Friday, May 10, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต

ด้วยรักและหวังดี จาก ศิลป์ พีระศรี 

ประติมากรรมรูปเหมือนอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี ปั้น โดย เขียน ยิ้มศิริ

ในวันที่นายคอร์ราโด เฟโรชี หรือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี กำลังจะเดินทางออกจากกรุงเทพฯ เพื่อกลับบ้านเกิดไปยังเมืองฟลอเรนซ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ นั้น มีเหล่าบรรดาลูกศิษย์ลูกหามาส่งเป็นจำนวนมาก หลายๆ ท่านคิดว่าการกลับไปยังประเทศอิตาลีของอาจารย์ศิลป์ครั้งนี้ก็คงเหมือนครั้งก่อนๆ คือไปเพียงแป๊บเดียวประเดี๋ยวก็กลับมา โดยหารู้ไม่ว่าการร่ำลาในวันนั้นอาจจะเป็นการโบกมือลาเป็นครั้งสุดท้ายระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ผู้เป็นที่รักดั่งบุพการีด้วยซ้ำ 

สาเหตุที่อาจารย์ศิลป์ต้องตัดสินใจเดินทางกลับไปในครั้งนั้น หลักๆ เป็นเพราะสถานการณ์บีบบังคับ ย้อนเวลากลับไปตั้งแต่ท่านตัดสินใจหอบภรรยาและลูกเดินทางเข้ามารับราชการในประเทศสยามเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ อาจารย์ศิลป์ได้รับอัตราเงินเดือนในฐานะผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เป็นจำนวน ๘๐๐ บาท บวกกับค่าเช่าบ้านอีก ๘๐ บาท ซึ่งเพียงพอให้ท่านและครอบครัวสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่อัตคัดในประเทศที่ทุกสิ่งอย่างยังอิงความเป็นธรรมชาติอยู่มาก รอบๆ ตัวมีต้นไม้เขียวชอุ่ม แม่น้ำลำคลองใสสะอาด มีเรือกสวนไร่นาใหญ่โตสุดลูกหูลูกตา อาหารการกินอุดมสมบูรณ์หาง่ายในราคาไม่แพง ไม่ได้เต็มไปด้วยตึกรามบ้านช่องรถราจอแจเหมือนในยุโรปที่ท่านจากมา แถมชาวสยามยังมีมนุษยสัมพันธ์ดียิ้มแย้มแจ่มใส มีน้ำใจคอยช่วยเหลือ ไม่รังเกียจเดียดฉันท์ฝรั่งอย่างท่าน 

วันเวลาผ่านไปกว่า ๒๐ ปี อาจารย์ศิลป์ทำงานหนักสร้างคุณูปการให้กับประเทศมากมายเกินจะประเมินเป็นมูลค่าได้ แต่อัตราค่าจ้างกลับขยับปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจโดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ข้าวยากหมากแพง อาจารย์ศิลป์เป็นคนสมถะ เช้าจรดเย็นชีวิตมีแต่งาน ไม่ค่อยใช้จ่ายส่วนตัวอะไร เงินทองที่ได้มาก็มักแจกจ่ายช่วยเหลือลูกศิษย์ที่ขาดแคลน เพื่อไปซื้อวัสดุอุปกรณ์มาสร้างสรรค์งานศิลปะ เมื่อค่าครองชีพสูงขึ้นเงินเดือนเริ่มไม่พอใช้ อาจารย์ศิลป์จึงต้องตัดสินใจขายรถ ขายบ้าน และเดินทางมาทำงานที่มหาวิทยาลัยศิลปากรโดยการถีบจักรยาน ลูกศิษย์ต่างก็สงสารเพราะรู้ว่าสายตาของท่านสั้นมากจนแทบจะมองไม่เห็นทาง

อาจารย์ศิลป์และครอบครัวอดทนจนถึงที่สุด แต่ก็ยังมองไม่เห็นวิธีที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ในดินแดนที่ท่านหลงใหล ท่ามกลางหมู่ลูกศิษย์ที่ท่านรักเยี่ยงลูกในไส้ จึงจำใจต้องอำลากลับบ้านเกิดด้วยความอาลัย โดยลูกศิษย์ส่วนใหญ่ที่ไม่รู้ปัญหา ยังคิดว่าไม่นานอาจารย์ศิลป์ก็จะกลับมาใหม่ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นมีความเป็นไปได้อย่างสูงว่าท่านจะต้องจำใจลาแล้วลาลับไปเลย

ขณะที่อาจารย์ศิลป์อยู่ในแดนไกลและยังไม่รู้ว่าจะได้กลับมาหรือไม่ ท่านคิดถึงประเทศไทยและลูกศิษย์มากมายเพียงใด เห็นได้จากจดหมายที่อาจารย์ศิลป์เขียนขึ้นที่ฟลอเรนซ์ถึง เขียน ยิ้มศิริในวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ อันมีใจความว่า

Firenze 2nd November 1947

          Dear Khien,

          With great pleasure I have received your letter of the 17th October and I thank you so much for the kind remembrance you have for me. As I have said to dear Fua my heart is ALWAYS with you and Siam; the life of the West in no more fitted for me and I feel terribly depressed.  I have to stay here to cure myself but otherwise I would have already started back. As soon as I left Siam I began to be deeply taciturn and once in Italy I found my things very upset, and for worse than what I could expect. I had to pay a lot for repairing the house and for my son etc. etc, all these unexpected facts influenced my nerves already shaken and thus my health suffered; but now I feel better and I hope in a few weeks I shall be alright.

          As I have told Fua, art here is affected by the high cost of materials etc. so there is a crisis of artistic production. Music only seems to keep alive the flame of art, while literature is not very much developed on account of the tremendous cost of books. People are very busy to keep them alive and to enjoy the most possible, so they have no much time spare for reading, consequently the intellectual standard is going down. If you see a town of the West it seems a machine going at full speed, and anyone is pushing the other to go on, on …where ?, to earn money, the gold, the evil of Humanity. Nowadays is the triumph of materialism; the spirit seems have no reason to be taken in consideration.

          The war has brought misery and a lot of difficulties, but Man is striving to emerge over the others on any mean is good for reaching the goal. Let us hope that our dear Siam may be affected the least possible by this terrible modern civilization and may keep the purity of the old culture the longest possible.

          Glad to here that you have worked for the Constitutional fair and hope a fine success for you and all the other artists. 

            Love always each others, love your art and make for it some sacrifice, try to be always united and forget and forgive others small offences. We leave only once in our actual surrounding, so let us get from it the best spiritual part. Say To Paitun, Piman, Siddhided, Heup, Suk, Sanit , Prasong, Pinit, Vichit and all other pupils of mine that I do not write personally to everyone, but I have always them in my heart.

          to you and to all my best wishes and thoughts.

                             Yours C. Feroci 

จดหมายจาก อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี

จดหมายจาก อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี

เนื้อหาของจดหมายอาจารย์ศิลป์เล่าถึงบรรยากาศบ้านเมืองในยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยเฉพาะในอิตาลีประเทศคู่ขัดแย้งซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง ข้าวของต่างมีราคาแพงรวมถึงวัสดุอุปกรณ์สำหรับงานศิลปะ ในสังคมสมัยใหม่ วัตถุนิยมเริ่มเข้ามามีบทบาทครอบงำจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ของผู้คน อาจารย์ศิลป์ยังหวังว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นในสยาม และภาวนาให้เรารักษาวัฒนธรรมอันงดงามที่มีมาตั้งแต่โบราณกาลไว้ได้นานที่สุด 

ทุกๆ ตอนของจดหมาย อาจารย์ศิลป์ไม่เขินที่จะกระหน่ำส่งความปรารถนาดีมายังลูกศิษย์แบบจุกๆ รวมถึงเผยความรู้สึกเบื้องลึกว่าชีวิตและหัวใจของท่านนั้นเป็นไทยไปแล้ว การที่ได้กลับบ้านเกิดนั้นกลับกลายเป็นความรู้สึกเหมือนอยู่ผิดที่ผิดทางอย่างประโยคที่ว่า

‘my heart is ALWAYS with you and Siam; the life of the West in no more fitted for me’ หรือ ‘หัวใจของฉันอยู่กับนายและสยามเสมอ ชีวิตในแบบตะวันตกไม่เหมาะกับฉันอีกต่อไป’

และในฐานะอาจารย์ ผู้เปรียบเสมือนเป็นบิดาของหมู่ศิษย์ จดหมายจากอาจารย์ศิลป์ยังเปี่ยมไปด้วยคำสอนที่ไม่จำกัดแต่เฉพาะเรื่องศิลปะ แต่ครอบคลุมถึงปรัชญาในการดำเนินชีวิต ดังที่ท่านได้แนะนำว่า

‘Love always each others, love your art and make for it some sacrifice, try to be always united and forget and forgive others small offences. We leave only once in our actual surrounding, so let us get from it the best spiritual part.’

แปลได้ว่า ‘จงรักกันและกัน รักและอุทิศตนให้กับศิลปะ จงสามัคคีกัน ลืมและให้อภัยในความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ ชีวิตเรานั้นคงอยู่และจากไปเพียงครั้งเดียวในห้วงเวลาและสิ่งแวดล้อม ณ ขณะนี้จงใช้มันอย่างคุ้มค่าที่สุดเพื่อเชิดชูจิตวิญญาณ’

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ทางการไทยได้ทาบทามให้อาจารย์ศิลป์ พีระศรี กลับจากอิตาลีเพื่อเข้ารับราชการใหม่ ในอัตราเงินเดือนที่ท่านจะสามารถยังชีพได้ อาจารย์ศิลป์จึงรีบกลับมาอีกครั้ง จะชักช้าไปทำไมล่ะ ก็มีคนรักท่านมากมายตั้งตารออยู่ แถมหัวใจของท่านก็เป็นไทยไปหมดแล้ว 

About the Author

Share:
Tags: art / ตัวแน่น / พิริยะ วัชจิตพันธ์ / เขียน ยิ้มศิริ / ศิลป์ พีระศรี / ฉบับที่ 69 / คอร์ราโด เฟโรชี /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ