Sunday, May 19, 2024
ภูมิปัญญาไทย ส.พลายน้อย ชื่นชมอดีต

กระโถน (ส.พลายน้อย)

ในสมัยกรุงเทพฯ นี่เอง มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อรื้อศาลาลูกขุนใน มีผู้พบกองน้ำหมากและชานหมากบ้วนทิ้งไว้บนพื้นศาลากองใหญ่เท่ากระด้งถึงสองกองสันนิษฐานกันว่าแต่ก่อนนี้พวกลูกขุนในจะไม่มีกระโถนใช้ ซำ้ที่พื้นศาลายังปูเสื่อผืนใหญ่เต็มไปหมด เมื่อไม่มีกระโถนก็เลยบ้วนน้ำหมากลงใกล้ๆ ตัวตามความเคยชิน ชานหมากจึงมากถึงขนาดนั้น

      ทางภาคเหนือของไทยเรียกแปลกออกไป คือเรียกกระโถนบ้วนน้ำลายว่าก๊อกบ้วนน้ำลาย กระโถนบ้วนน้ำหมากเรียกว่า ก๊อกหมาก แสดงว่าไม่บ้วนรวมกัน ก็ดีเหมือนกัน เพราะคนไม่กินหมากก็มีเขาอาจรังเกียจน้ำหมากจะกระเด็นมาเปื้อนเสื้อผ้า ส่วนทางภาคใต้เรียกคล้ายภาคกลางแต่เรียกสั้นๆ ว่า ‘โถน’ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ท่านเคยบอกว่าอย่าไปคิดอะไรให้มันไกลนักเลย กระโถนก็มาจากโทนที่เราใช้ตีให้จังหวะรำโทนเสียงดังป๊ะๆ โทนๆ นั่นแหละ รูปร่างของโทนก็ป้อมๆ แบบเดียวกับกระโถน และที่เรามาเรียกกะโถนหรือกระโถนนั้น ก็คงจะเนื่องมาจากเราเรียกโทนว่าลูก แต่เดิมคงเรียกว่า ‘ลูกโทน’ แล้วเพี้ยนมาเป็น ‘ลูกโถน’ ออกเสียงท้ายคำเป็นเสียง ‘กะ’ จึงมาเป็น ‘กะโถน’ หรือ ‘กระโถน’

      ครั้นต่อมานักภาษาได้ค้นพบว่าในภาษาเขมรมีคำว่า ‘กัณโฐร’ ที่เขมรออกเสียงเป็นก็อนโทร์ จึงเข้าใจกันว่าไทยจะเรียกตามแต่เพี้ยนเป็นกระโถนไป หรือจะเป็นเขมรเอาไปไทยเอามาก็ไม่แน่ บ้านเรือนเคียงกันภาษาก็คงหยิบยืมกันได้ เอามาเล่าให้อ่านกันเล่นเพื่อให้เห็นว่ากระโถนเป็นเรื่องลึกซึ้งอยู่ไม่น้อย

      ถ้าคำว่า กระโถนมาจาก กัณโฐร ก็น่าจะเรียกมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยพระนางสิขรมหาเทวีก็คงเรียก ‘กัณโฐร’ หรือก็อนโทร์ คนในราชสำนักไทยก็คงเรียกตาม แต่เพี้ยนเป็นกระโถน

      คนในทวีปเอเชียที่กินหมากมีอยู่หลายประเทศที่มีเรื่องกล่าวถึงก็คือ อินเดีย ศรีลังกา มอญ พม่า เขมร ญวน ลาว ไทย จีน และพวกมาเลเซีย แต่ละประเทศก็น่าจะมีกระโถนที่รูปทรงต่างกันไป แต่ก็แปลกที่หากระโถนของชาติต่างๆ ดูได้ยาก (บางทีจะต่างคนต่างใช้ของตนเอง) ผู้เขียนเคยสนใจเรื่องกระโถนมานานกว่า 40 ปี พบกระโถนชวาหรืออินโดนีเซียเพียงลูกเดียวเป็นกระโถนทองเหลือง มีลายสลักเป็นรูปตวั หนังชวาอยู่รอบตัวกระโถน

      ตัวกระโถนหนามีน้ำหนัก คนมีอายุคงยกไม่สะดวก ยังอยากรู้อยู่จนทุกวันนี้ว่า ลายรูปตัวหนังชวานั้นเป็นเรื่องรามายณะหรืออย่างไร เพราะกระโถนไทยเป็นรูปรามเกียรติ์ก็มี ผู้เขียนเคยเห็นวางขายที่เวิ้งนาครเขษมเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว คนขายบอกว่าเป็นกระโถนวังหน้า คือในสมัยรัชกาลที่ 5 กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญโปรดในการช่างต่างๆ ท่านเอากระโถนดินเคลือบขาวมาเขียนรูปสีอย่างสวยงาม ถามคนขายว่าเท่าไร เขาบอกว่า 500 บาท ก็ได้แต่ดูเท่านั้นเพราะเงินเดือนยังไม่ถึง 700 บาทด้วยซำ้คนเล่นของเก่าเขาว่าถ้าซื้อไว้ก็ได้กำไรงาม เป็นของหายาก

About the Author

Share:
Tags: นิตยสารอนุรักษ์ / อนุรักษ์ / anurakmagazine / ส.พลายน้อย / ภูมิปัญญาไทย / สมบัติ พลายน้อย / กระโถน /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ