Sunday, May 19, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

อัจฉริยภาพ และชีวิตนิรันดร์บนภาพลายเส้นของ DAVINCI

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 36
เรื่อง/ภาพ: ม.ล.ภูมิใจ ชุมพล

อัจฉริยภาพ และชีวิตนิรันดร์บนภาพลายเส้นของ

DAVINCI

ภาพเหมือนของลีโอนาร์โด ดาวินชี
คาดว่าวาดโดย ฟรานเชสโก เมลซิ (๑๔๙๑-๑๕๗๐)
เมื่อราวๆ ปี ค.ศ. ๑๕๑๕ – ๑๕๑๘
เป็นภาพสีชอล์ก
ขนาด ๒๗.๕ x ๑๙.๐ ซม.

นิทรรศการแสดงผลงานสุดอมตะยุคอิตาเลียนเรเนซองส์ ของลีโอนาร์โด ดาวินชี จัดขึ้นในห้องภาพราชินีพระราชวังบักกิ้งแฮม กรุงลอนดอน โดยพระบรมราชานุญาตเป็นกรณีพิเศษจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๒ เพื่อฉลองครบรอบ ๕๐๐ ปีชาตกาลของศิลปินบรมครูท่านนี้

ภาพร่างลายเส้นดาวินชี จำนวนหลายร้อยภาพจากคอลเลคชั่นวังหลวง สหราชอาณาจักร ซึ่งปกติจะเก็บไว้อย่างมิดชิดปลอดภัยในห้องมั่นคงของพระราชวังวินด์เซอร์ถูกนำออกมาแสดงต่อสายตาสาธารณชนที่หลั่งไหลกันมาจากทั่วโลก นับเป็นการเปิดโอกาสครั้งใหม่ให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะ และผู้เชี่ยวชาญรอบรู้ในหลากหลายแขนงวิชาได้ศึกษาอัจฉริยภาพของลีโอนาร์โด ดาวินชี ผ่านผลงานในสเก็ตช์บุ๊กของท่านที่วาดขึ้นเมื่อกว่า ๕๐๐ ปีมาแล้ว ภาพทุกภาพถูกแกะออกมาจากเล่มทีละแผ่น และนำมาจัดเรียงในกรอบกระจกใสเพื่อให้ผู้ชมนิทรรศการสามารถพินิจอย่างใกล้ๆ เปิดเผยรายละเอียดเลือนรางบางอันที่เคยถูกซ่อนงำไว้มองไม่เห็นในภาพที่เคยถูกนำมาตีพิมพ์ในตำรารุ่นก่อนๆ ลายเส้นสุดประณีตละเอียดอ่อนทุกลาย ตัวอักษรในคำอธิบายบนทุกหน้ากระดาษ ปรากฏต่อสายตาทุกคนอย่างเด่นชัด ถ่ายทอดกระแสความคิดและปริศนาในใจของลีโอนาร์โด ดาวินชี ที่ยังโลดแล่นอยู่ในผลงานอันเป็นอมตะของเขา

ภาพลายเส้นบุรุษโดนลวงล่อโดยพวกยิปซี
วาดด้วยปากกา-หมึก
ราวปี ค.ศ. ๑๔๙๓
ขนาด ๒๖.๐ x ๒๐.๕ ซม.

ย้อนกลับไปปีคริสต์ศักราช ๑๕๑๙ ลีโอนาร์โด ดาวินชีถึงแก่อนิจกรรมที่ประเทศฝรั่งเศส และได้ทิ้งหนังสือสมุดวาดภาพ รวมทั้งอุปกรณ์ที่มีอยู่ทั้งหมดของท่านให้กับฟรานเชสโก เมลซิ ซึ่งเป็นลูกศิษย์คนสนิท ฟรานเชสโกจึงขนของทุกชิ้นกลับไปยังบ้านเกิดของเขาที่เมืองวาปริโอชานเมืองมิลาน และทุ่มเทเวลาอีกถึง ๕๐ ปีเรียบเรียงภาพวาดจำนวนมากของท่านอาจารย์ให้เป็นหมวดหมู่ แยกเเยะคร่าวๆ ตามประเภทและเรื่องราว ซึ่งรวมแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ชุดหลัก หลังจากรวมเล่มเสร็จแล้วจึงใส่รหัสตัวเลขบนกระดาษทุกแผ่น ดั่งปรากฏให้เห็นบนภาพวาดลายเส้นดาวินชีในปัจจุบัน

ภาพวาดสรีระของมนุษย์ แสดงให้เห็นกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่และลำคอ
วาดด้วยถ่าน ปากกา และหมึก
ราวปี ค.ศ. ๑๕๑๐-๑๕๑๑
ขนาด ๒๘.๙ x ๑๙.๘ ซม.
ทารกก่อนเกิดขดตัวในครรภ์มารดา และกล้ามเนื้อบริเวณขาหนีบ
วาดด้วยชอล์ก ปากกา-หมึก
ราวปี ค.ศ. ๑๕๑๑
ขนาด ๓๐.๔ x ๒๑.๓ ซม.

หลังจากฟรานเชสโก เมลซิ เสียชีวิตลง ประติมากรชื่อปอมเปโอ ลีโอนี ได้ขอซื้อภาพวาดลายเส้นดาวินชีที่ยังเหลือค้างอยู่จากบุตรชายของเมลซิ เเล้วจึงนำมาปะติดบนหน้ากระดาษในอัลบั้มได้อย่างน้อยๆ อีกสองเล่ม เล่มแรกเป็นเล่มใหญ่ คือ โคเด้กส์ แอตลานทิคัส ซึ่งรวมภาพเกี่ยวกับ
เครื่องยนต์กลไกต่างๆ (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในห้องสมุดบิบลิโอทีคา แอมโบรซิอาน่า ที่กรุงมิลาน) และอีกเล่มที่มีขนาดเล็กกว่า แต่มีงานภาพวาดลายเส้นถึง ๖๐๐ กว่าแผ่นแปะอยู่บน ๒๓๔ หน้ากระดาษ อัลบั้มรวมผลงานของดาวินชีเล่มนี้ ถูกขึ้นทะเบียนอยู่ในบัญชีข้าวของในบ้าน
ของปอมเปโอ ลีโอนี ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน เมื่อปีคริสต์ศักราช ๑๖๐๙ และในอีก ๒๑ ปีถัดมา คือ เมื่อปีคริสต์ศักราช ๑๖๓๐ อัลบั้มนี้มาปรากฏขึ้น ณ คอลเลคชั่นของนักสะสมภาพวาดวาดลายเส้นคนสำคัญที่สุดของโลกในยุคนั้น คือ ท่านโทมัส ฮาวเวิร์ด เอิร์ล ออฟ แอรันเดิล คนที่ ๑๔

มีหลากหลายทฤษฎีที่อ้างว่าอัลบั้มรวมภาพลายเส้นของดาวินชีเล่มเล็กนี้เดินทางมาถึงอังกฤษได้อย่างไรท่านผู้อ่านหลายท่านอาจพอจำบทความหนึ่งในนิตยสารอนุรักษ์ที่ผู้เขียนเคยเล่าถึงการเสด็จเยือนประเทศสเปนของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ ๑ ของอังกฤษ เมื่อปีคริสต์ศักราช ๑๖๒๓ ในขณะที่พระองค์ยังทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ (ซึ่งก็คือตำแหน่งองค์มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ) เป้าหมาย
ของการเสด็จในครั้งนั้นคือการสู่ขอพระราชธิดาแห่งกษัตริย์สเปนมาเป็นพระชายา แต่ไม่สำเร็จ พระเจ้าชาร์ลส์จึงทรงใช้เวลาว่างและพระราชทรัพย์จำนวนมากซื้อศิลปะวัตถุล้ำค่ากลับมาเพิ่มพูนไว้ในคอลเลคชั่นวังหลวงของสหราชอาณาจักรแทน ดังนั้นอัลบั้มรวมงานภาพวาดลายเส้นของดาวินชีนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะที่ถูกกวาดซื้อมาในคราวนั้น แต่หากทฤษฎีนี้เป็นจริงอัลบั้มดาวินชีก็น่าจะยังคงอยู่ในคอลเลคชั่นวังหลวงในปีคริสต์ศักราช ๑๖๓๐ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าท่านดยุค ออฟ บักกิ้งแฮม หนึ่งในผู้ตามเสด็จไปในการประพาสสเปนคราวสำคัญนั้นเป็นผู้ซื้อกลับมา และนำไปขายต่อให้กับท่านเอิร์ล ออฟ แอรันเดิลก็เป็นได้ หรือมิฉะนั้นท่านเอิร์ลอาจมีคำสั่งเป็นเอกเทศให้เอเยนต์คนใดคนหนึ่งในยุคนั้นซื้อเข้ามาเก็บในคอลเลคชั่นส่วนตัว

ผังสถาปัตยกรรมพระราชวัง และน้ำพุรูปเทพเจ้าเนปจูน ซึ่งลีโอนาร์โด ดาวินชี แปลงร่างรูปปั้นเด็กหนุ่มเดวิด โดยไมเคิล แองเจโล ให้เป็นรูปชายกลางคนลายเส้น
วาดด้วยชอล์กสีดำ ปากกา-หมึก
ราวปี ค.ศ. ๑๕๐๘-๑๕๑๐
ขนาด ๒๗.๐ x ๒๐.๑ ซม.
ภาพสงครามแห่งแองกิอารี ซึ่งเปเตอร์เปาล์ รือเบินส์
วาดเลียนแบบภาพเดิมของลีโอนาร์โด ดาวินชี
ราวปี ค.ศ. ๑๖๑๒-๑๖๑๕
ชอล์กดำปากกา-หมึก สี
ขนาด ๔๕.๒ x ๖๓.๗ ซม.
(พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ กรุงปารีส)

เมื่อเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในปีคริสต์ศักราช ๑๖๔๒ ท่านเอิร์ล ออฟ แอรันเดิล หนีออกจากอังกฤษโดยข้ามทะเลไปยังเมืองแอนต์เวิร์ป พร้อมกับขนงานศิลปะล้ำค่าในคอลเลคชั่นติดตัวไปด้วยจำนวนหนึ่ง แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า

อัลบั้มภาพวาดลายเส้นดาวินชีได้ถูกนำออกไปจากอังกฤษในคราวนั้นด้วยหรือไม่ ประเด็นที่น่าสนใจคือเมื่อปีคริสต์ศักราช ๑๖๖๓-๑๖๖๔ มีบันทึกเขียนไว้ว่า เฮนรี่ ฮาวเวิร์ด ดยุค ออฟ นอร์ฟอล์ก คนที่ ๖ ซึ่งเป็นหลานชายแท้ๆ ของท่านเอิร์ล ออฟ แอรันเดิล ได้นำงานศิลปะล้ำค่าหลายชิ้นออกมาแสดงให้แขกเหรื่อที่มาร่วมงานฉลองเทศกาลคริสต์มาสที่วังของท่านในเมืองนอร์วิชชม และหนึ่งในศิลปวัตถุล้ำค่านั้นคือภาพวาดลายเส้นของลีโอนาร์โด ดาวินชี ซึ่งมีการระบุว่าถูกซื้อมาโดยท่านเอิร์ล ออฟ แอรันเดิล ผ่านเอเยนต์หลายคนที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วยุโรปในช่วงก่อนการปฏิวัติล้มราชบัลลังก์ในอังกฤษ

ภาพกล้ามเนื้อบริเวณกระดูกสันหลังและไหล่
วาดราวปี ค.ศ. ๑๕๑๐-๑๕๑๑
ด้วยชอล์กดำ ปากกา-หมึก
ขนาด ๒๘.๙ x ๒๐.๕ ซม.

ต่อมาเมื่อปีคริสต์ศักราช ๑๖๙๐ เป็นที่แน่ชัดว่าอัลบั้มดาวินชีได้ตกมาอยู่ในคอลเลคชั่นวังหลวงแล้ว เพราะคอนสแตนติน เฮยเก็น ราชเลขาธิการในพระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ จดบันทึกไว้ว่า ท่านมีโอกาสเปิดชมอัลบั้มจำนวนสี่ถึงห้าเล่มบรรจุเต็มแน่นด้วยภาพวาดของทั้งฮานส์ ฮอลไบน์และลีโอนาร์โด ดาวินชี ซึ่งนายมาร์ติน เคลย์ตัน ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะ หัวหน้าแผนกภาพวาดและภาพพิมพ์ของคอลเลคชั่นวังหลวงแห่งสหราชอาณาจักรในยุคปัจจุบันได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งในบรรดาของขวัญที่เฮนรี่ ฮาวเวิร์ด ดยุค ออฟ นอร์ฟอล์ก ได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๒ เพื่อเป็นการขอบพระทัยที่พระองค์ได้พระราชทานบรรดาศักด์ิและคนื ที่ดินในเมืองนอรฟ์ อล์กแด่ท่านดยุค หลังจากการสถาปนาระบอบกษัตริย์ และขุนนางขึ้นอีกครั้งในสหราชอาณาจักรเมื่อปีคริสต์ศักราช ๑๖๖๐

ภาพลายเส้นสรีระของมนุษย์เพศชายแสดงให้เห็นอวัยวะสำคัญภายในและเส้นเลือดหลัก
วาดราวปี ค.ศ. ๑๔๘๕-๑๔๙๐
ด้วยถ่าน ปากกา-หมึก และสี
ขนาด ๒๗.๘ x ๑๙.๗ ซม.
ภาพร่างมือและแขนของสตรี
วาดราวปี ค.ศ. ๑๔๙๐
ด้วยถ่าน สี บนกระดาษสีชมพูอ่อน
ขนาด ๒๑.๕ x ๑๕.๐ ซม.

ช่วงเวลาถึงหนึ่งร้อยกว่าปีหลังจากนั้น สมุดอัลบั้มภาพวาดลายเส้นดาวินชีก็ไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนักมันถูกเคลื่อนย้ายจากพระราชวังโน้นทีไปพระราชวังนี้ทีแต่ก็ยังอยู่รอดปลอดภัยมาได้จนถึงช่วงปีคริสต์ศักราช ๑๘๓๐ อัลบั้มสำคัญประเมินค่ามิได้นี้จึงถูกนำมาเก็บไว้เป็นการถาวรในห้องสมุดของพระราชวังวินด์เซอร์ ตราบจนปัจจุบัน

การนำภาพวาดลายเส้นของลีโอนาร์โด จากอัลบั้มดาวินชีออกมาแสดงพร้อมกันถึง ๒๐๐ ภาพในคราวนี้ถือได้ว่าเป็นการจัดนิทรรศการครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ ๗๐ ปี โดยแสดงชิ้นงานจากแต่ละช่วงชีวิตของท่านศิลปินบรมครูแบ่งออกเป็นหมวดของเมืองที่ท่านเคยพำนักอาศัย เช่น ฟลอเรนซ์ (คริสต์ศักราช ๑๔๘๑) มิลาน (คริสต์ศักราช ๑๔๘๑-๑๔๙๙) โรม (คริสต์ศักราช ๑๕๐๐-๑๕๑๖) ฝรั่งเศส (คริสต์ศักราช ๑๕๑๖-๑๕๑๙) ในแต่ละหมวดจะมีการเปรียบเทียบชิ้นงานภาพวาดลายเส้น อ้างอิงกับภาพวาดสีน้ำมัน ทั้งที่เป็นภาพวาดของลีโอนาร์โด ดาวินชีเอง รวมทั้งภาพวาดและงานศิลปะที่สร้างขึ้นโดยศิลปินร่วมสมัยท่านอื่นๆ อีกด้วย ทำให้ผู้ชมนิทรรศการพอเข้าใจความเชื่อมโยงของมุมมองและความคิดอันหลากหลายที่มีต่อกันลีโอนาร์โด ดาวินชี เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน คริสต์ศักราช ๑๔๕๒ ใกล้เมืองวินชี ห่างจากเมืองฟลอเรนซ์ ๒๕ กิโลเมตร ท่านเป็นบุตรนอกสมรสของเจ้าพนักงานรับรองเอกสารของรัฐชื่อ เซอร์ปิเอโร ดาวินชี กับหญิงสาวชื่อ คาตารีนา ลีโอนาร์โดเติบโตขึ้นที่บ้านของคุณปู่ที่เมืองวินชี แต่ไม่มีหลักฐานใดๆ หลงเหลือว่าท่านได้รับการศึกษาในปฐมวัยอย่างไร นอกจากว่าท่านอ่านออกเขียนได้แต่ความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์นั้นไม่ดีมากนักอีกทั้งไม่มีความแตกฉานทางด้านภาษาละติน เมื่อคุณปู่เสียชีวิตลงในปีคริสต์ศักราช ๑๔๖๔ ลีโอนาร์โดมีอายุเพียง ๑๒ ปี มีความเป็นไปได้ว่าท่านย้ายมาอยู่ที่บ้านของคุณพ่อในเมืองฟลอเรนซ์ เพราะมีชื่อของท่านปรากฏในทะเบียนกลุ่มจิตรกรเซนต์ลูคส์เมื่อปีคริสต์ศักราช ๑๔๗๒

ร่างเปลือยของบุรุษ วาดราวปี ค.ศ. ๑๕๐๔-๑๕๐๖ ด้วยชอล์กแดงบนกระดาษ ขนาด ๒๗.๐ x ๑๖.๐ ซม.
ภาพลายเส้นน่าสนใจจากช่วงปี ค.ศ. ๑๕๑๗-๑๕๑๘
วาดด้วยชอล์กดำปากกา-หมึก บนกระดาษหยาบ
เป็นอัศวินบนหลังม้าถือทวน
ขนาด ๒๗.๓ x ๑๘.๓ ซม.
นักโทษโดนล่ามตรวน
ขนาด ๑๘.๔ x ๑๒.๗ ซม.

ลีโอนาร์โดวาดภาพลายเส้นที่โดดเด่นชิ้นแรกเป็นภาพภูมิประเทศแถบหุบเขาอาร์โน ภาพนี้ลงวันที่ ๕ สิงหาคม คริสต์ศักราช ๑๔๗๓ ด้วยวิธีเขียนตัวอักษรแบบสะท้อนเงากระจกคือจากขวามาซ้าย ลีโอนาร์โดมักใช้วิธีนี้บันทึกข้อมูลเพื่อเก็บไว้อ่านเองทีหลัง แต่ไม่ได้ตั้งใจจะให้มันเป็น
ความลับอะไร ดั่งนักประวัติศาสตร์ในยุคหลังมักตั้งประเด็นเพราะถึงแม้ตัวอักษรจะกลับหัน แต่ลีโอนาร์โดก็เขียนขึ้นด้วยลายมือประณีต อ่านความหมายได้ชัดเจนถ้าเคยชินอันที่จริงแล้วลีโอนาร์โดเป็นคนถนัดมือซ้าย ดังนั้นการเขียนอักษรจากซ้ายมาขวาจะช่วยกันมือไม่ให้เลอะหมึก

ภาพร่างงานออกแบบอนุสาวรีย์ของ ทริวุลซิโอปี
วาดด้วยชอล์ก แดง ปากกา-หมึก
ค.ศ. ๑๕๐๘-๑๕๑๐
ขนาด ๒๘.๐ x ๑๙.๘ ซม.

ในช่วงเวลานั้นมีความเป็นไปได้ว่าลีโอนาร์โดเข้าทำงานเป็นลูกมือช่างวาดภาพอยู่ที่สตูดิโอของประติมากร/จิตรกรคนดังของเมืองฟลอเรนซ์ชื่อ อองเดรียเดล เวอร็อคคิโอ แต่ไม่แน่ชัดว่าท่านจะอยู่ในฐานะลูกศิษย์ด้วยหรือไม่ มีการบันทึกโดยทางสตูดิโอในปีคริสต์ศักราช ๑๔๗๖ ว่า ลีโอนาร์โดถูกกล่าวหาว่ามีเพศสัมพันธ์กับชายด้วยกัน (แต่เรื่องนี้ถูกถอนไปในภายหลัง) ระหว่างที่ทำงานอยู่ที่สตูดิโอแห่งนี้ ลีโอนาร์โดเริ่มผลิตงานศิลปะของตนเองควบคู่กันไปด้วย เช่น ภาพวาด อันนันซิเอชั่น (ปัจจุบันเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑ์อุฟฟิซิ กรุงฟลอเรนซ์ประเทศอิตาลี) และภาพเหมือนของจิเนฟร่า เดอ เบนชิ (ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.)

ปี ค.ศ. ๑๕๑๐-๑๕๑๒
ขนาด ๒๑.๗ x ๑๖.๙ ซม.

เป็นที่น่าสังเกตว่าในยุคต้นๆ ลีโอนาร์โดมักทำงานไม่เสร็จ ยกตัวอย่างเช่น ภาพติดเหนือแท่นบูชาที่วิหารของรัฐบาลเมืองฟลอเรนซ์ เริ่มวาดขึ้นเมื่อปีคริสต์ศักราช ๑๔๗๘ แต่อีก ๒ ปีต่อมาท่านก็ทิ้งงานชิ้นนี้ไปเริ่มวาดภาพใหม่ชื่อว่า เดอะ อะดอเรชั่น ออฟ เดอะ มากิ สำหรับแขวนในโบสถ์ ซาน โดนาโต้ อะ สกอร์ปีโต้ นอกเมืองฟลอเรนซ์ที่คุณพ่อของท่านเป็นทนายประจำอยู่ ในคราวนี้ลีโอนาร์โดได้ค่าจ้างวาดภาพเป็นเหล้าไวน์หนึ่งถัง แต่เรื่องก็ยังลงเอยเหมือนเดิม คืองานถูกทิ้งครึ่งทางและศิลปินหายตัว (อาจเป็นเพราะท่านต้องหลีกหนีปัญหาอะไรบางอย่าง)

ภาพทุกภาพถูกแกะออกมาจากเล่มทีละแผ่นและนำมาจัดเรียงในกรอบกระจกใสเพื่อให้ผู้ชมนิทรรศการสามารถพินิจอย่างใกล้ๆ ภาพขวาเป็นการทดลองยิงระเบิดดาวกระจายเข้าไปในป้อมปราการ
วาดด้วยชอล์กดำปากกา-หมึก
ขนาด ๓๒.๙ x ๔๘.๐ ซม.
วาดขึ้นราวปี ค.ศ. ๑๕๐๓

๑๘ เดือนหลังจากนั้นลีโอนาร์โดมาปรากฏตัวที่เมืองมิลาน และในปีคริสต์ศักราช ๑๔๘๓ ได้ถูกจ้างให้เขียนภาพสำหรับติดเหนือแท่นบูชา ภาพนี้ลีโอนาร์โดเขียนจนเสร็จสมบูรณ์สวยงามอย่างไม่มีที่ติ ซึ่งในภายหลังถูกขนานนามโดยคนทั่วไปว่า เดอะ เวอร์จิ้น ออฟ เดอะ ร็อคส์ (ปัจจุบัน
เก็บรักษาอยู่ที่ หอแสดงภาพแห่งชาติ กรุงลอนดอน)ดูเหมือนว่าลีโอนาร์โดจะมีความสุขอย่างมั่นคงอยู่ที่เมืองมิลานต่อมาอีกถึง ๑๖ ปี ท่านเข้ารับราชการเป็นข้าสำนักของลูโดวิโก้ สฟอร์ซา (ภายหลังถูกสถาปนาขึ้นเป็นดยุคแห่งมิลาน) โดยมีหน้าที่ออกแบบอาคารบ้านเรือน การแสดง
มหรสพต่างๆ และผลิตงานศิลปะ เช่น ภาพเหมือนของบุคคลสำคัญ งานประติมากรรม (รูปปั้นท่านพ่อของสฟอร์ซาขี่ม้า ซึ่งก็ไม่แล้วเสร็จอีกเช่นกัน) รวมทั้งภาพวาดบนฝาผนังโบสถ์ชิ้นประวัติศาสตร์ชื่อ เดอะ ลาสต์ ซัปเปอร์ที่โรงอาหารของคอนแวนต์ ซานต้า มาเรีย เดลเล กราซี ในเมืองมิลาน

ลีโอนาร์โดขยายความสนใจออกไปยังศาสตร์อีกหลายแขนง เช่น สถาปัตยกรรม ดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ศาสตราวุธ และเรื่องทฤษฎีศึกษา ท่านพัฒนาวิธีการนำเสนอแสงเงาในภาพที่มีมิติมุมมองพิเศษล้ำยุคกว่าศิลปินคนอื่น ลีโอนาร์โดมักเตรียมข้อมูล ภาพร่าง และค้นคว้าความรู้เรื่องราวต่างๆ ไว้ล่วงหน้าอยู่เสมอ จนสามารถรวบรวมข้อมูลเหล่านี้เป็นคลังปัญญาส่วนตัว ซึ่งจะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ไปตลอดจนชั่วชีวิตของท่าน ความใฝ่รู้ใฝ่เห็นทะลุทะลวงไปสู่ทุกมิติ ไม่ว่าจะในโลกกว้างหรือซ่อนเร้นอยู่ในร่างกายของมนุษย์ ลีโอนาร์โดต้องการที่จะทำความเข้าใจต่อสรรพสิ่ง รวมไปถึงบางอย่างที่ยากต่อการมองเห็นด้วยตาเปล่าในช่วงบั้นปลายชีวิต

ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมอาชีพการงานของลีโอนาร์โดเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว จากศิลปินหนุ่มธรรมดาจนก้าวขึ้นเป็นถึงศิลปินเอกแห่งราชสำนักที่รุ่งเรืองแห่งหนึ่งของอิตาลีหากแต่สัจธรรมสอนให้เห็นอีกครั้งว่าในโลกนี้หาได้มีสิ่งใดยืนยงไม่ กองทัพอันเกรียงไกรของราชอาณาจักรฝรั่งเศส
บุกยึดแคว้นลอมบาร์ดี และขับท่านดยุค ลูโดวิโก สฟอร์ซา ออกจากบัลลังก์ ลีโอนาร์โดสูญเสียทั้งเจ้านายที่แสนรักและตำแหน่งหน้าที่ไปพร้อมๆ กัน แต่อย่างไรก็ดี ผู้รุกรานชาวฝรั่งเศสก็ได้ประจักษ์ในอัจฉริยภาพของลีโอนาร์โดและกลายมาเป็นผู้เกื้อหนุนศิลปินเอกท่านนี้ในปัจฉิมวัย

เมื่อออกจากมิลาน ลีโอนาร์โดถือโอกาสเดินทางไปเที่ยวเมืองเวนิส และน่าจะไปถึงกรุงโรมรวมทั้งเมืองเนเปิ้ลส์อีกด้วย ก่อนที่จะกลับไปอยู่ที่ฟลอเรนซ์อีกครั้งเมื่อปีคริสต์ศักราช ๑๕๐๐ งานชิ้นแรกๆ ที่ท่านทำในช่วงนี้ คือภาพวาดสีน้ำมันที่มีชื่อว่า เดอะ มาดอนนา ออฟ เดอะ ยานไวน์เดอร์ (ปัจจุบันอยู่ในคอลเลคชั่นของท่านดยุคบัคคลิวช์ แอนด์ ควีนสเบอรี) และภาพร่างการ์ตูนวาดด้วย

รวมมิตรภาพม้าในท่าทางต่างๆ จากภาพร่างลายเส้นหลายๆภาพ
วาดขึ้นในช่วงปีค.ศ. ๑๕๐๓-๑๕๐๔
วาดด้วยชอล์กแดงปากกา-หมึก

ถ่านและหมึก ในชุดเดอะ มาดอนนา แอนด์ ไชลด์ และภาพเซนต์แอนกับลูกแกะ จากคอลเลคชั่นวังหลวงซึ่งถูกนำออกมาแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย แต่ในขณะที่งานจิตรกรรมล้ำค่าเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นลีโอนาร์โดมีอายุย่างเข้า ๕๐ ปีแล้ว ทั้งยังเริ่มเบื่อการวาดภาพ ท่านหันมาสนใจเรขาคณิตและดำรงตำแหน่งสถาปนิกและวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านการสงครามให้กองทัพเปปัลภายใต้การบัญชาของ ซีซาร์ บอร์เกีย (โอรสของพระสันตะปาปา อเล็กซานดร้าที่ ๖) ในปีคริสต์ศักราช ๑๕๐๓ ลีโอนาร์โดเดินทางไปยังดินแดนทางตะวันออกของเมืองฟลอเรนซ์ที่ท่านซีซาร์ บอร์เกีย เพิ่งยึดมาได้หมาดๆ โดยแวะพำนักที่เมืองเซสน่า ริมีนี่ เออบีโน่ เปซาโร และอิมโมลา เพื่อศึกษาสถาปัตยกรรมของบรรดาป้อมปราการต่างๆ ตามเมืองเหล่านี้ และยังได้ใช้เวลาสร้างแผนที่ของภูมิประเทศโดยรอบขึ้นมาอย่างแม่นยำอีกด้วยหากแต่ลีโอนาร์โดรับราชการภายใต้ท่านซีซาร์เพียงไม่กี่เดือน ก็ลากลับเมืองฟลอเรนซ์ และในปีคริสต์ศักราช

๑๕๐๓ เริ่มวาดภาพโมนาลิซา (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ กรุงปารีส) และภาพเลดากับหงส์ (ภาพสีน้ำมันภาพจริงสูญหาย เหลือเพียงภาพร่างวาดด้วยถ่านและชอล์ก เก็บรักษาที่เดวอนเชียร์คอลเลคชั่นวังแชทส์เวิร์ธ) ท่านยังทุ่มเทเวลาสร้างแผนที่ของเมืองปิซาวัลดิคีอาน่า และอาร์โน ซึ่งตั้งรายล้อมอยู่รอบๆ เมืองฟลอเรนซ์อย่างต่อเนื่อง แต่คราวนี้ทำขึ้นเพื่อรัฐบาลเมืองฟลอเรนซ์โดยตรง ลีโอนาร์โดยังมีโปรเจกต์ที่นับว่าสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต นั่นคือการวาดภาพขนาดยักษ์ชื่อเดอะ แบทเทิล ออฟ แองกิยารี บนฝาผนังห้องประชุมของเคาน์เซอเล่อ ที่วังปาเลสโซ เดลลา ซินญอเรีย แต่อยู่ๆท่านก็ต้องเดินทางกลับไปเมืองมิลานตามคำร้องขอของรัฐบาลฝรั่งเศสผู้ยึดครองเมืองในเวลานั้น (อาจต้องไปรับเป็นหัวหน้าในโครงการสำคัญ หรือสร้างงานชิ้นพิเศษ) จึงทำให้ลีโอนาร์โดต้องเทียวไปเทียวมาระหว่างสองเมืองจนในที่สุดก็ทิ้งงานภาพวาดฝาผนังที่วังปาเลสโซ เดลลา เสียกลางคัน ท่านหันไปทุ่มเทความสนใจในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาร่างกายของมนุษย์ โดยชำแหละศพของชายชราที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลซานตา มาเรีย นูโอวา ฟลอเรนซ์ ซึ่งเป็นการกระทำที่แหวกแนวมากที่สุดในยุคนั้น ผลของการค้นคว้าใหม่ก่อให้เกิดภาพวาดลายเส้นและความเข้าใจในกายวิภาคของมนุษย์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยมี ส่งผลต่องานศิลปะของลีโอนาร์โด และเป็นแรงบันดาลใจต่อศิลปินคนอื่นๆ สืบมา

ลีโอนาร์โดเรียนรู้จากการชำแหละซากศพอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา ๕ ปีที่เขาย้ายกลับมาอยู่ที่เมืองมิลาน (เขาได้ร่างมนุษย์ไร้ชีวิตจากวิทยาลัยการเเพทย์ของมหาวิทยาลัยพาเวียร์) และยังรับงานออกแบบทำเนียบของผู้ว่าฯ เมืองมิลาน รวมทั้งร่างแบบรูปปั้นขี่ม้าสำหรับอนุสาวรีย์แห่งใหม่ของท่านนายพล จีอาน จีอาโคโม่ ทริวัลซิโอ พร้อมๆ กันไปด้วย แต่แล้วสงครามก็เข้ามาเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของลีโอนาร์โดอีกครั้ง เนื่องจากกองทัพของพระสันตะปาปาซึ่งมีแนวร่วมกับกองทัพเวนิสกองทัพสวิส และกองทัพสเปน เพิ่มความกดดันต่อรัฐบาลฝรั่งเศสที่ปกครองมิลานด้วยการเข้ามายึดคืนพื้นที่ส่วนหนึ่งของเมืองเมื่อปีคริสต์ศักราช ๑๕๑๒ แล้วสถาปนาแมสซิมิลิอาโน่ ลูกชายของท่านลูโดวิโก สฟอร์ซา (เสียชีวิตระหว่างถูกกักขังโดยรัฐบาลฝรั่งเศสเมื่อปีคริสต์ศักราช ๑๕๐๘) ขึ้นเป็นท่านดยุคแห่งมิลานคนใหม่ ยังผลให้ลีโอนาร์โดตกงานและจำต้องย้ายไปพำนักอยู่ที่บ้านของฟรานเชสโก ลูกศิษย์คนสนิทจากตระกูลเมลซิ ที่เมืองวาปริโอ และใช้เวลาช่วงนั้นออกแบบต่อเติมบ้าน และเรียนรู้กายวิภาคของสัตว์ต่างๆ อย่างละเอียดด้วยการชำแหละซากของสุนัข นก วัว ฯลฯ

ในปีคริสต์ศักราช ๑๕๑๓ ลีโอนาร์โดเดินทางไปรับงานใหม่ที่กรุงโรมภายใต้การอุปถัมภ์ของท่านกิลีอาโน่ เดอเมดิชิ (อนุชาของพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ โป๊ปลีโอที่ ๑๐) ในช่วงนั้นกรุงโรมกำลังรุ่งเรืองสุดขีด เป็นยุคที่นักประวัติศาสตร์เรียกกันในภายหลังว่า “ไฮเรเนซองส์” เนื่องจากมีอัครศิลปินถึงสามท่านสร้างผลงานอยู่พร้อมๆกัน กล่าวคือ ไมเคิลแองเจโลซึ่งกำลังวาดภาพมหัศจรรย์บนเพดานวิหารซิสทีน และราฟาเอลกับงานภาพผนังชุดสำคัญในห้องสตานเซ่ ซึ่งหากนำเปรียบเทียบกันแล้วผลงานของลีโอนาร์โด ดาวินชี ในช่วงนี้ดูจะไม่โดดเด่นเท่าอาจเป็นเพราะงานที่ท่านทำนั้นในเวลานั้นเป็นชิ้นย่อยกว่าอีกทั้งลีโอนาร์โดยังเน้นเรื่องการค้นคว้าในเชิงลึก ใช้เวลาเดินทางไปยังเมืองต่างๆ อยู่เสมอ เช่น ไปที่เมืองพาร์ม่าในปีคริสต์ศักราช ๑๕๑๔ และเมืองโบลอนญ่า และพอนทีนมาร์ชเชส ในปีคริสต์ศักราช ๑๕๑๕

๑ ปีถัดมา ท่านกิลีอาโน่ถึงแก่อนิจกรรม และเพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ลีโอนาร์โดก็ได้รับเชิญให้ไปเป็นศิลปินประจำพระราชสำนักของพระเจ้าฟรานซิสที่ ๑ กษัตริย์หนุ่มแห่งประเทศฝรั่งเศสผู้เคยได้สดับเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับความสามารถ และอัจฉริยภาพของศิลปินบรมครูท่านนี้ ทั้งจากเหล่าเสนาบดีที่ถูกส่งไปปกครองเมืองมิลาน และจากการได้ทอดพระเนตรผลงานหลายชิ้นที่ลีโอนาร์โดสรรสร้างขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ่นสิงโตเงินที่มีกลไกซ่อนอยู่ในตัวทำให้มันขยับเขยื้อนได้ หุ่นนี้ชาวเมืองลีอองได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์เมื่อคราวเสด็จไปเยือนเมืองนั้น หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีราชาภิเษกในปีคริสต์ศักราช ๑๕๑๕ ได้ไม่นาน

พระเจ้าฟรานซิสพระราชทานวังแอมบัวส์ ให้เป็นที่พำนักของลีโอนาร์โด พร้อมค่าดำรงชีพอย่างงามในฐานะศิลปินอาวุโสประจำราชสำนัก เพื่อเป็นการตอบแทนคำปรึกษาด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมรวมทั้งเรื่องเครื่องยนต์กลไก และการแสดงมหรสพในพระราชวังที่จะต้องมีความแปลกใหม่และน่าตื่นเต้นอยู่เสมอ ดูเหมือนพระเจ้าฟรานซิสจะโปรดปรานลีโอนาร์โดเป็นอย่างมากพระองค์ทรงหาเวลาเสด็จมาสนทนาเรื่องราวต่างๆ และทรงชมเชยเขาอยู่เสมอ

ภาพร่างศีรษะของเลดา
วาดราวปี ค.ศ. ๑๕๐๕-๑๕๐๘
วาดด้วยชอล์กดำปากกา-หมึก
ขนาด ๑๗.๗-๑๔.๗ ซม.

ในช่วงเวลาเดียวกันที่สตูดิโอส่วนตัวของลีโอนาร์โด บรรดาลูกมือยังคงดำเนินงานวาดภาพสำคัญๆ อย่างต่อเนื่องลีโอนาร์โดมีเวลาว่างค้นคว้าสิ่งที่สงสัยมานาน ภาพร่างลายเส้นหลายภาพที่นำมาแสดงในนิทรรศการครั้งนี้อธิบายถึงความใฝ่รู้อันไม่มีวันสิ้นสุดของลีโอนาร์โด ท่านพินิจ
พิเคราะห์ทุกสิ่งที่สายตาสามารถมองเห็น ตอบคำถามหลายข้อเกี่ยวกับโครงสร้างและการทำงานของสรรพสิ่งรอบตัว สุดมหัศจรรย์เหนือคำบรรยายใดๆ คือภาพวาดลายเส้นชุดสุดท้ายของลีโอนาร์โดซึ่งเปรียบเสมือนการเปิดมิติใหม่ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ท่านสามารถหยั่งรู้
และสัมผัสได้ด้วยอัจฉริยภาพ ลีโอนาร์โดบันทึกความเคลื่อนไหวของกระแสลม การลื่นไหลของสายน้ำ และแม้กระทั่งคลื่นความร้อนที่ยากจะเข้าใจในยุคก่อนที่มนุษย์จะมีกล้องถ่ายภาพเทคโนโลยีชั้นสูงในอีกหลายร้อยปีให้หลัง

ลีโอนาร์โด ดาวินชี ถึงแก่กรรม ณ วังแอมบัวส์ เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม คริสต์ศักราช ๑๕๑๙ ทั้งความคิดและผลงานทุกชิ้นที่ท่านได้สร้างขึ้นล้วนเป็น มรดกล้ำค่าทางสติปัญญาแห่งมวลมนุษยชาติ และยังพร้อมเสมอที่จะเป็นแรงบันดาลใจต่อคนรุ่นแล้วรุ่นเล่าไปตลอดกาล

นิทรรศการ Leonardo da Vinci : A Life in Drawing
จัดขึ้นที่ The Queen’s Gallery พระราชวังบักกิ้งแฮม กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
เปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๑๐.๐๐-๑๗.๓๐ น. ถึงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๒ บัตรค่าเข้า
ราคา GBP เวลา ๑๓.๕๐ น. แต่จำเป็นต้องจองล่วงหน้าทางเว็บไซต์ของ The Royal
Collection Trust ที่ https://www.rct.uk

ไฮไลต์ของนิทรรศการครั้งประวัติศาสตร์นี้คือ Leonardo Artmergency, a Leonardo da Vinci escape room
ห้องพิเศษที่ท้าทายให้ผู้เข้าชมนิทรรศการลองเป็นนักสืบสมัครเล่น และคิดตามอัจฉริยภาพของศิลปินบรมครูยุคเรเนซองส์ท่านนี้ เพื่อหาทางออกโดยการค้นหาคำตอบที่ซ่อนอยู่ในภาพร่างดาวินชี ที่จัดแสดงอยู่ บัตรพิเศษสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ราคา GBP ๑๕๐ สำหรับทีมเมมเบอร์ ๘ คน จัดทุกวันศุกร์ และวันเสาร์ เวลา ๑๘.๑๕, ๑๘.๔๕, ๑๙.๑๕ และ ๑๙.๔๕ น. (ต้องจองล่วงหน้า) ผ่านทางเว็บไซต์ https://www.rct.uk/collection/themes/exhibitions/leonardo-da-vinci-a-lifein-drawing/the-queen’s-gallery-buckingham

ขอขอบคุณ ข้อมูลจากหนังสือ Leonardo Da Vinci : A life in drawing โดย Martin Clayton และคอลเลคชันวังหลวง สหราชอาณาจักร
The Royal Collection Trust ที่กรุณาให้ถ่ายภาพมาเผยแพร่เป็นความรู้สำหรับผู้อ่านในบทความนี้

About the Author

Share:
Tags: art / ฉบับที่ 36 / Leonardo da Vinci / ลีโอนาร์โด ดาวินชี / da Vinci / ดาวินชี /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ