Sunday, May 19, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต

ขรัวอินโข่ง สมณะผู้ละกฎเกณฑ์

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 58
เรื่อง/ภาพ: ตัวแน่น

         ภาพวิวแบบฝรั่งบนแผ่นกระดานไม้ขนาดไม่ใหญ่โต ซึ่งผู้วาดพยายามใส่ระยะใกล้ไกล รวมถึงแสงเงาลงไปในภาพตามวิธีที่ตนเองพยายามทำความเข้าใจ แต่ผลลัพธ์กลับออกมาดูแปร่งๆ ทั้งแสงทั้งขนาดดูผิดธรรมชาติ ในสายตาผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่แล้วภาพสีฝุ่นบนแผ่นไม้เก่าๆ แผ่นนี้คงดูไม่มีคุณค่า ไม่ต่างอะไรกับผลงานที่สร้างสรรค์โดยจิตรกรผู้ไม่ถนัด อย่าว่าแต่แค่แผ่นไม้แผ่นเดียวเลย ขนาดภาพวาดบนกำแพงโบสถ์ทั้งหลังที่วาดโดยศิลปินท่านเดียวกันในสไตล์นี้ ยังเคยมีคนไทยที่ได้ไปเรียนที่ยุโรปถึงกับทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ด้วยความหวังดีว่า ภาพพวกนี้ดูน่าเกลียด ควรจัดการลบทิ้งไปซะให้เสร็จสรรพ จะได้ไม่อายฝรั่งต้นตำรับเขา 

         สำหรับผู้รู้แล้ว ผลงานจิตรกรรมชิ้นนี้ไม่ได้เป็นแค่ภาพวิวสไตล์ตะวันตกดาดๆ แต่เป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานอันบ่งชี้ว่า ณ เวลานั้นศิลปินสยามได้กล้าข้ามผ่านกรอบปฏิบัติอันเข้มงวดของศิลปะแบบไทย ประเพณีที่สืบทอดต่อๆ กันมาเป็นเวลาหลายร้อยปีก่อนหน้า ศิลปะไทยจึงไม่ย่ำอยู่กับที่เพราะมีศิลปินนามอุโฆษที่เรารู้จักกันในชื่อว่า ขรัวอินโข่ง

         ในขณะที่ผลงานจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๓ ส่วนใหญ่ยังยึดแบบแผนดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัย อยุธยา สืบเนื่องมาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งไม่เน้นความสมจริงตามธรรมชาติ ภาพจะดูแบนๆ เพราะวัตถุที่อยู่ใกล้ไกลถูกเขียนให้มีขนาดใหญ่เท่าๆ กัน ทั้งๆ ที่สิ่งที่อยู่ห่างออกไปย่อมต้องดูมีขนาดเล็กกว่าตามหลักทัศนียวิทยา ตัวละคร อาคารบ้านเรือน ข้าวของเครื่องใช้ก็มักจะระบายด้วยสีเรียบๆ ไม่ใส่แสงเงา ก่อนจะจบงานด้วยการตัดเส้นรอบนอกเพื่อเน้นให้วัตถุต่างๆ ดูเด่นขึ้นมา ซึ่งรูปแบบที่ว่ามานี้ช่างดูแตกต่างกันกับภาพบนกระดานไม้ที่รายละเอียดในภาพมีขนาดแตกต่างกันตามระยะใกล้ไกล จังหวะของสีเข้มอ่อนยังถูกนำมาใช้เพื่อแสดงถึงแสงเงาที่ทอดลงไปบนส่วนประกอบต่างๆ 

         นอกจากเทคนิคที่แปลกใหม่สำหรับจิตรกรรมไทยในยุคนั้นแล้ว เนื้อหาของภาพยังแปลกประหลาดไม่แพ้กัน แทนที่จะวาดภาพเทวดา นางฟ้า พระราชา ชาวบ้าน วัดวาอาราม เรือนชานแบบไทยๆ ใส่สีทองๆ แดงๆ ไว้มากๆ อย่างที่จิตรกรชาวสยามนิยมกัน ขรัวอินโข่งกลับเลือกใช้โทนสีทึมๆ ครึ้มๆ สร้างเป็นบรรยากาศ แล้วบรรจงวาดตัวละคร ตึกรามบ้านช่องเป็นแบบตะวันตกทั้งหมด ยกเว้นเพียงธงประจำชาติสยามรูปช้างสีขาวบนพื้นแดงที่โบกปลิวดูเด่นเป็นสง่าอยู่บนเรือกลไฟที่แล่นสู้คลื่น ส่วนประกอบอื่นๆ ในภาพแทบจะไม่มีอะไรที่เป็นไทยเลยซักกะนิด แล้วขรัวอินโข่ง พระสงฆ์ผู้ไม่เคยมีโอกาสเดินทางไปพบเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ในต่างประเทศ ไปเอาแรงบันดาลใจในการวาดภาพแบบนี้มาจากไหน? 

         ที่เกิดผลงานสไตล์ใหม่ขึ้นมาได้ต้องนับว่าเป็นความประจวบเหมาะพอดิบพอดี ที่ก่อนหน้านี้พรสวรรค์ทางด้านจิตรกรรมของขรัวอินโข่งไปต้องพระทัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ตั้งแต่ครั้งยังทรงเป็นมกุฎราชกุมารและออกผนวชอยู่ใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์อยู่ถึง ๒๗ พรรษา พระองค์ท่านได้ทรงศึกษาพระพุทธศาสนาจนแตกฉาน จึงทรงเล็งเห็นว่าพระพุทธศาสนาควรมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับวิทยาการสมัยใหม่ที่อิงหลักวิทยาศาสตร์ ห่างไกลความงมงาย จากที่เคยยกพระพุทธเจ้าให้เป็นผู้วิเศษ มีอภินิหาร แปลงร่าง เหาะเหินเดินอากาศได้ ให้มองว่าพระองค์ท่านเป็นบุคคลธรรมดาที่มีความรู้ มีสติปัญญาสูงส่ง ตรัสรู้และมีเมตตาสั่งสอนผู้คนให้ประพฤติดีประพฤติชอบ ทำให้พ้นจากทุกข์ พระธรรมที่เคยถูกยกให้เป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ ก็ให้มองว่าเป็นบันทึกคำสั่งสอนที่ถูกถ่ายทอดต่อๆ กันมาเป็นเวลายาวนานรุ่นต่อรุ่น

         อาจมีความผิดเพี้ยนได้ จึงควรมีการสังคายนาให้เหมาะสมตามยุคตามสมัย ส่วนพระสงฆ์ท่านทรงเห็นว่า พระหลายๆ รูปนั้นหย่อนยานทางพระธรรมวินัย บางคนมาบวชเป็นพระเพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร ไม่ต้องงถูกเกณฑ์แรงงาน เป็นพระแบบกินๆ นอนๆ ไปวันๆ และบ้างก็อวดอุตริ เล่นการพนัน สูบฝิ่น เสพเมถุน ต้องถูกเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม หันมาปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่พุทธศาสนิกชน ด้วยพระประสงค์เหล่านี้จึงก่อให้เกิดธรรมยุติกนิกายขึ้น อันแปลว่า นิกายที่มีพระธรรมเป็นที่ยุติ คือให้ยึดถือพระธรรมเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา

         ในช่วงที่ขรัวอินโข่งมีชีวิตอยู่ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่วิทยาการจากประเทศทางฝั่งตะวันตกทั้งจากยุโรปและอเมริกาได้หลั่งไหลเข้ามายังประเทศสยามของเราอย่างล้นหลาม ลัทธิล่าอาณานิคมของประเทศที่อ้างว่าตัวเองเจริญกว่า ไปเที่ยวยึดประเทศอื่นมาเป็นเมืองขึ้นก็กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ประเทศมหาอำนาจในยุโรป ประเทศสยามของเราจึงต้องเปิดประเทศเร่งพัฒนาบ้านเมืองอย่างหนักให้ทัดเทียมชาติตะวันตก ฝรั่งจะได้ไม่มีข้ออ้างที่จะหาว่าเราเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนแล้วมายึดบ้านยึดเมืองของเราได้ ณ ขณะนั้นในบางกอกจึงมีชาวตะวันตกเดินสวนไปมากันให้ขวักไขว่ มีทั้งมิชชันนารีที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนา มีข้าราชการฝรั่งที่ถูกว่าจ้างมาช่วยงานในกรมกองต่างๆ มีหมอยามาเปิดคลินิกรักษาโรค มีพ่อค้ามาเปิดธุรกิจห้างร้านต่างๆ ทั้งห้างขายสินค้านำเข้า สำนักพิมพ์ ร้านถ่ายรูป และอื่นๆ อีกมากมาย ในแม่น้ำเจ้าพระยาก็คลาคล่ำไปด้วยเรือรูปแบบแปลกใหม่จากต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อกับสยาม บ้านเมืองเริ่มดูทันสมัย มีการสร้างถนนหนทาง อาคารบ้านเรือนที่ถูกสร้างด้วยอิฐฉาบปูนในรูปแบบตะวันตกก็ผุดขึ้นมาทั่วเมืองเหมือนดอกเห็ด

         ความคิดแบบธรรมยุติกนิกายผนวกกับอิทธิพลจากตะวันตกที่เข้ามาในบ้านเรานี่แหละ เป็นอิทธิพลสำคัญที่ชักนำให้สไตล์ของขรัวอินโข่งแหวกแนวไปจากแบบไทยประเพณี จนกลายเป็นรูปแบบที่แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ผลงานในยุคตกผลึกของขรัวอินโข่งซึ่งสร้างถวายสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงไม่เน้นเนื้อหาเกี่ยวกับภพภูมิต่างๆ และพุทธประวัติของพระพุทธเจ้า แต่จะเน้นวาดภาพเกี่ยวกับพระธรรมคำสั่งสอนตามหลักของธรรมยุติกนิกาย ที่ให้ความสำคัญกับพระธรรมเป็นพิเศษ การจะวาดคำสอนอันเป็นนามธรรมให้เป็นภาพขึ้นมาเป็นรูปธรรมนั้นเป็นเรื่องที่ยากอยู่ แต่ขรัวอินโข่งก็ออกแบบเรื่องราวและวาดขึ้นมาเป็นภาพได้สำเร็จอย่างชาญฉลาดในรูปแบบของภาพปริศนาธรรม แถมยังเพิ่มความพลิกแพลงแสดงจินตนาการอันสูงส่ง โดยการวาดฉากและตัวละครเป็นแบบตะวันตกทั้งหมด

About the Author

Share:
Tags: art / ขรัวอินโข่ง / Khrua In Khon /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ