Sunday, May 19, 2024
ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

แต่งบ้านด้วยของโบราณชวนอนุรักษ์

Decorating with Antiques

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 61
เขียนโดย เติมศิริ ไชยเรืองศิริกุล

ของโบราณที่มีคุณค่าทางใจจะไม่ถูกทิ้งให้เป็นของเก่าเก็บฝุ่นเขรอะอีกต่อไปเมื่อนำมาจัดวางตกแต่งบ้านให้มีชีวิตชีวา อบอวลด้วยกลิ่นอายความทรงจำหรือจินตนาการถึงอดีต และยังเป็นหัวข้อสนทนาเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนต่างเจนเนเรชั่นได้ดี รู้แบบนี้แล้วลองชวนลูก ชวนหลานสำรวจห้องเก็บของในบ้าน หยิบของเก่าที่เก็บซ่อนมานานออกมาจัดวางตามมุมเหมาะอวดความเก่าโก้ชวนอนุรักษ์ไว้กันเถอะ 

ของโบราณที่มีคุณค่าทางใจจะไม่ถูกทิ้งให้เป็นของเก่าเก็บฝุ่นเขรอะอีกต่อไปเมื่อนำมาจัดวางตกแต่งบ้านให้มีชีวิตชีวา อบอวลด้วยกลิ่นอายความทรงจำหรือจินตนาการถึงอดีต และยังเป็นหัวข้อสนทนาเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนต่างเจนเนเรชั่นได้ดี รู้แบบนี้แล้วลองชวนลูก ชวนหลานสำรวจห้องเก็บของในบ้าน หยิบของเก่าที่เก็บซ่อนมานานออกมาจัดวางตามมุมเหมาะอวดความเก่าโก้ชวนอนุรักษ์ไว้กันเถอะ 

เครื่องพิมพ์ดีด– บนโต๊ะไม้หรือโต๊ะเหล็ก แบ็กกราวน์ผนังปูนเปลือย หรือผนังห้องที่มีสีสันหรือแม้แต่โทนขาวหากมีเครื่องพิมพ์ดีดโบราณสักเครื่อง ด้วยรูปทรงที่คลาสสิก ก้านพิมพ์ตัวอักษร ผ้าหมึกคาร์บอน หรือแม้แต่เสียงกระดิ่งที่ดังเมื่อพิมพ์จบบรรทัดก็ช่วยสร้างบรรยากาศให้ผู้ที่ชื่นชอบการตกแต่งบ้านแนววินเทจ อีกทั้งเรื่องราวความเป็นมาของเครื่องพิมพ์ดีดในประเทศไทยก่อนถึงยุคคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนก็ยิ่งเพิ่มเสน่ห์ให้ของแต่งบ้านชิ้นนี้ เครื่องพิมพ์ดีดเครื่องแรกคิดค้นโดยชาวอังกฤษ เฮนรี่ มิล ในปี พ.ศ. ๒๒๓๗ ได้รับการพัฒนาตามยุคสมัยจนเป็นเครื่องพิมพ์ดีดที่เราคุ้นตา ซึ่งมีอยู่หลายแบรนด์ อาทิ Hammond, Olympia, Remington ฯลฯ สำหรับเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบในไทย คือ Smith Premier รุ่นที่ ๒

คาดว่าจะเป็นเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยรุ่นแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๕ เมื่อนายเอ็ดวิน ฮันเตอร์ แมคฟาร์แลนด์ เลขานุการส่วนพระองค์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพสมัยที่ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) ได้ติดต่อให้บริษัทอเมริกัน Smith Premier Typewriter คิดค้นเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยหลังบริษัทออกเครื่องพิมพ์ดีดภาษาอังกฤษตัวแรก Smith Premier รุ่นที่ ๑ ได้ปีเดียว เหตุที่เลือกยี่ห้อนี้เพราะมีขนาดแป้นพิมพ์ใหญ่กว่ายี่ห้ออื่นน่าจะบรรจุภาษาไทยที่มีพยัญชนะ สระและวรรณยุกต์มากกว่าภาษาอังกฤษถึง ๒ เท่าได้ (แต่พื้นที่ก็ยังไม่พอ แม้จะหาวิธีแก้ไขแล้วก็ยังต้องตัดตัว ฃ ขวด และ ฅ คน) นายเอ็ดวินได้นำเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ทรงทดลองใช้เป็นพระองค์แรก ทรงพอพระราชหฤทัยมากจึงรับสั่งให้นำเข้ามาเพิ่มอีก ๑๗ เครื่องเพื่อใช้ในงานราชการในประเทศ คาดว่าเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบในเมืองไทยน่าจะเป็นหนึ่งในจำนวนนี้  สำหรับแป้นพิมพ์ภาษาไทยมี ๒ แบบ คือ “เกษมณี” (คิดค้นโดยสุวรรณประเสริฐ เกษมณี) และ “ปัตตะโชติ” (คิดค้นโดยสฤษดิ์ ปัตตะโชติ) ปัจจุบันเกษมณีเป็นแป้นพิมพ์มาตรฐานในคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) พัฒนาให้สมบูรณ์ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ (แต่ในคอมพิวเตอร์สามารถเลือกใช้แป้นทั้งสองได้) และยังมีแป้นพิมพ์มนูญชัย (คิดค้นโดยมนัสสาร มนูญชัย) ที่เพิ่งเปิดตัวในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ 

นาฬิกาลูกตุ้มโบราณ – ห้องรับแขกหรือห้องสมุด หรือแม้แต่โถงทางเข้าบ้าน วางนาฬิกาลูกตุ้มโบราณหรือแขวนประดับไว้ ตรงกำแพงทางขึ้นบันได ลูกตุ้มแกว่งไกวไปมา เสียงระฆังเตือนเวลาก็ช่วยให้จินตนาการไปถึงอดีตสมัยที่โลกเพิ่งรู้จักนาฬิกาลูกตุ้มในปี ค.ศ. ๑๖๕๖ โดยนักประดิษฐ์นาฬิกาชาวดัทช์ Christiaan Huygens ซึ่งได้แนวคิดจากกาลิเลโอที่ค้นพบความสมดุลของแรงแกว่งของลูกตุ้ม สำหรับเมืองไทยเรา นาฬิกาลูกตุ้มเข้ามาพร้อมเครื่องราชบรรณาการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่แพร่หลายตามบ้านเรือนผู้คนอีกร้อยกว่าปีถัดมา ยังมีเรื่องเล่าน่าสนุกว่าสมัยก่อนคนไทยนิยมเรียกนาฬิกาตามลักษณะเด่นหรือที่มา อาทิ นาฬิกาตั้งพื้นมักจะมาจากปารีส ก็เรียกกันว่า “นาฬิกาปารีส” นาฬิกาแขวนมาจากลอนดอน ก็เรียก “นาฬิกาลอนดอน” หรือ “นาฬิกากระสือ” เพราะนาฬิกาแขวนมีลูกตุ้มห้อยลงมา ไม่มีกล่องปิดคล้ายไส้กระสือ หรือในยุคที่มียี่ห้อนาฬิกา นาฬิกาลูกตุ้มที่ด้านบนตกแต่งประดับด้วยตัวม้า คนไทยก็นิยมเรียก “นาฬิกาม้าญี่ปุ่น” หรือ “นาฬิกาม้าเยอรมัน” ตามประเทศที่ผลิต เป็นต้น นอกจากใช้ดูเวลาแล้ว ด้วยศิลปะการตกแต่งโครงนาฬิกาที่เป็นงานแฮนด์เมด ทำจากไม้มะฮอกกานี ไม้โอ๊ค ไม้วอลนัท หรือไม้สักในเมืองไทย ตกแต่งอย่างปราณีตงดงามด้วยกระเบื้องเซรามิก โลหะ ชิ้นส่วนกลไกภายในใช้ทองเหลืองและเหล็กเป็นหลัก เตือนเวลาด้วยเสียงระฆังหรือเสียงเพลง ทำให้นาฬิกาลูกตุ้มเป็นงานศิลปะทรงคุณค่าอยู่ในบ้านเรือนผ่านยุคสมัยมา ๒๐๐ กว่าปีก่อนการเข้ามาของนาฬิกาควอช์ในปี ค.ศ. ๑๙๒๗ 

ตะเกียงเจ้าพายุ – ตะเกียงเจ้าพายุประดับโรงเรือนในสวนก็ให้อารมณ์วินเทจ เป็นเฟอร์นิเจอร์ชานบ้านไม้ริมคลองสไตล์ไทย หรือวางบนโต๊ะกลมในห้องนั่งเล่นชวนให้นึกถึงร้านกาแฟโบราณ ตะเกียงเจ้าพายุเกิดขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๙๕ โดยชาวเยอรมัน ๓ คน Albert Meyenberg, Maximilian Wendorf และ Siegmund Henlein สำหรับประเทศไทย เรามีไฟฟ้าใช้ครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๒๗ ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ก่อนหน้านั้นที่ไฟฟ้ายังไม่มีหรือหลังจากนั้นที่ไฟฟ้ายังเข้าไปไม่ถึงในทุกพื้นที่ ชาวบ้านใช้ตะเกียงเจ้าพายุที่ใช้น้ำมันก๊าดเป็นเชื้อเพลิงให้ความสว่างยามค่ำคืน โดยนำเข้าตะเกียงจากต่างประเทศ ที่นิยมอย่างมากคือ  ตะเกียงเปรโตแม็กซ์ ตะเกียงไอด้า และตะเกียงสแตนดาร์ด จากเยอรมัน นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ซิงมิงจากจีน แบรนด์เรเดียส จากสวีเดน ฯลฯ ไทยเรายังมีโรงงานผลิตตะเกียงเจ้าพายุภายในประเทศ ผลิตแบรนด์ต่าง ๆ ออกมา อาทิ ตะเกียงตรากระต่ายคู่ ตรามงกุฎ ตราอูฐ ตรามังกร ตราไก่  ฯลฯ ปัจจุบันตะเกียงเจ้าพายุไม่เพียงเป็นของสะสมทรงคุณค่า ใช้ตกแต่งบ้าน ยังเป็นที่นิยมในกลุ่มชาวแคมป์ 

นอกจากนี้ยังมีของสะสมที่ทรงคุณค่าในความทรงจำ และเป็นของแต่งบ้านที่โดดเด่น อาทิ วิทยุทรานซิสเตอร์ กล้องถ่ายรูป จักรเย็บผ้า โทรศัพท์ เครื่องเล่นแผ่นเสียง ฯลฯ ปัจจุบันของโบราณยังเป็นที่นิยมของนักสะสม อีกทั้งยังมีของที่ผลิตขึ้นใหม่เลียนแบบของโบราณให้นำมาตกแต่งบ้านได้อย่างสนุกสนาน นับเป็นการอนุรักษ์ให้อดีตมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันได้อย่างลงตัว

หมายเหตุ -สนใจหาซื้อของสะสมโบราณ แวะได้ตามตลาดขายของเก่า อาทิ ตลาดจตุจักร ตลาดสนามหลวง 2 หรือเว็บซื้อขายของมือสอง 

-สำหรับผู้ที่สนใจนาฬิกาโบราณ แวะชมได้ที่พิพิธภัณฑ์นาฬิกาโบราณ ชั้น ๓ อาคารเลอคองคอร์ด ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ หรือใครที่ชื่นชอบตะเกียงโบราณ ติดตามได้ที่เพจสยามตะเกียง เพจสืบสานตำนานตะเกียงจ้าวพายุตรากระต่ายคู่ หรือเยี่ยมชมตะเกียงโบราณหลากหลายแบบได้ที่พิพิธภัณฑ์ตะเกียงที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน พิพิธภัณฑ์อยู่สุขสุวรรณ์ จังหวัดปราจีนบุรี

ขอบคุณข้อมูล www.assumptionmuseum.com, www.sarakadee.com, www.scimath.org, www.dogenithailand.com, www.bangkokpost.com, www.tips.thaiware.com, www.masasom.com

About the Author

Share:
Tags: แต่งบ้าน / antique / decoration / vintage / house /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ