Thursday, May 9, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

ส่วนผสมของปรมาจารย์ในงานของ จักรพันธุ์ โปษยกฤต

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2567
เรื่อง/ ภาพ: ตัวแน่น

‘มาลินี พีระศรี’ พ.ศ. 2509 เทคนิค สีน้ำมันบนผ้าใบ
ขนาด 61.3 x 46.3 เซนติเมตร ศิลปิน จักรพันธุ์ โปษยกฤต

          เมื่อปี พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช* รัชกาลที่ 9 กำลังทรงสนพระทัยในศิลปะสมัยใหม่ และมีพระราชประสงค์จะให้จัดหาศิลปินชั้นนำมาวาดพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล** รัชกาลที่ 8 พระองค์เอง และ  พระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ*** เพื่อนำไปประดิษฐานร่วมกับพระบรมสาทิสลักษณ์บูรพกษัตริย์รัชกาลที่ 1-7 ที่มีอยู่ก่อนแล้วในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ ยอดฝีมือชาวอินโดนีเซีย ซึ่งพร้อมสรรพคุณสมบัติเพียบพร้อม และชื่อเสียงโด่งดังระดับนานาชาติจึงถูกเชื้อเชิญให้มาเป็นจิตรกรในราชสำนักไทยเมื่อปี พ.ศ. 2503 โดยทำงานอยู่ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และพระบรมมหาราชวัง

          ระเด่น บาซูกิ พำนักในเมืองไทยในฐานะจิตรกรในราชสำนักอยู่นานนับทศวรรษ ผลงานสำคัญวาดไว้ในขณะที่อยู่ในกรุงเทพฯ นั้นประกอบไปด้วยพระบรมสาทิสลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระสาทิสลักษณ์ พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ในพระอิริยาบทต่างๆมากมายเพื่อใช้ประดับประดาตามพระตำหนัก วัง และสถานที่สำคัญต่างๆ ในเวลาเดียวกันพอเหล่าบรรดาเจ้านาย ข้าราชการ คหบดี คุณหญิง คุณนาย ทั่วฟ้าเมืองไทยเมื่อได้ทราบว่า ระเด่น บาซูกิ เป็นถึงจิตรกรในราชสำนัก ก็พากันหาช่องทางติดต่อว่าจ้างให้ช่วยวาดภาพเหมือนของตนบ้าง

          หนึ่งในบุคคลสำคัญผู้มีโอกาสได้ว่าจ้าง ระเด่น บาซูกิ คือ คุณหญิงสุภัจฉรี ภิรมย์ภักดี ซึ่งครั้งนั้น ระเด่น บาซูกิ ถึงกับเดินทางมาวาดภาพที่บ้านของคุณหญิงสุภัจฉรีในซอยเอกมัย เพื่อได้รับแสงสว่างจากธรรมชาติ ระเด่น บาซูกิ จึงขอให้คุณหญิงสุภัจฉรีนั่งให้เป็นแบบที่ชานนอกบ้าน ก่อนจะกางขาตั้งวางภาพ และลงมือวาดอยู่ตรงนั้น

          ข่าวที่ว่ามีศิลปินมือฉมังจากราชสำนักมาวาดภาพเหมือนบุคคลในบ้านคุณหญิงสุภัจฉรี นั้นสร้างความตื่นเต้นให้กับเด็กหนุ่มผู้หนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านข้างๆที่มีรั้วติดกันมากจนถึงกับลงทุนปีนรั้วส่องดู เพื่อจะได้รู้ และจดจำเทคนิคการวาดภาพทีละขั้นทีละตอน ซึ่งเด็กหนุ่มผู้นี้มีชื่อว่า จักรพันธุ์ โปษยกฤต

          จักรพันธุ์ เกิดมาพร้อมพรสวรรค์ทางด้านศิลปะ สามารถวาดภาพได้คล่องตั้งแต่อ้อนแต่ออก เวลาผู้ใหญ่พาไปดูโขนตามงานวัด เมื่อกลับบ้านจักรพันธุ์ก็จะวาดตัวละครที่เพิ่งได้เห็นมา ทั้งตัวยักษ์ตัวนาง วาดออกมาแต่ละตัวมีรายละเอียดครบสมบูรณ์โดยไม่ต้องมีใครสอน

มาลินี พีระศรี (ภาพจากหนังสือชีวิตและผลงานของ อาจารย์จำรัส เกียรติก้อง ศิลปินเอกของชาติ)

          เมื่อจักรพันธุ์เข้าเรียนชั้นประถมและมัธยมที่ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ในโรงเรียนนอกจากจะปลูกฝังด้านวิชาการและด้านกีฬาแล้ว พระยาภะรตราชา ผู้บังคับการโรงเรียนในสมัยนั้น ยังสนับสนุนด้านศิลปะ โดยจัดหาครูระดับปรมาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาสอน อีกทั้งทางโรงเรียนได้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ส่งผลงานศิลปะเข้าแข่งขันในงานประกวด ตัวแทนนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกก็หนีไม่พ้นจักรพันธุ์ ซึ่งตอนนั้นพอได้เริ่มเรียนศิลปะก็ยิ่งเก่งขึ้นอีก เก่งขนาดที่ว่าครั้งหนึ่งทางโรงเรียนส่งผลงานของท่านขณะที่เรียนอยู่ชั้น ป.3 ไปร่วมประกวดศิลปะเด็กในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ แต่ภาพวาดของจักรพันธุ์ดันถูกคัดออกตั้งแต่แรก เพราะสวยเกินจนกรรมการไม่เชื่อว่าเป็นผลงานของเด็ก ร้อนถึงพระยาภะรตราชาจนต้องไปชี้แจงกับอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี ผู้จัดงานให้ได้ทราบข้อเท็จจริง

          ในช่วงที่จักรพันธ์ุเรียนอยู่มัธยมปลาย บิดาได้พาไปพบ จำรัส เกียรติก้อง ศิลปินชั้นแนวหน้าของไทยที่มีชื่อเสียงด้านการวาดภาพเหมือนบุคคลเพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ จักรพันธุ์เรียนรู้วิธีการวาดภาพเหมือนบุคคลจากจำรัสจนช่ำชอง และได้รับมอบหมายให้วาดภาพแนวนี้ในงานต่างๆสำหรับผู้สนใจอยู่เสมอๆ เพื่อเป็นการร่วมจัดหาทุนให้กับโรงเรียน ในช่วงเวลาเดียวกันญาติของจักรพันธุ์ยังได้พาไปฝากเนื้อฝากตัวกับ อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี จักรพันธุ์จึงได้ศึกษาศิลปะกับอาจารย์ศิลป์นอกเวลาเรียนอยู่พักใหญ่ เมื่อจักรพันธุ์จบชั้นมัธยมก็สอบเข้าคณะจิตรกรรม และประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรได้สำเร็จ แต่เป็นที่น่าเศร้าที่อาจารย์ศิลป์ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนหน้านั้นไม่นาน

          ฝีไม้ลายมือในการวาดภาพของจักรพันธุ์ค่อยๆเป็นที่รู้กันทั่วว่าเก่งระดับประเทศ ด้วยรางวัลระดับชาติการันตีมากมาย ตั้งแต่สมัยที่จักรพันธุ์เป็นนักศึกษาอยู่ที่ศิลปากร เพื่อนๆเห็นฝีมือของเลยพากันยุให้ส่งผลงานเข้าประกวดในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติทั้งๆที่จักรพันธุ์ไม่ได้เป็นคนที่ชอบประกวดประขันอะไร โดยในปี พ.ศ. 2508 จักรพันธุ์ ส่งผลงานชื่อว่า ‘วิสุตา’ ซึ่งได้ วิสุตา หัสบำเรอ เพื่อนนักศึกษาในกลุ่มมานั่งเป็นแบบให้ เข้าร่วมงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 16 และได้รับเหรียญทองแดง มีเรื่องเล่ากันว่าในการประกวดครั้งนั้น เฟื้อ หริพิทักษ์ อาจารย์ของจักรพันธุ์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร และหนึ่งในเป็นกรรมการตัดสิน มากระซิบว่าเดิมทีคณะกรรมการจะให้รางวัลที่สูงกว่า แต่เพราะอยากให้จักรพันธุ์ได้เก็บภาพไว้เป็นความภูมิใจจึงให้เหรียญทองแดง เพราะถ้าได้เหรียญทองหรือเหรียญเงินตามกฎแล้วภาพนั้นจะต้องถูกเก็บไว้เป็นสมบัติของมหาวิทยาลัย

         ในปีถัดมาเมื่อ พ.ศ. 2509 จักรพันธุ์ก็ส่งผลงานเข้าประกวดในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติอีกครั้งและคว้ารางวัลเหรียญเงินมาครอง โดยครั้งนี้จักรพันธุ์วาด สุวรรณี สุคนธา นักเขียนชื่อดังที่จักรพันธุ์สนิทสนมคุ้นเคยเป็นอย่างดี และในห้วงเวลาเดียวกันจักรพันธุ์ยังได้สร้างสรรค์จิตรกรรมภาพเหมือนบุคคลด้วยสีน้ำมันขึ้นมาอีกภาพ คือภาพ มาลินี พีระศรี ในชุดคอกลมแขนสั้นสีแดง รวบผมตีโป่งรัดไว้ด้านหลัง ใบหน้าเบนไปทางขวา ยิ้มน้อยๆที่มุมปากเผยให้เห็นลักยิ้มเล็กๆ และมีแววตาที่ผ่อนคลาย ฉากหลังภาพเป็นสีเทาอมเขียวดูล่องลอยลึกลับ

จักรพันธุ์ โปษยกฤต ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2509 (ภาพจากหนังสือ จักรพันธุ์ โปษยกฤต 6 รอบ เล่ม 1)

          มาลินี พีระศรี หรือชื่อเดิม มาลินี เคนนี นั้นคือภรรยาของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นบุตรีของ ซีวิล เคนนี และมาลี หิตศักดิ์ สมรสกับอาจารย์ศิลป์ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2502 และครองคู่กันตราบจนอาจารย์ศิลป์ถึงแก่กรรมลงในปี พ.ศ. 2505 รูปเหมือนมาลินีนั้นอาจารย์ศิลป์ได้ปั้นไว้ขณะมีชีวิตหลากหลายเวอร์ชั่น และอีกทั้งยังมีภาพสีน้ำมันที่ จำรัส เกียรติก้อง เคยวาดมาลินีในชุด และทรงผมแบบเดียวกันกับภาพของจักรพันธุ์อีกด้วย

          เหตุเพราะจักรพันธุ์ ศึกษาแนวทางการวาดภาพบุคคลจากสุดยอดบรมครูทางสายนี้อย่าง จำรัส เกียรติก้อง และ ระเด่น บาซูกิ อับดุลลาห์ ผลงานจิตรกรรมในยุคแรกขณะเป็นนักศึกษาของจักรพันธุ์จึงมีกลิ่นอายของศิลปินทั้ง 2 ท่านนี้อยู่มาก หากดูเผินๆบางภาพฝีไม้ลายมือเข้มข้นจนถึงกับแยกไม่ออกด้วยซ้ำ โดยภาพในยุคนี้รวมถึงภาพมาลินี จักรพันธุ์ยังใช้ทีแปรงที่ค่อนข้างหนา กว้าง ไม่เน้นเกลี่ยสีให้เนียนเรียบ ผิวของบุคคลยังดูคล้ำอมน้ำตาล เทคนิคเดียวกับจำรัส  และระเด่น บาซูกิ แต่ที่น่าสังเกตคือ จักรพันธุ์เริ่มมีการใช้สีเขียวโทนที่ชื่นชอบป้ายแซมแทนแสงสว่างในบางจุด หลังจากนั้นเมื่อจักรพันธุ์เรียนจบจากมหาวิทยาลัย ผลงานจึงคลี่คลายไปเป็นรูปแบบที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน ด้วยทีแปรงที่เล็ก ละเอียดขึ้น การเกลี่ยสีให้บาง นวลเนียน สะอาดตา ผิวพรรณของบุคคลเปลี่ยนเป็นสว่าง เจือด้วยสีชมพูดูมีเลือดฝาด และทุกภาพยังคงมีแซมด้วยสีเขียว ผลงานที่ออกมานั้นสวยหวานหยาดเยิ้มดั่งเทพยดานางฟ้าจนใครเห็นก็รู้ได้ทันทีว่านี่คือฝีมือจักรพันธุ์

           ภาพเหมือนบุคคลที่สร้างสรรค์โดยศิลปินชื่อดัง มีราคาสูงพอๆกับบ้านหรือรถยนต์ และไม่ใช่ทุกคนที่มีเงินจะมีได้ ต่างต้องใช้ความพยายามทุกช่องทาง รวมถึงคอนเนกชัน เพื่อให้ศิลปินซึ่งมีคิวรอยาวเป็นหางว่าวอยู่แล้วตกลงปลงใจวาดภาพให้ กระแสความนิยมแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย จนได้ ระเด่น บาซูกิ มาจุดประกาย ร่วมสมัยด้วย จำรัส เกียรติก้อง และส่งไม้ต่อมายัง จักรพันธุ์ โปษยกฤต ช่วยผลักดันให้วัฒนธรรมการซื้อหา เก็บสะสมงานศิลปะแผ่ขยายกว้างขวางไปยังบุคคลกลุ่มใหม่ๆ ที่พร้อมพรั่งด้วยกำลังวังชา ให้หันมาสนับสนุนอุ้มชูวงการศิลปะไทย

หมายเหตุ

*พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

**พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

***สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

About the Author

Share:
Tags: ตัวแน่น / จักรพันธุ์ โปษยกฤต / กุมภาพันธ์ 2567 / มาลินี พีระศรี / ระเด่น บาซูกิ / สุภัจฉรี ภิรมย์ภักดี /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ