Thursday, May 9, 2024
ภูมิปัญญาไทย บทความแนะนำ

คนพากย์โขนร่วมสมัย

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 70
เรื่องและภาพ: เอกชัย เอื้อธารพิสิฐ

เสียงพากย์ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการแสดงโขน เนื่องจากผู้แสดงโขนทุกคนต้องสวมหน้ากากหรือที่เรียกว่า “หัวโขน” ซึ่งเป็นจารีตประเพณีนาฏศิลป์ไทยมาแต่อดีต การสวมหัวโขนส่งผลให้ผู้แสดงไม่อาจขับร้องหรือพูดบทได้สะดวก หากทำได้เพียงการร่ายท่ารำสัญลักษณ์เพื่อสื่อสารความรู้สึกหรือกิริยาอาการตามบทประพันธ์ ขณะที่คนพากย์-เจรจา จะทำหน้าที่ส่งเสียงพากย์และเจรจาแทนผู้แสดง ตลอดจนดำเนินเรื่องและใช้เสียงเพื่อสื่ออารมณ์ล้อไปกับการแสดง

บทบาทหน้าที่ของคนพากย์โขนจึงสำคัญ และน่าจะสำคัญยิ่งกว่าผู้แสดงเพราะคนพากย์หนึ่งคนต้องพากย์เสียงมากกว่าหนึ่งตัวละครในท้องเรื่อง พร้อมความสามารถพิเศษในการจำบทประพันธ์ ดังที่อาจารย์ธีรภัทร์ ทองนิ่ม เขียนไว้ในหนังสือ “โขน” (กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2555, น.63) ความว่าผู้ชมจะเข้าใจเนื้อเรื่องโขนแต่ละตอนก็จากการพากย์-เจรจาเท่านั้น คนพากย์-เจรจา “ต้องเข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องราวและวิธีการแสดงในตอนนั้น ๆ ทั้งยังต้องจดจำคำพากย์ ซึ่งเป็นบทกวีที่นิพนธ์ไว้เฉพาะอีกด้วย”

อย่างไรก็ดี ช่างน่าแปลกที่เจ้าของเสียงพากย์กลับไม่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติอย่างทัดเทียมเท่าสถานภาพของนักแสดง ตำแหน่งแห่งที่ของคนพากย์โขนถูกกลืนหายไปกับการแสดง กลายเป็นเพียงคนเบื้องหลังภาพความงดงามและความสำเร็จในชีวิตของศิลปินหลายคน

แด่ “ครูมืด” คนเบื้องหลัง

ประสาท ทองอร่าม (2493-2565) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “ครูมืด” ศิลปินผู้ล่วงลับที่เคยรับราชการตำแหน่งศิลปินในสำนักการสังคีต กรมศิลปากร คนพากย์โขนเจ้าของเสียงเอกลักษณ์ของพญายักษ์ทศกัณฐ์ ซึ่ง พิเชษฐ กลั่นชื่น ศิลปินศิลปาธร ปี 2552 ผู้ริเริ่มและกำหนดแนวคิดหลักของการแสดง “สุขสำเนียง เสียงพากย์โขน” บอกว่า ภายหลังที่ได้รับทราบข่าวการเสียชีวิตของครูมืดเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 เขารู้สึกเหมือนมีบางอย่างที่หายไปจากชีวิต

“ในความทรงจำตั้งแต่เริ่มเรียนโขน (ยักษ์) ผมจะได้ยินเสียงพากย์ของครูมืดตลอด ทุกวันนี้ก็ยังใช้เสียงของครูมืดอยู่เรื่อย ๆ แต่ผมกลับไม่เคยเรียนโขนกับครูมืด หรือได้ครูมาพากย์ให้ผมรำเนื่องจากผมเป็นคนนอกกรมศิลปากร ฉะนั้น ผมจึงอยากทำอะไรบางอย่างให้ครูมืดบ้างซึ่งออกมาเป็นงานครั้งนี้ สนับสนุนโดยกระทรวงวัฒนธรรม” พิเชษฐ ระบุเจตจำนงการแสดงเพื่ออุทิศแด่ครูมืด

ครอบครัวทองอร่ามคลุกคลีกับนาฏศิลป์และดนตรีไทยตั้งแต่รุ่นปู่ซึ่งรับหน้าที่เป่าปี่ในวงปี่พาทย์วัดพระพิเรนทร์ ศูนย์กลางนาฏศิลป์ไทยทุกแขนง บิดาและญาติผู้ใหญ่ของครูมืดก็เช่นกัน ซึ่งปูทางชีวิตศิลปินให้แก่ครูมืดโดยเริ่มร่ำเรียนดุริยางค์ไทยที่โรงเรียนนาฏศิลป์ (วิทยาลัยนาฏศิลป์ในปัจจุบัน) ตั้งแต่ 2504 ต่อมาก็ได้รับการอุปถัมภ์จากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งหัวหน้างานกลุ่มวิจัยพัฒนางานและการแสดง สำนักการสังคีต กรมศิลปากร นอกจากนี้ ครูมืดยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยอีกตำแหน่งด้วย

ขณะที่น้องชายครูมืดคือ “ครูเถิ่ง” เกษม ทองอร่าม อดีตครูผู้สอนประจำวิทยาลัยนาฏศิลป์ และรับบทเป็นคนพากย์ในการแสดงครั้งนี้เผยว่า ถึงแม้ตนทำงานต่างสำนักกับพี่ชาย ครูทั้งสองก็ได้รับโอกาสร่วมงานด้วยกันเสมอ โดยอาจารย์เสรี หวังในธรรม (2480-2550) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ศิลปะการละคร) ปี 2531 บรมครูของพี่น้องทองอร่าม คอยรวบรวมคนพากย์และผู้แสดงจากหลายหน่วยงานมาทำงานร่วมกัน และการแสดงชุดนี้ ทั้งคู่จะได้แสดงการพากย์ร่วมกันอีกครั้งในจินตนาการผ่านสำเนียงและเสียงพากย์โขน

หลับตา ฟังเสียงพากย์

ดังที่ได้เกริ่นในตอนต้นเกี่ยวกับความพิเศษของคนพากย์ กล่าวคือ คนพากย์ไม่ใช่ผู้แสดงจึงไม่ถนัดเต้น แต่ต้องจำบทและพากย์เสียงแทนแต่ละตัวละครได้อย่างแม่นยำ ครบเครื่องทุกอารมณ์และความรู้สึกในแต่ละตอน ทั้งยังต้องแสดงลีลาและวิธีการพากย์อย่างกลมกลืนกับภาพรวมของการแสดง

เสียงพากย์ในการแสดงชุดนี้จึงสำคัญยิ่งกว่าภาพที่ปรากฏบนเวที บรรดานักแสดงจึงไม่สวมชุดโขน คนพากย์ก็ไม่แต่งกายในชุดประจำของตน พิเชษฐกล่าวว่า หากผู้ชมหลับตาลงแล้วฟังเพียงเสียงพากย์ของครูเถิ่งก็จะได้อรรถรสที่สุด เพราะฉะนั้น ภาษาท่าทางของการแสดงจึงเป็นเพียงองค์ประกอบของการพากย์โขน เท่านั้น

“เราไม่อยากให้ภาพการแสดงโขนสำคัญกว่าบทบาทของเสียง คนพากย์ และวิธีการพากย์โขน เราอยากให้ผู้ชมเห็นการพากย์โขนว่าเป็นอย่างไร จึงเน้นความสำคัญของเสียงพากย์สด และลดความโดดเด่นของภาษาภาพลง รวมทั้งไม่บรรเลงดนตรีสด ไม่เช่นนั้น รูปแบบการแสดงจะกลับไปเป็นโขนอย่างที่คุ้นเคยซึ่งเราไม่อยากให้เป็น” พิเชษฐ ย้ำเจตนารมณ์

นี่คือวัตถุประสงค์สำคัญอีกข้อของการแสดง “สุขสำเนียง เสียงพากย์โขน”

“การพากษ์โขนในการแสดงครั้งนี้มีไม่ครบทุกประเภทการพากษ์ เช่น จะไม่มีพากษ์ชมดง (ชมความงามในธรรมชาติ) ไม่มีพากษ์โอ้ (บทโศกเศร้า) ที่ต้องใช้วงปี่พาทย์ จะมีพากษ์เบ็ดเตล็ด (ทั่วไป) พากษ์เมือง (ตัวแสดงในท้องพระโรง) ส่วนฉันทลักษณ์กาพย์กลอนยังคงเหมือนเดิม (กาพย์ฉบัง 16 และกาพย์ยานี 11)” ครูเถิ่ง ขยายความโดยจะเล่าเรื่องรามเกียรติตั้งแต่นางสีดาถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวไปยังกรุงลงกาอันเป็นเหตุให้พระรามต้องแต่งทัพไปทำศึกชิงนางสีดากลับ พิเชษฐทำหน้าที่วางโครงเรื่องหลัก ครูเถิ่งใส่บทกลอน (ร้อยแก้วและร้อยกรอง) ตามท้องเรื่องรามเกียรติเดิม ซึ่งเป็นความถนัดของครูเถิ่ง พร้อมดนตรีประกอบจากเครื่องเสียงสมัยใหม่

ฉากสำคัญที่สุดของการแสดง พิเชษฐเผยว่าคือ ฉากตอบโต้ไปมาระหว่างพิเภกและทศกัณฐ์ ตอนทศกัณฐ์มีรับสั่งให้ขับพิเภกออกจากกรุงลงกาเพียงเพราะทำนายคำพยากรณ์ไม่เข้าหูทศกัณฐ์ผู้พี่ ผู้ชมจะได้ยินเสียงของครูมืดที่บันทึกเสียงพากษ์ตอนนี้ไว้แล้ว ขณะที่เสียงพากษ์บทพิเภก พิเชษฐเลือกใช้เสียงพากษ์สดของครูเถิ่ง ซึ่งเป็นอีกความตั้งใจของผู้ออกแบบการแสดงที่ต้องการล้อสัมพันธภาพของพี่น้องทองอร่ามคู่นี้ในชีวิตจริงกับเรื่องราวในวรรณคดี

กลยุทธในการลดความเข้มข้นของสาระในการแสดง พิเชษฐใช้กลุ่มนักแสดงเด็กที่ไม่มีพื้นฐานการละครใด ๆ มาก่อน เพื่อให้ภาพความไร้เดียงสาทำหน้าที่ตั้งคำถามแทนผู้ชมทั่วไป ตั้งแต่ใครเป็นใครในท้องเรื่อง การแสดงโขน บทบาทของคนพากษ์ และอีกมากมาย โดยเชื่อว่าถ้าความศักดิ์สิทธิ์ของโขนถูกเจือจาง ผู้ชมย่อมรู้สึกผ่อนคลายและอยากเข้าหาโขนเองในที่สุด

ชีวิตใหม่ของโขนละคร

การพากษ์โขนคือเสน่ห์ของนาฏศิลป์ไทยอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ แต่ที่ผ่านมา โขนได้รับความนิยมลดลงตามลำดับเนื่องจากเทคโนโลยีสื่อใหม่และความเป็นศิลปะชั้นสูง ผลที่ตามมาคือโขนละครไม่อาจเข้ามาอยู่ในใจของคนรุ่นใหม่

อุบายที่ครูเถิ่งเสนอไว้คือ กลยุทธ “การสร้างสรรค์เชิงอนุรักษ์” ซึ่งนับเป็นความท้าทายของครูโขนละครที่ต้องหาทางเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงคุณค่าของนาฏศิลป์ไทยให้ได้

“ศิลปะ ถ้าทำให้น่ากลัว เด็กวันนี้จะไม่กล้าแตะต้อง เพราะถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีอาถรรพ์ ซึ่งที่จริง ไม่มีอะไร ศิลปะที่แท้ต้องลื่นไหลไปตามธรรมชาติ ต้องพัฒนาได้ตามยุคสมัย ถ้าเราไปปักใจว่าโขนเป็นศิลปะชั้นสูง เยาวชนก็จะไม่กล้าแตะต้อง นั่นก็แปลว่ายากที่คนปัจจุบันจะเข้าถึง” ครูเถิ่ง กล่าว

“เราต้องการเชื่อมต่อกับเด็กรุ่นใหม่ด้วยวิธีการที่ง่าย ไม่ใช่มาบังคับฝึกซ้อมรำเดี๋ยวนี้ หรือสั่งเต้นเสา (ท่าฝึกหัดโขนเบื้องต้น) ห้าชั่วโมงเดี๋ยวนี้ ซึ่งนี่เป็นการบังคับ เราต้องพาพวกเขาสู่กระบวนการที่ง่าย ๆ ก่อน ให้เขารู้จักเรื่องในโขน วิธีการของโขน เกล็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย แล้วพวกเขาก็จะพาตัวเองไปรู้จักโขนมากขึ้นเอง นี่คืออีกเป้าหมายของการแสดงครั้งนี้” พิเชษฐ กล่าวทิ้งท้าย

การแสดง “สุขสำเนียง เสียงพากย์โขน” เสียงพากษ์โดย “ครูเถิ่ง” เกษม ทองอร่าม และกำหนดแนวคิดโดย พิเชษฐ กลั่นชื่น เพื่ออุทิศแด่ “ครูมืด” ประสาท ทองอร่าม ชมฟรี ณ ช่างชุ่ย วันที่ 12 และ 13 สิงหาคม 2566 เวลา 19.00 น. สนับสนุนโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

About the Author

Share:
Tags: โขน / ฉบับที่ 70 / คนพากษ์โขน / หัวโขน /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ