Monday, May 6, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

ตระการตาพระไสยาสน์เมืองสามหมอก

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 63
เรื่อง/ภาพ: ธีรภาพ โลหิตกุล

ซุ้มประตูวัดพระนอนงดงามด้วยศิลปะสองคอสามชาย และการแกะสังกะสีแบบปานถ่อง-ปานซอย

พระพุทธรูปปางไสยาสน์ความยาว ๑๒  เมตร ห่มคลุมด้วยจีวรประดับลวดลายงามตา ประดิษฐานโดดเด่นเป็นพระปฏิมาประธาน ณ พระอุโบสถวัดพระนอน อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทใหญ่หรือไตโหลง ผู้อพยพย้ายถิ่นมาจากแคว้นฉานหรือรัฐฉาน ดินแดนอีสานของเมียน มาตั้งแต่เมื่อกว่า ๒๐๐ ปีก่อน มาก่อร่างสร้างแม่ฮ่องสอนเป็นเมืองสำคัญ ณ แนวชายแดนภาคพายัพของสยามประเทศ

จนวันนี้แม่ฮ่องสอนยกฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งของสยาม มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะที่พี่น้องไทใหญ่ที่อพยพมารุ่นแรกๆ ก็มีสถานะเป็นพลเมืองไทย เชื้อสายไทใหญ่ หรือไตโหลงกันหมดแล้ว

พระพุทธรูปปางไสยาสน์ หรือ พระนอน พระประธานวัดพระนอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ตระการตาพระไสยาสน์
เมืองสามหมอก

พระพุทธไสยาสน์ริมพระโอษฐ์แดง ศิลปะไทใหญ่ ได้รับอิทธิพลจากพุทธศิลป์มอญ-พม่า

ทว่านับแต่ย่างก้าวสู่พระอุโบสถ แล้วก้มลงกราบสักการะพระปฏิมาประธาน เรารับรู้ได้ถึงกลิ่นอายพุทธศิลปะอันเป็นอัตลักษณ์ของชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่ามีพุทธศิลป์แบบมอญ-พม่าผสมผสานอยู่ด้วย ที่เห็นได้ชัดคือพุทธลักษณะของพระบาทจะแตกต่างจากพระนอนของไทย ซึ่งนิยมวางพระบาทเสมอกัน ในขณะที่พระนอนพุทธศิลป์ไทใหญ่จะวางพระบาทเหลื่อมกัน ถือเป็นความงามไปอีกแบบหนึ่ง โดยมี “ชเวตาเลียว” พระไสยาสน์ทองคำ ณ เมืองหงสาวดี พุทธศิลป์แบบมอญอายุเก่าแก่กว่า ๑,๐๐๐ ปี เป็นต้นแบบของพระนอนเหลื่อมพระบาท ซึ่งส่งอิทธิพลต่อศิลปะพม่าและไทใหญ่

“แล้วทำไม พระพุทธรูปต้องทาลิปสติกสีแดงด้วยล่ะ?”

คำถามจากเพื่อนร่วมทางดังขึ้นตอนที่ผมกำลังจะบอกว่า ที่เห็นนั้นไม่ใช่ลิปสติก แต่ที่พระพุทธรูปมีริมพระโอษฐ์สีแดง เป็นอิทธิพลศิลปะมอญอีกอย่างหนึ่งที่ชาวพม่าและไทใหญ่รับเอาไว้ เหตุเพราะพระภิกษุสงฆ์ชาวมอญนิยมขบฉันหมากพลูเป็นประจำ เมื่อสร้างรูปจำลองพระพุทธองค์เลยนำวัสดุที่เรียกว่า “ชาด” ทาริมพระโอษฐ์ และผู้คนก็ยังนิยมถวายหมากพลูแด่องค์พระพุทธรูป เฉกเช่นเดียวกับการถวายแด่ภิกษุสงฆ์อีกด้วย

พระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ในซุ้มเรือนแก้วอันอลังการ จัดแสดงไว้ในพระอุโบสถวัดพระนอน

เมื่อชาวพม่ารับคตินี้มา จึงมีพระพุทธรูปริมพระโอษฐ์สีแดงมากมายใน “พุกาม” อาณาจักรแรกที่ชนชาติพม่าสถาปนาขึ้น โดยรับศาสนาพุทธนิกายเถรวาทจากมอญมาเป็นศาสนาประจำชาติ อีกทั้งชาวพม่ายังยึดถือคติว่า พระพุทธรูปทุกองค์ถือเป็นตัวแทนในการสืบศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การทาปากสีแดงจึงเปรียบเสมือนพระพุทธรูปยังมีชีวิต มีลมหายใจ ซึ่งคติความเชื่อนี้ส่งต่อมายังชาวไทใหญ่ด้วย พระนอนองค์นี้จึงถือเป็นพุทธศิลป์ล้ำเลอค่า ที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ศิลป์ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้

ที่สำคัญพระนอนองค์นี้ริเริ่มสร้างโดยพญาสิงหนาทราชา (ชานกะเล) เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก ผู้รวบรวมชาวไทใหญ่มาตั้งถิ่นฐานที่เมืองขุนยวม (ก่อนย้ายมแม่ฮ่องสอน) ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๔ ทว่าท่านสิ้นลมไปก่อนที่พระนอนจะสร้างเสร็จ เป็นภาระหน้าที่ของเจ้าเมืองคนที่สองคือ เจ้าแม่นางเมี๊ยะ สร้างต่อจนสำเร็จ ต่อมาพญาพิทักษ์สยามเขตเจ้าเมืองคนที่ ๓ สร้างที่บรรจุอัฐิของเจ้าเมืององค์ที่ ๒ ส่วนพระอุโบสถที่ประดิษฐานพระนอน สร้างโดยพญาพิศาลฮ่องสอนเจ้าเมืองคนที่ ๔ เพื่อถวายเป็นบุญกุศล และเป็นอนุสรณ์ในโอกาสที่ขึ้นเป็นเจ้าเมือง วัดพระนอนจึงเป็นวัดสำคัญที่เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์เมืองสามหมอกอย่างยิ่ง

แสงเงายามบ่ายทอดทาบพื้นไม้พระอุโบสถงามตา

About the Author

Share:
Tags: วัด / แม่ฮ่องสอน / พระไสยาสน์ / เมืองสามหมอก / วัด ประเพณี วัฒนธรรม การละเล่น /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ