Thursday, May 9, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป บทความแนะนำ

จดหมายเหตุ ๖,๐๐๐ ปี วนอุทยานภูหัน-ภูระงำ

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 73 เมษายน 2567
เรื่อง: นัทธ์หทัย วนาเฉลิม

บริเวณลานกางเต็นท์ของวนอุทยานภูหัน-ภูระงำ

จดหมายเหตุ ๖,๐๐๐ ปี

วนอุทยาน
ภูหัน-ภูระงำ

เส้นทางหมายเลข ๒๑๙๙ พาพวกเรามุ่งไปยังบ้านหูลิง ตำบลวังแสง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น โดยมีหมุดหมายอยู่ที่วนอุทยานภูหัน-ภูระงำ รถกระบะสีดำกลางเก่ากลางใหม่พาเราไต่ระดับขึ้นไปบนภูเขาลูกเล็กๆ ยิ่งเข้าใกล้เขตวนอุทยานเท่าใดลักษณะของป่าเต็งรังยิ่งชัดเจน ทางเข้าวนอุทยานใช้ทางเดียวกับวัดภูหันบรรพต เพียงแต่แยกไปทางขวา ไม่ได้เข้าไปในบริเวณวัด ไม่ไกลนักที่ทำการสำนักงานของวนอุทยานภูหัน-ภูระงำก็อยู่ที่เบื้องหน้านี่เอง พักผ่อนกันไม่นานเกินรอ ผู้ที่เรานัดหมายไว้ก็ก้าวเข้ามาในชุดทะมัดทะแมงพร้อมถังน้ำสะพายหลัง แก้มแดงเม็ดเหงื่อผุดพราว บ่งบอกให้รู้ว่าเพิ่งไปรบกับไฟป่ามา หญิงสาวผู้มาใหม่แนะนำตัวว่าชื่อ “พิมพ์กานต์ วงศ์อุดร” ตำแหน่งนักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ พวกเราเรียกเธอง่ายๆ ว่า “หัวหน้าเดี่ยว”

พื้นที่วนอุทยานภูหัน-ภูระงำ มีพื้นที่ราว ๖,๒๔๐ ไร่ แต่พื้นที่แต่ละจุดไม่ได้เชื่อมต่อกัน แทรกไปด้วยพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ทำให้แผนที่มีลักษณะคล้ายก้างปลาทู หัวหน้าเดี่ยวจึงจัดรถของวนอุทยานพาพวกเราลุยด้วยตัวเอง โดยจุดหมายหลักที่จะไปชมกันวันนี้ คือ เกิ้งจ้อง เกิ้งย่ามา เกิ้งตะขาบ เกิ้งขาม และเส้นทางศึกษาธรรมชาติผารักเดียว

“ตอนที่นักโบราณคดีเข้ามาสำรวจเมื่อปี ๒๕๖๕ แจ้งว่าในบรรดาจังหวัดที่ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ จำนวนเยอะที่สุดอันดับแรกอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี อันดับสองอุดรธานี และ อันดับสามคือขอนแก่น ซึ่ง ณ ปัจจุบันไม่ทราบว่าขอนแก่นทำคะแนนตีตื้นขึ้นหรือยัง เพราะระยะหลังมานี้อำเภอน้ำพองทำสถิติพบภาพเขียนสีใหม่ๆ เยอะมาก เนื่องจากมีกำลังคนในการลาดตระเวน” หัวหน้าเดี่ยวให้ข้อมูลพร้อมกับนำพวกเราไปยังรถกระบะของวนอุทยาน เสียงเครื่องยนต์ครางหึ่งเป็นสัญญาณว่าการผจญภัยได้เริ่มขึ้นแล้ว

แผนที่วนอุทยานซึ่งมีความเว้าแหว่งคล้ายก้างปลาทู เนื่องจากอยู่ใกล้กับพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน
ใบไม้เปลี่ยนสีไปดูที่วนอุทยานภูหัน-ภูระงำ

รถกระบะของวนอุทยานจอดส่งพวกเราที่ลานหินทราย ถ้าเป็นช่วงปลายฝนต้นหนาวบริเวณนี้คงพร่างพราวไปด้วยสีสันเหลือง ม่วง และขาว จากดอกไม้ป่านามพระราชทานอย่าง ทิพยเกสร ดุสิตา มณีเทวา และสร้อยสุวรรณา แต่ในยามนี้ที่เป็นฤดูแล้งก็จะได้ชมนิเวศน์ที่แปลกตาไปอีกแบบ

“นี่เป็นต้นต่างหมอง เด็ดใบกินกับแจ่วบองรสชาติฝาด แต่เมื่อกลืนน้ำตามจะหวานในคอ พืชที่รสหวานตามแบบนี้จะช่วยแก้กระหายน้ำได้ ส่วนนี่ไม่ใช่กอหนามตายซากเฉยๆ นะ นี่เป็นต้นพุดผา พอโดนฝนก็จะออกดอกเป็นสีขาว หอมมากทีเดียว ส่วนนี่เป็นเถาวัลย์ด้าน มันชอบปลอมตัวเป็นพญาไร้ใบที่เป็นพืชสมุนไพรมีราคา” หัวหน้าวนอุทยานเล่าถึงต้นไม้ต่างๆ บนลานหินทรายราวกับกำลังจาระไนทรัพย์สินในบ้าน

ต้นต่างหมองซึ่งดูท่าทางจะชอบนิเวศน์บนลานหินทราย ใบนำมารับประทานเป็นผักเคียงได้

จากลานหินทรายนิเวศน์ได้เปลี่ยนสภาพเป็นป่าเต็งรัง เชื่อไหมว่า ๗๐ เปอร์เซนต์ของป่าในภาคอีสานเป็นป่าเต็งรัง ทางอีสานเรียกป่าชนิดนี้ว่า “ป่าโคก” หรือ “ป่าแดง” หากจะถามว่าเพราะเหตุใดป่าชนิดนี้ถึงได้กินพื้นที่ไพศาลนัก ก็ต้องอธิบายว่ามันเป็นความเกี่ยวเนื่องกันอย่างไม่ออก ระหว่างความสูงจากระดับน้ำทะเล สภาพดิน และปริมาณน้ำฝน มักพบป่าเต็งรังในพื้นที่ที่เป็นที่ราบต่ำ และมีระดับความสูงจากน้ำทะเลไม่เกิน ๑,๐๐๐ เมตร ปริมาณน้ำฝนอยู่ในช่วง ๙๐๐-๑,๒๐๐ มิลลิเมตรต่อปี ดินเป็นดินร่วนปนทรายหรือลูกรัง แต่ปัจจัยเพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอต่อการที่ป่าเต็งรังจะพัฒนาตนเองให้กลายเป็นป่าอันทรหดได้

ความที่ภาคอีสานมีระยะเวลาที่ฝนทิ้งช่วงนานเกิน ๔ เดือนต่อปี จึงเกิดป่าผลัดใบขึ้นเพื่อลดการคายน้ำ แต่ในขณะเดียวกันใบไม้แห้งเหล่านี้ก็กลายเป็นเชื้อไฟอย่างดี โดยไฟป่ามักจะเกิดขึ้นช่วงฤดูแล้งของทุกปี ฤดูกาลนี้หัวหน้าเดี่ยวและลูกน้องจึงงานหนักกันพอสมควร ไฟที่เป็นตัวทำลาย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้คัดเลือกพรรณไม้ในป่าเต็งรัง โดยพืชที่จะเจริญเติบโตได้ดีในป่าชนิดนี้จึงไม่ใช่แค่ทนแล้งอย่างเดียว แต่ต้องมีเปลือกหนาทนกับไฟผิวดินด้วย พืชเด่นได้แก่ เต็ง รัง เหียง แดง และตะแบก ส่วนพืชพื้นล่างได้แก่ ปรง หญ้าเพ็ก และหญ้าชนิดอื่นๆ ป่าเต็งรังได้ฉายาว่า “ตู้กับข้าวของชุมชน” เนื่องจากมีไม้วงศ์ยางเป็นจำนวนมาก โดยไม้วงศ์ยางจะมีความสัมพันธ์กับเห็ดไมโคไลซ่า เช่น เห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดตะไค และเห็ดน้ำหมาก ถ้ามาเดินป่าหน้าฝนคงจะได้กับข้าวกลับไปด้วยหลายถุง

ป่าเต็งรังได้ชื่อว่าเป็นตู้กับข้าวชุมชน ในภาพเป็นอาหารชั้นยอดทั้งนั้น ทั้งยอดผักหวานป่า และไข่มดแดง ที่สร้างรังอยู่ปลายยอดไม้
ป้ายบอกทางไปชมจุดต่างๆ ไม่ต้องกลัวหลง
ปรากฏการณ์แสงเงาที่ทำให้เห็นใบหน้าคน
โบกเล็กๆ ที่กระตัวอยู่ทั่วบริเวณท้องแม่น้ำโบราณ เกิดจากการที่กระแสน้ำพัดพาเอาก้อนกรวดขัดสีซ้ายที ขวาที จนกลายเป็นหลุมกลม
เส้นทางสำรวจธรรมชาติของวนอุทยานภูหัน-ภูระงำ เป็นการผจญภัยในระดับประถม ในภาพคุณลุงคุณป้าเป็นนักท่องเที่ยวจากจังหวัดบุรีรัมย์ ก็สามารถเดินได้แบบสบายๆ

หมุดหมายแรกที่หัวหน้าเดี่ยวพาเราไปชม เรียกว่า “เกิ้งจ้อง” ต้นไม้ผลัดใบเก่าออกทับถมทางเดินจนนุ่มเท้าราวกับเดินอยู่บนพรมสีน้ำตาล แม้เส้นทางจะถูกทับถมจนมองไม่เห็นแต่ไม่ต้องกลัวหลง เพราะทางวนอุทยานได้ทำป้ายบอกทางไว้อย่างชัด โดยวาดสัญลักษณ์ได้อารมณ์แบบภาพเขียนสีผนังถ้ำได้อย่างน่าเอ็นดู

“เกิ้ง ในภาษาอีสาน หมายถึง เพิง หรือ เทิบ ลักษณะเป็นเสาเฉลียง ปกติเราจะเจอเสาเฉลียงได้ที่จังหวัดชัยภูมิ หรือ จังหวัดอุบลราชธานี สำหรับจังหวัดขอนแก่นต้องมาดูที่เกิ้งจ้อง อำเภอชนนบท เรานี่เอง” หัวหน้าทีมโฆษณาจนทำให้เราอยากเห็นของจริงเสียแล้ว

เดินขึ้นเนินไปไม่ทันหอบ หินใหญ่รูปทรงเหมือนเห็ดดอกยักษ์ ๒ ดอก ก็ปรากฏขึ้นแก่สายตา “ที่เกิ้งจ้องจะมีปรากฏการณ์ธรรมชาติอยู่ ๒ อย่าง อย่าแรกคือ เกิ้งจ้องจะเป็นชุดหินโคกกรวดที่ถูกกัดเซาะจากกระแสน้ำกระแสลมเป็นเวลากว่า ๑๔๐ ล้านปี ทำให้เกิดเป็นเสาเฉลียง ปรากฏการณ์ที่ ๒ คือ แสงและเงา ที่ผ่านระหว่างหินสองก้อนทำให้เกิดเป็นรูปเป็นรูปหน้าคน”

“เกิ้งจ้อง” หินทรายรูปร่างแปลกตา ของหมวดหินโคกกรวด (khok kruat formation) ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาของหินในยุคครีเทเชียส

พวกเรามองตามปลายนิ้วของหัวหน้าเดี่ยวที่ชี้ไปยังจุดสังเกตสำคัญบนเสาเฉลียง ไม่ว่าจะเป็นร่องรอยการทับถมกันจนซ้อนชั้นของหิน บรรดาก้อนกรวดเล็กใหญ่ที่เป็นที่มาของชื่อชั้นหินโคกกรวด (khok kruat formstion) หรือ รูปร่างใบหน้าคน ที่หินก้อนขวา ไล่มาตั้งแต่ หน้าผาก ขนตา จมูก โหนกแก้ม คางและริมฝีปาก เป็นใบหน้าเล็กๆ มองไปมองมาคณะเดินทางของเรากลับเห็นใบหน้าใหญ่ แก้มอูมๆ และจมูกรั้นๆ ที่หินก้อนทางซ้ายด้วย นี่สินะไอสไตน์จึงได้กล่าวว่าจินตนาการสำคัญกว่าความรู้

เพื่อให้ได้บรรยากาศผจญภัยเราจึงไม่ย้อนกลับทางเดิน แต่เลือกใช้เส้นทางอ้อมไปลงด้านหลังเกิ้งจ้องแทน ทางลงทางด้านหลังนี้มีความลาดชันกว่าขาขึ้นมาก มีเถาวัลย์เล็กๆ ขึ้นเป็นพืชเบิกทาง ต้องคอยระวังให้ดีเพราะมักจะเกาะเกี่ยวขาเราให้สะดุดอย่างกับแกล้งกันเสียอย่างนั้น ที่แท้สุดท้ายปลายทางคือร่องน้ำแห้งหน้าแล้ง พวกเราลัดเลาะไปตามร่องน้ำ สลับกับก้าวข้ามหินก้อนใหญ่เป็นระยะๆ ที่สันฝายรถกระบะของวนอุทยานมาจอดรอเราอยู่แล้ว

เพิงหินเกิ้งย่ามา มีการสร้างศาลเป็นกุศโลบายให้ผู้มาเยือนเคารพสถานที่และช่วยกันดูแลรักษาสภาพแวดล้อม
กระกูกกบ หรือ ขาเปีย ใช้แก่นต้มน้ำดื่มแก้โรคไตพิการ
ฝักกล้วยไม้ป่า “เครือหัวสิงโต” พบบริเวณเกิ้งย่ามา

จุดหมายที่ ๒ ของเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ๓ เกิ้ง อยู่ที่ “เกิ้งย่ามา” ที่เพิงหินนี้มีตำนานเล่าว่า ในสมัยโบราณมีสามี-ภรรยา คู่หนึ่ง ถึงคราวที่สามีต้องไปรบ ส่วนภรรยาที่ท้องแก่ได้ลี้ภัยสงครามมาถึงบริเวณภูหัน แล้วได้อาศัยเพิงหินที่เกิ้งย่ามาเป็นที่คลอดลูก

“จุดเด่นจริงๆของเกิ้งย่ามาเป็นบริเวณด้านหน้าซึ่งเป็นท้องแม่น้ำโบราณ คราวนี้เรารู้ได้ยังไงว่ามันเป็นท้องแม่น้ำโบราณ สังเกตได้จาก โบกเป็นหลุมกลมๆ เกิดจากการที่เศษหิน เศษกรวด เจอกระแสน้ำพัดวนซ้ายทีขวาที เสียดสีกันจนกลายเป็นโบก”

หัวหน้าเดี่ยวชี้ให้ดูหลุมเล็กๆ จำนวนมาก ที่เป็นหลักฐานว่า บริเวณลานหินทรายนี้เคยเป็นท้องแม่น้ำมาก่อน แม้ไม่ใหญ่เท่ากับสามพันโบก แต่มันก็เพียงพอที่จะทำให้เราตื่นเต้นอยู่ไม่น้อย ในหลุมเล็กๆ นั้นนอกจากกรวดทรายแล้ว ยังมีเปลือกหอยเล็กๆ ที่ถูกขัดสีจนเปลือกใสราวกับเป็นแก้วมณีแห่งท้องน้ำทีเดียว

เพิงหินเกิ้งตะขาบ นอกจากดูภาพเขียนสีแล้ว ลองสังเกตลักษณะการสะสมตะกอนในทางน้ำ โค้งตวัดตามร่องน้ำในอดีต ทำให้ปรากฏลักษณะของการวางชั้นเฉียงระดับ (cross bedding) บนก้อนหินทราย

พวกเราอาศัยท้องแม่น้ำโบราณนำทางไปยัง “เกิ้งตะขาบ” พลังของกระแสน้ำได้ทิ้งร่องรอยริ้วคลื่นไว้บนลานหิน พาลให้นึกถึงพวกปลามีปอดในยุคดึกดำบรรพ์หากได้พบร่องรอยฝังกับคลื่นหินนี้คงวิเศษ จากท้องน้ำโบราณเมื่อภูมิประเทศเริ่มเปลี่ยนเป็นเนินเตี้ยๆ พืชพรรณก็เปลี่ยนตาม เริ่มเห็นต้นหญ้าเพ็กขึ้นฟูไปทั้งบริเวณจากนั้นจึงค่อยพบไม้ยืนต้นห่างๆ ต้นกระดูกกบดูจะชอบนิเวศน์บริเวณนี้มากจึงขึ้นอยู่ทั่วบริเวณ ดอกของมันเป็นลูกพองลมกลมๆ น่ารัก ยิ่งเวลาที่ดอกของพวกมันรวมตัวกันเยอะๆ ยิ่งดูสวยงามคล้ายหิมะในฤดูแล้งอย่างไรอย่างนั้น บนเนินซึ่งเป็นที่ตั้งของเกิ้งตะขาบหมุดหมายที่ ๓ หัวหน้าเดียวรอจนพวกเราตามมาครบทั้งคณะจึงเริ่มอธิบายที่มาที่ไปของเกิ้งแห่งนี้

“ทำไมเรียกว่าเกิ้งตะขาบ เพราะว่าภาพเขียนสีรูปแรกที่เห็นคือ รูปตะขาบ นอกจากภาพตะขาบยังพบภาพตัวแลนหัวขาด ภาพฝ่ามือผู้ใหญ่ และภาพเครื่องหมายบวก”

ภาพตะขาบตัวโตเป็นที่มาของชื่อ “เกิ้งตะขาบ” ยังมีภาพแลนหัวขาด และภาพลายเส้นคล้ายมนุษย์ รวมถึงภาพเครื่องหมายบวกที่นักโบราณคดียังแปลรหัสไม่ออกว่าหมายถึงอะไร

ภาพตะขาบสีแดงขนาดใหญ่ชวนให้นึกถึงเรื่องราวมหัศจรรย์ในนวนิยายเพชรพระอุมา ตอนที่ แงซายเล่าว่า ‘…ยิ่งเข้าใกล้ถันพระอุมา ทุกสิ่งล้วนมีขนาดใหญ่โต แม้แต่ตะขาบก็ตัวเท่าขา…’ สันนิษฐานว่าภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ในแต่ละพื้นที่ของภาคอีสานน่าจะเขียนขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ปัจจุบันภาพเขียนสีเหล่านี้ยังไม่ได้รับการกำหนดอายุด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้น การกำหนดอายุจึงใช้วิธีการศึกษาเปรียบเทียบกับอายุของแหล่งโบราณคดีที่มีอายุมากที่สุดในภูมิภาค เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี แหล่งโบราณคดีโนนนกทา จังหวัดขอนแก่น ดังนั้นภาพเขียนสีผนังถ้ำในภาคอีสานจึงน่าจะมีอายุประมาณ ๓,๐๐๐-๖,๐๐๐ ปี ส่วนสีแดงที่ติดทนยาวนานนับพันปีนี้ ได้มาจากทั้งพืช แร่เฮมาไทต์ ไปจนถึงเลือด โดยผสมตัวประสานอย่างยางไม้หรือไขมันสัตว์

จุดที่พบภาพเขียนสีแหล่งที่ ๒ บริเวณเกิ้งขาม
“แมงมุมนุ่งซิ่น” มีพิษอ่อน ทำให้เกิดความเจ็บปวด

เมื่อลงจากเกิ้งตะขาบคราวนี้รถกระบะเจ้าถิ่นพาลุยถนนลูกรังดูบ้าง วิ่งเร็วมากไม่ได้ ไม่เช่นนั้นฝุ่นจากถนนคงได้ย้อมผมเราเป็นสีแดงกันทั้งทีม ก็เป็นโอกาสดีที่ทำให้เราได้เห็นนกชนิดต่างๆ ทั้งนกกระรางหัวหงอก นกจาบคา นกตบยุง และนกตะขาบทุ่ง นักท่องเที่ยวสายดูนกก็สามารถเพลิดเพลินกับที่นี่ได้ หมุดหมายต่อไปของพวกเราอยู่ที่ “เกิ้งขาม” ดังที่เคยเล่าไว้ในตอนต้นว่าพื้นที่ของวนอุทยานนั้นเว้าแหว่งดูคล้ายก้างปลา เพราะบางแห่งก็อยู่ใกล้กับที่ทำกินของชาวบ้าน ทันทีที่รถกระบะจอดนิ่งสนิทที่จุดจอดรถ พวกเราก็ถึงกับงงงันกันไปวูบใหญ่ เพราะไร่มันสำปะหลังอยู่ติดกับพื้นที่ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์จนน่าตกใจ

ลักษณะท่อนหิน ๒ ท่อน คล้ายท่อนขา ที่เทินหินใหญ่ไว้ข้างบนจึงเรียกที่นี่ว่า “เกิ้งขา” ก่อนจะเพี้ยนมาเป็น “เกิ้งขาม”

เดิมคำว่า “เกิ้งขาม” มาจากคำว่า “เกิ้งขา” ซึ่งที่มาของชื่อนั้นเห็นแวบเดียวก็ทราบถึงที่มาของชื่อ เพราะหินใหญ่ที่เบื้องหน้านั้นตั้งอยู่บนหินอีก ๒ ท่อน ที่มีลักษณะเหมือนกับขาคน สังเกตว่าแหล่งภาพเขียนสีเหล่านี้มักจะอยู่บนเนิน อาจจะเนื่องจากใช้เพิงหินเป็นที่พักอาศัย จึงต้องอยู่สูงสักหน่อยเพื่อให้ปลอดภัยจากทั้งน้ำท่วมและช่วยให้เห็นศัตรูได้จากระยะไกล

ภาพเขียนสีบริเวณเกิ้งขามมีทั้งภาพเรขาคณิต ภาพภาชนะดินเผา ภาพฝ่ามือเด็ก ภาพมนุษย์ และภาพเส้นเรขาคณิต ซึ่งสันนิษฐานว่ามีความเก่าแก่กว่าผาแต้มเพราะลายเส้นเป็นไปโดยเรียบง่าย ส่วนที่ผาแต้มนั้นมีการใส่ลายละเอียดอย่างมัดกล้ามเนื้อแล้ว

“จุดเด่นของเกิ้งขาม จะมีรูปวาดภาชนะลักษณะคล้ายหม้อบ้านเชียง มีรูปคล้ายกำไลมีตุ้ม มีรูปฝ่ามือเด็ก แล้วมีอยู่รูปหนึ่งครั้งแรกที่เราเห็น เราพูดติดตลกกันว่า เฮ่ย! นี่มันโรแมนติกนี่นา เป็นรูปเหมือนผู้ชายให้ดอกไม้ผู้หญิง” หัวหน้าเดี่ยวชี้ชวนให้พวกเราดูรูปโรแมนติกที่เธอปลื้ม แต่พวกเรากลับเห็นภาพคนแอบยืนเศร้าอยู่ข้างหลังด้วย คงมีเฉพาะทีมมือวางอันดับเจ็บสินะที่จะมองเห็น

หินพญานาคยังคงรอนักท่องเที่ยวสายมูอยู่ที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติผารักเดียว
เพิงหินที่มีชื่อเล่นว่า “กระท่อมฮอบบิท” ด้านบนมีเฟิร์นกระแตไม้รอให้ฝนตกก็จะกลับมาเขียวอีกครั้งหนึ่ง
“เมล็ดรักใหญ่” ลูกไม้ที่ดีอย่าตกใต้ต้นเพราะจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ควรจะไปตกไกลๆ ธรรมชาติจึงสร้างใบพัดให้มันได้มีโอกาสลอยไปโตที่อื่น 

พระอาทิตย์เคลื่อนมาตรงศีรษะพวกเรากินอาหารกลางวันกันง่ายๆ แบบข้าวป่า มีข้าวเหนียว ส้มตำ และลาบ เมื่ออิ่มท้องสมองก็พร้อมจะเรียนรู้ พวกเราลุยกันต่อในช่วงบ่ายที่ “เส้นทางศึกษาธรรมชาติผารักเดียว” เส้นทางการผจญครั้งนี้เริ่มต้นที่สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ หัวหน้าเดี่ยวเล่าว่าสระน้ำนี้ไม่เคยแห้งเลย ทั้งที่อยู่บนภูสูงและมีพื้นล่างเป็นหิน ด้วยความที่เป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์จึงมีการนำน้ำจากที่นี่ไปประกอบงานพระราชพิธีด้วย โดยข้อมูลทางธรณีวิทยาระบุว่าหินทรายจะเป็นหินที่มีรอยแยกเยอะ ทำให้มีการซับน้ำไว้ และไหลมาตามชั้นหิน ตรงไหนที่มีรอยแตกรอยแยกของหินน้ำก็จะไหลออกมาได้ จึงเป็นสาเหตุที่สระน้ำแห่งนี้ไม่เคยเหือดแห้ง

“ตามนวลมาค่ะ นวลจะพาไปชม เส้นทางศึกษาธรรมผารักเดียว”

บริเวณสระน้ำศักดิ์สิทธิ์เงียบสงบ เจ้านกตะขาบทุ่งสีฟ้าสดตัดกับใบต้นค้อสีส้มแดง เป็นสีสันอันละลานตาของป่า บรรยากาศเช่นนี้ชวนให้นึกถึงศาสตร์ด้านสุขภาพของญี่ปุ่นที่เรียกว่า “ชินรินโยกุ” (shinrin yoku) แปลความหมายได้ว่า “การอาบป่า” โดยมีหลักการว่า ความเครียด มลภาวะ ความเสื่อมของร่างกาย จะปล่อยประจุบวก ในทางการแพทย์คือพวกสารอนุมูลอิสระที่ไปทำลายเซลล์ ในขณะเดียวกันป่าจะปล่อยประจุลบออกมา ซึ่งเป็นพลังงานที่ดี ช่วยในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์ ศิลปินหลายๆ คนจึงมักจะเร้นกายไปอยู่ในป่า

“หินตั้งหม้อ” ได้ชื่อนี้เพราะตั้งอยู่บนก้อนหินสามเส้า

วิธีการในการอาบป่าก่อนอื่นเราต้องปิดโหมดเจี๊ยวจ๊าว เพื่อให้ประสาทสัมผัสทั้ง ๕ เปิดรับพลังบริสุทธิ์จากป่าได้อย่างเต็มที่

-ตา สังเกตดูรูปทรงใบไม้ พืชพรรณ สัตว์ป่าที่พบ ลองมองดูสีสันของป่ายามที่แสงแดดส่องผ่าน มันนุ่มนวลตาเพียงไร

-หู เมื่อเราเงียบ ลองเงี่ยหูฟังสรรพเสียงต่างๆ รอบตัว เสียงนก เสียงน้ำ เสียงลมพัด มันช่วยผ่อนคลายจิตใจอย่างไม่น่าเชื่อ

-สัมผัส ผิวสัมผัสของพืชพรรณในป่ามีความแตกต่างกัน เรียบ หยาบ นุ่ม มีขน มันวาว หรือเมื่อลองโอบกอดต้นไม้แล้วรู้สึกอย่างไร นักวิจัยด้านการอาบป่าบางคนยังแนะนำให้ลองสัมผัสดินดูด้วย

ชิมรส ลองชิมผลไม้ ใบไม้ เห็ด และผักป่าด้วยว่ารสชาติมีความหลากหลายอย่างไร

ดมกลิ่น หายใจช้าๆ สูดลมหายใจให้ลึกจะพบว่า ภายในป่านั้นมีกลิ่นที่หลากหลาย ทั้งกลิ่นดอกไม้ป่า กลิ่นน้ำมันหอมระเหยจากเปลือกไม้ หรือกลิ่นดินก่อนที่ฝนจะตก

เส้นทางน้ำโบราณที่ถูกพลังของกระแสน้ำกัดเซาะจนกลายเป็นช่องหิน
“ดอกเครือออน” เป็นพืชสมุนไพรใช้ใบหรือทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ เป็นยาขับปัสสาวะ รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ นิ่วในไต เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย หากนำใบหรือต้น ไปตำคั้นเอาน้ำทาเป็นยาบรรเทาอาการอักเสบจากตะขาบ แมงป่อง และแมลงมีพิษกัดต่อยได้

ประจุลบจะเข้าไปจับกับประจุไฟฟ้าขั้วบวก ทำให้ร่างกายมีภาวะเป็นกลาง แล้วหลั่งฮอร์โมน “ซีโรโทนิน” (serotonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสงบสุข ร่างกายและจิตใจรู้สึกถึงความกระปรี้กระเปร่า คลายความตึงเครียด ระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ จึงดีขึ้นตามมา หากเปรียบเทียบว่าการอาบน้ำคือการชำระกาย การอาบป่าก็คือการชำระสะสางระบบภูมิคุ้มกันดีๆ นี่เอง

“ลูกยางเหียง” สีสดใสเป็นพืชเด่นในป่าเต็งรัง

หลังจากชื่นชมใบไม้เปลี่ยนสีที่สระน้ำศักดิ์สิทธิ์พวกเราเตรียมตัวขึ้นเขากัน เจ้าหมาขนสีนวลของวนอุทยานวิ่งนำหน้าเหมือนจะช่วยเคลียร์เส้นทางให้ พร้อมกับคอยเหลียวมามองพวกเราเป็นระยะ คล้ายกับจะบอกว่า “ตามเลามาเลยนะนุด” พวกเราก้าวเท้ายาวๆ ตามผู้นำทางไป ร่มไม้และก้อนเมฆค่อนข้างเป็นใจ ช่วยให้การผจญภัยช่วงบ่ายไม่ถึงขั้นทะลุจุดเดือด

ถ้ำหลวงปู่นวล พระปฏิบัติสายพระอาจารย์มั่น

“ถ้าบึงกาฬมีถ้ำนาคา ภูหันเราก็มีหินพญานาคนี่แหละ” หัวหน้าเดี่ยวผายมือไปทางหินใหญ่อย่างภูมิใจนำเสนอ พวกเราแหงนมองความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่รังสรรค์หินแข็งๆ ให้ดูอ่อนช้อยเหมือนพญานาคแผ่พังพานด้วยความทึ่ง จากหินพญานาคพวกเราเดินไปตามทางน้ำโบราณ ช่องหินที่เกิดจากการถูกพลังของกระแสน้ำกัดเซาะดูน่าหวาดหวั่น หวังว่าพายุฤดูร้อนจะยังไม่ผ่านมาในวันนี้ เพราะเวลาเดินป่าสิ่งน่ากลัวที่สุดไม่ใช่เสือ สิงห์ กระทอง แรด แต่เป็นน้ำป่าที่กวาดกลืนทุกสรรพสิ่งในชั่วพริบตานี่เอง

เส้นทางค่อยๆ ชันขึ้นๆ พวกเราเหนี่ยวเถาวัลย์ชิงช้าชาลีขึ้นจุดสูงสุด แรงฉุดรั้งคงไปกระเทือนเถาเครือออน ดอกสีม่วงที่เป็นเหมือนความอ่อนหวานของป่าเต็งรังร่วงกราว เมื่อหลุดจากทางน้ำโบราณมาได้จึงพบเพิงถ้ำลักษณะเหมือนเกลียวคลื่นที่กำลังม้วนตัว ความเป็นเด็กที่ซุกซ่อนอยู่ร่างมนุษย์วัยกลางคนกระโดดโลดเต้นปรบมือเชียร์ “มุดเลยๆ”

ภาพเขียนสีแหล่งที่สาม ซึ่งสังเกตได้ยากและมีความเป็นนามธรรมสูง จากวนอุทยานจึงยังไม่ได้บุกเบิกเส้นทางสำหรับนักท่องเที่ยว
“หินเกลียวคลื่น” มีลักษณะคล้ายเกลียวคลื่นที่กำลังม้วนตัวสามารถทะลุไปออกอีกด้านได้

จากจุดแสงเล็กๆ ค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้น เมื่อหลุดออกมาได้เบื้องหน้าไม่ได้พบสัตว์หรือสิ่งมหัศจรรย์อย่างที่คิด เป็นเพียงทางเดินแคบๆ ใช้หินเรียงกำหนดเขตอย่างง่าย

แต่ก่อนที่จะเอ่ยปากถามว่าพระอาจารย์ท่านใดปลีกวิเวกมาปฏิบัติธรรมที่นี่ หัวหน้าเดี่ยวได้เดินนำพวกเราเข้าไปกราบพระพุทธรูปใต้เพิงหินใกล้ๆ ตามประวัติเพิงหินนี้เป็นที่ปฏิบัติธรรมของหลวงปู่นวล ซึ่งเป็นพระปฏิบัติในสายพระอาจารย์มั่น แม้ปัจจุบันท่านจะมรณภาพไปแล้ว แต่ชาววนอุทยานยังผลัดเปลี่ยนกันมาทำความสะอาดอยู่ไม่ขาด

จากถ้ำหลวงปู่นวลไปไม่ไกลมีภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์อีกแหล่ง แต่ยังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม เนื่องจากเป็นรูปที่มีความเป็นนามธรรมในระดับสูง สังเกตได้ค่อนข้างยาก ทั้งยังต้องอาศัยกำลังคนในการบุกเบิกเส้นทาง ทางวนอุทยานจึงเก็บไว้ก่อน

“จุดชมวิวผารักเดียว” เนื่องจากซึ่งบนลานหินมีต้นรักที่เป็นไม้ยืนต้นเพียงต้นเดียว

จากแหล่งภาพเขียนสีแห่งที่ ๓ พวกเราเร่งฝีเท้าผ่านป่าเอเลี่ยน เป็นชื่อเล่นที่หัวหน้าเดี่ยวตั้งให้กับป่าแปลกปลอมนี้ ซึ่งเป็นพรรณไม้ต่างถิ่นที่ปลูกตามโครงการสวนป่าเศรษฐกิจ ที่สุดเขตป่าเอเลี่ยนพวกเราเจอเข้ากับกำแพงหินทราย เมื่อไต่บันไดลิงขึ้นไปพวกเราก็มาถึง “ผารักเดียวแล้ว” บนลานหินทรายเราพบลักษณะรอยแตกที่พิเศษมาก เป็นแนวยาวตรงดิ่งทีเดียว รอยหินแตกนี้เป็นปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาอย่างหนึ่ง เกิดจากการที่มีแรงบีบอัดหินทรายมาจากทุกทิศทาง รอยแตกจะเกิดในระนาบที่ตั้งฉากกับแนวแรงที่กระทำสูงสุด นอกจากหินแตกยังพบหินปุ่มๆ ปมๆ ที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำด้วย จากจุดชมวิวผารักเดียวทอดสายตามองไกลออกไปเห็นภูเม็งซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดชัยภูมิ อุทยานแห่งชาติน้ำพอง และช่องเขาขาดของอำเภอโคกโพธิ์ชัย หากไม่มีหมอกควันจากไฟป่า ที่จุดชมวิวพระอาทิตย์ตกนี้คงสวยงามเหนือคำบรรยาย

“ระบบรอยแตก” (joint set) คือ รอยหินแตกที่เกิดจากแรงบีบอัดจากหลายด้าน โดยรอยแตกจะเกิดในระนาบตั้งฉากกับแรงที่มากระทำสูงสุด
ทีมนำเที่ยววนอุทยานและนักท่องเที่ยวคู่แม่ลูกขาลุย

“อ๋อ ผารักเดียว หมายถึง ต้นรักใหญ่ที่มีอยู่ต้นเดียวริมผานี่แหละค่ะ” หัวหน้าเดี่ยวเฉลยด้วยเสียงหัวเราะ พวกเราถึงกับครางอ๋อยเพราะคิดว่ามีที่มาจากเรื่องเล่าโรแมนติกเสียอีก จากผารักเดียวพวกเราค่อยๆ ไต่เนินลงมายังพื้นราบ ข้ามผ่านลานหมาจอก ซึ่งไม่รู้ว่าป่านนี้ไปหลบร้อนอยู่ที่ไหน เส้นทางศึกษาธรรมพาเรามาถึงปลายทางที่สำนักงานวนอุทยานนี่เอง

หากถามว่าความสนุกของการดูภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์อยู่ที่ไหน คงอยู่การพยายามคาดเดาความหมายว่าคนในยุคถ้ำนั้นเขาพยายามที่จะสื่อสารอะไรกระมัง

ใครที่ชื่นชอบเส้นทางการผจญภัยในระดับประถม และใช้เวลาท่องเที่ยวเพียง ๑ วัน วนอุทยานภูหัน-ภูระงำเป็นตัวเลือกที่ไม่ผิดหวังแน่นอน ผู้สนใจเข้าชมสามารถติดต่อนัดหมายเจ้าหน้าที่นำทางได้ทางเพจวนอุทยานภูหัน-ภูระงำ และหมายเลขโทรศัพท์. ๐๙-๕๙๒๕-๙๒๔๔ แล้วจะพบว่า อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ไม่ได้มีดีแค่ผ้าไหมมัดหมี่เด้อ

About the Author

Share:
Tags: เมษายน 2567 / ฉบับที่ 73 / อุทยานภูหัน-ภูระงำ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ