Tuesday, May 21, 2024
สัมภาษณ์

มูลนิธิช้าง อีกหนึ่งหน่วยงานเพื่ออนุรักษ์ช้าง-และป่า

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 2
เรื่อง/ภาพ: ทีมงานนิตยสารอนุรักษ์

ทุกวันนี้นอกเหนือจากมีตำแหน่งกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ด้วยความรักความชอบในธรรมชาติและผืนป่าที่ติดตัวมาช้านาน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ในวัย 75 ปี ยังคงดำรงตำแหน่ง ประธานมูลนิธิ คืนช้างสู่ธรรมชาติ (Elephant Reintroduction Foundation) ซึ่งมูลนิธินี้ ก่อตั้งเมื่อ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2545 สืบเนื่องมาจากโครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

“มูลนิธินี้เราจะหาทุนไปซื้อช้างในสภาพดีที่เดินอยู่ตามถนน แล้วมาฟื้นฟูสภาพ ปรับพฤติกรรมแล้วปล่อยเข้าป่า ให้เขากลายเป็นช้างป่า โดยที่เราจะติดชิพติดอะไรแบบฝรั่งและติดตามผล นอกจากนั้นเรายังให้ทุนนักศึกษา ไม่น่าเชื่อนะ ทั้งที่เราไม่มีประชาสัมพันธ์อะไรมากมาย แต่ตอนนี้เราปล่อยไป 84 ตัวแล้ว เกือบร้อยแล้ว

“สังเกตมั้ยว่าเวลาเรียกช้างผมไม่เรียกเชือกนะ ผมเรียกตัว เพราะการที่เราเรียกเชือกน่ะแสดงว่าเขาเป็นทาสเรา เราผูกคอเขาไปไถ ไปลากไม้ ไปทรมาน แต่เราทำมูลนิธินี้ สิ่งที่เราต้องการคือเปลี่ยนเชือกเป็นตัว เอาเขากลับคืนมาเป็นสัตว์ป่าแบบที่ควรจะเป็น”

จริงอยู่ว่ามูลนิธิที่ทำงานเกี่ยวกับการรักษา-ปกป้องช้างในบ้านเราจะมีอยู่มากมาย แต่มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติเป็นมูลนิธิแห่งเดียวในเมืองไทยที่ทำในเรื่องนี้ เพราะการปล่อยช้างถือเป็นเรื่องยาก-เรื่องใหญ่ ในการทำเรื่องนี้ทางมูลนิธิต้องเจรจากับเจ้าของที่ ซึ่งก็คือกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุทยาน โดยที่ผ่านมามีการทำ MOU ขอพื้นที่กันเป็นกิจจะลักษณะ และหนึ่งในนั้นมีที่ซับลังกา ที่ลพบุรี

“แล้วเมื่อเมษายนปีที่แล้วมีตกลูกมาตัวหนึ่ง ตกลูกแบบป่าเลยนะ ช้างบ้านนี่ล่ะ ที่หลายคนบอกว่าอยู่ป่าไม่ได้ มันโง่ มันอยู่กับคนมา…ขอโนะ เป็นการหาเหตุผลเพื่อเลี้ยงช้างเอาประโยชน์ คนที่บอกว่าช้างบ้านอยู่ป่า ไม่ได้ เราไปดูมา ทั้ง 84 ตัว อ้วนท้วนสมบูรณ์ ช้างบ้านฉลาดจะตาย อยู่ป่าได้กินอาหารครบกว่าด้วย อยู่กับคนก็กินอ้อย กล้วย กินวนเวียนอยู่อย่างนั้นถึงได้สุขภาพไม่ค่อยดี” นอกจากนั้นในส่วนของความเชื่อที่ว่า ช้างบ้านอยู่กับช้างป่าไม่ได้นั้น จากการติดตามความเป็นอยู่ของช้างที่ถูกปล่อยโดยมูลนิธิ ดร. สุเมธได้ยืนยันมาว่าไม่เป็นความจริง

“ช้างบ้านอยู่กับช้างป่าไม่ได้อะไร วันที่เราเอาไปปล่อย 2 ตัวนะ ช้างป่ามายืนรอรับเลย คือกรณีที่ศรศิลป์ไม่กินกันมันก็มี แต่มูลนิธินี้ไม่ใช่ซื้อมาถึงก็ปล่อยเข้าป่า เราซื้อมาเสร็จต้องอยู่กับเราประมาณปีหนึ่ง ตรวจ ดูแล ถ่ายยา ตรวจเลือดเป็นระยะจนกระทั่งชัวร์ว่าไม่เป็นโรคอะไรต่ออะไรแล้ว แล้วค่อยๆ ปล่อยให้โซ่เริ่มยาวขึ้น เพราะช้างอยู่ห่างกัน 20 กิโลฯ เขาจะรู้ว่ามีอีกตัวหนึ่ง ดังนั้นเราต้องให้เขาค่อยๆ สัมผัสกันก่อน เราจะมีกระบวนการตรงนี้ประมาณ 1 – 2 ปีแล้วค่อยปล่อย ซึ่งสุดท้ายเขาจะมายืนรอรับไปหากินด้วยกัน

“แล้วพอวันปล่อย เจ้าของช้างที่จ่ายเงินมาก็จะได้มาปล่อยด้วยตัวเอง พาลูกพาหลานมา ถ้าเป็นบริษัท CSR ก็จะพาพนักงานมาปล่อย แล้วเรามีพิธีสงฆ์ พิธีพราหมณ์ ฝากเจ้าป่าเจ้าเขา คือเรื่องวัฒนธรรมประเพณีเรารักษาหมด แล้วปล่อยเชือกที่ช้างถูกพันธนาการตัว มองช้างเดินหาย เข้าไปในป่า เป็นภาพที่โรแมนติกมาก นั่งร้องไห้กันเป็นแถว คนมันปลื้มน่ะ ไม่มีการปล่อยอะไรที่ใหญ่โตไปกว่านี้อีกแล้ว นอกจากปลาวาฬ” ดร. สุเมธตบท้ายแบบเรียกรอยยิ้มอีกเช่นเคย ก่อนจะแง้มราคาค่าใช้จ่ายในการจัดหาซื้อช้างเพื่อนำมาปล่อยว่า จากเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว สองแสน ก็ซื้อได้ เพราะตอนนั้นนักท่องเที่ยวไม่ค่อยมี แต่มายุคนี้สมัยนี้เงินเป็นล้านก็ยังไม่พอ

ในฐานะประธานมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติระบุว่าแม้เรื่องเงินจะไม่ใช่ปัญหาหลัก เพราะมีบริษัทและห้างร้านที่พร้อมจะช่วยเหลือในเรื่องนี้ แต่ยอมรับว่าการโก่งราคาช้าง เพราะการท่องเที่ยวก็กำลังเติบโต เป็นอุปสรรคใหญ่ของมูลนิธิเช่นกัน

“ที่ผ่านมาเราอาจจะแก้ไขปัญหาช้างผิดจุด คือไปมุ่งที่ช้าง แต่ความจริงมันต้องมุ่งที่คน ที่ช้างมันมาเดินเพราะว่าคนพามา มันไม่ได้เดินมาเอง เพราะฉะนั้นมันต้องแก้ปัญหาเรื่องคนด้วย” ทุกวันนี้มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ นอกจากจะซื้อช้างแล้วยังรับควาญช้างมาอยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิด้วย ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 62 คน หน้าที่ของแต่ละคนคือช่วยฝึกช้างบ้านให้พร้อมใช้ชีวิตอยู่ในป่า และคอยติดตามพฤติกรรมพร้อมรายงานหลังจากช้างเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในป่า

“ระหว่างเดินในป่า ควาญจะมีสมุด มีจีพีเอสอยู่คนละอัน คนไม่มีความรู้แต่เราสอนได้ คุณสามารถไปติดตามได้ในเว็บไซต์ elephantrein-troduction.org เราจะมีรายงานตลอด ถ่ายรูปพรึ่บแล้วส่งมาขึ้นเว็บไซต์ ซึ่งทุกเช้าผมจะกดเปิดดู บางวันก็เจอช้างตัวนี้ไปจับคู่ตัวนี้ บางทีเขาก็ถ่ายนมช้างมาให้ดูว่ามันโตขึ้นทุกทีสงสัยจะมีลูกแล้ว บางทีเราก็ดูนมช้างหนังเอ็กซ์บ้างอะไรบ้าง” ดร. สุเมธถ่ายทอดอย่างติดตลกก่อนจากลา

ดูเหมือนช่องทางนี้จะช่วยสร้างความเพลิดเพลินให้ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ประหนึ่งได้ย้อนกลับไปเดินป่าส่องสัตว์ในสมัยเมื่อหลาย สิบปีก่อนไม่มากก็น้อย

About the Author

Share:
Tags: ธรรมชาติ / ป่า / ช้าง / มูลนิธิช้าง /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ