Monday, May 6, 2024
สัมภาษณ์

สวนผักดาดฟ้าวิถีอนุรักษ์ใหม่ของคนเมือง

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไม่เพียงแต่เป็นอนุสรณ์สถานสำคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญของคนกรุงเทพฯ แต่พื้นที่ย่านนี้ยังถูกใช้สอย เป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย โดยเปลี่ยนดาดฟ้าของศูนย์การค้าเซ็นเตอร์ วัน ให้เป็นสวนผักปลอดสาร หรือที่คนแถวนั้นรู้จักกันดีในชื่อ Bangkok Rooftop Farming

เชื่อมความร่วมมือพัฒนาพื้นที่เมือง

สวนผักแห่งนี้เป็นผลผลิตจากโครงการ Wastegetable ซึ่งเป็นความคิดของ ปารีณา ประยุกต์วงศ์ หรือ พี่หนู ที่เกิดและเติบโตมาในย่านอนุสาวรีย์ฯ เธอเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ด้วยความห่วงใย ความหนาแน่นของคนเพิ่มขึ้น สวนทางกับพื้นที่ใช้สอย โดยเฉพาะพื้นที่สีเขียวที่ลดลง และเคยออกมาต่อสู้ในนามกลุ่มคนรักษ์อนุสาวรีย์ชัย เพื่อให้การใช้สอยพื้นที่สาธารณะรอบอนุสาวรีย์ฯ เป็นไปอย่างถูกต้อง และไม่กระทบต่อวิถีของผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในย่านนี้ 

พี่หนู ในฐานะคนทำงานสมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Network) สนใจเรื่องการพัฒนาพื้นที่ในเมืองหลวงให้เกิดประโยชน์สำหรับทุกคน พร้อมเชื่อมความร่วมมือเข้ากับคนในพื้นที่ เมื่อเจ้าของห้างดังย่านอนุสาวรีย์ฯ ปรารถนาจะแก้ปัญหาขยะเศษอาหารที่เกิดขึ้นในตัวตึก เมล็ดพันธุ์ของ Wastegetable จึงถูกปลูกขึ้นบนดาดฟ้ากลางเมืองในปี ๒๕๖๐ และเชื่อมโยงคณะทำงานหัวใจสีเขียวอีก ๖ คน เข้ามาช่วยรดน้ำให้โครงการนี้เจริญเติบโตขึ้นมา

“วันนี้เศษอาหารถือเป็น ๕๕% ของขยะทั้งหมด เราตั้งใจจะไม่ทิ้งเศษอาหารออกไปสร้างมลภาวะให้กับโลก ถ้าทุกตึกสามารถแยกและกำจัดเศษอาหารของตัวเองได้ ก็จะทำให้การจัดการขยะอื่นๆ เช่น ขยะพลาสติก ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น เงินที่เราใช้ในการจัดการขยะทั้งหมด ๗๖,๐๐๐ ล้านตัน จะได้ไม่ต้องสูงถึง ๓,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี มันอาจเอาไปสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน สวนสาธารณะ ให้คนกรุงเทพฯ มีพื้นที่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข อย่างฟาร์มผักเล็กๆ แห่งนี้ คนที่ขึ้นมา บนดาดฟ้าก็มีความสุข มีอาหารปลอดภัยทาน เข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี”

แปลงปุ๋ยมาปลูกผัก

ความจริงผลิตผลแรกของโครงการ Wastegetable คือปุ๋ยหมัก น้ำจุลินทรีย์ และก๊าซชีวภาพ ที่ได้จากการนำเศษอาหารหลังปรุงที่คนกินเหลือ มาแปรรูปผ่านเครื่อง Cowtec ที่ออกแบบให้เหมือนกับการย่อยอาหารภายในกระเพาะวัว ส่วนเศษอาหารก่อนปรุงนำไปปั่นกับใบไม้ กิ่งไม้แห้งๆ เพื่อสร้างความชื้น เมื่อหมักจนได้ที่ก็จะได้ปุ๋ยหมักที่เอาไปผสมดินปลูกผักได้ทันที แรกๆ ก็ตั้งใจจะนำปุ๋ยที่ผลิตได้วันละกว่า ๑๐๐ กิโลกรัม ไปบริจาคให้กับสวนสาธารณะหรือหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการปุ๋ยในการบำรุงดูแลต้นไม้ แต่ดูเหมือนแต่ละสถานที่จะจัดการเรื่องนี้จบครบในตัวอยู่แล้ว

พี่หนู จึงเสนอแนวคิดการปลูกผักดาดฟ้า โดยมองว่าปัจจุบันพื้นที่ดาดฟ้ายังถูกบริหารจัดการได้ไม่ดีนัก ในเมื่อสามารถนำขยะเศษอาหารที่มีคุณค่าติดลบมาแปลงเป็นปุ๋ยได้ แล้วทำไมจะนำปุ๋ยนั้นย้อนกลับมาสร้างประโยชน์ด้วยการผลิตอาหารปลอดภัยไม่ได้ โมเดลสวนผักกลางเมืองที่ขับเคลื่อนด้วย Circular economy หรือหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงเกิดขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนทุนส่วนหนึ่งจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)

สิ่งที่เราเห็นด้วยตาคือ ความงามของผักปลอดสารพิษนานาชนิด
ทั้งผักสลัด เรดโอ๊ค กรีนโอ๊ค คอส บัตเตอร์เฮด พืชสมุนไพร เช่น โรสแมรี มินท์ ฯลฯ

สุขสันต์ เขียนภาพ ผู้ดูแลภาพรวมโครงการยังพาเราเดินชม เคล ราชินีแห่งผักใบเขียวที่กำลังขึ้นงาม ผักชนิดนี้ถูกยกย่องว่าเป็นซูเปอร์ฟู้ด เนื่องจากมีโปรตีนสูง สามารถบริโภคผักทดแทนเนื้อในกรณีที่ผู้ป่วยทานเนื้อไม่ได้ และ โมโรเฮยะ ราชาแห่งผักที่อุดมไปด้วยวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ ชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทานมาก โดยนำไปเป็นส่วนผสมของบะหมี่ผักโมโรเฮยะ วันนี้ยังมีผู้คนแวะเวียนมาซื้อต้นกล้า มาตัดผักที่ซื้อกับมือ ถือเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับการเลือกซื้อผักจากเชลฟ์บนห้าง

“จากสถานการณ์ของโรคโควิดเห็นได้ชัดว่าคนเราหันมาสนใจการพึ่งพาตนเอง และใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น หลายคนเริ่มหันมาใช้พื้นที่ที่มีปลูกผักปลอดสารในครัวเรือน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพที่ดีให้กับตนเอง เราก็ตั้งใจทำเป็นโมเดลให้เห็นถึงการใช้ทรัพยากรทุกอย่างให้คุ้มค่าที่สุด เศษอาหารที่กินเหลือเอามาหมุนเวียนทำเป็นปุ๋ยสำหรับปลูกผักต่อได้ การหมุนเวียนน้ำกลับมาใช้ซ้ำ นี่เป็นแนวคิดเล็กๆ ที่พวกเรากำลังจะเริ่มขยายออกไปสู่สังคมเมือง”


ส่งต่อความรู้และเครื่องมือที่หาได้ง่าย

ความจริงการทำปุ๋ยและปลูกผักกินเอง ถือเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย แต่เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น ถนนหนทางตึกรามบ้านช่องเบียดขึ้นกันแออัด จากป่าเขียวเลยกลายสภาพเป็นป่าคอนกรีต วิถีการปลูกผักสวนครัวริมรั้วสำหรับบริโภคในบ้านเริ่มเปลี่ยนไปเป็นการซื้อผักเพื่อบริโภค เมื่อความต้องการผักเพิ่มมากขึ้น จึงหนีไม่พ้นวงจรของการใช้สารเคมีเข้ามาช่วงเร่งผลผลิต ซึ่งอันตรายต่อทั้งผู้ปลูกและผู้รับประทาน 

ธนกร เจียรกมลชื่น ผู้จัดการฟาร์ม Bangkok Rooftop Farming จึงพยายามแสวงหาองค์ความรู้ และทดลองใช้เครื่องไม้เครื่องมือผลิตปุ๋ยรูปแบบต่างๆ เช่น ถุงหมักปุ๋ย เครื่องย่อยขยะเศษอาหารให้เป็นปุ๋ย ในราคาที่ไม่สูงมาก ได้นำไปลงมือทำด้วยตนเอง แม้ในพื้นที่เล็กๆ ของบ้านเรือน ตึกแถว ระเบียงคอนโดมิเนียม หรือดาดฟ้าอาคารสำนักงาน ก็สามารถทำได้เช่นกัน

“หลายคนคิดว่าอยู่ในเมืองไม่มีทางเลือก การจัดการขยะเศษอาหารในบ้านเรือนเป็นเรื่องยาก หรือบางคนบอกปลูกผักไม่ได้หรอก มือร้อน ซึ่งมันไม่เกี่ยวกับมือร้อนมือเย็น อยู่ที่ว่าเราจะลงมือทำไหม เรามีความรู้จริงและเข้าใจในสิ่งที่ทำหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นดิน แสงแดด การเพาะกล้า ย้ายกล้า อย่างขยะเศษอาหาร ถ้าจัดการตามขั้นตอนจริงๆ มันไม่มีกลิ่นหรอกครับ อาจจะใช้เวลาสักหน่อย แต่ถ้าเราใส่ใจ ก็จะลดภาระการจัดการขยะเศษอาหารให้กับโลกไปได้มาก” 

ความยั่งยืนของสังคม สิ่งแวดล้อมคือกำไร

ในช่วงแรกทีมงาน Bangkok Rooftop Farming ได้นำผักสะอาดปลอดสารพิษจากฟาร์มไปขายหน้าศูนย์การค้าเซ็นเตอร์ วัน ในราคาที่ไม่แพง เพราะอยากให้คนในชุมชนเข้าถึงได้ง่าย แต่ในวันนี้ใครอยากจะทานผลผลิตจากดาดฟ้า 

ก็สามารถสั่งพรีออเดอร์ได้ตามรอบ ถือเป็นรายได้ที่ย้อนกลับไปหล่อเลี้ยงโมเดลนี้ให้เติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน

อรรถพล นิพัทธ์โรจน์ ที่สนใจเรื่องอาหารปลอดภัย และมาเป็นหนึ่งในคณะทำงานคอยดูแลด้านการตลาด กล่าวว่า รายได้ที่เข้ามาแสดงถึงความสุขที่มั่งคั่งและความยั่งยืนของชุมชน เนื่องจากสินค้าที่จำหน่ายคือสุขภาพความปลอดภัยของคนกิน 

“ผมอยากเห็นตัวเมืองมีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น และอยากเห็นคนปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เหลือก็นำไปขาย เป็นการพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวง รัชกาลที่ ๙ ถ้าวันหนึ่งโมเดลนี้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง ผมว่ากำไรของเราคือรอยยิ้มของคนมากกว่า ไม่ใช่เงินทอง” 

เพื่อสานความตั้งใจดีให้เป็นจริง พร้อมทรัพย์ ซื่อสัตยวงศ์ นักวางแผนกลยุทธ์ประจำฟาร์ม มีแผนที่จะเพิ่มรูปแบบฟาร์มอีกสัก ๓-๔ ตัวอย่าง ในพื้นที่ที่มีความแตกต่าง นอกเหนือจากดาดฟ้าของศูนย์การค้าย่านอนุสาวรีย์ฯ เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นและทำตามอย่างไปด้วยกัน

“เราจะทำให้ทุกคนเห็นภาพของระบบเศรษฐกิจที่ถ้าชุมชนร่วมมือกัน มันจะเปลี่ยนอะไรบางอย่างได้ หากโมเดล Bangkok Rooftop Farming มีทุกหัวมุมถนน ใครถนัดปลูกก็ปลูก ใครไม่ปลูกก็สามารถมีส่วนร่วมได้ ด้วยการซื้อผักไปรับประทาน หรือส่งขยะเศษอาหารมาแปลงเป็นปุ๋ย นอกจากชุมชนแต่ละพื้นที่จะเข้มแข็ง เศรษฐกิจจะแข็งแรง ผลพลอยได้คือ เราไม่ต้องเสียค่าขนส่งอาหารจากฟาร์มไกลๆ รวมทั้งเรื่องการจัดการขยะก็มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย” 

หนึ่งในกลไกความสำเร็จคือการสร้างเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง พี่หนูเสริมว่าในปี ๒๕๖๔ ตั้งใจจะขยายโมเดลสวนผักดาดฟ้าไปยังอีก ๕ ตึกใจกลางเมือง เมื่อคนเมืองมีพื้นฐานความมั่นคงทางอาหารในระดับหนึ่ง ก็จะทำให้คนหัวเมืองพลิกมาปลูกผักที่ยากกว่า ราคาแพงกว่า และไม่ใช้สารเคมี แม้สิ่งที่หวังจะยากราวกับหยดน้ำลงหิน แต่พี่หนูและคณะทำงานทุกคนก็เชื่อว่าสักวันหินคงจะกร่อน ผู้คนจะหันมาแปลงเศษอาหารเป็นปุ๋ย ปลูกผักปลอดสารกินเองอย่างแพร่หลายแน่นอน

นายรัชพล ไกรจิรโชติ กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้า เซ็นเตอร์ วัน ช้อปปิ้ง พลาซ่า

“เราอยากทำโครงการเพื่อสังคมที่มันต่อเนื่อง เลยเริ่มจากการลดปัญหาที่ตัวเราเองก่อน ในห้างเราวันหนึ่งๆ ผลิตขยะเศษอาหารไม่น้อย ถ้าสามารถกำจัดได้ด้วยตัวเราเองก็คงจะดี แต่สิ่งที่เราได้มากกว่ากำจัดขยะที่เป็นปัญหา คือผักปลอดสาร ที่สด สะอาด ปลอดภัย สำคัญที่สุดโครงการพวกนี้ต้องยืนได้ด้วยตัวเอง เราใช้เงินหล่อเลี้ยงแค่ในช่วงต้น หลังจากนั้นมันสามารถสร้างรายได้จากการขายผัก ชุมชนก็ได้ผักที่ปลอดภัยไปรับประทาน พงหลีภัตตาคารก็รับผักบางอย่างไปใช้ในเมนูของเขา ตอนนี้ร้านอาหารในห้างเราต้องการกะเพราปลอดสาร ผมก็บอกให้ทางฟาร์มปลูกให้ พอมันโตหน่อยก็ซัพพลายกะเพราเข้าไปในร้านอาหาร ทำให้ทางฟาร์มมีแหล่งรับผักที่แน่นอน ผมอยากจะเห็นมันขยายไปอยู่ตามสถานที่ต่างๆ

“ถ้าทุกตึกสามารถแยกและกำจัดเศษอาหารของตัวเองได้ก็จะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เงินที่เราใช้ในการจัดการขยะทั้งหมด ๗๖,๐๐๐ล้านตัน จะได้ไม่ต้องสูงถึง ๓,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี”

“เราจะทำให้ทุกคนเห็นภาพของระบบเศรษฐกิจที่ถ้าชุมชนร่วมมือกันมันจะเปลี่ยนอะไรบางอย่างได้ หากโมเดล Bangkok Rooftop Farming มีทุกหัวมุมถนน ใครถนัดปลูกก็ปลูก ใครไม่ปลูกก็สามารถมีส่วนร่วมได้ ด้วยการซื้อผักไปรับประทาน หรือส่งขยะเศษอาหารมาแปลงเป็นปุ๋ย นอกจากชุมชนแต่ละพื้นที่จะเข้มแข็ง เศรษฐกิจจะแข็งแรง”

เรื่อง: สุภาวดี ใหม่สุวรรณ์ ภาพ: พีรเชษฐ์ นิ่วบุตร อนุรักษ์แท็บลอยด์ ฉบับที่ 43 พค 2564

About the Author

Share:
Tags: อรรถพล นิพัทธ์โรจน์ / นิตยสารอนุรักษ์ / พร้อมทรัพย์ ซื่อสัตยวงศ์ / อนุรักษ์ / ธนกร เจียรกมลชื่น / ปารีณา ประยุกต์วงศ์ / anurakmagazine / สวนผัก / organic / ผักปลอดสาร / Bangkok Rooftop Farming / เซ็นเตอร์ วัน / รัชพล ไกรจิรโชติ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ