Thursday, May 9, 2024
พระเครื่อง ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

พระรอด พิมพ์ใหญ่กรุวัดมหาวัน จังหวัดลำพูน

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับ เมษายน 2567
เรื่อง/ ภาพ: ทีมงานนิตยสารอนุรักษ์

พระรอด พิมพ์ใหญ่ (ด้านหน้า)

วัดมหาวัน จังหวัดลำพูน เป็นต้นกำเนิด พระรอดมหาวัน อันเลืองชื่อ

สำหรับคำว่า มหาวัน นั้นแปลว่า ป่าใหญ่ ซึ่งน่าจะหมายถึงแนวป่าเทือกเขาแดนลาว ที่ทอดตัวลงมาจากทางเหนือ และมียอดที่สูงที่สุด คือ ยอดดอยอินทนนท์ หรือที่เรียกว่า ดอยลังกา โดยที่ความเชื่อหรือชื่อที่เรียกดังกล่าวนั้นน่าจะเลียนแบบความเชื่อมาจากลักษณะของภูเขาหิมาลัย และป่าหิมพานต์ ซึ่งป่าที่อยู่เบื้องหลังนครเวสาลี ติดกับป่าหิมพานต์ก็ชื่อ มหาวันเช่นกัน (จดหมายเหตุของภิกษุฟาเทียน) ดอยอินทนนท์จึงถูกสมมุตติให้เป็นดังภูเขาหิมาลัยนั่นเอง ในจามเทวีวงศ์ ก็มีการเรียกดอยอินทนนท์ว่า เขาหิมพานต์

ดังนั้นเมื่ออ่านลานทอง หรือลานเงินในกรุต่าง ๆ ซึ่งมีถ้อยความกล่าวถึง พระฤๅษีไปเก็บว่านยาที่ป่าหิมพานต์บ้าง เขาไกรลาสบ้าง ย่อมมิได้หมายถึงที่อินเดียดังที่สงสัยกัน แต่เป็นการเปรียบเทียบ ก็ดังเช่น อาณาจักรศรีรามเทพนคร ก็มิใช่เมืองของพระราม ในแคว้นโกศล มิได้อยู่ที่อินเดีย เพียงแต่เลียนชื่อมาเท่านั้น

พระรอด ที่พบในกรุวัดมหาวัน ตามตำนานผู้สร้างคือ พระฤๅษีนารทะ เข้าใจว่าคำว่า นารทะ มาจากคำว่า นารอท จึงเรียกพระที่ท่านฤๅษีสร้างว่า พระรอด อันมาจากชื่อของท่านฤๅษีนั่นเอง อย่างไรก็ดี พระฤๅษีนารทะตนนี้มิได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับ ฤๅษีนารทะในปกรณ์ฝ่ายพราหมณ์ – ฮินดู เพียงแต่ชื่อพ้องกันเท่านั้น  เจดีย์วัดมหาวัน อันเป็นที่พบพระรอดนี้ถูกบูรณะมาอย่างน้อย ๒ ครา คราหนึ่งสมัยพระเจ้าสรรพสิทธิ์ (ราวปีพ.ศ. ๑๖๒๐) จากหลักฐานศิลาจารึกวัดมหาวันมีการกล่าวถึง การสร้างพระพุทธรูป การถวายเครื่องสักการะและให้ปลูกพระโพธิ์ไว้ต้นหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันได้มีการค้นพบพระโพธิ์ที่สืบมาจากต้นดังกล่าว อยู่เบื้องหน้าพระอาราม ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ คราที่สอง ในรัชสมัยพระยาคำฟู (ราวปี พ.ศ. ๑๘๗๑-๑๘๙๖) เป็นกษัตริย์ราชวงศ์เม็งรายองค์ที่ ๓ จากหลักฐานดังกล่าวจึงมีผู้ที่เชื่อว่า พระรอดมหาวัน น่าจะมีอายุไม่ถึง ๑๒๐๐ กว่าปี แต่น่าจะมีอายุเพียง ๘๐๐ กว่าปีเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามในศิลาจารึกวัดมหาวันมีการเอ่ยถึง อุโมงค์ ที่มีมาแต่เดิม น่าจะหมายถึง กรุพระรอด ที่อยู่ในพระเจดีย์องค์นี้ ทำให้น่าเชื่อว่า พระรอด เป็นพระพิมพ์ที่ท่านนารทะฤๅษีสร้างจริง

การค้นพบพระรอดนั้น ในเบื้องต้นคาดว่ามีมาก่อนปี พ.ศ. ๒๔๓๕ เนื่องจากพระเจดีย์ได้ปรักหักพัง พระรอดจึงกระจัดกระจายอยู่ในบริเวณดังกล่าว ต่อมาได้มีผู้ขุดพบยอดเจดีย์ทำด้วยศิลาแลง ในสมัยเจ้าหลวงเหมพินธุไพจิตร พ.ศ. ๒๔๓๕-๒๔๔๕ ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์ขึ้นใหม่ โดยให้สร้างครอบองค์เดิม ครั้งนั้นได้พบพระรอดจำนวนมาก ส่วนหนึ่งได้บรรจุไว้ในเจดีย์ที่สร้างครอบ อีกส่วนได้มีผู้นำไปสักการบูชา ต่อมาในสมัยของเจ้าหลวงอินทิยงยศ พ.ศ. ๒๔๕๑ มีต้นโพธิ์ขึ้นแทรกบริเวณฐานเจดีย์ ทำให้เกิดรอยร้าว จึงได้ทำการบูรณะเจดีย์อีกครั้ง และได้พบพระรอดจำนวนหนึ่งซึ่งได้แจกจ่ายกันไป จากนั้นได้สร้าง พระรอดขึ้นใหม่ เพื่อบรรจุแทน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้มีการบูรณะกุฏิเจ้าอาวาส มีการขุดพบพระรอดจำนวน  ๒๐๐ องค์เศษ คาดว่าเป็นพระที่กระจัดกระจายเมื่อครั้งพระเจดีย์ล้ม และได้สร้างกุฏิขึ้นทับบริเวณดังกล่าว

สำหรับวรรณะของพระรอดนั้นเท่าที่ปรากฏมีหลายวรรณะ อันเกิดจากความร้อนในการเข้าไฟ เนื้อพระที่ผ่านความร้อนไม่มากจะมีสีอ่อน และจะเข้มขึ้นตามอุณหภูมิที่ได้รับ พอจำแนกได้ดังนี้ สกุลสีขาว มีสีขาวคล้ายปูนขาว เข้าใจว่ามวลสารที่นำมาสร้างน่าจะเป็นดินขาว สกุลสีเหลือง มีตั้งแต่เหลืองอ่อนไปยังเหลืองเข้มจนถึงสีส้มแบบกลีบจำปา สกุลสีแดง มีตั้งแต่สีแดงเรื่อ ๆ แดงสด สีหมากสุก ไปจนสีก้ามปู สกุลสีน้ำตาล ถือว่ามีมากที่สุด มีตั้งแต่น้ำตาลอ่อนจนถึงน้ำตาลเข้ม สกุลสีเขียว เป็นพระที่ผ่านไฟแรงจัด วรรณะพระจะออกเขียวแกมน้ำเงิน จัดเป็นสีที่หายากที่สุด

พระรอด พิมพ์ใหญ่ (ด้านหลัง)

พุทธลักษณะของพระรอดนั้น เป็นรูป พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่เหนือโพธิบัลลังก์ ด้วยภูมิสปรรศมุทรา (ปางสะดุ้งมาร) ประทับนั่งแบบวัชรอาสน์ (ขัดสมาธิเพชร) อันเป็นสัญลักษณ์ของการตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระพิมพ์ที่มีพุทธศิลป์งดงามไม่มีที่ติ แม้จะมีขนาดเล็กแต่ก็ปรากฏรายละเอียดชัดเจน แม้ในวงพระพักตร์ แสดงถึงอัจฉริยภาพของช่างโบราณ ส่วนทางด้านพุทธศิลป์น่าจะได้รับอิทธิพลสกุลช่างปาละ และคุปตะ ที่แพร่หลายเมื่อครั้งทวารวดี โดยท่านศาสตราจารย์ ยอช เซเดย์ ได้สันนิษฐานไว้ในหนังสือตำนานพระพิมพ์ ว่า เป็นฝีมือช่างมอญ เป็นพระเครื่องในสกุลทวารวดีสำหรับอานุภาพของพระรอดเป็นที่ประจักษ์มาแต่โบราณ จึงทำให้เป็นที่แสวงหาของนักนิยมพระเครื่องมาแต่อดีตกาล ดังที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้นแล้วว่า พระฤๅษีที่สร้างพระพิมพ์เหล่านี้ล้วนเป็นผู้ทรงฌานอภิญญา เป็นผู้นับถือพุทธศาสนา การสร้างนั้นย่อมพิถีพิถัน ดุจดังที่พบตามลานทองตามกรุต่าง ๆ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าไม่เคยพบ ลานที่จารึกคุณวิเศษและวิธีการสร้างของพระรอด แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อระลึกถึง พระพุทธคุณ ทั้งพระฤๅษีนารทะ กับทั้งพระมหาเถระเจ้าทั้ง ๕๐๐ องค์แล้วก็เป็นที่เชื่อถือได้ สำหรับคาถาที่ใช้อาราธนาพระรอดนั้นท่านอาจารย์ ตรียัมปวาย เคยได้รวบรวมไว้ มีอยู่บทหนึ่งมาจากปัปสา สมบัติของ ตุ๊เจ้ายศ วัดผาแดง เป็นของเก่าเขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๓ ได้กล่าวถึงพระคาถาที่ใช้อาราธนาพระรอดดังนี้

ธมฺมสฺส นโมตฺเย         สนฺราชโต ปนิ

ธา ทสฺส อุ เอวมฺเม       พหุเท ยานิธ ยํ กิญจิ

ขยํวิ วโร วกนฺตมฺปิ       ยสฺสานุ กรณียมตฺก

สพฺพาวสี วิรูป อุเทต     อเปตย ตยขฺช

กคณฺติปี สวากฺ            ชาโต สุปฏิ นารโท

ติ ปริตฺตํ ยโตหํ            ยนฺตุติ นิทุกฺข อปฺ

ป ชยนฺโต สกฺกตฺตวา     ภวนฺตุมํคลํฯ

ในตำรากล่าวว่าใช้อาราธนาพระรอด ทำให้รอดพ้นจากภยันตรายได้ สำหรับท่านที่มีพระรอดอยู่ในครอบครองก็สามารถลองนำไปใช้กัน อนึ่งการอาราธนาพระนั้นตามแบบโบราณท่านถือว่ามีความสำคัญมาก นัยหนึ่งเพื่อเป็นการน้อมนำพระพุทธคุณมาสู่ใจของเรายังให้เกิดกุศลมูลขึ้นแก่จิต และเพื่อระลึกถึงท่านผู้ประดิษฐานพระพิมพ์ทั้งพระมหาเถรเจ้า นักสิทธิ์ ฤๅษี น้อมนำคุณท่านเหล่านั้นมาเป็นเครื่องคุ้มครอง ย่อมมีประสิทธิผลดังท่านได้กล่าวไว้ แต่หากไม่มีความเคารพในคุณท่านเสียแล้วก็ยากที่จะเกิดอภินิหารใด ๆ สำหรับท่านที่ได้ครอบครองพระรอดมหาวันก็นับว่าเป็นผู้ที่มีโชค เพราะเป็น ๑ ในชุดเบญจภาคี มีความงามด้านพุทธศิลป์และเพียบพร้อมไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์

*****

สำหรับองค์ในภาพนี้ เป็น พระรอดเนื้อเขียว พิมพ์ใหญ่ วัดมหาวัน อ.เมือง จ.ลำพูน มีขื่อขึ้นเป็นตำนานวงการ ได้สมญานามว่าองค์ “คุณสมชาย” ตามชื่อเจ้าของ คุณสมชาย  มาลาเจริญ ที่เป็นนักนิยมสะสมพระเครื่องผู้มีรสนิยมอยู่แถวหน้าของวงการตั้งแต่ยุคเริ่มแรก ได้รับการยกย่องยอมรับว่าเป็น “พระรอดพิมพ์ใหญ่” ที่มีความงามสมบูรณ์ เพรียบพร้อมทั้งฟอร์มทรง  พิมพ์พระ เนื้อมวลสาร ผิวพรรณวรรณะ(สีเนื้อ) สภาพคราบกรุ ระดับ ท้อป ๕ ของวงการ และก็เป็นองค์แชมป์ของพระรอดเนื้อเขียว พิมพ์ใหญ่ หาองค์เทียบเคียงไม่เจอในปัจจุบัน เมื่อกล่าวถึงสมญานามพระองค์นี้ นักนิยมพระในวงการแต่อดีตถึงปัจจุบัน จะนึกถึงภาพพระองค์นี้ได้อย่างแจ่มชัด ถนัดตา วันนี้องค์พระได้มีการถ่ายย้ายรังมาเป็นของ คุณธีรพล นพรัมภา มีเสียงกระซิบของคนในวงการว่า คงจะอยู่จำวัดที่นี่อีกนาน

About the Author

Share:
Tags: พระสวย / พระเครื่อง / พระรอด / เมษายน 2567 / ฉบับที่ 73 / พระรอด พิมพ์ใหญ่ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ