Thursday, May 9, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป สัมภาษณ์ บทความแนะนำ

มารดาแห่งผู้ปลูกป่าและเจตนารมณ์ที่ไม่เคยเปลี่ยนศาสตราจารย์เกียรติคุณพิไล พูลสวัสดิ์

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 24
เรื่อง: ฬียากร เจตนานุศาสน์
ภาพ: พีรเชษฐ์ นิ่วบุตร

มารดาแห่งผู้ปลูกป่า

และเจตนารมณ์ที่ไม่เคยเปลี่ยน

ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิไล พูลสวัสดิ์

“ไร้โพรงรัง…นกเงือกหาย ไร้นกเงือก…ป่าหาย ไร้ป่า…ทุกอย่างหาย” นี่ไม่ใช่คำกล่าวเกินจริง ถ้าเป็นผู้ที่ข้องเกี่ยวหรือสนใจเรื่องราวของการอนุรักษ์คงทราบดีว่านกเงือกนั้นเป็นนกที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ปลูกป่า เพราะต้นไม้หลายๆ พันธุ์ในป่าเป็นไม้หายาก ปลูกเองได้ยากและรักษาให้ยั่งยืนก็ยากนักในภาวะปัจจุบันที่ดูเหมือนอะไรๆ ก็อยู่ยากขึ้นมาก คนในเมืองอาจบ่นว่าอากาศร้อน ก็เร่งเครื่องปรับอากาศทั้งในบ้านในรถให้เย็นขึ้น หรือติดเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้น ส่วนคนที่ไม่มีแอร์คอนดิชันนั้นก็อดทนต่อไปเพราะไม่ทราบจะทำอย่างไรได้ ส่วนผลกระทบอื่นๆ เช่น เวลาน้ำท่วม หรือฝนแล้ง น้ำแห้ง คนก็ยังคิดว่าเป็นเรื่องของธรรมชาติผิดปกติ แต่ถ้าคิดให้ลึกไปกว่านั้น แล้วทำไมธรรมชาติผิดปกติล่ะ อยากรู้ไหมว่าทำไม…เราขอให้คนที่มีความรู้และเป็นผู้คลุกคลีอยู่กับป่าและผู้ปลูกป่าท่านนี้เป็นผู้ให้คำตอบจะดีกว่า

ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิไล พูลสวัสดิ์ (ได้รับพระราชทานเกียรติคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ) ผู้ได้รับฉายาว่า ‘มารดาแห่งนกเงือก’ เราขออนุญาตเรียกท่านสั้นๆ ว่า อาจารย์พิไล แม้ในวันนี้ อาจารย์จะเกษียณราชการจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว แต่ยังมีห้องทำงานอยู่บนตึกที่มีสวนนกเงือกอยู่ด้านหน้าในคณะแห่งนี้ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เราได้มาพบเพื่อพูดคุย “เพราะทางคณะยังให้อาจารย์เป็นสตาฟที่นี่และมูลนิธิวิจัยนกเงือกก็ยังอยู่ที่นี่ อาจารย์ก็เข้ามาบ้าง และเดินทางบ้าง ช่วงนี้ก็ยังมีเดินทางอยู่เรื่อยๆ” อาจารย์พิไล ตอบคำถามที่เราเริ่มต้นทักทาย หลังจากเราเคยมีโอกาสได้พบอาจารย์เมื่อหลายปีก่อนในผืนป่าภาคใต้และคุยกันเรื่องนกเงือกเช่นเดียวกับคราวนี้ เพียงแต่ระยะเวลาหลายปีผ่านมาและสถานที่ที่พบกันก็เปลี่ยนไป แต่การทำงานเพื่อช่วยเหลือดูแลนกเงือกของอาจารย์ยังไม่เปลี่ยน แม้จะมีบางสิ่งที่เปลี่ยนบ้างไม่เปลี่ยนบ้างอยู่ในเส้นทางการทำงานของอาจารย์

หน้าตาของโพรงรังนกเงือก

ถึงไม่ใช่แม่แท้ๆ…แต่ก็ต้องดูแลนกเงือก

“นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ เป็นต้นมา โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาวิจัยชีวิตนกเงือกบริเวณเทือกเขาบูโดในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ได้พบนกเงือกที่เดิมคาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้วจากเมืองไทยคือ นกเงือกหัวแรด นอกจากนี้ยังพบนกเงือกสำคัญอีกหลายชนิด เช่น นกชนหิน นกเงือกหัวหงอก คณะวิจัยพบว่านกเงือกในป่าบริเวณเทือกเขาบูโดกำลังถูกคุกคาม ทั้งจากกรณีป่าซึ่งเป็นแหล่งอาศัยและทำรังถูกลักลอบตัดไม้ และชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจนนิยมจับลูกนกเงือกไปขาย เป็นผลให้จำนวนนกเงือกในป่าลดลงทุกปี

“โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือกแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการขอร้องให้ชาวบ้านเลิกจับลูกนกเงือก และชักชวนให้ชาวบ้านมาเป็นผู้ช่วยนักวิจัย ร่วมมือกันตั้งหมู่บ้านอนุรักษ์นกเงือก ในขณะเดียวกันก็หาทางให้ชาวบ้านมีรายได้เสริมเพื่อพวกเขาจะไม่ต้องหวนกลับไปขโมยลูกนกเงือกจากรังอีก”

นี่คือข้อความที่อาจารย์เคยกล่าวมาเมื่อหลายปีก่อน วันนี้เราเริ่มย้อนถามอาจารย์ไปถึงเส้นทางของการก้าวเข้าสู่วิถีแห่งการทำงานเพื่อช่วยเหลือนกเงือก จนกระทั่งอาจารย์ได้รับฉายาว่า ‘มารดาแห่งนกเงือก’ ไปโดยปริยาย ว่าอะไรที่ทำให้อาจารย์มุ่งสู่การทำงานเพื่อวิจัยในเรื่องนี้ และเหตุใดจึงต้องใช้เวลายาวนานจนผ่านมาแล้วหลายสิบปีอย่างที่มีใครบางคนตั้งคำถาม และบางคนถึงกับกล่าวว่า ‘อาจารย์ทำงานนี้มานานแล้ว น่าจะเลิกทำได้แล้ว’

ถึงตรงนี้เราเลยอยากตั้งคำถามกลับไปยังคนอื่นๆ บ้างว่า คุณคิดว่าป่าไม้ที่หายไปจากเมืองไทยต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหนถึงจะฟื้นฟูกลับมาได้ และถึงตอนนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ได้มีการเริ่มลงมือกู้สถานการณ์ป่าไม้ที่วายวอดให้กลับมาดีขึ้นได้บ้างหรือยัง

และคุณรู้หรือไม่ว่า นกเงือกที่ไร้โพรงรังก็จะไม่มีการวางไข่เมื่อไม่มีการวางไข่ก็ไม่มีประชากรนกเงือกเพิ่มขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไปเนิ่นนานวันเข้า นกเงือกที่ไร้โพรงรังก็จะทำให้ปริมาณนกเงือกลดลงเมื่อผู้ปลูกป่าลดลง ป่าก็น้อยลงไปเรื่อยๆ มิหนำซ้ำยังมีป่าที่ถูกทำลายอยู่เรื่อยๆ อีกด้วย แล้วอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น…ฟังเรื่องนี้แล้วมีใครรู้สึกตื่นกลัว ตระหนก หรือตกใจบ้างหรือไม่ หรือยังไม่รู้สึกเดือดร้อนมากนักเพราะภัยยังไม่มาถึงตัว แถมสิ่งเหล่านี้ก็อยู่ไกลออกไป ราวกับไม่มีผลกระทบ ทว่าเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อหลายปีก่อน หรือข่าวน้ำป่าหลากหรือภัยแล้งซึ่งมีในแทบทุกปีๆ นั้นล่ะ ทำให้หวั่นไหวหรือหวาดหวั่นบ้างหรือยัง หรือต้องรอให้ผลกระทบเข้ามาในระยะประชิดตัวแล้วจึงรู้สึกถึงสำนวนที่ว่า ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา ไม่เห็นน้ำมา ไม่เห็นป่าในสายตา อะไรทำนองนั้น

นี่คือสิ่งที่เราสรุปมาหลังจากได้คุยกับอาจารย์พิไล ผู้ที่ยืนหยัดอยู่เคียงข้างด้วยการทำงานวิจัยเพื่อช่วยเหลือ ดูแล และร่วมประสานรอยร้าวของโพรงรังให้นกเงือก หรือผู้ปลูกป่าตัวจริงเสียงจริงที่ถูกสังคมทอดทิ้ง ไม่เห็นความสำคัญมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน การทำงานเพื่อดูแลให้นกเงือกได้มีโอกาสกระจายพันธุ์ หรือแพร่พันธุ์เพื่อเพิ่มประชากรนกเงือกก็คือการช่วยเหลือป่าไปด้วยในตัว จะเรียกว่าทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้ทั้งนั้น แต่สิ่งสำคัญก็คือ ผืนป่าทั่วแผ่นดินไทย

ไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง สิ่งที่อาจารย์ประสบปัญหาอยู่ตอนนี้คือนอกจากการขาดผู้สนับสนุนหลักอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีปัญหาของการถูกปัดแข้งปัดขาไม่ให้ได้ทำงานในป่าได้อย่างสะดวกราบรื่นอีก และถ้าใครได้รับรู้เรื่องราวของนกเงือกมาบ้าง ก็น่าจะพอทราบว่านกตัวใหญ่ที่พลีหัวใจให้ผืนป่าสายพันธุ์นี้พวกมันพร้อมจะปลูกป่าให้พวกเราตลอดไป ขอเพียงแต่มีคนใส่ใจ ดูแลช่วยจัดหา จัดเตรียม และซ่อมแซมให้มีโพรงรังดีๆ ให้พวกมันเข้าไปวางไข่ได้อย่างสะดวกในช่วงฤดูผสมพันธุ์ เหมือนอย่างที่อาจารย์พิไลได้ทำหน้าที่นี้มาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี…เท่านี้ก็พอ

ติดจีพีเอสเพื่อศึกษาระยะการบินของนกเงือก

เริ่มต้นสะกดรอยตามรัง

“อาจารย์เริ่มเข้ามาทำงานวิจัยเรื่องนกเงือกตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ตอนนั้นบีบีซีเข้ามาถ่ายทำซีรีส์เรื่อง ซาฟารี ออฟ ไทยแลนด์ แล้วขอให้อาจารย์เป็นที่ปรึกษา เขาอยากจะเข้าไปทำเรื่องต้นไทร และเรื่องนกเงือกก็เป็นหนึ่งในซีรีส์นั้นด้วย เขาทราบว่าเราเป็นคนเดินป่าเขาใหญ่จึงอยากให้ช่วยหาที่นอนของนกเงือก ซึ่งตอนนั้นอาจารย์ยังไม่มีความรู้เลยว่านกเงือกอยู่กันที่ไหน ตอนนั้นประมาณเดือนมกราคมก็เพิ่งมารู้ตอนหลังว่าเป็นช่วงที่นกเงือกแตกฝูง ไม่ได้รวมฝูงแล้ว”

ถึงตรงนี้อาจารย์พิไลอธิบายเพิ่มเติมว่า นกเงือกเป็นนกขนาดใหญ่ที่ไม่ได้นอนในรัง แต่จะนอนตามพุ่มไม้ ยกเว้นตอนช่วงวางไข่ที่นกเงือกตัวเมียเท่านั้นที่จะนอนในรัง และนกตัวผู้ออกไปหาอาหารมาป้อนจนกว่านกตัวเมียจะฟักไข่เป็นตัว และลูกนกแข็งแรงพอจะออกหาอาหารเองได้ เป็นความประทับใจหากใครได้เห็นภาพน่ารักของครอบครัวนกเงือกในขณะที่พ่อออกไปหาอาหารมาป้อนแม่และดูแลจนกว่าลูกจะโตในช่วงเวลา ๓-๔ เดือนนี้ และจากนั้นแม่นกและลูกนกที่แข็งแรงแล้วก็จะออกไปหาอาหารเอง ทว่าก็ยังเกาะกลุ่มเป็นฝูงในช่วงเวลานอน ก่อนจะถึงช่วงเวลาที่ตัวเมียได้เวลาวางไข่อีกครั้งหากโพรงรังเดิมยังใช้ได้ในปีถัดไป หรือหาโพรงรังใหม่ที่สามารถใช้ได้เท่านั้น

เจ้าหน้าที่ขณะกำลังหาโพรงนกเงือก

“ตอนนั้นพอไปเดินป่าเพื่อหาที่นอนนกเงือก อาจารย์ก็ไปแถวๆที่เคยเจอ ไปสองคนกับยามพิทักษ์ป่าก็ไม่เจอ เดินหาอยู่ ๗ วันจนอาหารที่เตรียมไปบูดหมดเลย ยามไปงมหอยในลำธารมาให้กิน มันคาวมากๆ ยังจำได้ แล้วเราก็ไปเจอที่นอนเก่าของพวกนกเงือกแต่ไม่เจอนก เพราะเป็นช่วงที่ไม่ได้รวมฝูงแล้ว เป็นช่วงแยกกันไปทำรัง ก็บอกไปทางบีบีซี เขาบอกว่าไม่เป็นไร ถ้างั้นไปหาต้นไทรเจ้าหน้าที่เป็นคนขับรถให้ อาจารย์เป็นคนส่องดูว่ามียอดไทรไหมเพราะอาจารย์จะแยกต้นไทรกับต้นไม้อื่นได้ ก็ส่องๆ ไป ประมาณกิโลเมตรที่ ๒๗ เจอต้นไทรกะเหรี่ยงหรือเลียงผึ้ง มีลูกไทรสุกและมีนกเงือกมา เราก็ได้เห็นนกเงือกตัวใหญ่มาก เห็นในระยะใกล้ๆ เลย

การสำรวจดูโพรงรังต้องใช้อุปกรณ์ในการขึ้นไปสำรวจ

“คือเคยเห็นมาตั้งแต่เริ่มดูนกแล้ว แต่ตอนนั้นไม่ได้เฉพาะเจาะจงเรื่องนกเงือก พอได้มาเห็นชัดๆ คราวนี้ก็เริ่มสนใจมากขึ้น จากนั้นเราตามไปจนเจอรัง ไปสังเกตดู ปรากฏว่าตอนนั้นเรายังไม่รู้วิธีการก็ไปนั่งเฝ้านั่งดูกันสองคนกับอาสาสมัครอีกคน ไปเฝ้าตั้งแต่ตีห้าพอแปดโมงเช้าตัวผู้บินมาเกาะที่หน้าปากโพรง ตัวเมียที่อยู่ในโพรงก็มีเสียงอยู่ตลอด คือเป็นช่วงต้นฤดูทำรัง ทีนี้พอตัวผู้มา คงเห็นเราเพราะเรานั่งกันแว่นวาวเลย ตัวผู้ก็ไม่เข้าไป ไม่ป้อนอาหารให้ตัวเมียเรานั่งรอจนบ่ายสองก็ยังไม่เข้าไป แต่ตอนนั้นเราไม่รู้ว่าเพราะเห็นเราเลยไม่เข้าหรือเปล่า ในที่สุดก็ต้องเลิกเฝ้าเพราะอาจารย์ต้องเดินทางไปต่างประเทศ

“พอกลับมา บีบีซีก็ยังตามถ่ายที่รังนั้นอยู่ เขาบอกเราว่าตัวเมียออกจากรังไปแล้ว แปลว่าไม่ประสบความสำเร็จ เราไม่รู้ว่าเขาไปรบกวนยังไงหรือเปล่า นกเงือกก็ทิ้งรังไป รังนั้นถือเป็นรังเบอร์หนึ่งเลยที่อาจารย์เริ่มศึกษา จากนั้นไปส่องดู ไปสำรวจดูข้างใน ส่องไฟดูเห็นว่ามีโพรงจากข้างบนด้วย เราลองฉายไฟ แล้วเจ้าหน้าที่อีกคนฉายไฟให้เราดู เห็นว่าในโพรงมันทะลุ แล้วพอผ่านไปอีกปีต้นไม้ก็โค่นเราเลยรู้แล้วว่าต้นที่โพรงมีขนาดใหญ่ใกล้จะพัง นกก็อยู่ไม่ได้

“ทีนี้พอหลังจากบีบีซีกลับไปแล้ว อาจารย์ก็เริ่มสนใจจริงจังไปเฝ้าดูตลอด ได้เห็นต้นไทรออกลูก พอต้นไทรสุกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ สุกอยู่สักสิบวัน ทีนี้พวกลิง ค่าง บ่าง ชะนี นก สัตว์ต่างๆก็จะมากันที่ต้นนี้ เหมือนเป็นภัตตาคารอาหารชั้นดีเลย”

นกเงือกหัวแรด

แค่ป่าสมบูรณ์อาจยังไม่พอ

อาจารย์พิไลเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงแรกของการติดตามนกเงือกที่เริ่มจากความประทับใจที่ได้เห็นและรู้จักพฤติกรรมของการครองชีวิตคู่ การดูแลครอบครัว จนทำให้ทราบว่าความเป็นอยู่ของประชากรนกเงือกนั้นอาจมีปัญหาจนถึงกับทำให้นกเงือกบางชนิดสูญพันธุ์ได้ง่ายดายหากปล่อยให้โพรงรังสำหรับวางไข่กลายเป็นของหายากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับพวกนก

“ตอนนั้นพอเราได้เจอนกเงือกที่ไทรต้นนั้นก็เป็นโอกาสให้เราได้เริ่มตามนกเงือกไปเรื่อยๆ เป็นโอกาสให้ได้ศึกษา ได้เก็บรายละเอียดเราได้ศึกษารังของนกทุกชนิด นกกก นกเงือกกรามช้าง นกกู๋กี๋นกเงือกสีน้ำตาล แล้วก็นกแก๊ก เรียกว่าเจอหมด ก็เริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่

ปี ๒๕๒๑ ที่เราเริ่มตามจากที่ต้นไทร เริ่มมาตั้งแต่ยังไม่มีทุน พอปี ๒๕๒๔ เริ่มได้ทุนจากอเมริกา พอได้ทุนมาก็เริ่มจ้างผู้ช่วยวิจัย ซึ่งกลุ่มแรกเลยเป็นนิสิตจบจากวนศาสตร์ เพราะตอนนั้นอาจารย์มีผู้ร่วมงานจากวนศาสตร์ ดร. ชุมพล งามผ่องใส น่ารักมาก เสียดาย เสียชีวิตแล้วแกก็ส่งลูกศิษย์ให้มาช่วยงาน

อาจารย์พิไลขณะสอนชาวบ้านให้ช่วยกันดูแลและอนุรักษ์นกเงือก

“จนกระทั่งปี ๒๕๓๗ จึงตั้งเป็นมูลนิธิ ทำมาหลายปีกว่าจะตั้งเพราะเราไม่มีเงินทุน แล้วเป็นโครงการวิจัยในมหาวิทยาลัยก็ทำอะไรไม่ได้มาก ตอนที่ตั้งเป็นมูลนิธิมีคุณบุญชัย เบญจรงคกุลเข้ามาสนับสนุน

“ตั้งแต่นั้นก็ค่อยๆ เก็บข้อมูลมาตลอด เพราะการที่เราจะบอกว่านกออกลูกกี่ตัว กินอะไร อยู่ยังไง ไม่ใช่เราดูแค่คู่สองคู่ แต่ข้อมูลเราต้องสะสมเพื่อให้ข้อมูลถูกต้องมากที่สุด พอทำไปๆ ก็ยิ่งขยายเรื่องความอยากรู้ไปเรื่อยๆ ในเรื่องอาหาร เรื่องสิ่งแวดล้อม อุณหภูมิข้างในโพรง เป็นยังไง กินอะไรในแต่ละปี อาหารที่กินมีคุณค่ายังไง นกแต่ละตัวใช้พื้นที่ป่าเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้รู้ว่าถ้าเราจะอนุรักษ์นกเงือกประชากรของเขาที่อยู่ได้ยืนยาว ยั่งยืน สมมุติว่าในปริมาณ ๕๐๐ ตัวต้องใช้พื้นที่ป่าสักเท่าไหร่

“แล้วอย่างที่เขาใหญ่ ที่นั่นเป็นโครงการต้นแบบซึ่งมีข้อมูลค่อนข้างจะสมบูรณ์ ส่วนที่อื่นที่เราขยายไปยังมีไม่เท่าเขาใหญ่ แต่ที่ขยายออกไปก็เพื่อจะได้ศึกษาให้ครอบคลุมนกเงือกทั้ง ๑๓ ชนิดที่เรามีต้องไปทางใต้ด้วย ที่บูโด สุไหงปาดี ซึ่งตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะไปเพราะเรามีเงินทุนจำกัด พอเงินจำกัด บุคลากรก็จำกัดด้วย

ถังไวน์จากสยามไวเนอรี่ที่บริจาคเพื่อทำโพรงรังให้นกเงือก

“แต่พอเริ่มมีเงินทุนพอไปได้ เราก็ไปห้วยขาแข้งก่อน แล้วตอนหลังก็ไปที่บูโดเพราะมีข่าวว่ามีการล่านกเงือกกันอย่างรุนแรงเลยลงไปดู ได้ไปคุยกับพราน ไปขอให้เขามาช่วยกัน เราไปเปลี่ยนจากพวกนักล่ามาเป็นผู้ดูแล เราได้เครือข่ายที่ดีขึ้น เพราะการทำงานวิจัยเราไม่ได้ทำแค่ปีสองปีแล้วเลิก มันจะต้องมีขยายงานออกไปต้องมีการศึกษาต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นองค์ความรู้ของเราก็ไม่ครบถ้วน ประสบการณ์ที่จะแบ่งปันให้คนอื่นก็คงไม่ได้ ฉะนั้นเรื่องงานวิจัยทางธรรมชาติเกี่ยวกับป่าควรจะมีระยะค่อนข้างยาว เพราะเราต้องไปตามดู อย่างเขาใหญ่ที่คนมองว่าน่าจะดีเพราะพื้นที่ใหญ่โต แต่จริงๆ แล้วนกเงือกค่อนข้างขาดแคลนโพรงรัง โดยเฉพาะนกขนาดใหญ่ๆ เพราะต้นไม้ขนาดใหญ่ไม่ได้มีมาก และกระบวนการเกิดโพรงตามธรรมชาติก็ค่อนข้างช้า”

ถึงตรงนี้อาจมีคนสงสัยถึง “โพรงรัง” ของนกเงือกว่าต้องเป็นอย่างไร ทำอย่างไร อยู่อย่างไร และเพราะเหตุใดจึงต้องมีนักวิจัยแบบอาจารย์พิไลที่ยื่นมือเข้าไปช่วย

“เพราะที่เขาใหญ่อาจจะมีต้นไม้แต่บางทีก็ไม่มีโพรง หรือมีโพรงแต่ว่านกเงือกใช้ไม่ได้ แล้วถ้าไม่มีโพรงรัง นกเงือกไม่สามารถขยายพันธุ์ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นโพรงรังคือปัจจัยจำกัด แล้วเราก็เลยได้เห็นว่า เอ๊ะ…ทำไมนกเงือกถึงแย่งโพรงกันมากเลย ทำไมโพรงนี้ถูกทิ้งแล้วไปแย่งโพรงใหม่กัน ปรากฏพอเราไปดูก็ทำให้รู้ว่าโพรงที่ทิ้งไปคือโพรงที่หมดสภาพแล้ว เพราะพอโพรงทรุดมันก็จะลงไปลึก เนื่องจากนกตัวเมียต้องขึ้นมารับอาหารจากตัวผู้และต้องถ่ายมูลอีก เพราะฉะนั้นโพรงต้องมีความเหมาะสม คือพื้นโพรงต้องไม่ลึกเกินไปแล้วก็ต้องสูง

ทีนี้กระบวนการผุพังที่ทำให้เกิดโพรงในต้นไม้ก็ใช้เวลานานกว่าจะเป็นโพรง เราศึกษาไปเรื่อยๆ ดูว่ามีอะไรที่เราพอจะช่วยได้”

เมื่อกระบวนการตามธรรมชาติใช้เวลาเนิ่นนาน และบางครั้งถึงแม้จะมีตัวช่วยอย่างพวกนกหัวขวานที่มาเจาะโพรงไว้ตามต้นไม้บ้างก็สามารถช่วยได้แต่นกเงือกขนาดเล็กเท่านั้น พวกนกเงือกพันธุ์ใหญ่ๆ ยังคงมีรังไม่พอเพียง ทำให้การแพร่พันธุ์ของพวกนกเงือกเองและการทำหน้าที่ขยายพื้นที่ป่าโดยธรรมชาติก็ไม่เพียงพอต่อการจัดสมดุลของระบบนิเวศอย่างที่ควรจะเป็นเท่าไรนัก

ความสามารถของนกเงือกคือ เป็นผู้กระจายพันธุ์ไม้ และเป็นผู้ปลูกป่าที่ดี

แม่งานสานรังนก

“ทีมงานเราจะมีหน้าที่คอยซ่อมแซมโพรง พอถึงฤดูทำรังนกเงือกในปีต่อไป ทีมงานก็ต้องออกไปสำรวจเพื่อซ่อมโพรงรัง แต่ทำได้แค่ช่วงสั้นๆ เพราะต้องรอให้ฝนหยุด ให้ดินแห้ง แล้วค่อยปีนขึ้นไป เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย และเครื่องมือก็เปียกไม่ได้ เราก็จะมีเวลาแค่เดือนสองเดือนกว่าที่จะไปซ่อมรังให้เสร็จก่อนที่นกเงือกจะมาพอถึงเวลาเขามารังแล้วเห็นว่าใช้ได้เขาก็ใช้ ซึ่งตรงนี้เราดูจากโพรงที่มีอยู่แล้ว แต่ปากโพรงใหญ่ไปก็เข้าไปตกแต่งปิดปากโพรงให้ เราเน้นช่วยนกขนาดใหญ่เพราะนกขนาดเล็กไม่ค่อยมีปัญหา เขาใช้ต้นไม้ขนาดเล็กได้ นกชนิดเล็กอย่างนกแก๊ก เล็กกว่านกกกครึ่งต่อครึ่งเพราะฉะนั้นเราก็จะช่วยนกกกได้มากที่สุด

“และเราศึกษาเกี่ยวกับเรื่องพื้นที่ก็จะติดวิทยุเพื่อสำรวจด้วย สมัยแรกๆ ยังไม่มีเทคโนโลยีมาก เราก็ได้ข้อมูลมาระดับหนึ่ง คือโชคดีที่ปี ๒๕๔๖ เราได้ทุนจากไบโอเทค เป็นทุนจากรัฐบาลครั้งแรกเป็นทุนขนาดใหญ่ ๕ ปี เราก็ทำงานได้เยอะ ได้องค์ความรู้ ได้สิ่งต่างๆ เยอะขึ้นมากเราได้สำรวจนกเงือกทั่วประเทศ แล้วได้ศึกษาเรื่องพันธุกรรม เพราะเป็นศูนย์ศึกษาเรื่องพันธุกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำ ให้ได้ข้อมูลเรื่องการสำรวจประชากรของนกเงือก เรื่องพันธุกรรมของนกเงือก ศึกษาการใช้ป่าของนกเงือกด้วย แล้วพอหมดทุนไบโอเทค ปตท. สผ. ก็เข้ามา เราเริ่มติดจีพีเอส ตอนช่วงนี้ก็ทำให้สำรวจได้มากขึ้น

“และจากการสำรวจช่วงนั้นทำให้รู้ว่าทำไมนกเงือกทางฝั่งของวังน้ำเขียวถึงมีความหนาแน่นประชากรต่ำ ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับทางฝั่งที่เราทำศึกษาวิจัยอยู่ เพราะตอนนั้นเราได้ช่วยนกเงือกมาพอสมควรตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ ที่เราเริ่มปรับปรุงโพรงรังก็สิบกว่าปี ความหนาแน่นของจำนวนนกสูงขึ้นมาก พอ ปตท. สผ. เข้ามา เราเลยขยายพื้นที่เข้าไปดูว่าเพราะอะไร ปรากฏว่าที่นั่นนอกจากโดนล่าแล้ว โพรงรังแทบไม่มี โพรงเสียหมด เราค่อยๆ ไปปรับปรุงจนเริ่มดีขึ้น จากนั้นก็ศึกษาทางด้านพันธุกรรม ทำให้รู้ว่ามีการถ่ายเทจากทางตะวันตกมาตะวันออก และมีการเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมในแง่ของยีนมากขึ้น

“เป็นผลพวงจากการช่วยให้พวกนกมีโพรงและทำให้นกมีโอกาสจับคู่ได้ไกลขึ้น จากนั้นเราศึกษาทางผลกระทบต่อภูมิอากาศด้วยเพราะอากาศมีผลกระทบต่ออาหารนกเงือกด้วย มันเป็นผลโดยอ้อมเพราะถ้าอาหารไม่สมบูรณ์ ตัวเมียก็จะไม่วางไข่”

แล้วนกเงือกกินอะไรบ้าง? เราถามผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาหารนกเงือกที่จะส่งผลต่อระบบนิเวศ “กินผลไม้เยอะมาก ช่วงเลี้ยงลูกกินสัตว์ด้วยพวกสัตว์เลื้อยคลาน กระรอก งู แต่ที่สำคัญคือนกเงือกมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศในป่าอย่างมาก เขาช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ เพราะนกเงือกกินเมล็ดพืชไม่ต่ำกว่าร้อยชนิด กินตั้งแต่เมล็ดเล็กจนถึงเมล็ดใหญ่ๆ ถือว่าเป็นผู้กระจายที่มีประสิทธิภาพมาก และยังเป็นคีย์สโตนคือเรียกว่าเป็นผู้กระจายพันธุ์ไม้ ถ้าหากขาดนกเงือก จะทำให้ไม้บางชนิดสูญพันธุ์ เพราะปากเขาใหญ่และไม้บางชนิดเมล็ดใหญ่ เขาก็สามารถกระจายไปได้ นกเงือกตัวหนึ่งสมมุติอย่างต่ำๆ พาเมล็ดกระจายไปแค่วันละเมล็ด ลองคิดดูว่าปีหนึ่งได้เท่าไหร่ อาจไม่รอดทั้งหมด สัก ๕ หรือ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือว่าช่วยได้มาก”

ถึงจุดนี้เราอยากรู้ว่าสถานการณ์ของประชากรนกเงือกในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้างหลังจากอาจารย์ได้เข้ามาดูแล “ประชากรนกเงือกที่เราสำรวจล่าสุดเมื่อเกือบ ๑๐ ปีที่แล้วที่เขาใหญ่ตอนนั้นมี ๑๘ ตัว ต่อตารางกิโลเมตร คือเราสำรวจทั่วประเทศจริง แต่ที่ทำแบบเข้มข้นเป็น
ระบบเลยจะมี ๓ พื้นที่ คือ โครงการเขาใหญ่ ผืนป่าตะวันตกห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรนกเงือกสูงสุด และที่บูโด

“แต่ที่เขาใหญ่จากที่เราเคยประเมินครั้งแรกตอนเริ่มทำ ตอนนั้นมีแค่ ๖ ตัวต่อตารางกิโลเมตร ล่าสุดคือ ๑๘ ตัว เพิ่มมาประมาณสามเท่าในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมาที่เราช่วยในเรื่องโพรงรังมาตลอดตั้งแต่

สำรวจและเริ่มรู้ถึงปัญหา ที่ห้วยขาแข้งกับบูโดเรายังช่วยไม่ได้มากนักเพราะเรามีคนจำกัด และที่บูโดปัจจัยก็คือเรื่องต้นไม้ พื้นที่แถบนั้นต้นไม้สูงมาก เราแขวนเชือกไม่ได้ และก็มีปัจจัยอย่างอื่นอีก

“ที่สรุปได้แน่นอนก็คือ ถ้าเราไม่ได้ช่วยเรื่องโพรงรังเลย นกเงือกก็จะลดลง เพราะแต่ละโพรงจะมีอายุการใช้งาน ๘-๑๐ ปีโดยเฉลี่ย ถ้ารอธรรมชาติอย่างเดียว คือต้นไม้ต้องขนาดใหญ่ มีอายุแก่ ถึงจะมีเชื้อราทาให้เกิดแผลจนเกิดไส้เน่าข้างในจนเป็นโพรง ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนั้นต้องใช้เวลานานมากกว่าจะเป็นโพรงโดยธรรมชาติ”

และไม่ใช่แต่เพียงเข้าไปซ่อมโพรงรังในธรรมชาติเท่านั้น ยังมีการทำรังเทียมและสิ่งอื่นๆ ที่สามารถนามาใช้ทดแทนรังได้อีกในเวลาต่อมาที่มีผู้ต้องการยื่นมือช่วยเหลือนกเงือก

“เรื่องรังเทียมเราทำร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ชาทร ผาสุวรรณ อาจารย์คณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ คืออาจารย์รับอุปการะนกเงือก แล้วเขาก็มีไอเดียอยากจะช่วยทำเองด้วย ก็ทำมาได้สักพัก แต่ตอนนี้หยุดทำแล้วเพราะต้นทุนค่อน
ข้างสูง”

เมื่อไม่มีรังธรรมชาติ ก็ต้องมีการเสาะหาสิ่งที่จะทำรังให้นกเงือกมาวางไข่ให้ได้

งานวิจัยสะดุด การแพร่พันธุ์นกเงือกก็อาจหยุด

อาจารย์เล่าถึงสถานการณ์ของนกเงือกต่อว่า “ตอนนี้ถึงแม้ประชากรนกเงือกมีเพิ่มขึ้นบ้างแล้ว แต่ยังมีบางชนิดน่าเป็นห่วง เช่น นกเงือกปากย่น นกเงือกดำ เพราะว่าถิ่นอาศัยถูกทำลายไปเยอะ ตอนนี้ที่เป็นประเด็นร้อนอยู่ก็คือนกชนหิน เพราะที่อินโดนีเซียมีการลักลอบส่งไปขายที่จีน แต่ของเราไม่มีกรณีนี้ ถือว่าโชคดี แต่นกเงือกชนิดนี้มีการขยายพันธุ์ช้ามาก อย่างที่บูโดเราทำมา ๒๐ กว่าปี ได้ลูกนกเงือกมาประมาณสัก ๔๐ กว่าตัวแค่นั้นเอง เพราะนกเงือกชนิดนี้จะเลือกโพรงรังที่มีลักษณะพิเศษไม่เหมือนพันธุ์อื่น เพราะเวลาที่โผลงมาเกาะต้นไม้ หัวเขาจะหนักกว่าตัวอื่น นกพวกนี้โหนกตันแล้วหางก็ยาว

“ส่วนนกเงือกดำกับปากย่นก็เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ เพราะตลอด ๓๐-๔๐ ปี เราเพิ่งเจอรังนกเงือกดำอยู่รังเดียวเองที่ป่าพรุโต๊ะแดงแต่ตอนนี้เขาไม่อนุญาตให้เราเข้าไปที่นั่นแล้ว ก็เลยไม่ได้สำรวจต่อ”

ทว่าเมื่ออาจารย์บอกว่ามีการห้ามอาจารย์เข้าไปสำรวจนกเงือกเพื่อทำวิจัยต่อ เราก็ไม่รีรอที่จะถามว่าเพราะเหตุใด…

ตลอดระยะเวลายาวนานที่สวมบทบาทผู้พิทักษ์ หรือจะเรียกว่าผู้อนุรักษ์นกเงือกก็ว่าได้สำหรับอาจารย์พิไล ที่เราว่าไม่เพียงท่านต้องทุ่มเททั้งเวลาและยังต้องใช้ชีวิตที่ไม่ได้สะดวกสบายสักเท่าไรนักในการเข้าป่าอยู่บ่อยๆ เพื่อเดินหาโพรงรังนกเงือก เก็บข้อมูลวิจัยร่วมกับทีมงาน อีกทั้งชาวบ้าน หรือแม้แต่การลงพื้นที่ป่าบูโดทางภาคใต้ก็ไม่ได้ถือว่าปลอดภัยเท่าไร ทั้งหมดทั้งมวลที่อาจารย์ทำนั้นเรียกได้ว่าเป็นการทำเพื่อผืนป่าของไทยที่จะก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมแก่ทรัพยากรในเมืองไทย อันเป็นสิ่งที่คนไทยควรพึงรักษาไว้ให้ยั่งยืนนานเพื่อส่งต่อรุ่นลูกหลานให้มีทรัพยากรธรรมชาติที่ดี เป็นสมบัติที่น่าจะมีค่ายิ่งกว่าสิ่งใด ควรแก่การได้รับการยกย่อง ส่งเสริม หรือให้การสนับสนุนช่วยเหลือจากผู้ที่มีกำลังพอจะช่วยได้มากกว่านี้ด้วยซ้ำ

อาจารย์พิไล ขณะลงพื้นที่วิจัย

“ขึ้นอยู่กับกรมอุทยาน อย่างที่เขาใหญ่ เมื่อหลายปีก่อนเขาก็ไม่อนุญาตให้อาจารย์เข้าไป ห้ามเข้าไปทำวิจัย เขาบอกอาจารย์ทำมานานแล้ว พอแล้ว เลิกได้แล้ว…แต่ตอนนี้ได้เข้าแล้ว พอเปลี่ยนหัวหน้าโครงการเป็นอาจารย์วิจักขณ์ (ผศ. ดร. วิจักขณ์ ฉิมโฉม) เขาก็อนุญาตไม่เข้าใจเหมือนกัน ทั้งๆ ที่เราก็ทีมเดียวกัน แล้วตอนนี้อาจารย์ก็พยายามสนับสนุนอาจารย์วิจักขณ์ขึ้นมาเป็นทายาท…

“อาจารย์ถึงได้ว่า มันน่าเศร้าที่มีคนไม่อยากสนับสนุนการทำงานเรา ตอนนี้อาจารย์ก็วางตัวอาจารย์วิจักขณ์ขึ้นมาแทน เพราะถึงตอนนี้เรียกได้ว่าเราเป็นทีมงานที่มีข้อมูลมากที่สุดในอาเซียน เพราะเราไม่ได้ทำแค่ปีสองปี เราทำมานานมาก ข้อมูลที่เก็บสะสมมีทั้งเรื่องพฤติกรรม อาหาร การวางไข่ เราเก็บข้อมูลเกือบพันคู่ที่สะสมมาตลอดหลายสิบปีนี้”

นอกจากปัญหาการถูกกีดกันจากบางอุทยานที่ทำให้การสำรวจติดๆ ขัดๆ ไม่ราบรื่นแล้ว อีกอุปสรรคสำคัญในการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ปลูกป่าให้ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ต่อเนื่องสืบต่อไปก็คือ “อุปสรรคใหญ่ของเราเลยคือเรื่องทุน ทาง ปตท. สผ. สนับสนุนเรามา ๘ ปี ตอนนี้หมดทุนไปแล้ว แล้วก็มีไอซีซีที่ช่วยมาตั้งแต่ต้นในแง่ของการประชาสัมพันธ์ โดยเขาจะจัดงานวันรักษ์นกเงือกทุกปี ปีนี้เป็นปีที่ ๑๗ แล้ว

“งานนี้ก็จะเป็นงานที่ทำให้คนได้รู้ว่าสถานการณ์ของโครงการที่เราทำในการช่วยนกเงือก การสร้างบ้านให้นกเงือก มีอะไรอย่างไรบ้างจัดทุกปีวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ มีดารา ศิลปิน มาร่วมงานพบปะกันให้ทุกคนมาดู มารับรู้ว่ามีการทำงานด้านนกเงือกอยู่ตรงนี้ แล้วเราจะช่วยกันได้ยังไง ตอนนี้ก็มีมูลนิธิสืบ นาคะเสถียรก็พยายามช่วยหาทุนให้อาจารย์ เพราะพอ ปตท. สผ. ไม่ได้สนับสนุนแล้วก็ค่อนข้างลำบากถ้าหากเราปล่อยเจ้าหน้าที่ของเราไปก็น่าเสียดาย กว่าเราจะเทรนจนเชี่ยวชาญ เหนื่อยใจเหมือนกัน”

ปลูกฝังให้เด็กๆ ได้รู้จักนกเงือก เพื่อการสืบสานงานอนุรักษ์สืบต่อไป

เป้าหมายสำคัญ…หาผู้ร่วมสานต่ออุดมการณ์

ตอนนี้เป้าหมายสำคัญในการทำงานเพื่อนกเงือกต่อไปของอาจารย์พิไลก็คือ “ถ้าหากเราสามารถปล่อยนกเงือกกลับสู่ป่า ให้นกเงือกช่วยปลูกป่า เชื่อมต่อป่าทุกหย่อมป่า ทุกภาคทั่วประเทศไทยได้จะเป็นเรื่องดีมาก ถ้ามีใครสนับสนุน เราสามารถช่วยกันได้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยากให้มีคนช่วยกันเพื่อมาทำให้นกเงือกได้ปลูกป่าไม่ดีกว่าหรือ แต่ดูเหมือนในเมืองไทยไม่มีใครสนใจ ในขณะที่ตอนนี้ซาราวัก มาเลย์ เขาสนใจเรื่องนี้มากเลย เขากำลังดึงอาจารย์ไปทำวิจัยให้ อาจารย์ก็คิดว่าถ้าคนไทยไม่สนใจ เราก็จะไปทำ เขาขอให้เราไปทำแล้วก็ไปบุกเบิกในเรื่องนี้ให้เขา

“เพราะเรามีทั้งความชำนาญ มีความรู้ ถ้าตั้งศูนย์เป็นเรื่องเป็นราวและจัดฝึกอบรมให้ภูมิภาคนี้ เราก็จะเป็นแกนนำเลย เพราะใครๆ ต้องมาเรียนรู้จากเรา แต่ต้องมีคนตั้ง อย่างกรมอุทยานตั้ง เราก็ช่วยเต็มที่อยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นสถาบันไหน เพราะเราคนไทยด้วยกัน ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศไทยทำไมเราจะไม่ช่วย ตอนนี้ส่วนใหญ่อาจารย์ได้รับเชิญให้เดินทางไปต่างประเทศ ไปมาเลย์ ไปซาราวัก ไปเกี่ยวกับเรื่องนกเงือกในฐานะนักวิจัย บางทีก็ไปจีน ไปภูฏาน

“โดยเฉพาะที่อินเดียกำลังมาแรงเลย เพราะเขาเป็นลูกศิษย์เรามาก่อน พอกลับไปเขาก็ไปทำอะไรต่ออะไรแบบที่เราทำ เขาทำตามเรามีโครงการอุปการะครอบครัวนกเงือกเหมือนของเราเลย เขาก็บอกเลยว่าเขาตามอาจารย์พิไล แต่เรื่องรังเทียม ของเขายังไม่ประสบความ

สำเร็จเท่าของเรา เขาถือเราเป็นต้นแบบและสร้างแรงบันดาลใจให้เขาหรืออย่างที่ซาราวัก เดิมได้ชื่อว่าแลนด์ ออฟ ฮอร์นบิล นะ ตั้งแต่โบราณมาแล้ว เพราะเมื่อก่อนเขามีนกเงือกเยอะ แต่ไม่มีใครศึกษา ไม่มีใครวิจัย ตอนนี้เริ่มน้อยลงเขาก็อยากเริ่มทำ และเชิญอาจารย์ไปช่วยในฐานะที่เรามีประสบการณ์”

และสิ่งที่น่าห่วงตอนนี้ไม่เพียงแต่นกเงือก ที่หากขาดคนซึ่งเปรียบได้ดั่งมารดาของนกเงือกอย่างอาจารย์ เรานึกภาพนกเงือกบินหาโพรงรังแต่ไม่สามารถหารังเหมาะสมได้ เลยต้องระเหเร่ร่อนไม่อาจวางไข่อีกส่วนหนึ่งที่น่าห่วงเช่นกันคือ “เจ้าหน้าที่เรานี่แหละน่าเป็นห่วง เพราะเขาไม่มีความมั่นคง ขึ้นอยู่กับว่าอาจารย์จะหาทุนได้ไหม ตอนนี้มี ๑๐ กว่าคน ไม่รวมชาวบ้านที่บูโดอีก ๒๐ กว่าคน”

แต่สำหรับเรื่องคน เราว่าท้ายที่สุดก็คงยังสามารถหาทางออกมีวิธีจัดการเพื่อนำพาตัวเองให้พ้นจุดวิกฤตด้วยมันสมองและสองมือของตนไปจนได้ แต่สำหรับนกเงือกทั้ง ๑๓ สายพันธุ์นี่สิ “สถานการณ์ตอนนี้ถ้าหากเราไม่ช่วยนกเงือกก็จะหายไป เพราะป่ามันหมดไปเรื่อยๆ แต่ถ้านกเงือกอยู่ก็จะช่วยปลูกป่าทุกปีๆ แหล่งที่มีนกเงือกมากจำนวนกล้าไม้ก็จะสูงเป็นสิบเท่าเมื่อเทียบกับแหล่งที่มีนกเงือกน้อย

“ถ้านกเงือกสูญพันธุ์ ป่าก็จะเป็นป่าที่ไม่สมบูรณ์ อาหารนกเงือกก็จะค่อยๆ หายไป เพราะนกเงือกคือผู้ปลูกป่า ป่าดิบที่เราเห็น นกเงือกนำมาเพาะพันธุ์ทั้งนั้น เพราะพันธุ์ไม้วงศ์ไม้เด่นยุคโบราณก็เป็นอาหารนกเงือก มีทั้งวงศ์ไทร วงศ์กระดังงา น้อยหน่า หนำเลี้ยบ อบเชยจันทน์เทศ นี่คือในชื่อที่คนรู้จัก เพราะอย่าลืมว่านกเงือกถือกำเนิดมา ๕๐ ล้านปีแล้ว และเมืองไทยเรามีนกเงือกเก่าแก่สุดประมาณ ๔๗ ล้านปี คือนกเงือกหัวหงอก คือบรรพบุรุษที่มีอยู่แต่หายาก แล้วก็นกชนหินนี่ ๔๕ ล้านปี ถ้าหากปล่อยให้สูญพันธุ์ไปก็เป็นเรื่องน่าอายมากเพราะรุ่นเราทำลายป่ากันจนป่าบางป่าก็ไม่มีนกเงือกเหลือแล้วหรือมีก็ต่ำมาก โดยเฉพาะทางเหนือแทบไม่มีเลย ที่เขาใหญ่ ผืนป่าตะวันตกบูโด เรียกว่าเราไปช่วยอย่างเข้มข้นเลยถึงพอมีเพิ่มขึ้นมาได้

“ที่คาดหวังอีกอย่างคืออยากให้คนในชุมชนช่วยกันดูแล ซึ่งเขาต้องมีความรู้ความเข้าใจ และอยากให้สถาบันการศึกษาที่อยู่ใกล้ทำวิจัยเรื่องนี้ เพราะแต่ละที่มีอะไรที่ทำแล้วจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้หรืออย่างบางที่ไม่มีนกเงือก แล้วเราเอาไปปล่อยได้ไหม ก็น่าจะช่วยได้เยอะ จากนั้นก็ส่งให้รุ่นต่อๆ ไปมาดูแล และเราต้องมีเครือข่ายให้มาก จะเป็นป่าชุมชนหรืออะไรที่อยู่ใกล้ เพราะนี่คือทรัพยากร คือมรดกของทุกคน มรดกที่พวกเราใช้จนแหลกเหลว แต่ไม่ทะนุบำรุง

“อยากให้คนไทยใส่ใจทรัพยากรธรรมชาติให้มากขึ้น มองให้ไกลมองให้ลึก แล้วลองคิดดูว่าที่เกิดเหตุร้ายแรงน้ำท่วมเพราะอะไรก็เพราะป่าหมด…”

และท้ายสุดกับประโยคสุดท้ายของอาจารย์น่าจะเป็นคำตอบที่หลายคนอาจยังวนเวียนหาอยู่ว่า เพราะอะไร ภัยพิบัตินานาซึ่งเกิดขึ้นในธรรมชาติที่ดูทีท่าว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีสาเหตุจากสิ่งใด

อย่าปล่อยให้ใครบางคนดูแลธรรมชาติด้วยความเป็นหน้าที่ แต่เราทุกคนควรเป็นผู้รับผิดชอบหน้าที่นี้ร่วมกัน เพราะทรัพยากรธรรมชาติคือมรดกของพวกเราทุกคน

ขอคารวะแด่นกเงือกผู้ปลูกป่าทุกตัว และขอขอบคุณอาจารย์พิไลแทนพวกนกเงือกเหล่านั้น ที่ทำหน้าที่เสมือนแม่ผู้คอยยื่นมือช่วยเหลือและดูแลผู้ปลูกป่าแห่งพงไพรที่ไม่เคยเรียกร้องสิ่งใด นอกจากอย่าพรากธรรมชาติดีๆ ที่มีอยู่ไปมากกว่านี้ก็พอ

About the Author

Share:
Tags: ธรรมชาติ / ป่า / นกเงือก / ปลูกป่า / ฉบับที่ 24 / พิไล พูลสวัสดิ์ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ