Sunday, May 5, 2024
ชื่นชมอดีต

เราพบ เราพัก เราออกเดินทาง และเราจากพรากกัน ที่ สถานี…รถไฟ

สถานีรถไฟกรุงเทพฯ หรือที่นิยมเรียกกันว่า สถานี
รถไฟหัวลำโพง เป็นสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย
และเป็นสถานีที่เก่าแก่ที่สุด สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕

แต่ก่อนแต่ไร การเคลื่อนย้ายตัวเองจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งมนุษย์เริ่มต้นด้วยการเดิน ต่อมาเมื่อต้องไปในที่ไกลๆ มากขึ้น มนุษย์ก็ฝึกสัตว์เลี้ยงให้พาไป น่าจะเริ่มจากขี่ม้า รถม้า และรถรางมาตามลำดับ จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อความต้องการความเร็วและความไกลเพิ่มมากขึ้นๆ การต้องเคลื่อนย้ายสัมภาระมากขึ้น จึงมีคนคิดวิธีที่ดีกว่าขึ้นมา และนั่นคือที่มาของการเกิดขึ้นของรถไฟ… รถที่มีชื่อสุดร้อนแรงกว่าใครนั่นเอง


รถไฟ ในภาษาอังกฤษคือ Train หมายถึง กลุ่มของยานพาหนะที่เคลื่อนที่ไปตามรางเพื่อการขนส่งสินค้า หรือผู้โดยสารจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง รางส่วนใหญ่มักจะประกอบด้วยราง ๒ เส้นขนานกัน และบางครั้งยังหมายรวมถึงประเภทรางเดี่ยว หรือประเภทที่ใช้พลังแม่เหล็กด้วยรถไฟจะขับเคลื่อนด้วยหัวรถจักร หรือขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์หลายๆ ตัวที่ติดอยู่ใต้ท้องรถ รถไฟสมัยใหม่จะใช้กำลังจากหัวรถจักรดีเซล หรือจากไฟฟ้าที่ส่งมาตามสายไฟที่อยู่เหนือตัวรถ หรือตามรางสาม (Third Rail) เดิมรถไฟขับเคลื่อนโดยใช้หม้อต้มน้ำทำให้เกิดไอน้ำ ไอน้ำทำให้เกิดแรงดัน และแรงดันจะทำการขับเคลื่อนกลไกทำให้ล้อรถไฟเคลื่อนที่ได้ การใช้ฟืนเป็นแหล่งพลังงานในการต้มน้ำและฟืนที่ทำให้เกิดเปลวไฟ ทำให้เบื้องต้นมีการเรียกรถชนิดนี้ว่ารถจักรไอน้ำ

เราพบ เราพัก เราออกเดินทาง และเราจากพรากกัน

ที่ สถานี…รถไฟ

รถไฟสายแรกของโลก

ก่อนจะมีรถไฟที่วิ่งโดยใช้เครื่องจักรนั้น มีการสร้างรางเช่นเดียวกับที่รถไฟวิ่ง แต่เป็นรถที่ใช้ม้าลาก ยังไม่ได้ใช้เครื่องจักร โดยสร้างขึ้นสําหรับการใช้ขนส่งถ่านหิน ต่อมาเอ็ดเวิร์ด พิสส์ (Edward Piss) ได้สร้างทางรถไฟจากเมืองสต็อกตัน (Stockton) ไปยังเมืองดารลิงตัน (Darlington)ประเทศอังกฤษ เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๖๘ จึงเรียกได้ว่านี่คือรถไฟสายแรกของโลก แต่กระนั้นเส้นทางนี้ก็ยังไม่ได้ใช้สําหรับเดินรถไฟ แต่ใช้สําหรับให้รถบรรทุกวิ่งขนส่งสินค้าได้โดยสะดวกขึ้นเท่านั้น

จนกระทั่งต่อมา บุรุษหนุ่มที่ชื่อว่า จอร์จ สตีเฟนสัน (George Stephenson) ได้ทําการปรับปรุงรถจักรที่นํามาทํางานในเหมืองแร่ที่ขาดประสิทธิภาพมากๆ คือทั้งช้าและยังตกรางบ่อย เขาใช้ทั้งความคิดและทดลองการใช้หม้อต้มนํ้าแบบ “ท่อไฟในหม้อต้มนํ้า” (Fire-tube) เป็นครั้งแรก ซึ่งหม้อต้มนํ้าแบบนี้สามรถถ่ายเทความร้อนได้ดีกว่า ปรับปรุงอยู่ราว ๑๐ เดือนจนกระทั่งสําเร็จ หลังจากนั้นรถจักรที่เขาปรับปรุงสามารถวิ่งได้ ๔ ไมล์ต่อชั่วโมง เขาจึงนํารถจักรของเขาไปเสนอให้พิสส์ช่วยสนับสนุนให้เขาสร้างหัวรถจักร และในปี พ.ศ. ๒๓๖๘ สตีเฟนสันก็สามารถประดิษฐ์หัวรถจักรคันแรกของโลกได้เป็นผลสําเร็จ ทําความเร็วได้ ๑๕ ไมล์ต่อชั่วโมง แต่กระนั้นก็ยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไร เพราะคนทั่วไปยังคิดว่าช้า กว่ารถม้า และยังถูกขัดขวางจากเจ้าของกิจการรถม้าที่เสียผลประโยชน์

ก่อนจะมีรถไฟที่วิ่งโดยใช้เครื่องจักรนั้น มีการสร้างรางเช่นเดียวกับที่รถไฟวิ่ง แต่เป็นรถที่ใช้ม้าลาก ยังไม่ได้ใช้เครื่องจักร


กระนั้นต่อมา รัฐบาลอังกฤษเล็งเห็นประโยชน์ของกิจการรถไฟที่สร้างความสะดวกให้กับการขนส่ง โดยเฉพาะถ่านหินที่เป็นกิจการที่ทํารายได้จํานวนมากให้กับรัฐบาล ทางรัฐบาลอังกฤษจึงประกาศพระราชกฤษฎีกาสร้างทางรถไฟขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๖๙ ระหว่างเมืองแมนเชสเตอร์ (Manchester) ถึงเมืองลิเวอร์พูล (Liverpool) ซึ่งก็เป็นไปด้วยความยากลําบากพอสมควร เนื่องจากต้องสร้างสะพานมากถึง ๓๖ แห่ง ตัดผ่านภูเขาสูง และต้องเจาะอุโมงค์อีกหลายแห่ง แต่ในที่สุดก็สามารถเปิดทําการได้ในปีต่อมา หลังจากนั้นกิจการรถไฟในอังกฤษก็เจริญ ก้าวหน้า แพร่ขยายไปทั่วประเทศและทวีปยุโรป จนกระทั่งมีรถไฟอยู่ทั่วโลกในที่สุด

และนี่ก็คือเรื่องราวของรถที่ร้อนสุดๆ นามรถไฟ ที่หลังจากนั้นมาอีกประมาณเกือบร้อยปี จึงได้มีรถไฟสายแรกเกิดขึ้นในเมืองไทย ซึ่งขณะนั้นยังใช้ชื่อว่าสยาม

About the Author

Share:
Tags: นิตยสารอนุรักษ์ / อนุรักษ์ / ชื่นชมอดีต / anurakmagazine / สถานีรถไฟ / รถไฟ / หัวลำโพง / รัชกาลที่ ๕ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ