Monday, May 6, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป บทความแนะนำ

มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติไทย อุทยานธรณี Geopark

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา “ปราสาทหินพันยอด” จ. สตูล

เรื่อง/ภาพ: ชาธร โชคภัทระ

ภูมิประเทศดึกดำบรรพ์สุดพิสดารในเมืองไทยที่องค์การยูเนสโก (UNESCO) คัดเลือกธรณีสัณฐานจัดเป็น “อุทยานธรณี” (Geopark) สำคัญทั่วโลก บ้านเรามีอุทยานธรณีโลกสตูล (Global Geopark) ขึ้นอันดับ ๑ ใน ๑๒๐ แห่งทั่วโลก ส่วนอุทยานธรณีแห่งชาติ (National Geopark) นั้นมี ๖ แห่งทั่วประเทศ

โลก คือดาวเคราะห์สีน้ำเงินที่มีอายุกว่า ๔,๕๐๐ ล้านปี ตลอดช่วงเวลาอันแสนยาวนานนั้น โลกของเราได้ผ่านยุคต่างๆ มาอย่างโชกโชน ทั้งยุคที่มีภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว อากาศเต็มไปด้วยก๊าซพิษ เคยผ่านยุคน้ำแข็งและยุคที่มีสัตว์ดึกดำบรรพ์ดุ่มเดินหากินอยู่อย่างเสรี ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อรูปลักษณ์ทางธรณีวิทยาของโลก ทำให้บางพื้นที่กลายเป็นป่าดงดิบชื้น บางพื้นที่เป็นทะเลทราย หรือบางแห่งก็กลายเป็นภูผาหินตะปุ่มตะป่ำดูน่าตื่นตา สำหรับเมืองไทยก็มีภูมิประเทศดึกดำบรรพ์สุดพิสดารอยู่ทั่วทุกภาค ซึ่งบางส่วนได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทว่าหากเราไม่มีการจัดการอย่างถูกต้อง พื้นที่ก็อาจทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว องค์การยูเนสโก (UNESCO) จึงได้คัดเลือกธรณีสัณฐานสำคัญในประเทศต่างๆ แล้วประกาศเป็น “อุทยานธรณี” (Geopark)

เกาะเขาใหญ่ “อ่าวฟอสซิล” จ. สตูล

คำว่า “อุทยานธรณี” อธิบายง่ายๆ คือลักษณะทางธรณีวิทยาหรือภูมิประเทศที่มีความแปลก พิเศษ สำคัญ สมควรได้รับการปกป้องไว้เพื่อการเรียนรู้ หรือสร้างสมดุลทางธรรมชาติให้คงอยู่ แต่พื้นที่อุทยานธรณีหลายแห่งก็รวมเอาแหล่งประวัติศาสตร์เข้าไปด้วย อย่างถ้ำที่มีภาพเขียนสีโบราณ แหล่งขุดพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ หรือแหล่งรวมธรรมชาติที่สวยงามทรงคุณค่า อาทิ น้ำตก หาดทราย และหมู่เกาะ ยูเนสโกได้แบ่งอุทยานธรณีไว้เป็น ๒ ประเภทคือ อุทยานธรณีโลก (Global Geopark) และอุทยานธรณีแห่งชาติ (National Geopark) ปัจจุบันเมืองไทยมีอุทยานธรณีโลกอยู่ ๑ แห่งคือ “อุทยานธรณีโลกสตูล” ประกาศรับรองเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ส่วนในระดับนานาชาติ ปัจจุบันมีอุทยานธรณีโลกอยู่ประมาณ ๑๒๐ แห่ง ใน ๓๐ ประเทศ นอกจากนี้ไทยยังมีอุทยานธรณีแห่งชาติอีก ๖ แห่ง ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน ได้แก่ อุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินตาก อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ อุทยานธรณีขอนแก่น อุทยานธรณีผาชัน สามพันโบก อุทยานธรณีชัยภูมิ และอุทยานธรณีโคราช ดูแลโดยกรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับหน่วยงานและประชาชนของแต่ละท้องถิ่น

ถ้ำเลสเตโกดอน จ. สตูล ถ้ำลอดทะเลยาวที่สุดในเมืองไทย

“อุทยานธรณีโลกสตูล” (Global Geopark) แห่งเดียวในประเทศไทย

ถ้ำภูผาเพชร จ.สตูล

ลองแพ็กกระเป๋าเดินทางลงใต้ไปเยือนทะเลฝั่งอันดามันของไทย ทำความรู้จัก “อุทยานธรณีโลกสตูล” กันดีกว่า อุทยานธรณีโลกสตูลครอบคลุมเนื้อที่ ๒,๕๙๗ ตารางกิโลเมตร ทั้งบนฝั่งและในท้องทะเล ครอบคลุม ๔ อำเภอคือ อำเภอเมืองสตูล อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง และอำเภอละงู สวยงาม ยิ่งใหญ่ ภูมิประเทศอุดมด้วยป่าเขาลำเนาไพร เทือกเขาสลับซับซ้อน โถงถ้ำลึกลับ สายน้ำลำธาร รวมถึงมีชายทะเล และหมู่เกาะหินปูน นักธรณีวิทยาค้นพบว่าเมื่อประมาณ ๕๐๐  ล้านปีก่อน แผ่นดินสตูลจมอยู่ใต้ทะเล กระทั่งเมื่อ ๒๔๗ ล้านปีก่อนในยุคไทรแอสสิก เปลือกโลกยกตัวขึ้น เผยให้เห็นซากฟอสซิลบรรพชีวินอันน่าตื่นตะลึง ทั้งบรรพบุรุษของหมึก แมงดาทะเล และสาหร่ายโบราณเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกแรกๆ ที่ผลิตก๊าซออกซิเจนให้โลก นอกจากนี้ยังมีภูมิประเทศแบบคาร์สต์ (Karst Topography) หรือภูมิประเทศเขาหินปูนรูปลักษณ์แปลกตา

หมู่เกาะตะรุเตา จ.สตูล

แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของอุทยานธรณีโลกสตูลมีไม่น้อยกว่า ๒๘ แห่ง เหมาะไปท่องเที่ยวผจญภัย เช่น “ถ้ำเลสเตโกดอน” เป็นถ้ำลอดทะเลยาวที่สุดในเมืองไทย คือยาวกว่า ๔ กิโลเมตร ต้องใช้เวลาพายเรือไม่น้อยกว่า ๒ ชั่วโมงจึงทะลุผ่านได้ มีการค้นพบฟันกรามของช้างสเตโกดอนโบราณ อายุกว่า ๑.๘ ล้านปี รวมถึงกระดูกบรรพบุรุษแรดและหมึกโบราณด้วย ถ้ำนี้เป็นถ้ำน้ำลอดให้เราพายเรือคายักเข้าไปชมหินงอก หินย้อย เสาหิน รูปร่างสุดพิสดาร ถัดมาคือ “ถ้ำภูผาเพชร” ถ้ำมหึมาภายในมีเนื้อที่กว่า ๕๐ ไร่ แบ่งเป็นห้องใหญ่ๆ ได้ประมาณ ๒๐ ห้อง เต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยและเสาหินขนาดยักษ์ ให้เราเดินลัดเลาะเข้าไปชมอย่างน่าตื่นเต้น แต่ที่เป็นไฮไลต์คงหนีไม่พ้นห้องในสุด ลักษณะเป็นโถงมหึมา มีปล่องเพดานขนาดยักษ์ทะลุออกไปภายนอก ปล่อยให้แสงอาทิตย์สาดเข้ามากระทบผนังถ้ำสีมรกตสดใส

หมู่เกาะตะรุเตา จ.สตูล
ฟอสซิล ที่ เกาะเขาใหญ่ “อ่าวฟอสซิล” จ. สตูล
ฟอสซิล นอร์ติลอยด์ ที่ เกาะเขาใหญ่ “อ่าวฟอสซิล” จ. สตูล

สำหรับธรณีสัณฐานพิสดารของอุทยานธรณีโลกสตูลที่อยู่ในทะเลอันดามัน ต้องไม่พลาดชมอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เริ่มต้นด้วย “ปราสาทหินพันยอด” เป็นเกาะหินปูนสีเทายอดแหลมตะปุ่มตะป่ำเหมือนฟันเลื่อย มีโพรงหินให้เราพายเรือลอดเข้าไปสู่ลากูนด้านใน ช่วงเวลาน้ำทะเลลดระดับต่ำสุดจะเผยให้เห็นหาดทรายเล็กๆ จากนั้นนั่งเรืออ้อมไปอีกด้านของเกาะเขาใหญ่สู่ “อ่าวฟอสซิล” ซึ่งพบทั้งฟอสซิลนอร์ติลอยด์ (หมึกทะเลโบราณ) และไทรโลไบต์ (แมงดาทะเลโบราณ) ปรากฏอยู่บนหน้าผาหินอย่างชัดเจน แถมยังมีช่องหินรูปหัวใจให้ถ่ายภาพคู่เก๋ไก๋ เสร็จแล้วหากมีเวลาเหลือก็สามารถนั่งเรือไปสู่ “หมู่เกาะตะรุเตา” ที่งดงามด้วยหาดทรายขาวสะอาด น้ำทะเลสีครามใสเหมือนแก้วคริสตัล และมีธรณีสัณฐานเกาะหินปูนกลางทะเล สะพานหินโค้งธรรมชาติอันแปลกตาให้ชมที่เกาะไข่

(สามพันโบก ผาแต้ม – อ่านต่อหน้าถัดไป)

ข้อมูลท่องเที่ยว :

– กรมทรัพยากรธรณี โทร. ๐-๒๖๒๑-๙๕๐๐ www.geopark-thailand.org

– อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล โทร. ๐๗๔-๗๘๓-๕๙๗ 

– อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล โทร. ๐๗๔-๗๔๐-๒๗๒ 

About the Author

Share:
Tags: สตูล / nature / สามพันโบก / ถ้ำภูผาเพชร / นิตยสารอนุรักษ์ / fossil / สามหมื่นรู / ถ้ำเลสเตโกดอน / อนุรักษ์ / ปราสาทหินพันยอด / อุทยานธรณีโลกสตูล / เที่ยวไปรักษ์ไป / เกาะเขาใหญ่ / ช้างสเตโกดอน / อ่าวฟอสซิล / Global Geopark / anurakmagazine / ตะรุเตา / Geopark / อนุรักษ์แท็บลอยด์ / ไทรโลไบต์ / อุทยานธรณี / อนุรักษ์ออนไลน์ / นอร์ติลอยด์ / UNESCO / อุบลราชธานี / ฟอสซิล / เที่ยวไทยเท่ / ท่องเที่ยว / เกาะไข่ / ผาแต้ม /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ