Thursday, May 9, 2024
ภูมิปัญญาไทย เที่ยวไปรักษ์ไป ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

กลับบ้านไปสร้างสิม

เรื่อง: นัทธ์หทัย วนาเฉลิม
ภาพ : นัทธ์หทัย วนาเฉลิม

 ภาพเรื่องราวอดีตพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ในภัทรกัปป์และแม่บุญธรรม

หากพูดถึง “การกลับบ้านเกิด” หลายคนคงนึกเห็นภาพการกลับไปทำงานในเรือกสวนไร่นา หรือ การกลับไปเปิด โฮมสเตย์มีร้านกาแฟเก๋ๆ แต่สำหรับ “วีรยุทธ ไมตรี” เขาเลือกกลับเกิดเพื่อไปสร้าง “สิม!” 

สิมในภาษาอีสานหมายถึงโบสถ์ แต่มีความแตกต่างจากของภาคกลางคือมีขนาดเล็กและเตี้ยแจ้ วีรยุทธหรือพี่บอลของน้องๆ “ชาวสินกำ” เป็นศิษย์เก่าภาควิชาศิลปไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นคนหนุ่มที่ใฝ่ใจในงานพุทธศิลป์พื้นบ้าน 

สิมบ้านวังไฮ สร้างอย่างขนบศิลปล้านช้าง ปัจจุบันแล้วเสร็จไปกว่า ๗๐ เปอร์เซนต์
. บรรยายกาศยามเช้าริมวังไฮ อันเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน

วัดบ้านวังไฮ ที่วีรยุทธเห็นมาตั้งแต่เกิดนั้นสร้างขึ้นประมาณพุทธศักราช ๒๔๕๐ ภายในวัดมีกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ อาคารอเนกประสงค์ และหากมองแล้วยังขาดก็แต่สิมและหอไตร ทำให้แม้จะเป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้านแต่เวลาจะมีงานบวชต้องไปบวชกันที่อื่น เนื่องจากยังไม่สิมที่ใช้ในการทำสังฆกรรม 

ด้วยวัยสามสิบต้นๆ ของนายช่าง ทำให้ฉันครุ่นคิดอยู่ตลอดการเดินทางว่าสิมที่สร้างโดยคนรุ่นใหม่จะออกมาหน้าตาแบบไหนกันนะ จนกระทั่งมาถึงหมู่บ้านวังไฮ ตำบลคำเตย จังหวัดนครพนม เอาตอนเย็นย่ำ ที่พักคืนนี้คือลานกางเต็นท์ริมน้ำของหมู่บ้านวังไฮนี่เอง 

ที่หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านเข้มแข็ง แม้หมู่บ้านจะมีลักษณะพื้นที่แบบถุงเงิน คือมีทางเข้าออกทางเดียวอยู่แล้ว แต่ที่ปากทางเข้าออกของหมู่บ้านยังมีอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยถึง ๓ ชั้น และที่ลานกางเต็นท์ยังมีเวรยามมาคอยระแวดระวังสร้างความอุ่นใจให้พวกเราอีกชั้นหนึ่ง ทำให้คืนนั้นฉันหลับสบายโดยไร้กังวล

วีรยุทธ ไมตรี นำน้องๆ นิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร สาขาวิชาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ชมกระบวนการในการสร้างสิมอย่างโบราณ

เสียงไก่ขันและเสียงกระดึงที่คอฝูงควายเป็นเสียงนาฬิกาปลุกอันอ่อนโยน แสงยามเช้าช่วยนวดดวงตาให้รู้สึกสงบและผ่อนคลาย หอมกลิ่นข้าวเหนียวนึ่งใหม่ๆ โชยมาจากเรือนแต่ละหลัง ความรู้สึกว่าได้กลับบ้านคงหมายรวมถึงบรรยากาศเหล่านี้ด้วยกระมัง

วีรยุทธนัดฉันไว้ในช่วงเช้าตรู่เพื่อร่วมถวายต้นดอกผึ้งและผ้าห่มให้แก่หลวงพ่อเจ้าอาวาส พร้อมๆ กับชาวบ้านที่มาถวายจังหันเช้า หลังท่วงทำนองสรภัญญะในสำเนียงพื้นบ้านจบลงและทุกคนกรวดน้ำเรียบร้อยดีแล้ว ศาสนพิธีในยามเช้าก็เสร็จสิ้นลง วีรยุทธเดินนำฉันไปยังสิมที่เขากำลังสร้าง

“พื้นที่สร้างสิมเดิมเป็นสวนมะม่วงครับ แล้ววัดก็ยังไม่มีสิม ผมก็มาคิดว่าผมเรียนจบศิลปะไทยมา จะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง โดยเฉพาะกับบ้านเกิด ก็เลยเกิดเป็นเมกกะโปรเจกต์สร้างสิมขึ้นมา” นายช่างหนุ่มเดินไปคุยไป

ศาสนคารที่เบื้องหน้านี้เหนือความคาดหมายของฉันมาก จากที่ลุ้นอยู่ในใจว่าคนหนุ่มจะสร้างสิมออกมาเป็นแบบไหนกันนะ คำตอบอยู่ที่เบื้องหน้านี่เอง มันไม่ใช่ทั้งสไตล์โมเดิร์นที่ลดทอนลายละเอียดฟุ้งเฟ้ออย่างสิมวัดกลาง จังหวัดอุบลราชธานี และ ไม่ใช่ทั้งแบบล้ำยุคอย่างโบสถ์วัดศาลาลอย จังหวัดนครราชสีมา แต่เป็นไปอย่างขนบล้านช้างโบราณไม่ผิดเพี้ยน ตามที่แต่เดิมภาคอีสานเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้างมาก่อน

หากใครเข้าใจว่าการอนุรักษ์เป็นการเก็บรักษาเท่านั้นล่ะก็ ต้องขอบอกว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกเพียงส่วนเดียว การอนุรักษ์ไม่เพียงแต่เรื่องการจัดเก็บอย่างถูกวิธี ยังกอรปไปด้วยการซ่อมแซมบูรณะ การให้ความรู้ความเข้าใจ และรวมถึงการรับแรงบันดาลใจมาเป็นแบบอย่างในการสร้าง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้จักหน้าตาแห่งอดีตกาลด้วย บัดนี้สิมที่เบื้องหน้าของฉันไม่เพียงสร้างตามอย่างขนบล้านช้าง แต่ยังงดงามอย่างน่าประทับใจ ส่วนพวกสัตว์หิมพานต์ที่ทำหน้าที่พิทักษ์สิมก็น่าเอ็นดูไม่น้อย

“สิมหลังนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสิมหลายๆ วัดครับ อย่างวัดมโนภิรมย์ จังหวัดมุกดาหาร วัดโบราณในแถบอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม วัดบ้านประตูชัย จังหวัดร้อยเอ็ด และ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร” วีรยุทธกางแฟ้มภาพร่างองค์ประกอบต่างๆ ของสิม พลางเล่าต่อว่า

“สิมหลังนี้ผมสร้างคนเดียวไม่ได้ต้องปรึกษาสถาปนิกด้วย ส่วนเรื่องงานไม้สลัก ผมใช้ช่างท้องถิ่นจากสกลนคร แต่ด้วยความที่ใช้ช่างท้องถิ่นเวลาวาดแบบผมเลยต้องวาดเท่าขนาดจริง ไม่อย่างนั้นจะมีความผิดพลาดได้”

แปลนการสร้างสิมส่วนหน้าที่วีรยุทธร่างไว้
คันทวยหรือแขนนางแบบปีกบ่างที่วีรยุทธออกแบบ

ไม่เพียงแต่ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ วีรยุทธ์ยังผ่านการลองผิดลองถูกด้วยตนเองอีกด้วย เป็นต้นว่าการใช้ปูนฉาบ ตอนแรกเขาได้ทดลองใช้ปูนทั่วๆ ไป แต่ปรากฏว่าไม่นานสีที่ใช้ก็แตกร่อนออกมาหมด จึงเปลี่ยนมาใช้ปูนสำหรับจิตรกรรมโดยเฉพาะ สีก็ไม่หลุดร่อนอีก

เราเดินลอดนั่งร้านและซุ้มประตูโขงเข้าไปภายในสิม “ว้าว!” ฉันตะลึง ไม่อาจกล่าวคำอื่นออกมาได้เลยเมื่อเห็นว่าภายในศาสนคารนั้นมีฮูปแต้ม (ภาพจิตรกรรมอย่างพื้นบ้านอีสาน) ที่นายช่างหนุ่มวาดไว้จนเต็มฝาผนังทั้ง ๔ ด้าน บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตชาวบ้านวังไฮ ภาพขบวนฟ้อนนกยูงเล่าถึงตำนานที่พระอินทร์มาบูชาพระธาตุพนม เรื่องราวพระเจ้า ๕ พระองค์ ตำนานพญานาคแห่งหนองแส ภาพนรก สวรรค์ และที่น่ารักคือวีรยุทธ์ได้บันทึกภาพ “เจ้าชิฟฟ่อน” สุนัขคู่บุญ และ “เจ้าคำเกิ้ม” สุนัขไซบีเรียน ฮัสกี้หน้ากวนของเขาไว้ในฮูปแต้มด้วย

“เวลาที่มีแขกมาเยือน ผมก็จะให้เขาร่วมวาดรูปดอกบัวแทรกไว้ในภาพด้วยเป็นการร่วมบุญกัน ตามความเชื่อว่าถ้าใครได้แต้มฮูปให้กับสิมจะได้ไปเกิดในยุคพระศรีอริยเมตไตรย” นายช่างชี้ให้ดูภาพดอกบัวหลากสีสันที่แทรกอยู่ในภาพหลัก ซึ่งผู้วาดมีทั้งชายและหญิง

ภาพวิธีชีวิตของชาวบ้านที่มีเจ้าคำเกิ้มสุนัขพันธุ์ไซบีเรียนฮัสกี้ของวีรยุทธแทรกอยู่ด้วย
ไอรัตน์ดา มหาชัย” ศิลปินชาวสกลนครแวะมาเยี่ยมเยียนสิมใหม่ และฝากลายเส้นเอาไว้
พื้นที่ว่างเพื่อเตรียมวาดภาพประเพณีฟ้อนนกยูงในงานบวงสรวงสักการะพระธาตุพนม

ปกติแล้วภายในสิมอีสานจะไม่ให้ผู้หญิงเข้า แต่บังเอิญเจ้าศรัทธาผู้บริจาคทุนทรัพย์นั้นเป็นผู้หญิง จึงได้ขอไว้ว่าให้เป็น สิมที่ผู้หญิงสามารถเข้าได้ คณะผู้ดำเนินการจึงไม่ได้ใส่เครื่องรางของขลังใดๆ ไว้ใต้พื้นอย่างธรรมเนียมปฏิบัติ

สิมหลังนี้มีการสร้างขนบโบราณทีเดียวคือหลังจากชั้นปูนฉาบแห้งดีแล้ว ต้องมีการไล่เกลือที่ปนอยู่ในปูนออกเสียก่อนโดยใช้น้ำต้มใบขี้เหล็กประสะผนังทิ้งไว้ ๗ วัน ทดสอบโดยใช้ขมิ้นขีดดู หากขีดออกมาแล้วเป็นสีแดง ก็ยังต้องประสะผนังต่อไปอีก แต่หากขีดดูแล้วเป็นสีเหลืองก็แปลว่าใช้ได้แล้ว

ขั้นตอนต่อไปคือทากาวเม็ดมะขาม ๒ ชั้น และกาวเม็ดมะขามผสมดินสอพองอีก ๒ ชั้น แล้วจึงทาทับด้วยกาวเม็ดมะขามอีกชั้น เป็นอันว่าการเตรียมรองพื้นสำหรับชั้นเขียนสีนั้นเรียบร้อย พร้อมสำหรับการแต้มฮูป (วาดรูป) แล้ว และเพื่อแสดงถึงการใช้ของที่มีในชุมชน นายช่างจึงได้ปรุงสีที่ใช้ในการแต้มจากดินและหินในหมู่บ้านจะมีก็เพียงสีน้ำเงินบริสุทธิ์ที่ไม่สามารถปรุงขึ้นได้จากวัสดุในท้องถิ่น เนื่องจากต้นครามนั้นให้สีน้ำเงินตุ่นๆ เห็นสิมมีความคืบหน้าไปกว่า ๗๐ เปอร์เซนต์ แบบนี้ แต่ทุกจุดเริ่มต้นย่อมมีอุปสรรคเสมอ แม้จะเป็นงานบุญก็ไม่ข้อยกเว้น

“อุปสรรคคือ ‘ความคิดคน’ นี่ล่ะครับเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ 

สำคัญที่สุดคือชาวบ้านบางคนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำแบบโบราณ ทำไมไม่ทำแบบสมัยใหม่ บางคนก็ปรามาสว่าเราไม่เอาจริง หรือบางคนนำไปพูดแบบเสียหายก็มี 

“ผมก็พยายามทำให้เขาเห็นว่าเราทำจริงจัง รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วม อย่างพระประธานในโบสถ์ ‘หลวงพ่อพระพุทธเจ้าองค์หลวงแสนบวรแมนมิ่งไทวัง’ ซึ่งเป็นพุทธศิลป์อย่างล้านช้างผมก็ชักชวนให้ชาวบ้านร่วมใจกันหล่อขึ้นมาจากสำริด เดี๋ยวนี้ชาวบ้านก็จะเอาดอกไม้มาปลูกรอบๆ สิมกันเอง หรือบางคนก็เอาเม็ดมะขามมาให้กวนกาวด้วย” นายช่างหนุ่มยิ้มดวงตาฉายแววภาคภูมิ

โบราณสถานและภูมิปัญญาหาใช่เพียงกองถ่านที่มอดดับไปแล้ว ไออุ่นที่เหลือของมันยังคงรอให้เราเอื้อมมือเข้าไปอังเพื่อถ่ายเทความอบอุ่น เหมือนดังนายช่างวีรยุทธ์ที่ศึกษาและสานต่อภูมิปัญญาของบรรพบุรุษออกมาได้อย่างงดงาม หลังจากที่สิมหลังนี้เสร็จเรียบร้อย เป้าหมายต่อไปของวีรยุทธคือสร้างหอไตร ซึ่งยังเป็นองค์ประกอบที่วัดยังขาดอยู่ เมื่อถึงเวลาที่ศาสนคารแต่ละหลังเสร็จสมบูรณ์ 

ก็หมายใจว่าวัดบ้านวังไฮจะได้เป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดพระศาสนาตราบสิ้น ๕,๐๐๐ วัสสา

นื่องจากเจ้าศรัทธาผู้บริจาคปัจจัยในการสร้างเป็นผู้หญิง จึงขอให้เป็นสิมที่ผู้หญิงเข้าได้ แขกผู้มาเยือนจึงสามารถร่วมแต้มดอกบัวเล็กๆ ไว้บนผนังสิมได้ตามความเชื่อของชาวอีสานว่า ผู้ที่ได้แต้มฮูปประดับสิมจะได้อานิสงส์ไปเกิดในยุคพระศรีอาริยเมตไตรย

About the Author

Share:
Tags: วัด / สิม / ท่องเที่ยวอีสาน / วัดบ้านวังไฮ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ