Sunday, May 19, 2024
ภูมิปัญญาไทย ส.พลายน้อย ชื่นชมอดีต

กระโถน (ส.พลายน้อย)

ตามประเพณีไทยโบราณก็ถือว่ากระโถนเป็นของสำคัญเช่นกัน ผู้มีบรรดาศักดิ์สูงเมื่อได้รับพระราชทานเครื่องยศพานทองก็ย่อมได้กระโถนทองด้วย (กระโถนลูกเล็กเพื่อเป็นเกียรติ) กระโถนทองนั้นก็ต่างกันอีกถ้าเป็นราชตระกูลเป็นกระโถนทองคำสลักลาย ถ้าไม่ใช่ราชตระกูลก็เป็นกระโถนทองคำพื้นเกลี้ยง

      ที่กล่าวว่ากระโถนมีใช้มาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยนั้น เป็นการประเมินจากวัฒนธรรมการกินหมากว่ามีมาแต่ครั้งกระโน้น ในศิลาจารึกก็ว่าทำสวนหมากสวนพลูกันแพร่หลาย ขอมได้รับวิธีกินหมากมาจากอินเดีย ขอมเข้ามาเดินเพ่นพ่านอยู่ในสุโขทัย ไทยเห็นเข้าก็ลองดูบ้าง หรือกล่าวให้มีสง่าราศีดูดีขึ้นอีกสักหน่อยก็ว่า ครั้งกษัตริย์ขอมยกพระราชธิดาชื่อนางสิขรมหาเทวีให้เป็นพระมเหสีพ่อขุนผาเมือง นางสิขรมหาเทวีก็คงเสวยหมาก นางกำนัลก็ต้องเชิญพระกระโถนมาด้วย

      แรกเริ่มเดิมทีคนไทยจะเรียกกระโถนว่าอย่างไรก็ไม่ทราบ มาถึงสมัยกรุงเทพฯ มีคนอยากรู้คำว่ากระโถนมาจากไหน เจ้านายพระองค์หนึ่งคือกรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงสันนิษฐานว่า ชื่อกระโถนมาจากคำว่า “กะ-ถ่ม” คือเวลาจะถ่มน้ำลายน้ำหมาก ก็ต้องกะให้ถูกต้องแม่นยำเสียก่อนแล้วจึงถ่ม ไม่เช่นนั้นก็จะเลยปากกระโถน คำสันนิษฐานสนุกดีแต่ไม่มีคนยอมรับ

      การเรียกชื่อกระโถนเห็นจะไม่เหมือนกันไปหมดทุกภาค เช่นทางภาคอีสานเรียกกระโถนว่า ‘เงี้ยง’ ก็มี เรียก ‘กระโถน’ ก็มี เมื่อครั้งเป็นนักเรียนครูสอนภาษาไทยเคยเอาภาษาถิ่นมาพูดให้ฟัง ยกตัวอย่างเช่น คนอีสานเขาบอกให้เอากระโถนไปถอก นักเรียนก็หัวเราะกันคึกคักเพราะไม่เข้าใจภาษา ต่อเมื่อครูอธิบายว่าคำถอกเขาหมายถึง ‘เท’ นักเรียนจึงอ้าปากร้องอ๋อ คือเขาให้เอากระโถนไปเทนั่นเอง

About the Author

Share:
Tags: นิตยสารอนุรักษ์ / อนุรักษ์ / anurakmagazine / ส.พลายน้อย / ภูมิปัญญาไทย / สมบัติ พลายน้อย / กระโถน /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ