Monday, May 6, 2024
ศิลปะ ภูมิปัญญาไทย บทความแนะนำ

กระจกเกรียบ มหัศจรรย์ประณีตศิลป์แห่งสยาม

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 67
เรื่อง: ชาธร โชคภัทระ
ภาพ: ชาธร โชคภัทระ, สุเทพ ช่วยปัญญา

กระจกเกรียบ

มหัศจรรย์ประณีตศิลป์แห่งสยาม

“กระจกเกรียบ เป็นงานโบราณที่ใช้ความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควบคู่กับภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่า ก่อให้เกิดการอนุรักษ์ กระจกเกรียบถือเป็นงานศิลปกรรมแห่งยุครัตนโกสินทร์ที่เกือบจะสูญหายไปแล้ว แต่วันนี้ได้มาเห็นกระจกเกรียบที่ใช้ความรู้สมัยใหม่ ทำให้ยินดีว่ากระจกเกรียบอย่างโบราณฟื้นคืน อันจะเป็นประโยชน์ต่องานอนุรักษ์ การบูรณะราชภัณฑ์และโบราณสถานต่างๆ” พระราชดำรัสของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานวันนักประดิษฐ์แห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๖

กระจกเกรียบคืออะไร ต่างจากกระจกทั่วไปอย่างไร คนธรรมดาทั่วไปอาจไม่รู้ ทว่าในกรมช่างสิบหมู่ของสยามมีหมวดวิชาช่างหนึ่งเรียกว่า “การหุงกระจก” เพื่อใช้ในการประดับตกแต่งราชภัณฑ์ ตู้พระธรรม ธรรมาสน์ ฐานองค์พระพุทธรูป หัวโขน หน้าบันโบสถ์ วิหาร ปราสาทราชวัง และเครื่องประดับของเจ้านายชั้นสูง เพื่อให้เกิดเลื่อมพรายแสงของสีกระจกเกรียบสะท้อนออกมาราวเทพนฤมิต นี่คืองานประณีตศิลป์โบราณที่สืบค้นย้อนไปได้ถึงสมัยอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา และมารุ่งเรืองสุดขีดสมัยรัชกาลที่ ๓ ทว่าเมื่อย่างเข้าสู่กาลแห่งรัชกาลที่ ๕ อิทธิพลจากชาติยุโรปได้แผ่เข้าสู่สยาม การสร้างสถาปัตยกรรมไทยประเพณีน้อยลง คงไว้แต่บูรณะซ่อมแซมของเก่าไว้เท่านั้น ส่งผลให้การใช้กระจกเกรียบในงานศิลปกรรมไทยลดบทบาทลงจนแทบสาบสูญ เหลือก็แต่ในครอบครัวช่างท้องถิ่นบางกลุ่ม ยังคงหวงแหนเก็บรักษาสูตรลับเฉพาะของการหุงกระจกเกรียบไว้เท่านั้น สูตรลับมากมายในการหุงและผสมสีกระจกเกรียบได้ตายไปพร้อมกับตัวช่างแต่ละท่านอย่างไม่มีวันหวนคืน

กระจกเกรียบ (Kriab Mirror หรือ Ancient Thai Glass) ต่างจากกระจกแก้วทั่วไปที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมาก กล่าวคือ กระจกยุคใหม่เป็นการนำทรายซิลิก้า (Silica) มาหลอมจนได้แผ่นแก้วสะท้อนแสง โค้งงอไม่ได้ ทว่ากระจกเกรียบเกิดจากการนำตะกั่วมาหลอมละลาย ผสมด้วยดินขาวและวัตถุธาตุให้สีจากหินแร่ชนิดต่างๆ แผ่นกระจกเกรียบที่ได้จึงมีลักษณะพิเศษ มีความเปราะและบางมาก เป็นแก้วเนื้ออ่อนที่สามารถใช้กรรไกรเล็มขอบให้ได้รูปทรงตามต้องการ เพื่อประดับตกแต่งติดลงบนชิ้นงานสูงค่า โดยใช้ยางรักเป็นตัวประสานติดลงบนผิววัตถุ ไม่ว่าจะเป็นปูน ไม้ หรือเครื่องปั้นดินเผา เหตุนี้จึงทำให้กระจกเกรียบมีคุณค่าและความงาม ต่างจากกระจกสีของยุโรป (Stained Glass) เพราะ Stained Glass ผลิตขึ้นจากทรายซิลิก้าเป็นหลัก หากลองนำสารเคมีบางชนิดมาขัดลงบนกระจกสียุคปัจจุบัน สีเหล่านั้นก็จะหลุดออกหมด เหลือไว้เพียงกระจกใส แต่กระจกเกรียบไม่เป็นเช่นนั้น เพราะตะกั่ว ดินขาว และวัตถุให้สี ทำปฏิกิริยาเคมีหลอมรวมกันอย่างสมบูรณ์แบบ นับเป็นภูมิปัญญาเชิงช่างโบราณอันน่าฉงน กระจกเกรียบจึงเป็นประณีตศิลป์ที่มีเสน่ห์ ไม่สะท้อนแสงแสบตาเหมือนกระจกสีรุ่นใหม่ ใช้ประดับตกแต่งพระอุโบสถ ตู้พระธรรม ฐานชุกชีองค์พระประธาน หัวโขน เครื่องดนตรีไทย ยิ่งทวีความงาม มีเฉดสีเข้มอ่อนไล่ไปมาสะท้อนแสงจับตาจับใจ

กระจกเกรียบยังปรากฏในงานศิลปกรรมของดินแดนต่างๆ ซึ่งอดีตเคยเป็นเมืองขึ้นของสยาม อาทิ มะริด ทวาย นครศรีธรรมราช ลาว กัมพูชา หรือล้านนา จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า “กระจก” ถือเป็นของสูงค่าอย่างหนึ่ง ใช้เป็นสิ่งของตอบแทน เมื่อเมืองประเทศราชส่งเครื่องราชบรรณาการและส่วยมาให้สยาม โดยทางล้านนา เชียงราย เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ รวมถึงรัฐฉานของพม่า เรียกว่า “กระจกจืน” เพราะคำว่า “จืน” หมายถึง “ตะกั่ว” ในภาษาถิ่น ส่วนในสยามแต่เดิมมีเพียงคำว่า “แก้ว” (Glass) และ “กระจก” (Mirror) เท่านั้น คำว่า “กระจกเกรียบ” เพิ่งเกิดขึ้นในครั้งสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ครั้งนั้นไม่สามารถหากระจกสีแผ่นบางอย่างโบราณที่มีความเปราะอย่าง “ข้าวเกรียบ” มาใช้บูรณะสถานที่สำคัญได้ จึงรื้อฟื้นศาสตร์และศิลป์การหุงกระจกเกรียบโบราณขึ้นอีกครั้ง แล้วใช้คำว่า “กระจกเกรียบ” ด้วยเหตุที่ว่ามีความบางเฉียบเหมือนข้าวเกรียบ สามารถทำให้บางที่สุดได้ถึง ๐.๕ มิลลิเมตร (คล้ายแผ่นกระดาษ) แม้ว่ากระจกเกรียบจะไม่ใช่กระจกจริงๆ ที่เกิดจากการหลอมซิลิก้าโดยตรง ทว่าดินขาวที่เป็นสารตั้งต้นในการหลอมร่วมกับตะกั่วก็มีโมเลกุลซิลิก้าเจืออยู่ด้วย เมื่อหลอมละลายแล้วจึงแวววาวสะท้อนแสงได้คล้ายแก้วมิมีผิดเพี้ยน

ความนิยมใช้ “แก้ว” ประดับประดาเพิ่มคุณค่าในงานศิลปกรรม ปรากฏหลักฐานอยู่ในดินแดนพม่าอย่างกว้างขวาง เรียกกันว่า “แก้วอังวะ” พบเห็นได้ในวัด วัง และศาสนสถานสำคัญรูปแบบศิลปะพม่า เช่น พระพุทธรูป อาคารไม้ทรงปราสาท (ปยาธาตุ) รวมถึงพบตามหน้าบันโบสถ์ วิหาร และเสาต่างๆ สูตรการ “หุงแก้วอังวะ” ถือเป็นสูตรลับเฉพาะของพม่าที่แตกต่างจากกระจกเกรียบของสยาม “แก้วอังวะ” เป็นแก้วที่มีส่วนผสมของซิลิก้าหรือทรายเป็นหลัก ลักษณะคล้ายลูกแก้วกลมประดับต้นคริสมาสต์อย่างยุโรป ปรากฏมากมายในงานศิลปกรรมพม่าและวัดแถบภาคเหนือของไทย เช่น วัดพระแก้วดอนเต้า จังหวัดลำปาง เป็นรูปแบบศิลปะพม่า เข้ามาครั้งการค้าไม้สักในแถบภาคเหนือสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยลักษณะของสีและเนื้อแก้วส่งผลทางทัศนมิติและความรู้สึกของคนมอง ให้ความรู้สึกเคร่งขรึม สง่างาม กลมกลืนกันดีกับองค์ประกอบศิลป์ยุคโบราณ

การสร้างสรรค์กระจกเกรียบถือเป็นการ เล่นแร่แปรธาตุ (Alchemy) โดยแท้ เพราะเป็นการรวมกันของวิทยาศาสตร์ และศิลปะอย่างกลมกลืน ช่างหุงกระจกแต่ละคนจะมีสูตรลับเฉพาะของตัวเองในการหลอมตะกั่ว ดินขาว และแร่ธาตุชนิดต่างๆ ด้วยอุณหภูมิ เวลา อันเหมาะสม จึงจะได้สีที่ต้องการ เช่นเดียวกับความหนาบางของเนื้อกระจกเกรียบที่ควบคุมได้ สีที่นิยมใช้มีทั้งขาว น้ำเงิน เขียวเลื่อมปีกแมลงทับ แดง เหลืองทอง เหลืองอำพัน ฯลฯ ว่ากันว่ากระจกเกรียบสีขาวทำได้ยากที่สุด เพราะต้องใช้ความบริสุทธิ์ของเนื้อแร่ ต้องไม่มีไอออนโลหะอื่นเจือปนอยู่เลย เช่นเดียวกับสีแดงชาติที่ต้องใช้ทองคำบริสุทธิ์ (Au) ผสม คุมอุณหภูมิและเวลาหลอมให้เหมาะเจาะ มิฉะนั้นจะกลายเป็นสีทองอำพัน หรือถ้าต้องการให้เป็นสีน้ำเงินปีกแมลงทับ ก็ต้องใส่แร่โคบอลต์ลงไป ทว่าหากมองย้อนไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา กระจกเกรียบที่พบมีเพียงสีเขียวและขาว สมัยรัตน์โกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ ๑-๓ พบ ๕ โทนสีคือ เขียว เหลือง ขาว  แดง และคราม จะได้สีใดก็ขึ้นอยู่กับรงวัตถุสีที่หาได้ อย่างแร่เหล็ก แมงกานีส จากอำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย แร่เหล็กน้ำพี้ จากอำเภอทองแสนขัน จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นต้น

กระจกเกรียบคือการ “หุงตะกั่วให้เป็นแก้ว” ได้อย่างน่าอัศจรรย์ เป็นการเล่นแร่แปรธาตุโดยมนุษย์ ภายใต้สูตรลับที่คนธรรมดามิอาจล่วงรู้ ขั้นตอนการหุงกระจกเกรียบว่ากันคร่าวๆ เริ่มจากการนำตะกั่ว ดินขาว (เกาลิน) และวัตถุให้สี มาบดละเอียดเข้ากัน ตำด้วยครกและสากเหล็ก จากนั้นหุงด้วยการหลอมในเตาอิฐที่ความร้อน ๘๐๐ องศาเซลเซียสขึ้นไป (ปัจจุบันใช้เตาหลอมทองมาประยุกต์แทนได้) กระทั่งส่วนผสมทั้งหมดหลอมละลายเข้ากันจนมีความหนืดคล้ายน้ำผึ้ง แล้วเทลงบนแผ่นเหล็กแบน ปิดฝาอบไว้ ให้สารละลายแผ่ออกเป็นแผ่นหนาบางตามต้องการ

ครูรัชพล เต๋จ๊ะยา

ปัจจุบันนี้ช่างทำกระจกเกรียบของประเทศไทยมีน้อยมากแบบนับตัวคนได้ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ครูรัชพล เต๋จ๊ะยา ชาวจังหวัดเชียงรายเชื้อสายไทเขินจากเมืองเชียงตุง เป็นทายาทรุ่นที่ ๔ ของบรรพบุรุษตระกูลช่างที่เก็บรักษาสูตรการหุงกระจกเกรียบโบราณไว้ และได้ฟื้นฟูขึ้นมาโดยใช้ความรู้วิทยาศาสตร์ยุคใหม่ช่วยสร้างสรรค์ เนื่องจากครูรัชพลปัจจุบันเป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์อยู่ที่โรงเรียนสตรีวิทยา ท่านจึงเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุและช่างหุงกระจกเกรียบชั้นเลิศแห่งสยาม จนได้รับรางวัลดีเด่นการอนุรักษ์กระจกเกรียบโบราณด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการวิจัยแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๖๖ และได้รับตำแหน่ง “ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี ๒๕๖๕” ประเภทกระจกเกรียบ จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) ด้วย

ผลงานการฟื้นฟูและอนุรักษ์กระจกเกรียบโบราณของครูรัชพลเป็นที่ยอมรับในฝีมือและความงามล้ำเลิศ ผลงานสำคัญ เช่น การบูรณะและอนุรักษ์ศิลปกรรมกระจกเกรียบฐานพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนี องค์พระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามฯ คือตรงส่วนท้องสิงห์ เป็นลายดอกไม้ร่วง ซึ่งปกติจะมีเฉพาะในภาพจิตรกรรมฝาผนังเท่านั้น แต่สร้างสรรค์ขึ้นมาให้เหมือนพระศรีศากยมุนีล่องลอยอยู่บนสรวงสรรค์ นอกจากนี้ครูรัชพลยังเป็นผู้บรูณะฐานชุกชีหลวงพ่อสำเร็จ วัดโตนด ตำบลวัดชลอ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เพราะกระจกเกรียบโบราณที่ประดับอยู่ได้รับความเสียหายครั้งมหาอุทกภัยปี ๒๕๕๔ เป็นต้น ทุกวันนี้ครูรัชพลยังคงใช้ความสามารถเฉพาะตัว ผลิตกระจกเกรียบโบราณประกอบชิ้นงานอย่างต่อเนื่อง อาทิ หัวโขนพระนารายณ์ กระจังพระที่นั่งพุดตาน (จำลอง) ดอกไม้ไหวทองคำ คันน้ำบวยนาคแก้วล้านนา ไม้พญางิ้วดำประดับกระจกเกรียบ ซึ่งได้นำขึ้นทูลเกล้าถวายองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วย นอกจากนี้ยังมีรางระนาดเอกทองแก้มแก้ว รางระนาดทุ้มแก้วเขียวนาคสวาดิ หน้าบันจำหลักไม้ลายดอกพุดตาน ฯลฯ

สำหรับคนทั่วไป หากต้องการชมผลงานกระจกเกรียบของแท้ของจริง นอกจากที่วัดสุทัศนเทพวรารามฯ และวัดโตนด แล้ว ยังไปชมได้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม บริเวณเสาสี่ต้นด้านหลัง ยังเป็นกระจกเกรียบโบราณสมัยรัชกาลที่ ๓ ทั้งหมด สังเกตง่ายๆ ผิวกระจกจะไม่เรียบ สะท้อนแสงนวลไม่แสบตา ต่างจากกระจกสียุคใหม่อย่างเห็นได้ชัด

            กระจกเกรียบคือ งานศิลป์จากผลผลิตของพระแม่ธรณี ผสานศาสตร์และศิลป์หลายยุคสมัย ถ่ายทอดอย่างใส่ใจจากรุ่นสู่รุ่น หลอมรวมเป็นแก้วมณีแวววาวส่องประกายเลื่อมพรายแสง ประดับประดาวัตถุศิลป์และโบราณสถานเมืองไทยให้มลังเมลืองล้ำค่า นับเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของชาติที่ต้องร่วมกันสืบสานรักษาไว้เป็นความภาคภูมิของลูกหลานไทยสืบไป

About the Author

Share:
Tags: วัด ประเพณี วัฒนธรรม การละเล่น / ฉบับที่ 67 / กระจก / กระจกเกรียบ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ