Sunday, May 19, 2024
พระเครื่อง ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำท่าจีน ตอนที่ ๑

รูปเหมือนท่านเจ้าคุณพระไพโรจน์วุฒาจารย์(หลวงปู่รุ่ง) วัดท่ากระบือ เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำท่าจีน

         เรื่องราวทั้งหลายในโลกนี้เมื่อผ่านกาลเวลา  บางครั้งทำให้สิ่งทั้งหลายค่อย ๆ ลางเลือนลงไปดังคำกล่าวที่ว่า จากประวัติศาสตร์กลายเป็นเรื่องเล่า จากเรื่องเล่ากลายเป็นตำนาน จากตำนานกลายเป็นนิทาน ดังเช่นเรื่องหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าที่ท่านสามารถเสกหัวปลีเป็นกระต่าย หลวงพ่อเสือ(หลวงพ่อทา)วัดพะเนียงแตกที่ห้ามพลุไฟได้ หลวงพ่อแสง วัดน้อยทองอยู่ที่สามารถสั่งฟ้าสั่งฝนได้ตามจิตปรารถนา หรือเรื่องของหลวงพ่อเฒ่ายิ้มแห่งวัดหนองบัวที่เสกมีดลอยน้ำได้เป็นต้น เรื่องราวเหล่านี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่กล่าวขวัญแต่ปัจจุบันแทบจะกลายเป็นตำนานที่หาผู้ยืนยันแทบไม่ได้ แม้แต่เด็กรุ่นหลังก็ไม่เชื่อถือว่าเป็นเรื่องจริงด้วยซ้ำ ก็เหมือนกับเรื่องเล่าเมื่อครั้งกรุงเก่าหลายต่อหลายเรื่องที่กลายเป็นเพียงนิทานปรัมปราไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลวงตาคง วัดพุทไธสวรรค์แปลงกายเป็นนกกะยาง หรือพระอาจารย์พรหมวัดปากน้ำประสบเหาะเหินเดินอากาศได้ การที่เราเพียรพยายามจะบันทึกเรื่องราวในอดีตเพื่อดำรงรักษาเรื่องราวที่ถูกต้อง มีที่มาที่ไปให้อนุชนได้ศึกษากันต่อไป

          หากพูดถึงพระอาจารย์ในยุคเก่าก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นับว่ามีมากมายหลายองค์ทีเดียว ที่ถือได้ว่าเป็นผู้เรืองวิทยาคมมีอภินิหารเป็นที่ประจักษ์ เมื่อแบ่งออกตามสายวิชาแล้ว สายแม่กลองนับได้ว่าเป็นสายวิชาสำคัญสายหนึ่งของสยามยุทธซึ่งได้แก่แถบจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงครามและราชบุรีนับว่าเป็นสายที่มีความโดดเด่นอยู่มาก วิชาในสายนี้มักจะเน้นเรื่องอยู่ยงคงศาสตรา คงกะพันชาตรีและมหาอุดเป็นหลัก ทั้งนี้เนื่องจากแถบจังหวัดดังกล่าวในอดีตเป็นดงนักเลงก็ว่าได้ วิชาในสายนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งแตกต่างจากตำหรับของกรุงเก่า (สายอยุธยา)ซึ่งเป็นสายหลักของภาคกลางเช่นกัน สำหรับพระอาจารย์ยุคเก่าที่อยู่วัดแถบลุ่มน้ำท่าจีน และลุ่มน้ำแม่กลองนั้นมีอยู่มากองค์ทีเดียว จนขึ้นชื่อว่าเป็นถิ่นพระเกจิเลยก็ว่าได้ แต่ละองค์ล้วนเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนจวบจนปัจจุบัน จนมีเรื่องเล่าขานมากมาย

เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ รุ่นแรก ปี พ.ศ. 2484 หน้าแก่ยันต์ตรง

               สำหรับในครั้งนี้ผู้เขียนขอนำประวัติของพระเกจิอาจารย์ที่ได้รับการขนานนามด้วยความศรัทธาว่า “เทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำท่าจีน” แน่นอนครับว่าจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจากท่านเจ้าคุณพระไพโรจน์วุฒาจารย์ หรือที่เรารู้จักกันในนามของ “หลวงปู่รุ่ง แห่งวัดท่ากระบือ” เจ้าของเหรียญอันดับหนึ่งของเมืองสาครบุรี(สมุทรสาคร) หากพูดถึงเกียรติคุณของท่านคนในแถบท่ากระบือรู้กันดีว่า ศักดิ์สิทธิ์ขนาดไหน ขนาดเหรียญปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ยังเช่าหากันเรือนหมื่น หรือแม้แต่รูปจำลองของท่านยังแสดงปาฏิหาริย์ทำเอาผู้ที่ล่วงเกินเข็ดขยาดไปตาม ๆ กัน

พระไพโรจน์วุฒาจารย์ (หลวงพ่อรุ่ง ติสสโร)-วัดท่ากระบือ

       หลวงพ่อรุ่งท่านมีนามเดิมว่า รุ่ง นามสกุล พ่วงประพันธ์ เป็นบุตรของนายพ่วง และนางกิม พ่วงประพันธ์ ท่านถือกำเนิดเมื่อ วันเสาร์ แรมแปดค่ำ เดือนเก้า พ.ศ. ๒๔๑๖ เป็นบุตรโทน ที่ ตำบลหนองนกไข่ อำเภอกระทุ่มแบน  จังหวัดสมุทรสาคร ชีวิตในวัยเด็กท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรศึกษาหนังสือไทยและหนังสือขอม เป็นที่ทราบกันครับว่าในอดีตว่าวัดเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาส่วนใหญ่คนในยุคนั้นก็มักจะศึกษาเล่าเรียนจากวัดแทบทั้งนั้น หลวงพ่อท่านได้ร่ำเรียนจนแตกฉานทั้งอักษรไทย และขอม จนกระทั่งท่านอายุครบ ๒๑ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันเสาร์ที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๗ โดยมีท่านเจ้าอธิการทับ วัดใหม่ทองเสน กรุงเทพฯ เป็นพระอุปัชฌาย์(เจ้าอธิการทับ วัดใหม่ทองเสนเป็นคนละองค์กับหลวงพ่อทับ วัดสุวรรณาราม) และ ท่านเจ้าอธิการบัว วัดน้อยนพคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาทางพระว่า “ติสฺสโร” เมื่อท่านอุปสมบทได้เพียงสองวัน ท่านก็ได้ย้ายมาอยู่ ณ วัดท่ากระบือซึ่งในขณะนั้นเป็นเพียงสำนักสงฆ์เล็ก ๆ  เนื่องจากเป็นที่สงบและสัปปายะ  อยู่สบายเนื่องจากติดลำน้ำท่าจีนซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่ หลวงปู่รุ่งมีความสนใจในเรื่องพระเวทย์วิทยาคมเป็นอย่างมากตั้งแต่ในวัยหนุ่ม ประกอบกับในขณะนั้นการศึกษาทางด้านนี้มีความรุ่งเรือง แม้แต่ฆราวาสก็สามารถที่จะเป็นผู้มีวิชาอาคม สำนักที่โด่งดังในช่วงเวลาดังกล่าวมีอยู่หลายแห่งแต่สำนักหนึ่งที่เป็นที่รู้จักของคนในยุคนั้นส่วนมากได้แก่ สำนักวัดปากคลองมะขามเฒ่า โดยหลวงปู่ศุขเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาต่าง ๆ ให้แก่ลูกศิษย์ลูกหา กิตติคุณของหลวงปู่ศุขขจรขจาย มีเรื่องที่พรรณนาถึงคุณวิเศษของท่านมากมาย หลวงปู่รุ่งท่านก็ได้เดินทางไปเรียนวิชากับที่สำนักวัดปากลองมะขามเฒ่า ในยุคนั้นท่านไปพร้อมกับหลวงพ่อชุ่ม วัดราชคาม สมุทรสงคราม วิชาที่เรียนนั้นคือ วิชาธาตุ ๔ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) เมื่อสำเร็จแล้วสามารถใช้ในการแปลงสิ่งของต่าง ๆ เป็นสัตว์ เสกพยนต์หุ่นหญ้า เสกใบมะขามเป็นต่อเป็นแตน ตลอดจนเลขยันต์ต่าง ๆ หลวงปู่รุ่งท่านสำเร็จธาตุ ท่านสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์

เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ รุ่นแรก ปี พ.ศ. 2484 หน้าหนุ่มยันต์ตรง บล็อคไข่ปลา
เหรียญหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ รุ่นแรก ปี พ.ศ. 2484 หน้าหนุ่มยันต์ตรง บล็อคไข่ปลา 2

         ในบรรดาอาจารย์ของหลวงปู่รุ่งนั้น นอกจากหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าแล้ว ท่านได้ศึกษากับ หลวงปู่ทอง วัดราชโยธา ปรมาจารย์อีกรูปหนึ่งที่เชื่อกันว่าเป็นศิษย์ของขรัวตาแสงแห่งวัดมณีชลขันธ์ ผู้เป็นอาจารย์ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสีแห่งวัดระฆังโฆสิตาราม หลวงปู่ทองจึงมีศักดิ์เป็นศิษย์ผู้น้องของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ  หลวงปู่ไปล่ วัดกำแพงอันที่จริงสายวิชาของหลวงพ่อไปล่ส่วนหนึ่งก็สืบทอดมาจากเมืองสมุทรสาคร เนื่องจากท่านเป็นศิษย์ของพ่อเฒ่าเก้ายอด(หลวงปู่นุต) ปรมาจารย์แห่งวัดบางปลาผู้สามารถล่องหนหายตัวได้ นับเป็นผู้วิเศษในตำนานอีกองค์หนึ่ง หลวงปู่นาค วัดสุนทรสถิตก็เช่นกัน  องค์นี้เป็นศิษย์ของหลวงปู่นิ่ม  วัดสุนทรสถิต(วัดอำแพง)สหธรรมิกของหลวงพ่อแก้ว  วัดปากทะเล  ท่านยังเคยสร้างพระกัจจายน์ด้วยผงวิเศษร่วมกับหลวงพ่อแก้วไว้จำนวนหนึ่ง ปัจจุบันยังมีตกทอดอยู่กับคนพื้นที่แถววัดอำแพงโดยเฉพาะในสายบุตรหลานของกำนันเริญ หลวงพ่อรุฬ วัดช้างเผือก เมืองสมุทรสงครามโดยเฉพาะหลวงพ่อรุฬท่านนี้ นับได้ว่าเป็นผู้วิเศษแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง เคียงคู่มากับหลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง

พระไพโรตน์วุฒาจารย์ (หลวงพ่อรุ่ง) วัดท่ากระบือ รูปหลังพระสมเด็จของท่าน

ท่านเป็นอาจารย์ที่สามารถคุมธุดงค์ได้ กล่าวคือในสมัยนั้นหากใครจะไปธุดงค์ต้องไปหาอาจารย์ที่สามารถคุมธุดงค์ ผู้เขียนเคยได้ฟังมาจากหลานศิษย์ของท่าน คือว่า ก่อนจะออกรุกขมูล(ธุดงค์)ไปในป่ายามออกพรรษานั้นจะต้องไปฝากตัวกับอาจารย์ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและเมื่อต้องเผชิญกับภยันตรายครูบาอาจารย์ท่านจะสามารถช่วยผ่อนผันบรรเทาได้ โดยก่อนออกเดินทางอาจารย์จะให้ปักธูปเอาไว้ แล้วจึงเดินทางไป ท่านเล่าว่ามีคราวหนึ่ง พระที่ออกเดินทางไปพบกับน้ำหลาก ไม่สามารถข้ามลำน้ำที่ไหลเชี่ยวได้ จึงได้อธิษฐานถึงหลวงพ่อรุฬ ท่านว่าสักครู่หนึ่ง อยู่ดี ๆ หลวงพ่อรุฬท่านก็เดินมา ในมือถือสายสิญจน์เอาไว้ แล้วท่านก็มายืนที่ทางน้ำอันเชี่ยวกราด เอาสายสิญจน์ที่ถือมาเหวี่ยงข้ามไป แล้วท่านก็บอกให้พระธุดงค์ที่เป็นศิษย์ท่านทั้งหมดเดินตามท่าน ท่านเดินบนสายสิญจน์ข้ามลำน้ำไปพร้อมกับพระทั้งหมดนั้นแล้วท่านก็เดินหายลับไป

About the Author

Share:
Tags: พระ / พระเครื่อง / วัด ประเพณี วัฒนธรรม การละเล่น / ฉบับที่ 69 / หลวงพ่อรุ่ง / วัดท่ากระบือ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ