Thursday, May 9, 2024
พระเครื่อง ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ทรงเจดีย์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 72
เรื่อง/ ภาพ: ทีมงานนิตยสารอนุรักษ์

พระสมเด็จวัดระฆังฯ ถือได้ว่าเป็นปูชนียวัตถุที่สูงค่ายิ่ง เป็นรูปจำลองของพระประธานในพระอุโบสถในรูปแบบไม่เน้นเส้นสายมาก เน้นความรู้สึกที่มองเห็นในครั้งแรกมากกว่า ถือได้ว่าเป็นเชิงช่างที่พัฒนาในรูปแบบใหม่ กล่าวถึงความศักดิ์สิทธิ์ พระสมเด็จวัดระฆังฯ สร้างและอธิษฐานจิตปลุกเสกโดย ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี อมตะเถราจารย์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยใช้ผงวิเศษ 5 ประการ อันได้แก่ ผงปถมัง ผงอิธะเจ ผงตรีนิสิงเห ผงมหาราชและผงพุทธคุณ ซึ่งมีอานุภาพครอบจักรวาล

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ทรงเจดีย์ กับพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์พระประธานนั้น มีความใกล้เคียงกันด้านพิมพ์ทรง สำหรับผู้ที่เริ่มสะสมใหม่มักจะแยกความแตกต่างระหว่างทั้งสองพิมพ์ไม่ออก จุดสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ ให้สังเกตดูองค์พิมพ์พระประธานจะมีพุทธลักษณะผึ่งผาย ประหนึ่งเป็นพระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ ส่วนพิมพ์ทรงเจดีย์นั้น องค์พระดูเรียวบางกว่า ช่วงไหล่จะแคบสอบเข้ามาเหมือนรูปร่างของเจดีย์ ให้สังเกตฐานชั้นแรก ซึ่งจะเรียวยาวคล้ายหัวเรือสำปั้น

การตัดตอก พระสมเด็จวัดระฆังฯ จะตัดตอกจากด้านหลังมาด้านหน้า ดังนั้น ด้านหน้าจะไม่ปรากฎเนื้อเกินจากการกดตอกหรือของมีคม และด้านหลังจะมีรอยปูไต่ ตามขอบข้าง (รอยปริตามขอบ) ซึ่งเกิดจากการหดตัวของเนื้อพระ การพิจารณาพระสมเด็จวัดระฆังนั้นจะต้องจดจำพิมพ์พระที่ถูกต้อง เนื้อ ความเก่าสมควรแก่อายุ พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ทรงเจดีย์แยกพิมพ์ย่อยเป็นภาษานักนิยมพระยุคก่อนตามตำรา “ตรียัมปวาย” ได้เป็น ๔ แบบ คือ พิมพ์เขื่อง พิมพ์ชะลูด พิมพ์ย่อม และพิมพ์สันทัด องค์นี้พิจารณาได้ว่าเป็น “พระพิมพ์ย่อม” ที่มีพบน้อยหาดูยากมากๆ ในอดีตเรียก พิมพ์ผอม กล่าวกันว่า พิมพ์นี้ไม่มีพระปลอม (หาองค์พระสวยสมบูรณ์ถอดพิมพ์ไม่ได้) เอกลักษณ์อยู่ที่องค์พระช่วงพระกร จะดูบีบแคบเส้นบังคับพิมพ์ซ้าย ขวา ปรากฏคมชัดเป็นจุดพิจารณาสำคัญยิ่ง เป็นพระองค์งามสมบูรณ์เยี่ยม พิมพ์ติดเต็มลึกจัดชัดเสมอกัน ผิวเนื้อไร้ริ้วรอยสัมผัสใช้ ด้านหลังพระจุดพิจารณาครบเครื่องทั้งมวลสาร ก้อนขาว เกร็ดแดง ก้านดำ ครบสูตรรอยปาด-รอยปริ-รอยปูไต่ลง กล้องส่องเห็นชัดเจน เป็นพระพรีเมี่ยม “องค์ครู” (องค์ในภาพของ อ้วนลอยฟ้า พระคุ้มครอง)

About the Author

Share:
Tags: พระสมเด็จวัดระฆัง / พระ / พระเครื่อง / โต พรหมรังสี / วัด ประเพณี วัฒนธรรม การละเล่น / วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร / ฉบับที่ 72 /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ