้างให้อิสระในการทำงานศิลปะ

      อาจารย์ได้เล่าอีกว่า ตอนนั้นก็มีเพื่อน มีรุ่นพี่ ที่คิดว่า ทำยังไงถึงจะให้อาจารย์ศิลป์ให้คะแนนเยอะๆ พวกเพื่อนๆ รุ่นพี่ ก็ไปลอกงาน แวนโก๊ะห์ – โกแกงค์ ที่เขาว่าเป็นสมัยใหม่กัน ใครเขียนได้ก็ดูเก๋ ดูเท่ห์ แต่เมื่อเขียนออกมาแล้ว อาจารย์ศิลป์ก็ให้ตกหมด เพราะมันเป็นเพียงการคัดลอกเลียนแบบ ไม่มีความเข้าใจ หรือพัฒนาที่เป็นในแบบตัวเองเลย จากคนที่ได้ที่โหล่อาจารย์พิชัยก็เริ่มพัฒนามาเรื่อยๆ จนเป็นเด็กเกรด A เมื่อเข้าในชั้นปีที่ 3 เนื่องจากอาจารย์เปลี่ยนวิธีการให้คะแนนที่แตกต่างออกไป คนที่วาดเหมือนมากจะได้คะแนนน้อย แต่คนที่วาดได้สนุกสนาน มีความคิดสร้างสรรค์ออกนอกกรอบ มีความเป็นตัวเองจะได้คะแนนดี เพราะการที่จะเป็นศิลปินต้องมีรูปแบบของตัวเอง แต่ถึงอย่างนั้น ต้องเรียนรู้จากรากฐาน บรรพบุรุษของตัวเองก่อน เข้าใจความเป็นมา หากเราได้แต่คัดลอกงานเขียน งานนั้นจะถือว่าเป็นงานอนุรักษ์ งานช่างฝีมือ ถ้าหากใครอยากเป็นศิลปินต้องมีความคิดเห็นของตัวเอง อารมณ์ร่วมกับสิ่งที่เขียนด้วย

About the Author

Share:
Tags: ศิลปินแห่งชาติ / พิชัย นิรันต์ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ