Monday, May 20, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

หนังใหญ่ มหรสพแห่งแสง

เรื่อง: ชาธร โชคภัทระ
ภาพ: ชาธร โชคภัทระ, สุเทพ ช่วยปัญญา

“ไปดูหนังกัน” ถ้ามีเพื่อนชวนเราด้วยคำพูดนี้ ปัจจุบันก็อาจหมายถึงการไปดูภาพยนตร์ในโรงหนัง ดูทางโทรทัศน์หรือดูในแท็บเล็ตส่วนตัว แต่เชื่อหรือไม่ว่า คำว่า “ดูหนัง” เป็นคำโบราณที่ย้อนไปได้ถึงสมัยสุโขทัยและอยุธยาเลยทีเดียว เพราะ “หนัง” ในที่นี้หมายถึง “หนังใหญ่”ซึ่งเป็นมหรสพโบราณชั้นสูงแขนงหนึ่ง ที่ช่วยสร้างความบันเทิงให้คนโบราณ ในยุคที่บ้านเมืองยังไม่มีไฟฟ้าใช้และยังไม่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเฉกเช่นปัจจุบัน คำว่าดูหนังจึงพูดกันติดปากมาในสังคมไทย ขณะที่การแสดง “หนังใหญ่”และการผลิต “ตัวหนัง” ค่อยๆ ลดน้อยถอยลง มหรสพแห่งแสงอันยิ่งใหญ่งดงามแขนงนี้จึงหาดูได้ยากยิ่ง

ก่อกำเนิด เกิดหนังใหญ่

หนังใหญ่เป็นมหรสพโบราณ กล่าวกันว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ทว่าหลักฐานชัดเจนปรากฏครั้งแรกในยุคกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) และมีบันทึกไว้ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หนังใหญ่จึงได้รับการยกย่องว่าเป็น “มหรสพชั้นสูง” มักจัดขึ้นในงานพระราชพิธี ซึ่งยุคนั้นคนทั่วไปไม่มีสิทธิ์ชม เช่น พิธีอภิเษกของกษัตริย์และเจ้านาย พระราชพิธีเกี่ยวกับความตาย และการแสดงในงานสมโภชต่างๆ เนื้อเรื่องที่แสดงมักเกี่ยวกับกษัตริย์และวีรกรรม เช่น มหาภารตะและรามเกียรติ์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกหนังใหญ่ว่า “หนัง” ภายหลังได้มีการยุบกรมโขนและกรมมหรสพ หลังสมัยรัชกาลที่ ๗ หนังใหญ่จึงไปอยู่ใต้อุปถัมภ์ของวัดต่างๆ จึงเรียกหนังใหญ่ในสมัยนี้ว่า “หนังราษฎร์”

ชื่อ “หนังใหญ่” มีที่มาจากแผ่นหนังวัวหรือหนังควายที่ใช้ทำตัวหนัง ขนาดตั้งแต่ ๑.๕-๑.๘ เมตร ขณะทำการแสดงเชิดหนังใหญ่ต้องปลูก “โรงหนัง” โดยขึงจอผ้าขาวสี่เหลี่ยม ล้อมด้วยกรอบสีแดงเพื่อให้ผู้ชมเห็นชัด หนังใหญ่ก็คล้ายหนังตะลุงของภาคใต้ คือเวลาแสดงต้องใช้แสงไฟส่องทะลุผ่านด้านหลัง ยุคโบราณใช้จุดไฟกะลามะพร้าวให้เกิดแสงนวลสีเหลืองสีส้ม ดูสบายตา แต่ปัจจุบันใช้หลอดไฟฟ้าแทนตามความสะดวก ขณะทำการเชิดหนังใหญ่ผู้เชิดต้องทำท่าที่เข้าจังหวะกับเสียงดนตรีปี่พาทย์ รวมถึงสอดคล้องกับบทพากย์บทเจรจา จึงถือได้ว่าหนังใหญ่คือต้นกำเนิดของการแสดงโขน อย่างไรก็ตาม มีจารีตบางอย่างที่สืบทอดกันมา เช่น ห้ามผู้หญิงเชิด เมื่อกำหนดเขตปักเสาจอโรงเชิดแล้ว ห้ามผู้หญิงเข้าเด็ดขาด และในการตอกสลักลายตัวหนัง ห้ามคนตอกนั่งทับแผ่นหนัง ครูท่านว่าหนังจะกินคน เป็นต้น

หนังใหญ่แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ หนังกลางคืน และหนังกลางวัน โดย “หนังกลางคืน” ใช้ทำการแสดงช่วงอาทิตย์ตกดินไปแล้ว นิยมทาสีดำและขาวเป็นหลัก ส่วน “หนังกลางวัน” ใช้แสดงได้ทั้งกลางวันและกลางคืน จะทาสีสดใส ทั้งสีแดง เขียว น้ำเงิน เหลือง และมีติดแผ่นทองคำเปลวเสริมความแวววาว นอกจากนี้ยังมีการแบ่งหนังใหญ่ออกเป็น ๗ ชนิด คือ หนังเจ้าหรือหนังครู (พระฤาษี พระอิศวรหรือพระนารายณ์ และทศกัณฐ์ เป็นตัวหนังที่ไม่ใช้แสดง) หนังเฝ้าหรือหนังไหว้ (ตัวหนังเดี่ยว พนมมือ) หนังคเนจร (ท่าเดิน) หนังง่า (ท่าเหาะ) หนังเมือง (ภาพปราสาทราชวัง)​ หนังจับ (มีตัวละคร ๒ ตัวขึ้นไป มักเป็นการต่อสู้) และหนังเบ็ดเตล็ด การแสดงทั่วไปจะใช้หนัง ๒๐-๓๐ ตัว แต่ถ้าเป็นพระราชพิธีใหญ่ๆ ก็อาจใช้หนังถึง ๒๐๐-๓๐๐ ตัวต่อเรื่อง

เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของหนังใหญ่จะพบว่า มหรสพนี้มีศิลปะไทยถึง ๕ แขนง หลอมรวมอยู่ด้วยกัน “หัตถศิลป์” คือการตอกแกะสลักลายตัวหนัง “นาฏศิลป์” คือการเชิด “วรรณศิลป์” คือบทพากย์ประกอบการแสดงสื่อให้ผู้ชมเกิดจินตนาการตาม “วาทศิลป์” คือเสียงพากย์ที่ต้องกังวาน สร้างอารมณ์ร่วมให้ผู้ชม และ “ดุริยางคศิลป์” คือดนตรีประกอบ มักเป็นวงปี่พาทย์เครื่องห้า เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ การคงอยู่ของหนังใหญ่จึงช่วยอนุรักษ์ศิลปะไทยแขนงอื่นไว้ด้วย

กว่าจะมาเป็นหนังใหญ่

เวลา แรงกายแรงใจ ความอุตสาหะ และองค์ความรู้ศิลปกรรมไทยแนวประเพณี คือหัวใจสำคัญที่ช่างทำหนังใหญ่ต้องมี เพื่อผลิตตัวหนังออกมาให้ได้สวยงามตามที่ครูสั่งสอน ตัวหนังใหญ่มักทำจากหนังวัวหรือหนังควาย ในอดีตนิยมใช้หนังวัวที่ตายเองตามธรรมชาติ แต่ครูช่างโบราณท่านว่าใช้หนังควายตัวเมียดีกว่า เพราะหนังจะนุ่มเรียบบางเสมอดีกว่า ส่วนหนังครูนิยมใช้หนังเสือเพื่อความศักดิ์สิทธิ์เข้มขลัง จากนั้นนำมาฟอก ขึงตากให้แห้ง ขูดจนบางใสสะอาด ได้แผ่นหนังสีเหลืองนวลเรียกว่า “หนังแก้ว” ขั้นตอนต่อมาเป็นการวาดลายลงไป สมัยโบราณใช้เหล็กจารปลายแหลมเขียนลาย ถ้าเขียนผิดก็ใช้น้ำเช็ดเขียนใหม่ได้เลย แต่ปัจจุบันใช้ลายดั้งเดิมถ่ายเอกสารลงบนกระดาษ ติดบนแผ่นหนัง แล้วค่อยสลักตอกลายลงไป อุปกรณ์ที่ใช้เป็นหลักคือ “ตุ๊ดตู่หรือมุก” ตอกร่วมกับค้อนไม้ รองด้วยเขียงไม้เนื้ออ่อน ตุ๊ดตู่มีหัวหลายแบบเพื่อให้เกิดร่องลายรูปร่างต่างๆ ส่วนบริเวณตัวหนังที่ต้องการเว้นช่องไฟ ก็จะใช้มีดเจียรแผ่นหนังออก ต่อไปคือการ “ลงสี” ให้สวยงาม หนังกลางคืนจะใช้สีดำ ขาว และน้ำตาลแดงเป็นหลัก สีดำได้จากเขม่าดินก้นหม้อ สีแดงได้จากไม้ฝาง แต่ถ้าจะใช้สีเขียวก็ทำยากขึ้น เพราะต้องใช้ “สีเขียวซังเต” จากการนำทองเหลือง ทองแดง สำริด ไปแช่น้ำไว้ ๑ ปี ให้เกิดสนิมเขียว แล้วนำมาผสมยางไม้ได้สีเขียวตามต้องการ ครูช่างท่านว่าสีธรรมชาติแบบโบราณนั้นจะนวลตา ไล่โทนสีได้ สีไม่ลอย สีติดทนนานนับร้อยปี ผิดกับสีเคมีรุ่นใหม่ ไล่สีไม่ได้ และสีมักซีดจางเร็ว ขั้นตอนสุดท้ายคือการ “ติดไม้ตับหรือไม้คาบ” ทำจากไม้หลาวชะโอนหรือไผ่สีสุก เพื่อให้ผู้เชิดจับถือสะดวก รวมเวลากว่าจะได้หนังใหญ่สักตัวก็ ๒๐-๓๐ วันเลยทีเดียว

สืบสาน มิให้สาบสูญ

ท่ามกลางท้องทุ่งนาเขียวขจีในอำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง มองไปเห็นเพียงถนนสายเล็กๆ นำเข้าสู่บ้านเรือนไทยหลังใหญ่อายุนับร้อยปี ตั้งอยู่โดดเดี่ยว บ้านเงียบสงบ เมื่อเดินขึ้นบันไดสู่ชั้นบน ก็เหมือนได้ผ่านประตูเวลาย้อนสู่อดีตคล้ายที่เห็นในละครย้อนยุค กลิ่นไม้เก่า แสงสลัวๆ เครื่องเรือนไทยโบราณ และเสียงสวดมนต์ที่เปิดจากวิทยุคร่ำคร่า มองไปในห้องหนึ่ง เห็นชายชราร่างใหญ่ในชุดพราหมณ์สีขาว ผมสีดอกเลา ไว้เคราหงอกยาว เบื้องหน้าคือเขียงไม้ขนาดใหญ่ ที่มีแผ่นหนังลายไทย พร้อมอุปกรณ์ตอกหนังวางระเกะระกะ รอบกายคือโต๊ะที่มีตัวหนังใหญ่นับร้อยวางซ้อนทับกันอย่างแสนธรรมดา

ที่นี่คือเรือนของ ครูวีระ มีเหมือน อายุ ๗๑ ปี หนึ่งในตำนานการทำหนังใหญ่ที่ยังมีชีวิต เริ่มต้นจากเด็กบ้านสวนเมืองนนท์ ผ่านร้อนผ่านหนาวจนได้เข้าร่วมแสดงโขน ทำหัวโขน พากย์โขน ปักเครื่องโขน จนได้ฝากตัวเป็นศิษย์ทำหนังใหญ่กับครู ม.ร.ว.จรูญสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ สั่งสมประสบการณ์ รู้รอบด้านจนเป็นช่างทำหนังใหญ่เต็มตัว แล้วย้ายมาอยู่ที่จังหวัดอ่างทอง ใช้เวลาทั้งชีวิตสร้างหนังใหญ่ตัวแล้วตัวเล่าฝากไว้เป็นสมบัติล้ำค่าของชาติ และบางครั้งท่านยังเดินทางไปสอนทำหนังใหญ่ให้ผู้สนใจด้วย ฝีมือการทำหนังใหญ่ของครูวีระเป็นที่ยอมรับไปทั่ว ตัวหนังที่ท่านสร้างถือว่าถูกต้องตามประเพณีนิยม งามด้วยสัดส่วน รูปทรง สีสัน ลวดลายละเอียดอ่อนช้อย สะท้อนเอกลักษณ์ศิลปกรรมไทยได้ยอดเยี่ยม จนท่านได้รับตำแหน่งครูช่างศิลป์ของแผ่นดิน ปี ๒๕๕๒ จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ และตำแหน่งครูภูมิปัญญาไทย ด้านศิลปกรรมการทำหนังใหญ่ ปี ๒๕๔๕  ด้วย

ต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งคือ “หนังใหญ่” มิได้อยู่ในกระแสนิยมหรืออยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยในปัจจุบันอีกแล้ว หนังใหญ่จึงกลายเป็นเรื่องไกลตัวผู้คน และจะมีการจัดแสดงขึ้นในวัด หรือเฉพาะในงานพิธีสำคัญๆ เท่านั้น คนที่ใช้ชีวิตอยู่กับหนังใหญ่ คิดจะยึดเป็นอาชีพหารายได้เลี้ยงปากท้องจึงมีน้อยนับตัวได้ หนังใหญ่มากมายจึงสูญหายและผุพังไปตามกาลเวลา นอกจากหนังใหญ่ของกรมศิลปากรและสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์แล้ว ก็ยังเหลือหนังใหญ่ที่ทำการแสดงจริงเพียง ๓ คณะเท่านั้น คือ หนังใหญ่วัดขนอน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี และหนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง ส่วนแหล่งอื่นๆ เป็นเพียงการรวบรวมในรูปแบบพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านเท่านั้น อาทิ หนังใหญ่วัดพลับพลาชัย จังหวัดเพชรบุรี หนังใหญ่วัดบางน้อย จังหวัดสมุทรสงคราม และหนังใหญ่วัดประศุก จังหวัดสิงห์บุรี เป็นต้น นอกจากนี้ที่วัดพลับพลาชัย จังหวัดเพชรบุรี ได้จัดกิจกรรมอนุรักษ์หนังใหญ่เพื่อนักท่องเที่ยว ย่อตัวหนังให้มีขนาดเล็ก ให้นักท่องเที่ยวได้ทำ DIY ตอกตัวหนังด้วยตนเอง ใช้เวลา ๓๐-๖๐ นาที เพื่อให้เรียนรู้วิธีการทำหนังใหญ่ในเบื้องต้นปนความสนุกสนานไปด้วย

หนังใหญ่ คือหนึ่งในสุดยอดมหรสพแห่งแสง ซึ่งบ่งบอกอัตลักษณ์ความเป็นชนชาติไทย ที่มีความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมประเพณี หากวันใดไร้ซึ่งผู้สืบทอดหนังใหญ่แล้วไซร้ เราก็คงพูดไม่ได้เต็มปากว่า “เราเป็นคนไทย” จริงไหม?

About the Author

Share:
Tags: ฉบับที่ 69 / หนังใหญ่ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ