Sunday, May 19, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

พิชัย นิรันต์ กับชีวิตนอกกรอบสุดมันส์

ศิลปะในไทย = คนเขียนภาพหนัง

      ศิลปะของไทยจริงๆ เพิ่งเริ่มกลับมา เมื่ออาจารย์ศิลป์เข้ามาในยุครัตนโกสินทร์ เพราะเมื่อก่อนเราจะทำตามบรรพบุรุษ เลียนแบบกันมา เรียนเขียนลายกนกจากครูคนไหน เราต้องเขียนแบบนั้น ห้ามเพี้ยน หากครูเสียไปแล้ว ครูบางคนยังบอกว่าหากฉันตายให้เอาของไปทิ้ง เพราะหวงความรู้ แต่อาจารย์ศิลป์กลับเป็นผู้เปิดโลกประตูศิลปะแบบใหม่ เปิดโอกาสให้ศิลปินแต่ละคน แสดงออกแนวความคิด เทคนิค ให้เป็นตัวของตัวเองให้ได้มากที่สุด และการเป็นตัวของตัวเองนั้นไม่ใช่เรื่องยาก ศิลปินบางคนพอประกวดได้รางวัลก็จะทำตามแบบเดิมแบบนั้น เพราะเห็นว่าได้รางวัล ไม่กล้าเป็นตัวเอง กลัวคนจะจำไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วหากเราเป็นตัวเอง เราวาดเพียงดอกไม้คนก็จำเราได้ เพราะลายเส้น ลายมือ บุคลิกแต่ละคนไม่เหมือนกัน

      “ในยุคนั้นเสียอย่างเดียว งานศิลปะในแนวสร้างสรรค์คนยังไม่เข้าใจ หากวาดอะไรที่ไม่เหมือนงานไทยร่วมสมัย จะถูกคัดออกไปเลย ก็ต้องยอมรับในผลการตัดสิน เพราะคนทั่วไปยังคิดว่าศิลปะคือ การเขียนโรงหนัง เขียนวัด ดังนั้นภาพของเรา ที่ดูเป็นแนวแอบสแตก นามธรรม ก็จะโดนบอกว่าดูไม่รู้เรื่อง ไม่มีคุณค่า จนมีครั้งหนึ่ง มีสามีภรรยาคู่หนึ่งมาดูงาน สามีเขาทำงานอยู่เมืองนอก เค้าอยากได้ภาพเขียนของเรามาก เค้าบอกว่ามันทันสมัย แต่ภรรยาของเขาไม่ให้ซื้อบอกว่า ดูไม่รู้เรื่อง แพงกว่าตู้เย็นอีก เราเลยอดเลย” อาจารย์กล่าวแบบติดตลก

ความรู้สึกผิดต่ออาจารย์ที่รัก

      ด้วยความที่ฝีมือของอาจารย์พิชัยนั้นโดดเด่น แต่ไม่มีทุนเรียนต่อ อาจารย์ศิลป์จึงไปหาทุนมามอบให้ ท่านก็รับปากไว้ว่าจะเรียนต่อ แต่ก็ไม่ได้ทำตามที่อาจารย์ขอ เพราะชีวิตหลังเรียนจบของอาจารย์พิชัย ก็เหมือนดั่งคนทั่วไป คือ เริ่มท่องเที่ยว สนุกไปกับการใช้ชีวิต เมื่อออกไปสู่โลกกว้างมากขึ้น อาจารย์ได้เริ่มเขียนรูปในวัดต่างจังหวัด กินนอนที่วัด เริ่มหลงรักในศิลปะมากขึ้น เหมือนยิ่งเขียนภาพ เหมือนเวลามันหายไป ลืมวัน เวลา ลืมกินช้าวกินน้ำ ลืมวันเวลาแม้กระทั่งวันที่จะต้องเข้าเรียน เมื่อกลับมาก็เรียนไม่ทันคนอื่น

      ความรู้สึกผิดนี้ ทำให้อาจารย์พิชัยหลบหน้าอาจารย์ศิลป์อยู่ร่วมปี หลบกันไปหลบกันมาในมหาวิทยาลัย“เรารู้ว่าอาจารย์ศิลป์จะเข้ามามหา’ลัย ตอน 6 โมงเช้า เราเลยต้องตื่นตี 5 แล้วออกไปก่อนที่อาจารย์ศิลป์จะเข้ามา จะได้ไม่เจอกัน ไม่น่าเชื่อว่า เราจะทำร้ายความหวังดีของท่าน คนที่เราเคารพรักที่สุดในโลก คนที่เป็นดังเสมือนพ่อของเรา จนคิดว่าท่านต้องเกลียดเราเข้าแล้วแน่ๆ” ด้วยความรู้สึกผิดนี้ ทำให้อาจารย์พิชัย ฝันร้ายทุกวัน ในความฝันจะมีเต็มไปด้วยความมืด มีผ้ามาคลุมร่างของอาจารย์ไว้ แล้วร่างกายก็จะลอยไปในอากาศ ทำให้ดิ้นทุรนทุรายอยู่อย่างงั้น อาจารย์พิชัยฝันแบบนี้ทุกวัน ทำให้ในช่วงเวลานั้น ท่านจะเขียนแต่เรื่องเศร้า สีที่ใช้จะออกเป็น โทนสี เทา ดำ และภาพที่วาดจะเป็นภาพที่เกี่ยวกับความโสกเศร้า อย่าง ดอกไม้ในงานศพบ้าง วัดร้างบ้าง

      จุดเปลี่ยนในชีวิตของอาจารย์พิชัยได้เกิดขึ้น เมื่อท่านได้นำภาพความฝันถ่ายทอดออกมาวาดไว้บนเฟรม เมื่อเพื่อนๆ เห็นเข้า ก็เห็นว่าแปลกดี มีเอกลักษณ์ เพื่อนๆ จึงนำผลงานชิ้นนี้ไปโชว์ให้อาจารย์ศิลป์ดู อาจารย์ศิลป์จึงเรียกหาอาจารย์พิชัย อาจารย์พิชัยก็ได้แต่คิดว่า เมื่อหนีกันไม่พ้นแล้ว ก็ต้องยอมรับความผิด ถึงจะโดนตี โดนเฆี่ยนก้ไม่เป็นไร แต่เรื่องไม่ได้เป็นไปอย่างที่อาจารย์คิด เพราะเมื่อท่านได้พบอาจารย์ศิลป์ อาจารย์ศิลป์กลับบอกว่า “ฉันชอบรูปนี้มาก ฉันขอนะ” เมื่อได้ยินแบบนั้นเหมือนปลดล็อคทุกอย่างภายในใจ เหมือนมีแสงสว่างเกิดขึ้นในทันใด อาจารย์พิชัยเปรียบเปรยคงามรู้สึกนั้น ไม่เพียงเท่านั้น ในเช้าวันหนึ่ง ก็มีรุ่นน้องมาเรียกอาจารย์พิชัย ให้ไปที่หอศิลป์เพื่อรับรางวัล สร้างความประหลาดใจให้อาจารย์พิชัยอย่างมาก และได้มารับรู้ความจริงในภายหลังว่า อาจารย์ศิลป์เป็นผู้นำภาพวาดภาพนั้นส่งประกวดให้ จนได้รางวัลที่ 3 เหรียญทองแดง ศิลปกรรมแห่งชาติ ทุกวันนี้ภาพเขียนภาพนี้ ยังติดอยู่คู่กับภาพของอาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ ในพิพิธภัณฑ์ศิลป์ พีระศรี ภาพนั้นคือ ภาพ “จุดจบ (The End)” ภาพชิ้นนี้เป็นเหมือนภาพจุดเริ่มต้นการกลับมามีชีวิตใหม่ของอาจารย์พิชัยเลยก็ว่าได้

About the Author

Share:
Tags: ศิลปินแห่งชาติ / พิชัย นิรันต์ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ