Sunday, May 19, 2024
ชื่นชมอดีต

เสน่ห์พัดทำมือ

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 68
เรื่อง: ศิริวรรณ เต็มผาติ
ภาพ: Shutterstock

เสน่ห์พัดทำมือ

ยามร้อน นอกจากเครื่องปรับอากาศและพัดลม ยังมีพัดที่ช่วยโบกโบยสร้างกระแสลมคลายร้อนได้ แต่รู้หรือไม่ว่า พัดทำมือนั้นเกิดขึ้นมาเนิ่นนานย้อนหลังไปได้ราว ๔,๐๐๐ ปีนั่นเลยทีเดียว

ตามประวัติที่มีบันทึกไว้ พัดเริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกในอียิปต์ เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์อย่างหนึ่งในการประกอบพิธีทางศาสนา และเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงฐานันดรแห่งเชื้อพระวงศ์ มีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ว่ามีการพบพัดสองเล่มที่มีรูปทรงคล้ายคลึงกันในหลุมฝังพระศพของตุตันคาเมน พัดเล่มหนึ่งมีด้ามจับเป็นสีทอง ประดับด้วยขนนกกระจอกเทศ ขณะที่พัดอีกเล่มทำจากงาช้างฝังประดับด้วยทองคำและหินมีค่า

คนยุคโบราณอย่างชาวฮิบบรู เปอร์เซียน กรีก และโรมัน ยังเคยใช้พัดมือในหลากรูปทรง อีกทั้งยังเคยมีการกล่าวถึงเรื่องพัดนี้ในบทความของกรีกและโรมัน รวมถึงในคัมภีร์ไบเบิ้ลด้วย การค้นพบซากวัตถุโบราณของยุโรป ทำให้เราได้รู้ว่าหญิงชาวกรีกโบราณมีพัดไว้ใช้มาตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ ๔ ก่อนคริสตกาล ในขณะที่คริสเตียนชาวยุโรปรู้จักพัดมาตั้งแต่ศตวรรษที่ ๖ พวกเขาใช้พัดเพื่อโบกไล่แมลงที่บินมาตอมขนมปังและไวน์

ที่ประเทศจีน พัดมีกำเนิดมาเนิ่นนานและมีหลายรูปทรง เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงปรัชญาด้านศิลปะและวัฒนธรรม ชาวจีนไม่เพียงมีพัดไว้โบกให้เกิดลมยามอากาศร้อน แต่ยังใช้พัดเพื่อพิธีกรรมและงานเฉลิมฉลอง รวมถึงใช้เป็นเครื่องประดับยามแต่งองค์ทรงเครื่องเต็มยศอีกด้วย พัดของชาวจีนจึงเป็นสิ่งสะท้อนสุนทรียะของแต่ละบุคคล และแสดงสถานะทางสังคมไม่แตกต่างจากชาวยุโรป จีนโบราณมีพัดในหลากรูปทรง เช่น รูปทรงใบไม้ รูปทรงไข่ รูปทรงจันทร์ครึ่งดวง รูปทรงหกเหลี่ยม และทำมาจากวัสดุหลากหลาย เช่น ผ้าไหม ไม้ไผ่ และขนนก ในช่วงหลังชาวจีนนิยมเขียนบทกวี คำคม และคำพังเพย ด้วยศิลปะการวาดหมึกจีนลงบนพัด ทำให้พัดเสมือนปรัชญาที่ถูกนำแสดงไปทุกแห่งหน ส่วนพัดเพื่อการร่ายรำของจีนนั้นเริ่มต้นมีขึ้นในศตวรรษที่ ๗

แต่พัดที่พับได้นั้น ว่ากันว่าชาติที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นครั้งแรกคือญี่ปุ่น–หรือไม่ก็จีน เนื่องจากแต่ละชาติต่างก็มีตำนานการสร้างสรรค์พัดนี้ขึ้นมาต่างกัน พัดพับได้ในญี่ปุ่นนั้นเล่ากันว่าได้ไอเดียมาจากการที่ค้างคาวหุบปีก ส่วนชาวจีนเชื่อว่าการสร้างสรรค์พัดพับได้มาจากการที่หญิงสาวโบกหน้ากากของพวกเธอไปมาระหว่างงานเฉลิมฉลอง

โดยทั่วไปตัวพัดพับได้มีรูปทรงคล้ายส่วนเสี้ยวหนึ่งของวงกลม และทำจากวัสดุที่มีความบางเบาอย่าง เช่น กระดาษหรือขนนก ล้อมกรอบด้านข้างด้วยไม้แผ่นบาง เพื่อที่ว่าจะสามารถพับเก็บได้เมื่อไม่ใช้งาน แต่ไม่ว่าพัดพับได้เริ่มมาจากที่ไหน หลังจากที่อุบัติขึ้นได้ไม่นาน ก็แพร่หลายผ่านเส้นทางการค้ามาสู่ยุโรปในช่วงทศวรรษ ๑,๕๐๐ และกลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงชนชั้นและความมั่งคั่งที่ทั้งชวนเย้ายวนใจและมีสไตล์

ในอดีต งานเลี้ยงเต้นรำในยุโรป โดยเฉพาะในงานเลี้ยงเพื่อจับคู่หญิงสาวกับชายหนุ่มผู้สูงศักดิ์ วิธี-ท่าทางการโบกพัดของหญิงสาวที่ทำต่อชายหนุ่มยังสื่อเป็นนัยยะแทนการเอื้อนเอ่ยเป็นวาจาอีกด้วย อย่างเช่น หากถือพัดด้วยมือซ้าย แสดงว่าให้ชายหนุ่มเข้ามาคุยสนทนาด้วยได้ ถ้าถือพัดมือขวาและให้พัดอยู่ตรงกลางหน้า ก็แทนคำบอกว่าให้ตามมา เป็นต้น

หลังจากพัดพับได้ ก็เริ่มมีพัดมือแบบที่เป็นฉาก มีการวาดลวดลายสวยงามลงบนพัด มีการประดับประดาตกแต่งเพื่อแสดงถึงสถานะความเป็นชนชั้นสูง จุดประสงค์นั้นมีไว้เพื่อให้หญิงสาวใช้บังแสงแดดที่ส่องหน้า หรือบางเวลาก็ใช้อังความร้อนจากไฟที่ใช้ในการประกอบอาหาร   

ที่ประเทศอังกฤษ ความนิยมในการใช้พัดเริ่มขึ้นในยุคสมัยของควีนอลิซาเบธที่ ๑ ในยุคสมัยนั้นนิยมประดับประดาพัดด้วยอัญมณีมีค่าต่างๆ และนิยมมอบพัดขนนกสีขาวให้เป็นของขวัญ จนกระทั่งในช่วงศตวรรษที่ ๑๘ ความนิยมในพัดก็ฟูเฟื่องอย่างเต็มที่ มีโรงงานทำพัดก่อตั้งขึ้น และช่วงเวลานั้นเป็นยุคของอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ ศิลปะ แน่นอนว่ามีการใช้พัดมาล้อเลียนเรื่องชีวิต และดีไซน์ของพัดก็เกี่ยวพันทั้งเรื่องศาสนาและชนชั้น ผ่านการวาดในรูปแบบของการ์ตูน ไปจนถึงการล้อเลียนเรื่องการเมือง ประวัติศาสตร์ ช่วงเวลานั้นพัดเริ่มมีราคาถูกลง มีความแพร่หลายสู่ชนชั้นกลาง นิยมใช้กันทั้งหญิงและชายจนกระทั่งถึงช่วงกลางศตวรรษที่ ๑๙

สำหรับในเมืองไทย ว่ากันว่าพัดเริ่มมีใช้กันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นของที่คนไทยยุคกาลก่อนต้องมีประจำไว้ทุกบ้าน ทั้งไว้ใช้เพื่อคลายร้อนและเพื่อโบกเตาฟืนให้ไฟติด พัดของไทยมีทั้งที่ทำมาจากใบไม้ ไม้ไผ่ ไม้จันทน์ ขนสัตว์ กระดาษ และผ้า พัดที่นิยมใช้กันในสมัยอยุธยานั้นคือ พัดโตนด ซึ่งทำจากใบตาลอ่อน นำมาคลี่จับเป็นขอบให้สวยงาม และที่นิยมไม่แพ้กันคือพัดสาน ซึ่งทำจากเส้นตอกสานเป็นลวดลายรูปทรงต่างๆ เช่น รูปทรงไข่ รูปใบโพธิ์ รูปเพชร สำหรับพัดพับได้นั้น เมืองไทยเริ่มมานิยมใช้กันในสมัยรัชกาลที่ ๓ การทำพัดสานของคนไทยนั้น ถือเป็นหนึ่งในงานหัตถกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ชาวบ้านจะสานพัดในช่วงเวลาว่างเว้นจากการทำนา โดยใช้วัสดุจากธรรมชาตินำมาทำพัดสาน มีการปรับปรุงพัฒนา สร้างสรรค์รูปแบบให้มีความสวยงามประณีต และเหมาะแก่การใช้งาน เช่น พัดสานห้าเหลี่ยมเหมาะสำหรับโบกพัดเตาไฟ พัดลายดอกสานเหมาะสำหรับใช้คลายร้อนในชีวิตประจำวัน พัดย่านลิเภาให้อารมณ์ความหรูหราเหมาะแก่การใช้ยามออกงาน หรือมอบให้แก่แขกเหรื่อ เป็นต้น

ถึงวันนี้แม้พัดลมและเครื่องปรับอากาศจะมีใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่พัดก็ยังคงยืนหยัดอยู่ยงข้ามกาลเวลามายาวนานทั้งในซีกโลกตะวันออกและตะวันตก นี่อาจจะเป็นเครื่องพิสูจน์อย่างหนึ่งถึงเสน่ห์และความหมายทางวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่ในสิ่งที่เราเรียกกันว่า ‘พัด’

About the Author

Share:
Tags: ฉบับที่ 68 / พัด /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ