Sunday, May 19, 2024
พระเครื่อง ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

สมเด็จจิตรลดา

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 20
เรื่อง: ปรีชา เอี่ยมธรรม

สมเด็จจิตรลดา

สืบเนื่องมาจากการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ประชาชนได้ถวายพวงมาลัยดอกไม้สดเป็นจำนวนมาก พระองค์ทรงแขวนพวงมาลัยเหล่านั้นไว้ ณ ที่บูชาจนถึงวาระที่เสด็จไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตครั้งใหม่จึงจะเปลี่ยนเอาพวงมาลัยครั้งเก่าที่แห้งผากออก แล้วแขวนพวงมาลัยดอกไม้สดทดแทน พระองค์ทรงเน้นเป็นสำคัญที่จะเก็บพวงมาลัยแห้งเหล่านั้นไว้ใช้ประโยชน์เพื่อเป็นสิริมงคล และทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าสมควรที่จะใช้พวงมาลัยแห้งเหล่านั้นมาผสมในเนื้อที่จะสร้างพระพิมพ์ แต่เฉพาะดอกไม้แห้งจากพวงมาลัยคงจะไม่พอจึงทรงให้เจ้าพนักงานเก็บรวบรวมเส้นพระเจ้าหลังจากทรงเครื่องใหญ่ (ตัดผม) สมทบกับดอกไม้แห้งจากมาลัยที่แขวนพระมหาเศวตฉัตรและด้ามพระขรรค์ชัยศรีในพระราชพิธีฉัตรมงคล และวัสดุมงคลอื่นๆ เช่น สีที่ได้จากรูปภาพฝีพระหัตถ์ สีที่ขูดออกมาจากเรือใบพระที่นั่ง เป็นต้น วัสดุมงคลดังกล่าวข้างต้นนั้นเป็นวัตถุมงคลในส่วนของพระองค์เอง

สำหรับส่วนผสมของวัตถุมงคลภายนอกนั้น ทรงมอบให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รวบรวมจากทุกจังหวัด ทุกอำเภอโดยถ้วนทั่วกันขึ้นทูลเกล้าถวาย มีวัตถุมงคลจากปูชนียสถาน หรือจากพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนเคารพบูชา ทองคำเปลวจากองค์พระพุทธรูป ขี้เถ้าธูปเทียนบูชาพระพุทธรูปดอกไม้บูชาพระแก้วมรกต วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก

ดิน ตะไคร่น้ำแห้งจากใบเสมา จากสังเวชนียสถานในประเทศอินเดียและประเทศศรีลังกา

ดิน ตะไคร่น้ำแห้งจากใบเสมา จากทุกจังหวัดในประเทศไทย เช่น พระธาตุพนมจังหวัดนครพนม วัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช วัดพระธาตุดอยสุเทพจังหวัดเชียงใหม่

น้ำจากบ่ออันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเคยนำมาใช้เป็นน้ำสรงมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นต้น

เมื่อได้รับวัตถุมงคลที่กระทรวงมหาดไทยส่งมาให้แล้ว เจ้าพนักงานได้นำมารวมกันแล้วบดตำจนละเอียดจงดี ในส่วนนี้รวมเรียกว่าผงวิเศษที่เป็นวัสดุมงคล พร้อมที่จะนำไปประสมสร้างเป็นพระพิมพ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรรูปปั้นของสมเด็จพระสังฆราชในพระองค์นั้น ทรงพอพระราชหฤทัย หลังจากวันนั้นไม่นานนัก ได้มีพระกระแสรับสั่งให้อาจารย์เข้าเฝ้าเพื่อรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทเป็นต้นมา

ส่วนในด้านแกะแม่พิมพ์นั้น พระองค์ทรงมอบหมายให้อาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ข้าราชการกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ถวาย โดยสืบเนื่องมาแต่ครั้งงานประจำปีของกรมศิลปากรครั้งหนึ่ง อาจารย์ไพฑูรย์ได้ปั้นพระรูปเหมือนในสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรรูปปั้นของสมเด็จพระสังฆราชในพระองค์นั้น ทรงพอพระราชหฤทัย หลังจากวันนั้นไม่นานนัก ได้มีพระกระแสรับสั่งให้อาจารย์เข้าเฝ้าเพื่อรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทเป็นต้นมา จนได้รับพระกระแสรับสั่งให้แกะแม่พิมพ์พระพิมพ์ถวาย โดยเน้นในพุทธลักษณะของพระพิมพ์ต้องมีลักษณะที่ไม่แข็งกระด้าง ดูอ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ มีพระเมตตา สงบ เยือกเย็น และสุขุม

อาจารย์ไพฑูรย์ได้แกะแม่พิมพ์เป็นภาพลึกชัดลงในหินชนวนทำขึ้นถวายเพื่อทรงวินิจฉัยและตกแต่งตามพระราชประสงค์อยู่หลายครั้งจนพอพระราชหฤทัย เค้าโครงภายนอกอย่ใู นกรอบสามเหลี่ยมชะลูด มีความกว้างที่ฐาน ๒ ซม. ความสูงจากฐานถึงยอดสุด ๓ ซม. ตรงกลางแกะเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ พระพักตร์ทรงผลมะตูม องค์พระประทับนั่งขัดสมาธิราบประทับนั่งอยู่รัตนบัลลังก์ดอกบัว ๒ ชั้น ฐานบัวรวม ๙ กลีบ ซึ่งมีความหมายถึงรัชกาลที่ ๙ อีกด้วย มีเส้นกรอบนูนสูงอยู่ในที

หลังจากแกะแม่พิมพ์ได้ตามพระราชประสงค์แล้ว ได้กดแบบเป็นพระพิมพ์องค์จริงเมื่อผ่านการตกแต่งเรียบร้อยแล้วจึงนำองค์พระที่ถอดจากพิมพ์ไปถ่ายลงในแม่พิมพ์ยางซิลิโคนจนได้จำนวนตามพระราชประสงค์แล้วนำแม่พิมพ์มาวางเรียงกัน เนื้อพระสมเด็จจิตรลดาส่วนใหญ่เป็นสารเรซิน เนื้อหลักจะมีลักษณะขาวใส สามารถตกแต่งเป็นสีต่างๆตามความต้องการได้ โดยมีแม่สีแดง น้ำเงินและเหลือง คุณสมบัติพิเศษของสารเรซินดีอยู่อย่างหนึ่งคือ สามารถจะรับสารอย่างหนึ่งอย่างใดผสมลงไปได้ เมื่อใส่สีและส่วนผสมที่เป็นผงวิเศษทางพุทธาคมลงไป กวนจนเข้ากันดีแล้ว ค่อยใส่ตัวทำให้สารเรซินแข็งตัวภายใน ๒-๓ นาทีก็แห้งสนิท พร้อมที่จะถอดจากแม่พิมพ์นำไปตกแต่งในรายละเอียดต่อไป เฉพาะพระสมเด็จจิตรลดานั้นจำเป็นต้องฝนด้านหลังทุกองค์ เพราะขณะที่หล่อเท งานด้านหลังจะสูงต่ำไม่เรียบ จึงจำเป็นต้องฝนขัดเพื่อให้เรียบอย่างแผ่นกระดาน

ส่วนที่ขอบด้านข้างทั้งสามด้านก็ต้องฝนตกแต่งให้เรียบร้อยทุกองค์ การตกแต่งต้องทำการฝนกับมอเตอร์ติดหินขัด ในส่วนที่เอียงลาดจากด้านบนเล็กด้านล่างใหญ่นั้น ส่วนมากจะใช้นิ้วจับโดยประมาณ ความเรียบร้อยจึงไม่มี ส่วนด้านของพระสมเด็จจิตรลดาของพระองค์นั้น หินที่ขัดสามารถจะตั้งเอียงลาดกี่องศาก็ได้ ดังนั้นที่ด้านข้างของพระสมเด็จจิตรลดาจึงมีลักษณะราบเรียบและเป็นไปในทางเดียวกัน จึงเป็นการยากที่ใครจะปลอมแปลงได้ใกล้เคียงเลย

พระสมเด็จจิตรลดาส่วนหนึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงนำไปประดับไว้บนฐานบัว ตรงกลางอาสนะของพระพุทธนวราชบพิตร

ที่ผมนำเรื่องนี้มาเล่าอย่างละเอียดก็เพื่อเป็นแนวทางให้ท่านสามารถแยกแยะของจริงและของทำเลียนแบบครับ (ความรู้ตรงนี้ได้รับการบอกเล่าจาก ม.ร.ว. มิตรารุณ เกษมศรีขอกราบขอบพระคุณไว้ ณ ที่นี้)

อนึ่ง พระสมเด็จพระจิตรลดา ถ้าสร้างแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ นับจนถึงปัจจุบันนี้อายุอานามก็กว่า ๕๐ ปี ความเก่าเริ่มจะปรากฏให้เห็นโดยเฉพาะพื้นหลังด้านหลังองค์พระเริ่มเซ็ตตัวเป็นแอ่งกระทะน้อยๆ ขอบด้านข้างโดยรอบเริ่มจะเป็นแนวสูงขึ้นอยู่ในที ในส่วนปลายสุดขององค์พระเริ่มจะงอนขึ้นน้อยๆ ไม่ราบเรียบหรือแบนเหมือนพระที่ทำขึ้นมาใหม่

สิ่งต่างๆ ดังกล่าวนั้นเกิดจากความเก่ามีอายุ และการเซ็ตตัวของมวลสารที่แห้งสนิทแล้วครับ

พระสมเด็จจิตรลดา นอกจากจะทรงสร้างขนาดใหญ่ดังกล่าวแล้ว ยังมีการสร้างพระสมเด็จจิตรลดาขนาดเล็ก มีความกว้างที่ฐาน ๑.๒ ซม. สูงจากฐานถึงยอดสุด ๑.๙ ซม. พระสมเด็จจิตรลดาขนาดเล็กนี้ พระองค์ทรงสร้างเพื่อไว้พระราชทานให้แก่เด็กเล็ก ลูกหลาน

พระสมเด็จจิตรลดาเป็นพระซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงสร้างด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เอง พระราชทานแก่ข้าราชบริพารรับใช้ใกล้ชิด ตลอดจนทหารตำรวจ ข้าราชการ พระสมเด็จจิตรลดาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ จะได้พระราชทานด้วยพระหัตถ์พระองค์เองจะมีใบกำกับ ซึ่งแสดงชื่อ นามสกุลของผู้รับพระราชทาน และจะมีหมายเลขกำกับทุกองค์

เมื่อพระราชทานพระสมเด็จจิตรลดาไปแล้ว จะทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้ที่รับพระราชทานว่า ให้ปิดทองที่ด้านหลังพระปฏิมา แล้วเอาไว้บูชาตลอดไป ให้ทำความดีโดยไม่ต้องหวังสิ่งตอบแทนใดๆ ดังเช่นในเนื้อเพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด นั่นเอง

พระสมเด็จจิตรลดา ส่วนหนึ่งพระองค์ท่านได้นำไปประดับไว้บนฐานบัว ตรงกลางอาสนะของพระพุทธนวราชบพิตรอีกด้วย

พระสมเด็จจิตรลดาเป็นพระพิมพ์องค์เดียวเท่านั้นที่ไม่ได้เข้าพิธีพุทธาภิเษก โดยเชื่อกันว่าวัตถุมงคลและอาถรรพ์ที่จัดหามาจากทุกหัวระแหงถ้วนทั่วอาณาเขตแห่งสยามประเทศนั้นมีเพียงพอแล้ว ซึ่งท่านผู้สร้างสรรค์คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ผู้สร้างทำด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองตลอดทุกขั้นตอน ด้วยบารมีในพระองค์ที่มีอยู่ท่วมท้น สุดที่จะกล่าวอ้างด้วยคำพูดอันใด

และพระองค์ก็คือสมมุติเทพพระองค์หนึ่งความขลังอันเป็นประสิทธิในพระสมเด็จพระจิตรลดาจึงควรคู่กับสมัญญานามที่เรียกขานกันอีกชื่อหนึ่งว่า พระกำลังแผ่นดิน ครับ

ข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

About the Author

Share:
Tags: พระ / พระเครื่อง / ฉบับที่ 20 / สมเด็จจิตรลดา /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ