Friday, May 10, 2024
ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

ตานสลากข้าวหม้อ ภูมิปัญญาและปริศนาธรรม

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 73 เมษายน 2567
เรื่อง/ ภาพ: ธีรภาพ โลหิตกุล

ตานสลากข้าวหม้อ

ภูมิปัญญาและปริศนาธรรม

แต่มีการทำบุญอีกวิธีหนึ่งซึ่งเชื่อกันว่าจะได้อานิสงค์ผลบุญมากขึ้นอีกคือ การทำบุญทานสลากภัต เป็นการทำบุญถวายภัตตาหาร ผลไม้ หรือสิ่งของเครื่องใช้แก่พระภิกษุสามเณรอย่างไม่เจาะจงโดยใช้วิธีจับสลาก เมื่อพระภิกษุสงฆ์จับสลากได้ตรงกับเลขของเจ้าภาพใด เจ้าภาพนั้นก็ถวาย วิธีนี้เป็นหลักการในพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ เพื่อสร้างจิตสำนึกความเท่าเทียมกันและสร้างความเป็นอันหนึ่งเดียวกันแก่คณะสงฆ์ เพราะเป็นการถวายโดยอุทิศให้เป็น “เผดียงสงฆ์” คือไม่ระบุว่าจะถวายรูปใดเป็นการเจาะจง

“บุญสลากภัต” แพร่หลายในหมู่ชาวพุทธทางภาคเหนือมาก เรียกกันว่า “ตานก๋วยสลาก” “ตาน” ก็คือ ทาน “ก๋วย” คือชะลอมหรือตะกร้าทำจากไม้ไผ่ ใช้ใส่สิ่งของที่จะถวายพระ เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่บรรพชนและญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ “สลาก” คือตั๋ว หรือกระดาษแผ่นเล็กๆ ใส่หมายเลขให้พระเณรเสี่ยงทายจับขึ้นมานั่นเอง ทว่า วันหนึ่ง ผมมีโอกาสไปร่วมงานบุญที่วัดพระธาตุช่อแฮ อารามหลวงคู่เมืองแพร่ ซึ่งกำลังจัดงานบุญสลากภัต มีญาติโยมมาร่วมงานกันแน่นพระอุโบสถ แต่ที่น่าแปลกใจคืองานนี้ใช้หม้อดินเป็นภาชนะใส่ข้าวของที่จะอุทิศส่วนกุศลให้ผู้วายชนม์ แทนที่จะใส่ในชะลอม หรือ “ก๋วย” อย่างที่ผมเคยเห็นในงาน “ตานก๋วยสลาก”

งานนี้จึงเจาะจงเรียก “ตานสลากข้าวหม้อ” หรือ “กิ๋นสลากข้าวหม้อ” เหตุที่เรียกเช่นนั้น ถือเป็นกุศโลบายที่น่าสนใจมาก เพราะสืบเนื่องแต่อดีตกาล ในแต่ละปีจะมีช่วงฝนแล้ง พระภิกษุสามเณรไม่มีน้ำพอใช้ ต้องมีภาชนะเก็บน้ำไว้ หม้อดินจึงมีความจำเป็นมาก อีกทั้งยังใช้เก็บข้าวสารอาหารแห้งได้อีกด้วย การชักชวนญาติโยมมาร่วม “ตานสลากข้าวหม้อ” จึงเป็นกุศโลบาย หรืออุบายอันแยบคายและเป็นกุศล ในการจัดหาภาชนะใส่น้ำให้ทางวัด อีกทั้งยังมีความเชื่อว่า การตานข้าวหม้อ หรือทำบุญถวายหม้อดิน แล้วกระทำแต่กรรมดี ชีวิตก็จะรุ่งเรืองและร่มเย็นเป็นสุขอีกด้วย เพราะหม้อดินนั้นเพียงใส่น้ำตั้งไว้เฉยๆ น้ำก็จะเย็นลงเองอยู่แล้ว

เหนือสิ่งอื่นใดตานสลากขาวหม้อยังซ่อนปริศนาธรรมเชิงพุทธปรัชญาไว้อีกด้วยว่า ชีวิตคนเราเปรียบดั่งหม้อดิน หากแตกสลายทั้งทางร่างกายหรือจิตใจแล้ว จะกลับคืนสู่สภาพเดิมไม่ได้ จึงพึงตระหนักว่าควรดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท เป็นสัจธรรมที่จริงแท้แน่นอนที่สุด ดังปัจฉิมโอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงไว้ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า

“สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”
 

ปัจจุบันประเพณีตานสลากข้าวหม้อยังหลงเหลือเพียงแห่งเดียวที่วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ จัดเป็นประจำทุกปี ในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๘-๙ หรือราวเดือนสิงหาคม-กันยายน ทำให้ผมได้เห็นว่าหม้อดินที่ใส่ข้าวของเครื่องอุปโภคบริโภคอุทิศให้บรรพชนแต่ละใบจะมีหมายเลขปักเอาไว้ พระสงฆ์และสามเณรจับสลากได้หมายเลขใดก็รับหม้อดินใบนั้นไป นอกจากนั้นยังมีกระดาษแผ่นเล็กๆ เขียนระบุว่าบุญกุศลจากการ “ตานสลากข้าวหม้อ” ในครั้งนี้ อุทิศแด่บรรพชนหรือญาติพี่น้องท่านใดอีกด้วย

วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เป็นพระธาตุหรือเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้าย และพระเกศาของพระพุทธเจ้า เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้เกิดปีขาล สำหรับชื่อ “ช่อแฮ” สันนิษฐานว่ามาจากชื่อผ้าแพรชั้นดี ทอจากดินแดนสิบสองปันนา ที่ชาวบ้านนำมาผูกบูชาพระธาตุ บ้างว่ามาจากผ้าแพรที่ขุนลัวะอ้ายก้อม ผู้นำชนเผ่าลัวะนำมาถวาย งานนมัสการพระธาตุช่อแฮจัดในวันขึ้น ๙ ค่ำ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ราวเดือนมีนาคมของทุกปี จึงเป็นเรื่องน่าปีติยินดีที่วัดพระธาตุช่อแฮยังอนุรักษ์และสืบสานประเพณีตานสลากข้าวหม้อ หรือกิ๋นสลากข้าวหม้อไว้อย่างมั่นคง สะท้อนถึงสายสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างวัดกับชุมชนชาวเมืองแพร่ เป็นแบบอย่างอันงดงาม โดยเฉพาะในสภาวะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ส่งผลให้โลกร้อนขึ้น ภัยแล้งคุกคามมนุษยชาติมากขึ้น

บางทีประเพณีตานสลากข้าวหม้ออาจมิใช่แค่การอนุรักษ์เท่านั้น หากเป็นกระบวนการจัดหาภาชนะใส่น้ำให้ทางวัดจริงๆ ก็เป็นได้


ขอขอบคุณ: คุณอดิศร ไชยบุญเรือง แห่งสภาหอการค้าจังหวัดแพร่, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

About the Author

Share:
Tags: เมษายน 2567 / ฉบับที่ 73 / ตานสลากข้าวหม้อ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ