Sunday, May 19, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป สัมภาษณ์ บทความแนะนำ

รถไฟคือชีวิต ของ วันวิสข์ เนียมปาน

จากที่มีคนมองเขาเป็นเด็กแปลก ส่งผลให้ความตื่นเต้นและชื่นชอบรถไฟต้องหยุดชะงัก ไม่กล้าแสดงออกให้คนภายนอกรู้ ยกเว้นแต่คนในครอบครัวที่รู้ว่าเขาหลงใหและหลงรักรถไฟมากขนาดไหน “พอมองย้อนกลับไปมันส่งผลเลย คือบางคนอาจเรียกเราเป็นเด็กมีพรสวรรค์ก็ได้ แต่สภาพแวดทำให้เราถูกมองว่าเราเป็นเด็กไม่เหมือนคนอื่น เราเลยกดความชอบของตัวเองเอาไว้ พอเวลาขึ้นรถไฟกับคนอื่นเราจะนั่งนิ่ง มองออกไปข้างนอกเฉยๆ ไม่แสดงอาการตื่นเต้น จะแสดงอาการเฉพาะเมื่ออยู่กับครอบครัว เพราะรู้สึกว่าเป็นเซฟโซนของเรา

“จนกระทั่งผ่านไปหลายปี ตอนนั้นน่าจะอยู่ม. ๓ บังเอิญไปเจอพี่ที่เป็นพนักงานรถไฟคนหนึ่งตอนที่เรานั่งรถไฟ เขาคงจับสังเกตได้ว่าเราน่าจะชอบรถไฟมาก เลยเข้ามาคุย ทำให้เหมือนเราเจอคนที่เราไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิต คนที่รู้เรื่องรถไฟ คนที่ทำงานรถไฟ เลยคุยกับเขามากมาย จนเขาบอกถ้าสนใจจริงเดี๋ยวจะเอาหนังสือเล่มหนึ่งให้ และไม่นานหลังจากนั้นเขาก็ส่งมาให้จริงๆ เป็นสมุดกำหนดเวลาเดินรถไฟสายเหนือ

เป็นเล่มที่เปิดโลกเรามาก เพราะทำให้รู้ว่ารถไฟขบวนไหนจอดสถานีอะไรบ้าง เวลากี่โมง ทำให้เราตื่นเต้นที่ได้รู้ว่ามีขบวนนี้จอดสถานนี้ด้วยเหรอ แล้วผมเป็นเด็กที่จำชื่อสถานีรถไฟได้ตั้งแต่ชั้นประถม ทุกสถานีจากกรุงเทพถึงเชียงใหม่คือสามารถท่องได้หมด เรียงลำดับได้เลย เราไปจดมาจากสถานีตรงบ้านคุณยายที่จะมีชาร์จราคา เราก็แล้วท่องจำ สายเหนือจะจำได้หมด แต่สายใต้ไม่มีโอกาสได้รู้เพราะว่าจะมีติดไว้ที่สายใต้เท่านั้น

“ผมจะมีสมุดเล่มหนึ่งที่เอาไว้วาดรูปรถไฟ ไว้วาดแผนที่ที่เราจำได้ คือตอนนั้นก็คิดว่าคงถึงเวลาแล้วที่เราต้องทำความรู้จักรถไฟ แต่ก็ยังไม่ค่อยกล้าอยู่ดี จนวันหนึ่งได้ดูรายการแฟนพันธุ์แท้ มีตอนรถไฟไทย จำได้เลย ปี ๒๐๐๓ ผมอยู่ม.๔ ก็บอกตัวเองว่าเราต้องออกจากเซฟโซน เพราะรู้แล้วว่ามีคนที่ชอบเหมือนเรา ก็พยามไปทำความรู้จักเขา ซึ่งเพื่อนที่คบกันมาคนแรกๆ ปัจจุบันก็เป็นเพื่อนสนิท ก็เป็นเพื่อนที่เจอกันเพราะรถไฟ”  

มีรถไฟเป็นห้องทำงาน

ทั้งความชอบและการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับรถไฟ การได้รู้ว่าเขารักทุกอย่างเกี่ยวกับรถไฟ และอยากจะทำงานเกี่ยวกับรถไฟด้วย สิ่งเหล่านี้บ่มเพาะให้แฮมสานฝันจนเติบโตมาได้ทำงานเกี่ยวกับรถไฟในที่สุด ปัจจุบันเขาทำงานในตำแหน่ง หัวหน้าหมวดวิเทศสัมพันธ์เจ้าหน้าที่วิเทศน์สัมพันธ์ กองการต่างประเทศสำนักงานผู้ว่าการ…การรถไฟแห่งประเทศไทย และเขายังเปิดเพจ นั่งรถไฟไทยกับนายแฮมมึน…เล่าเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับรถไฟ ให้คนอ่านสัมผัสได้ถึงความสนุก ความสุข ของการเดินทางโดยรถไฟ เพื่อให้คนทั่วไปได้รับรู้ถึงสิ่งต่างๆ เกี่ยวกับรถไฟที่ยังไม่ค่อยมีใครรู้มากขึ้น

“ผมจะชอบเล่าเรื่องรถไฟลงในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กให้คนอ่าน เพราะผมมองว่าคนยังรู้จักรถไฟน้อยมาก เลยอยากทำยังไงก็ได้ให้คนรู้จักมากขึ้น สิ่งที่คนมักพูดเกี่ยวกับรถไฟแบบขำๆ แต่คนเชื่อว่าเป็นเรื่องจริงก็อย่างเช่น รถไฟแล่นช้า…ความจริงความเร็วของรถไฟไวกว่ารถยนต์ แต่เหมือนช้าเพราะต้องจอดหลายสถานี หรือรถไฟเก่ามากเพราะใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ นี่ก็ไม่จริง มีการปรับเปลี่ยนตลอด และรถไฟที่ใช้ในปัจจุบันเป็นรถไฟสมัยรัชกาลที่ ๙ ซึ่งก็มีการพัฒนาขึ้นมามากจากแต่ก่อน

“ยังมีอีกหลาอย่างที่คนเข้าใจผิด แต่ผมก็เข้าใจว่าเขาไม่รู้ระบบ เช่น บางคนก็พูดว่า ทำไมไม่สร้างอย่างนั้น ทำไมไม่ทำอย่างนี้ อย่างเรื่องรถไฟความเร็วสูง ผมก็พยายามอธิบายในเรื่องหลักการ วิชาการ ซึ่งก็มีทั้งคนที่เข้าใจ และไม่เข้าใจ ผมก็จะบอกว่าถ้าอย่างนั้นพี่ลองไปเล่นเกมส์ซิตี้ สกายไลน์ เป็นเกมส์ที่จะทำให้เราเข้าใจระบบการขนส่งมากขึ้นเพราะเป็นเกมส์สร้างเมืองที่คนเล่นต้องวางแผนระบบคมนาคม วางถนน วางผังเมือง และอีกเกมส์คือ ทรานสปอต ฟีเวอร์ เป็นการวางระบบขนส่งมวลชนให้ลิงค์กัน ทีนี้จะวัดกึ๊นเลยว่าใครที่สามารถแก้ปัญหาระบบขนส่งได้ดีแค่ไหน เพราะถ้าวางแผนผิด ระบบผิด รถไฟเส้นนั้นจะขาดทุนเลย นี่คือเกมส์ที่อยากให้หลายคนเล่นมาก เขาจะได้เข้าใจว่าการวางแผนขนส่งมวลชนไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”

รถไฟกำเนิดขึ้นในประเทศไทยครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงโปรดให้สร้างทางรถไฟขึ้น ตอนนั้นก็อาจด้วยหลายเหตุผล อย่างหนึ่งก็เพื่อไม่ใช้ชาวต่างชาติเห็นว่าเมืองไทยยังล้าหลังในเรื่องสาธารณูปโภค การมีรถไฟในสมัยนั้น ช่วยเชื่อมต่อการเดินทาง วิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และเกื้อหนุนอาชีพให้คนต่างที่ต่างถิ่นได้เช่นไร ในปัจจุบันก็เฉกเช่นเดียวกัน ทว่าในยุคที่เทคโนโลยีเคลื่อนตัวเร็วขึ้นไปอีกหลายเท่า แต่ภาพของรถไฟไทย ที่ยังคงแล่นฉึกฉัก ก็เลยทำให้มีคนยังมองว่ารถไฟไทยยังแล่นช้าอยู่เหมือนเดิม ทว่าสำหรับคนที่มีรถไฟอยู่ในสายตามาโดยตลอด เขาจึงมองเห็นรถไฟในอีกมุมที่หลายคนอาจไม่เห็น

“จริงๆ รถไฟมีพัฒนาการขึ้นนะ ผมว่า ตลอดสามสิบกว่าปีที่ผมได้เห็นรถไฟ มีการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง ทั้งเรื่องที่ดีขึ้น เช่น ผมว่าตอนนี้เรื่องความสะอาดดีขึ้น ความตรงต่อเวลาดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน และมีรถใหม่ๆ มากขึ้น สถานีมีความเป็นสัดเป็นส่วนมากขึ้น การบริการก็ดีขึ้น แต่บางอย่างที่ผมมองว่าไม่ดีนักก็คือการสื่อสาร ผมว่าการสื่อสารของรถไฟที่ส่งไปยังประชาชนภายนอก ยังรู้ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะถ้าการสื่อสารของการรถไฟดี ในระดับที่เราคิดว่าดี ประชาชนต้องรู้แล้วว่า เรามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ประชาชนต้องรู้แล้วว่าเรามีโปรดักต์อะไรใหม่ๆ บ้าง ประชาชนจะเห็นภาพรถไฟในแบบที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นนี้มากกว่าภาพรถไฟชั้นสามที่ติดอยู่ในภาพจำมาตลอด

“ส่วนอีกเรื่องก็คือ เรื่องการตลาด รถไฟยังตามผู้บริโภคที่ใช้งานในปัจจุบันไม่ค่อยทัน เพราะผู้บริโภคนำไปแล้ว ก็คือเรื่องการจองตั๋วทางอินเทอร์เน็ต ที่ทุกอย่างมีไปนานแล้ว ทั้งรถบัส เครื่องบิน แต่รถไฟเพิ่งมี แต่นี่ก็คือสิ่งที่ค่อยๆ เปลี่ยน เพราะถึงอย่างไร รถไฟก็เป็นของภาครัฐ ไม่ใช่เอกชน ซึ่งถ้าเป็นเอกชน การเข้าถึงรถไฟก็จะลำบากกว่านี้ เพราะตอนนี้ค่ารถไฟถูกสุดคือ ๒ บาท ยังมีราคานี้อยู่ เป็นรถไฟชั้นสาม และถ้าเป็นรถไฟตู้นอนชั้นหนึ่งราคาสองพันหกร้อยบาท คือช่วงระยะห่างของราคารถไฟถือว่าสูงมาก แต่เท่ากับว่า ทำให้คนทุกระดับสามารถใช้บริการรถไฟได้หมด อยู่ที่ว่าคุณมีกำลังจ่ายมากขนาดไหน คือทุกคนมีโอกาสเดินทางด้วยรถไฟทุกคน ต่างกับการเดินทางแบบอื่นที่อาจมีบางคนยังเข้าไม่ถึงได้”

About the Author

Share:
Tags: สิ่งแวดล้อม / รถไฟ / วันวิสข์ เนียมปาน /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ