Sunday, May 5, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป สัมภาษณ์ บทความแนะนำ

วิกฤตเสือโคร่งไทย นักล่าแห่งพงไพรกับเส้นทางของผู้พิทักษ์ “ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ”

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 23
เรื่อง: หทัยทิพย์ หงษ์ชูเกียรติ
ภาพ: สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ, หริส นพรัตน์เขต

วิกฤตเสือโคร่งไทย นักล่าแห่งพงไพร

กับเส้นทางของผู้พิทักษ์
“ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ”

๒๙ กรกฎาคมของทุกปี ถือเป็นวันอนุรักษ์เสือโคร่งแห่งชาติ (International Tiger Day) หรือ วันอนุรักษ์เสือโลก (Global Tiger Day) วันแห่งการย้ำเตือนให้เราได้ตระหนักว่า มนุษย์มีศักยภาพในการให้ความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆบนโลกทุกชีวิต รวมทั้ง ‘เสือโคร่ง’ นักล่าผู้ยิ่งใหญ่ที่กำลังตกอยู่ในวิกฤตแห่งการสูญพันธุ์

เสือโคร่ง (Tiger, Panthera tigris) สัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ ซึ่งในอดีตราวปลายศตวรรษที่ ๑๘ เคยมีกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของโลกนับแสนตัว ผ่านช่วงเวลาอันรวดเร็ว ปี ๒๕๓๖ไซเตส (CITES) ได้ออกมารายงานว่าประชากรเสือโคร่งในโลกลดดิ่งลงมาอยู่ในตัวเลขหลักพัน มีเสือโคร่ง ๓ สายพันธุ์สูญหายไปจากโลก

ซ้ำร้ายยังพบว่าเสือโคร่งจากการเพาะเลี้ยงมีจำนวนมากกว่าเสือโคร่งในธรรมชาติซึ่งสาเหตุแห่งโศกนาฏกรรมนี้มิใช่อื่นใด หากเกิดจากการล่าและการเบียดเบียนพื้นที่ป่าโดยน้ำมือมนุษย์ วิกฤตการณ์หายไปของผืนป่าขนาดใหญ่อันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง ทำให้เส้นทางชีวิตของนักล่าแห่งพงไพรเข้าสู่ความเสี่ยงของสัตว์ซึ่งใกล้สูญพันธุ์ที่สุดอีกชนิดหนึ่งอย่างน่าตกใจ

ตามรอยเสือโคร่งในผืนป่าของเมืองไทย

สำหรับประเทศไทยเคยมีเสือโคร่งกระจายอยู่ในผืนป่าตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วไปแต่ปัจจุบันพบเสือโคร่งกระจายอยู่เฉพาะในกลุ่มป่าที่เป็นพื้นที่คุ้มครองขนาดใหญ่เท่านั้นไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยมีประชากรเสือกลุ่มใหญ่ที่สุดอาศัยอยู่ในผืนป่าตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่ป่าซึ่งถูกประกาศให้เป็นมรดกโลก

ด้วยปัจจัยของห้วยขาแข้งมีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของสังคมพืชและชนิดพันธุ์สัตว์ป่า แหล่งน้ำ รวมถึงเป็นแหล่งอาหารของเหยื่อ จำนวนที่เพียงพอต่อ

นักล่าลายพาดกลอน อีกทั้งห้วยขาแข้งยังมีแนวเขตเชื่อมต่อกับพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ เอื้ออำนวยให้เสือสามารถเคลื่อนที่ขยับขยายได้ไม่ยาก เนื่องจากเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่ต้องใช้ขนาดพื้นที่หากินหรือพื้นที่อาศัยเป็นบริเวณกว้างมาก โดยเฉพาะเสือเพศผู้อาจครอบคลุมอาณาเขตถึง ๒๐๐-๓๐๐ ตร. กม. ต่อเสือหนึ่งตัว ส่วนเพศเมียใช้เพียง ๓๐-๘๐ ตร. กม. ซึ่งแม้จะแตกต่างหลายเท่า ทว่าพื้นที่ป่าสมบูรณ์ขนาดใหญ่ก็ยังจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูอนุรักษ์เสือโคร่งของไทย

สำหรับเสือโคร่งในโลกนั้นมีทั้งหมด ๙สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทยมีอยู่ ๒ ชนิดด้วยกัน คือ เสือโคร่งอินโดจีน และเสือโคร่งมลายู

ระหว่างการติดสัญญาณวิทยุและวัดขนาดของตัวเสือ

การพบกันระหว่างผู้พิทักษ์และนักล่าแห่งผืนป่าตะวันตก

ชื่อของ ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ ดูเหมือนจะเป็นที่คุ้นเคยในวงการอนุรักษ์สัตว์ป่าของประเทศไทย แต่สำหรับคนทั่วไปอาจยังไม่ทราบว่าเขาคือผู้เชี่ยวชาญด้านเสือโคร่ง ที่ทำงานสร้างองค์ความรู้เรื่องเสือโคร่งมากว่า ๒๐ ปี งานวิจัยด้านเสือโคร่งของ ดร.ศักดิ์สิทธิ์และทีมงานช่วยสร้างความกระจ่างให้คนทั่วไปได้เข้าถึงและเข้าใจสัตว์นักล่าที่หลายคนมองว่าดุร้ายและน่าเกรงกลัว ความรู้ที่เคยมืดดำเกี่ยวกับนักล่าแห่งพงไพรปรากฏภาพชัดขึ้นและกลายเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์เสือในบ้านเราที่จะดำเนินต่อไปได้อย่างถูกทิศถูกทาง

“เสือในประเทศไทยมีอยู่ ๙ ชนิด แต่ละตัวมีสถานภาพที่ย่ำแย่หมด สาเหตุหลักคือถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย และเสือโคร่งเป็นสัตว์ที่อยู่ในภาวะเสี่ยงมากที่สุด เพราะว่ามันต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่มาก และพื้นที่ในปัจจุบันถูกแบ่งแยก ถูกเปลี่ยนแปลง ถูกยึดครองโดยมนุษย์เกือบหมด เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะอยู่รอดจึงค่อนข้างยาก ต้องรักษาพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ไว้อย่างเร่งด่วน ซึ่งเมืองไทยก็มีอยู่ไม่กี่แห่ง โดยเฉพาะป่าตะวันตกและดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งยังเป็นความหวังอยู่

เสือโคร่งนักล่าแห่งพงไพรที่ห้วยขาแข้ง

เรารู้กันดีว่าเสือโคร่งเป็นสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ทุกคนคิดว่ามันน่ากลัว แต่ความจริงไม่ใช่มันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง เสือโคร่งในธรรมชาติจะมีชีวิตอยู่ได้ก็ต้องมีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีเหยื่อ และที่สำคัญต้องมีการป้องกันที่ดี เพราะเสือแต่ละตัวมีมูลค่าสูงมาก สำหรับพรานที่มีความเชี่ยวชาญล่าเสือได้ง่ายมาก เรียกว่าสามารถล่าเสือโคร่งออกจากป่าได้ทั้งหมดภายในเวลาไม่กี่ปีเท่านั้น เพราะฉะนั้นการที่เรารักษาเสือโคร่งไว้ได้ หมายถึงคนที่ทำงานนี้จะต้องทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งจริงๆ ถ้าการป้องกันไม่เข้มแข็ง มันก็คือการหมดไปของเสือในประเทศไทย”

จุดเริ่มต้นในการทำงานวิจัยของดร. ศักดิ์สิทธิ์ เริ่มจากการศึกษาสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กก่อนในกลุ่มสัตว์จำพวกชะมด อีเห็น ซึ่งเป็นงานวิจัยที่เริ่มทำในปี ๒๕๓๐ ขณะที่ยังเป็นนิสิตปริญญาโท เมื่อได้บรรจุรับราชการที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในระยะแรกก็ทำงานด้านการป้องกันจับกุมผู้เข้ามาล่าสัตว์ เวลาต่อมาจึงเริ่มทำงานวิจัยอีกครั้งที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ช่วงนี้เองที่ “เสือดาว” ได้เข้ามาในชีวิตเขา ก่อนที่จะออกจากป่ามาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก

“ในการทำงานทำให้ผมมองเห็นชัดเจนว่า ห้วยขาแข้งคือพื้นที่สำคัญในการรักษาพันธุกรรมและความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะสัตว์ในกลุ่มผู้ล่าซึ่งมีกว่า ๘๐% ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้”

การเริ่มต้นในกลุ่มเสือดาวนำไปสู่เสือที่ใหญ่กว่า ปลายยอดแห่งพีระมิดห่วงโซ่ในระบบนิเวศแห่งป่า “เสือโคร่ง”

“ตอนนั้นประเทศไทยยังไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องสัตว์ผู้ล่า เป็นสิ่งใหม่มาก ผมและทีมงานก็เริ่มต้นสร้างองค์ความรู้ เริ่มขยับตั้งแต่สัตว์เล็กๆ ไปจนถึงสัตว์ขนาดใหญ่ ซึ่งในกลุ่มของเสือโคร่งตอนนั้นก็พยายามคิดกันมากว่าจะต้องทำอย่างไร เริ่มจากสิ่งที่เราไม่รู้ คือเริ่มศึกษาจากรอยตีนเสือโคร่งก่อนในช่วงแรกและช่วงนั้นเพิ่งเริ่มมีการใช้กล้องดักถ่ายอัตโนมัติ (Camera Trapping) แต่ราคายังแพงมาก

การวัดขนาดเขี้ยว

เราพยายามศึกษาในสิ่งที่เราทำได้ก่อนการศึกษารอยตีนเสือโคร่งทำด้วยวิธีไม่ซับซ้อนคือทำพื้นที่ที่คิดว่าเสือจะเดินผ่านให้เป็นดินฝุ่นเพื่อวัดขนาด ก็พบว่ารอยตีนเสือโคร่งส่วนใหญ่มีขนาดมากกว่า ๗ ซม. ขึ้นไป ต่อมาก็ศึกษาการทำเครื่องหมาย ซึ่งเป็นวิธีที่เสือใช้สื่อสารถึงกัน คือการพ่นปัสสาวะ (Urine Spraying) และการคุ้ยพื้นดิน (Scarping) เพื่อทำเครื่องหมายอาณาเขต ที่สำคัญคือ พบว่าบนรอยคุ้ยดินเสือโคร่งมักถ่ายมูลเอาไว้ด้วยตรงนี้นี่เองที่เราต่อยอดนำไปสู่การศึกษาอาหารของเสือโคร่ง ซึ่งรู้ได้จากเส้นขนสัตว์ชนิดต่างๆ ในกองมูล และพบว่าอาหารมากกว่า ๘๐% ที่เสือโคร่งกินคือ วัวแดงกระทิง กวาง เก้ง และหมูป่า”

การติดสัญญาณเพื่อการติดตามเสือโคร่ง
เสือดาว สัตว์ผู้ล่าอีกชนิดที่อยู่ร่วมกับเสือโคร่ง (ภาพ: ปริญญา ผดุงถิ่น)
อาหารหลักอันดับ ๑ ของเสือโคร่งคือ วัวแดง
(ภาพ: ปริญญา ผดุงถิ่น)

จากตรงนี้จึงถูกวิเคราะห์ต่อไปว่าทำไมป่าที่สมบูรณ์บางแห่งจึงไม่มีเสือโคร่งอาศัยอยู่ซึ่งนำมาสู่ความเข้าใจของปัญหาพื้นที่ป่าที่มีอยู่จริง แต่กลับไม่มีสัตว์กีบอันเป็นเหยื่ออาหารกลุ่มนี้อาศัยอยู่ เนื่องจากถูกมนุษย์ล่าไปหมด จึงสะท้อนภาพชัดเจนของบรรดาเขาสัตว์ที่ประดับประดาเรียงรายอยู่ข้างฝาบ้านในยุคหนึ่ง เหตุผลนี้เองทำให้กระจ่างว่า แม้คนจะไม่ล่าเสือโคร่งโดยตรง แต่เสือก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากอาหาร

ถามถึงอนาคตเสือโคร่งไทย ‘สดใส’ หรือ ‘ดับวูบ’

จากปี ๒๕๔๗ ดร.ศักดิ์สิทธิ์และทีมงานรวมทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตั้งเป้าหมายของการทำงานไว้ว่าจะต้องประเมินประชากรของเสือโคร่งทั้งหมดในป่าห้วยขาแข้งให้ได้ แม้พื้นที่ป่าจำนวนมหาศาลก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกย่อท้อในการทำงานการตั้งกล้องดักถ่ายเสือให้ได้มากที่สุดหมายถึงการประเมินประชากรเสือที่ถูกต้องและใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนที่ดี โดยอาศัยองคค์ วามรู้ในหลายมิติเกี่ยวกับพฤติกรรมของเสือโคร่ง อาทิ เรื่องขนาดอาณาเขตของเสือซึ่งขึ้นอยู่กับเหยื่อ เสือทุกตัวจะต้องมีพื้นที่เป็นของตัวเอง พื้นที่ของเสือที่โตเต็มวัยแต่ละตัวจะทับซ้อนกันน้อยมาก

ดร.ศักดิ์สิทธิ์และทีมงานในการปฏิบัติหน้าที่ ณ ห้วยขาแข้ง

ดังนั้นจากในอดีตที่เคยมีการประเมินว่าเสือโคร่งในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ ๒๐๐ ตัวนั้น เมื่อได้นำวิธีการและเทคโนโลยีอันทันสมัยเข้ามาใช้ประเมินประชากรเพื่อให้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด จึงพบว่ามีเสือโคร่งอยู่ราว ๑๐๐ กว่าตัวเท่านั้น

รู้Œจักเสือโคร‹ง

แมวยักษ์:

เสื้อจัดอยู่ในวงศ์เดียวกับแมว แต่มีโครงสร้างขนาด ใหญ่ และมีลวดลายเป็นสีส้ม อมน้ําตาล พาดด้วยแถบ หรือริ้วสีดําลายขวางตลอดลําตัว อันเป็นเอกลักษณ์และใช้จําแนกเสือโคร่งแต่ละตัวจุดเด่นอีกอย่างคือตรงหลัง ใบหูจะมีจุดสีขาวแต้มอยู่

สายพันธ์ย่อย ของเสือโคร่ง:

เสือโคร่งอินโดจีน เสือโคร่งมลายู เสือโคร่งบาหลี เสือโคร่งชวา เสือโคร่งแคสเปียน เสือโคร่งเบงกอล เสือโคร่งไซบีเรียน เสือโคร่งจีนใต้และเสือโคร่งสุมาตรา

บ้านใครบ้านมัน:

หมายถึงการมีพื้นที่ครอบ ครองเป็นของตัวเอง และจะมีการป้องกันหากถูกบุกรุกจากเสือตัวอื่น โดยการใช้วิธีหมายอาณาเขต (Scent Marking) เช่น การพ่นปัสสาวะ การคุ้ยพื้นดินเป็นต้น

ชอบกลางคืนมากกว่ากลางวัน:

เรียกว่ามักออกหากินในช่วงหัวค่ําหรือรุ่งสาง แต่ก็สามารถล่าเหยื่อในตอน กลางวันได้เช่นกัน

หน้าที่ในธรรมชาติ:

บทบาทที่สําคัญของเสือโคร่งก็คือการรักษาควบคุมประชากรสัตว์กีบ การคัดเลือกพันธุกรรมที่ดีของสัตว์ที่เป็นเหยื่อ (เสือจะเลือกเฉพาะเหยื่อที่อ่อนแอและหมดความจําเป็นในระบบนิเวศแล้ว) และสุดท้ายคือเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า

ภัยคุกคามชีวิต:

การล่าและการค้าสัตว์ป่าการบุกรุกป่า รวมถึงการลดลง ของเหยื่อ

สอนภาพทางกฎหมาย:

เสือถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ และเป็นสัตว์ชนิดพันธุ์ในบัญชี ๑ ของ CITES

ดร.อัจฉรา ซิ้มเจริญ กลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๒ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช รับผิดชอบงานเรื่องนิเวศวิทยาเสือโคร่งในผืนป่าตะวันตก
นายสมพร พากเพียร กลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๒ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชรับผิดชอบงานเรื่องนิเวศวิทยาเหยื่อของเสือโคร่งในผืนป่าตะวันตก

“ถ้าเรารักษาเสือไว้ได้ เราก็จะรักษาสัตว์อื่นๆ ไว้ได้ เพราะพื้นที่ของเสือก็คือพื้นที่ของสัตว์ขนาดเล็กไปถึงใหญ่ชนิดต่างๆ ด้วยทำไมผมจึงบอกว่าป่าผืนใหญ่คือธนาคารแห่งพันธุกรรม การที่มีเสืออยู่ได้ก็จะต้องมีสัตว์ที่เป็นเหยื่อของมัน ถ้าเราต้องการรักษาเสือไว้ที่แน่ๆ คือต้องรักษาป่าผืนใหญ่ ก็คือการรักษาธนาคารแห่งพันธุกรรมเอาไว้”

ดร.ศักดิ์สิทธิ์อธิบายเพิ่มเติมว่า ภายในพื้นที่ป่าห้วยขาแข้งยังสามารถรักษาประชากรเสือโคร่งไว้ได้อย่างสม่ำเสมอคือความหวังที่เป็นไปได้ อีกทั้งยังเกิดนิมิตหมายที่ดีของสถานการณ์เสือโคร่งในไทย เมื่อป่าบางแห่งที่เสือโคร่งเคยหมดไปแล้ว ได้มีเสือกลับเข้ามาอาศัยอยู่ กรณีอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมาป่าแม่วงก์ไม่มีเสืออาศัยอยู่ เคยพบเฉพาะตามรอยตะเข็บระหว่างห้วยขาแข้งกับแม่วงก์ ภายในระยะเวลาอันสั้น เมื่อการป้องกันไม่ให้มีการล่าเป็นไปอย่างเข้มงวด ผลลัพธ์เป็นที่น่ายินดีก็คือพบว่าเสือโคร่งกลับเข้ามาที่ป่าแม่วงก์และอาศัยอยู่ที่นั่น ซึ่งเป็นการย้ำเตือนให้เห็นได้ชัดว่า ประเด็นเสือโคร่งกับการป้องกันเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด ดังนั้นเป้าหมายต่อไปในงานอนุรักษ์เสือโคร่งในไทยก็คือ การเพิ่มประชากรของเสือโคร่งให้ได้

“ด้วยการฟื้นฟูรักษาวันนี้ที่เรามองเห็นชัดก็คือ ป่าตะวันตกจะต้องเพิ่มประชากรเสือให้ได้ แหล่งที่สองคือดงพญาเย็นและเขาใหญ่ซึ่งที่เขาใหญ่เสือโคร่งหมดไปแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้เสือกลับมา พื้นที่หลายแห่งก็ยังมีศักยภาพอยู่ อย่างเช่น ภูเขียว น้ำหนาวทำอย่างไร…ให้เสือกลับมา ทำอย่างไร…ให้คนหรือชุมชนช่วยกันลดการใช้ประโยชน์จากป่าในพื้นที่นั้นๆ ต้องช่วยกันทำคำว่า ‘คนอยู่ได้สัตว์อยู่ได้’ ให้เป็นความจริงมากกว่าเป็นเพียงคำพูดเท่านั้น”

ภาพรวมของเสือโคร่งในไทยเมื่อเทียบกับอดีตจึงมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากครั้งหนึ่งที่แทบมองไม่เห็นแสงแห่งปลายทาง ปัจจุบันคนในสังคมเริ่มเข้าใจและสนใจการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น เมื่อพูดถึงเสือโคร่งกับป่า คนเริ่มมองเห็นเป็นภาพความอุดมสมบูรณ์ในระบบนิเวศ เริ่มให้ความสำคัญในการมีอยู่ของเสือโคร่งในธรรมชาติ ซึ่งนับว่าเป็นทิศทางที่ดี

นายสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชรับผิดชอบงานการประเมินและติดตามประชากรเสือโคร่งในผืนป่าตะวันตก

การอนุรักษ์เสือ คือการรักษา ความมั่นคงทางอาหารของ มนุษย์ในอนาคต

“เสือเป็นเครื่องมือในการรักษาป่า เราไม่ได้รักษาเสือเพราะเสือใกล้จะสูญพันธุ์เท่านั้น เพราะถ้ารักษาเสือไว้ได้ เสือย่อมไม่สูญพันธุ์แต่ทําอย่างไรให้คนไทยมองเห็นความสําคัญ ว่าการอนุรักษ์เสือในธรรมชาติไม่ใช่เรื่องไกล ตัวเลย การอนุรักษ์เสือคือการรักษาความ มั่นคงทางอาหารของมนุษย์ในอนาคต เพราะ เราสามารถรักษาฐาทรัพยากรธรรมชาติไว้ ได้ เราจะมีธนาคารแห่งพันธุกรรม และผมจะ บอกอย่างไรว่า ทรัพยากรน้ําที่เมืองใหญ่ใช้อยู่ มาจากป่าตะวันตก สิ่งนี้คือตัวชี้วัดความสําเร็จ ที่เราจับต้องได้ การรักษาเสือคือ การรักษาป่า ถ้าเรารักษาเสือไม่ได้ ป่าอาจจะยังคงอยู่หรือ ไม่อยู่ แต่การมีเสือนั่นหมายถึงป่าจะต้อง สมบูรณ์แน่ๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องน้ํา สภาพอากาศ ปอดของเมืองไทย ปอดของโลก หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติ เสืออาจเป็นสิ่ง สุดท้ายที่ทําให้เรามองเห็นภาพชัดว่า ถ้าเรารักษาเสือไว้ได้ นั่นคือการรักษาฐานทรัพยากร ไว้ได้แน่นอน”

และ ดร.ศักดิ์สิทธิ์กล่าวทิ้งท้ายไว้สั้นๆ ทว่ามีความหมายลึกซึ้งว่า

“การรักษาเสือโคร่งไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ของโลก เป็นเรื่องที่ดีทั้งหมด เพราะว่า… คือการรักษาผืนป่าขนาดใหญ่ของโลกใบนี้”

รู้จัก ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ

ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซุ้มเจริญ นักวิชาการป่าไม้ชํานาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สํานักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ประสบการณ์ทํางาน

พ.ศ. ๒๕๓๓ – ๒๕๓๖
หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่ากะปุกกะเปียง และหัวหน้างานวิชาการ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

พ.ศ. ๒๕๓๖ – ๒๕๔๐
หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรํา

พ.ศ. ๒๕๔๓ – ๒๕๔๗
หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง

พ.ศ. ๒๕๔๗ – ๒๕๕๑
หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรํา

พ.ศ. ๒๕๕๑ – ๒๕๕๓
ผู้อํานวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑ ๒

พ.ศ. ๒๕๕๓ – ๒๕๕๙
หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ ๑๒

พ.ศ. ๒๕๕๙ – ปัจจุบัน
หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สํานักอนุรักษ์สัตว์ป่า

ผลงานวิจัยเกี่ยวกับเสือโคร่งและเสือดาว

พ.ศ. ๒๕๔๑
Meta population structure of Tiger in Thailand

พ.ศ. ๒๕๕๐
How many tigers Panthera tigris are there in Huai Kha Khaeng Wildlife sanctuary Thailand? An estimate using photographic capture sampling.

พ.ศ. ๒๕๕๐
Ecology of Leopard in Huai Kha Khaeng wildlife Sanctuary, Thailand

พ.ศ. ๒๕๕๑
Home range size and daytime habitat selection of leopards in Huai Kha Khaeng Wildlife Sanctuary, Thailand

พ.ศ. ๒๕๕๑
การศึกษาขนาดร่างกาย และรอยตีนของเสือโคร่งและเสือดาวในธรรมชาติ

พ.ศ. ๒๕๕๕
“เสือ NOW OR FOREVER”

อาจารย์พิเศษ

อาจารย์พิเศษคณะบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

About the Author

Share:
Tags: ฉบับที่ 23 / เสือ / เสือโคร่งไทย / อนุรักษ์สัตว์ป่า / ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ / Environment / วันอนุรักษ์เสือโลก / ธรรมชาติ / Global Tiger Day / สิ่งแวดล้อม / สัตว์ / สัตว์ป่า / ป่า /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ