Sunday, May 19, 2024
ชื่นชมอดีต

เราพบ เราพัก เราออกเดินทาง และเราจากพรากกัน ที่ สถานี…รถไฟ

รถไฟหลวง…ต้นกําเนิดกิจการรถไฟแห่งสยาม


เมื่อมีกิจการรถไฟ แน่นอนว่าต้องมีการสร้างรถไฟ ราง และทางรถไฟเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มากมายหลายสาย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเป็นช่วงเวลาของการปฏิรูปบ้านเมืองให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ และรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเรื่องของถนนหนทางและการคมนาคม พระองค์จึงมีพระราชดําริจัดสร้างทางรถไฟสําหรับเป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างหัวเมืองที่ห่างไกลทุรกันดารกับพระนคร เพื่อให้เกิดความสะดวกในการปกครองนั่นเอง

หลังจากกิจการรถไฟหลวงถือกําเนิดขึ้น จากนั้นมีการก่อสร้างทางรถไฟให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ทําให้ประชาชนในถิ่นทุรกันดารสามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้น รวมทางรถไฟที่เปิดให้บริการประชาชนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีทั้งสิ้น ๙๓๒ กิโลเมตร และอยู่ในระหว่างก่อสร้างอีก ๖๙๐ กิโลเมตร แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน

จากแนวทางของกิจการรถไฟที่รัชกาลที่ ๕ ทรงวางไว้นั้น ทําให้แม้สิ้นรัชสมัยของพระองค์ กิจการรถไฟในสยามประเทศก็ขยายตัวก้าวหน้ามากขึ้น แต่เนื่องจากยังมีการแยกหน่วยงานรับผิดชอบเป็นกรมรถไฟสายเหนือและกรมรถไฟสายใต้ซึ่งทําให้การบริหารไม่สะดวกนัก ในวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๐ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้กรมทั้งสองรวมเข้าด้วยกันเป็นกรมรถไฟหลวง พร้อมทรงแต้งตั้งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระกําแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงเป็นพระองค์แรก ซึ่งต่อมาทรงได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งการรถไฟไทย เนื่องจากนําความเจริญมาสู่กิจการรถไฟในสยาม และสร้างประโยชน์มหาศาลให้แก่ประเทศชาติและประชาชน

ความเจริญของกรมรถไฟหลวงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทําให้ประเทศไทยมีเส้นทางรถไฟใช้รวมทั้งหมด ๒,๕๘๑ กิโลเมตร และยังอยู่ระหว่างก้อสร้างอีก ๔๗๙ กิโลเมตร แม้จะยังไม่เสร็จสิ้นในรัชกาล แต่ก็ได้รับการสร้างจนเสร็จในรัชกาลต่อมา

กิจการรถไฟในประเทศไทยถือกําเนิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยทรงมีพระราชวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลว่า เป็นประโยชน์ต่อราษฎร

***สถานีรถไฟเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยแน่นอนว่าอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งหรือหลายครั้ง หลายคนน่าจะต้องเคยมาฝากรอยความทรงจําไว้ที่สถานีรถไฟแห่งนี้ สถานีรถไฟกรุงเทพฯ หรือที่นิยมเรียกกันว่าสถานีรถไฟหัวลําโพง เป็นสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย และเป็นสถานีที่เก่าแก่ที่สุด สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ปัจจุบันสถานีรถไฟหัวลําโพงมีทางเชื่อมต่อที่มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ดูกลมกลืนกับรถไฟฟ้ามหานคร หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน บริเวณถนนพระรามที่ ๔ การก่อสร้างของสถานีสร้างในลักษณะโดมสไตล์อิตาเลียนผสมกับศิลปะแบบเรอเนสซองซ์ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับสถานีรถไฟแฟรงก์เฟร์ตในประเทศเยอรมนี การประดับหลัก ประดับด้วยหินอ่อน และเพดานมีการสลักลายนูนต่างๆ โดยมีนาฬิกาขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๖๐ เซนติเมตร ตั้งอยู่กลางสถานีรถไฟเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่น และน่าจะเป็นหนึ่งจุดนัดพบสําคัญของการนัดหมายของผู้คนที่เดินทางมาเยือน หรือเพื่อพบและจากกันที่…สถานีรถไฟ

รถจักรดีเซลไฟฟ้า Hitachi ที่ใช้งานมา
ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๖-ปัจจุบัน

***เส้นทางรถไฟแห่งประวัติศาสตร์ของไทยหลายคนคงคุ้นกับชื่อ “ทางรถไฟสายมรณะ” เล่ากันว่า มีคนงานราว ๑๐๐,๐๐๐ คนเสียชีวิตจากการก่อสร้างทางรถไฟเส้นนี้ ทางรถไฟสายมรณะ หรือทางรถไฟสายพม่า หรือทางรถไฟสายกาญจนบุรี เริ่มต้นจากสถานีชุมทางหนองปลาดุก อําเภอบ้านโปง จังหวัดราชบุรี ผ่านจังหวัดกาญจนบุรี ข้ามแม่นํ้าแควใหญ่โดยสะพานข้ามแม่นํ้าแคว ไปทางทิศตะวันตกจนถึงด้านเจดีย์สามองค์ เพื่อให้ถึงปลายทางที่เมืองทันบูซายัด ประเทศพม่า ทางรถไฟสายมรณะมีความยาวจากหนองปลาดุกถึงสถานีทันบูซายัดรวม ๔๑๕ กิโลเมตร ทางรถไฟสายนี้สร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยใช้แรงงานเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรและกรรมกรชาวเอเชียที่กองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์มาสร้าง เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ผ่านประเทศพม่า ปัจจุบันเส้นทางนี้ไปสุดปลายทางที่บ้านท่าเสา หรือสถานีนํ้าตก ระยะทางจากสถานีกาญจนบุรีถึงสถานีนํ้าตกเป็นระยะทางประมาณ ๗๗ กิโลเมตร การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดเดินรถบนเส้นทางนี้ทุกวัน และจัดรถไฟขบวนพิเศษสายกรุงเทพฯ-นํ้าตก ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ นับเป็นทั้งทางรถไฟและสถานที่ท่องเที่ยวแห่งประวัติศาสตร์ที่ได้รับความนิยมอีกเส้นทางหนึ่ง

จุดเปลี่ยนครั้งสําคัญของรถไฟไทย

กาลต่อมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประเทศไทยถูกฝ่ายพันธมิตรทิ้งระเบิด โดยเฉพาะสถานีและทางรถไฟที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สําคัญ อีกทั้งสะพานรถไฟขนาดใหญ่ อาทิ สะพานพระราม ๖ การบูรณะต้องใช้เงินจํานวนมาก จึงต้องมีการกู้เงินจากธนาคารโลก ดังนั้น ธนาคารจึงเสนอให้รัฐบาลไทยปรับโครงการกิจการรถไฟเพื่อให้บริหารงานได้คล่องตัวขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงเสนอให้มีการเปลี่ยนจากกรมรถไฟหลวงมาเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทสาธารณูปการ และมีชื่อว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาและนี่ก็คือเรื่องราวขนาดย่อๆ ของการเดินทางของรถไฟที่กว่าจะมาเป็นการคมนาคมอย่างที่เราได้รับรู้ในปัจจุบัน หากสนใจเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลรถไฟและการเดินทางที่ www.railway.co.th เผื่อว่าใครอยากย้อนรําลึกถึงบรรยากาศการนั่งรถไฟที่อาจห่างหายไปนาน เพราะถึงอย่างไร รถไฟก็ถือเป็นการคมนาคมขนส่งมวลชนที่ประชาชนอีกมากมายจํานวนหนึ่งหวังเป็นที่พึ่งของการเดินทาง ที่ควรจะสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เรียกได้ว่ารถไฟนั้นเป็นพาหนะที่ได้รับใช้ประชาชนคนไทยมานานกว่า ๑๑๔ ปี และถือเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญของสยามประเทศที่ทัดเทียมนานาอารยประเทศ ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงให้กําเนิดกิจการรถไฟจนมีความเจริญก้าวหน้า และเราก็หวังว่าจะมีคนที่พัฒนากิจการรถไฟไทยให้ก้าวไกล และเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้แก่คนไทยได้เดินทางโดยรถไฟได้อย่างรวดเร็วมากๆ ประหยัดสุดๆ ปลอดภัยไร้กังวล และถึงจุดหมายด้วยความตรงเวลากว่าใคร…กันต่อไป

ปู๊นๆๆๆ ฉึกฉักๆๆๆ…รักนะ รถไฟ


ขอบคุณข้อมูลบางส่วน จากหนังสือ สิ่งแรกในสยาม โดย โกสินทร์ รัตนประเสริฐ และเว็บไซต์ wikipedia

About the Author

Share:
Tags: นิตยสารอนุรักษ์ / อนุรักษ์ / ชื่นชมอดีต / anurakmagazine / สถานีรถไฟ / รถไฟ / หัวลำโพง / รัชกาลที่ ๕ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ