Saturday, May 18, 2024
ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

ลอดลายกระเบื้องเคลือบ

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 23
เรื่อง/ภาพ: ธีรภาพ โลหิตกุล

ลอดลาย

กระเบื้องเคลือบ

ประติมากรรมปูนปั้น ภาพประดับกระจกสีไม้แกะสลัก ตลอดจนภาพจิตรกรรมเพดานและฝาผนัง นับเป็นรูปแบบของงานพุทธศิลป์ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างศรัทธาและแรงจูงใจให้พุทธศาสนิกชนเข้าวัดไปทำบุญ และศึกษาเรียนรู้สัจธรรมคำสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ศิลปะประดับกระเบื้องถ้วยเคลือบสีและตุ๊กตาศิลาจีน “ลั่นถัน” ที่ซุ้มประตูวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ

ทว่ายุคสมัยหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์โดยเฉพาะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เครื่องปั้นดินเผาเคลือบสีต่างๆ หรือกระเบื้องถ้วยเคลือบสีแบบจีน นับเป็นวัสดุที่มีบทบาทโดดเด่นในการนำมารังสรรค์งานพุทธศิลป์ตามวัดวาอารามจำนวนมากที่สร้างขึ้นหรือปฏิสังขรณ์ในรัชสมัยนี้ ดังปรากฏในจดหมายเหตุ การปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ตอนหนึ่งว่า…

“ภายนอกพระระเบียงชั้นนอก สร้างพระเจดีย์ ๗๑ องค์ สูง ๓ วา ๒ ศอก ฐานเขียงประดับกระเบื้องถ้วยเคลือบสี”

ศิลปะประดับกระเบื้องถ้วยเคลือบสีเป็นศิลปะพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

กลวิธีการประดับกระเบื้องดังกล่าวมีทั้งที่เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมเขียนลวดลายรูปดอกไม้และนกต่างๆ ใช้ตกแต่งผนังพระอุโบสถ วิหารและกำแพง และแบบที่เป็นกระเบื้องถ้วยหลากสีสันทั้งใบ ประดับหน้าบันพระอุโบสถพระเจดีย์ พระวิหาร

อาทิ หน้าบันพระอุโบสถวัดจำปาเขตตลงิ่ ชนั กรงุ เทพมหานคร เปน็ ปูนป้นั ลายเครือเถา โดยใช้เครื่องถ้วยประดับเป็นรูปดอกไม้บางดอกใช้เครื่องถ้วยหลายใบ แต่บางดอกก็ใช้เครื่องถ้วยเคลือบขนาดใหญ่ใบเดียว แถมมีปูนปั้นรูปกระรอก กระแต ปักษา และวานรตัวน้อยซ่อนแทรกไว้อย่างมีเสน่ห์ สะท้อนถึงความซุกซนทางศิลปะของช่างท้องถิ่นสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

การผสมผสานศิลปะกระเบื้องเคลือบแบบจีนกับศิลปะ “บาโรก โทรฟี” ของฝรั่งอันน่าทึ่ง

แต่ที่สร้างสีสันเป็นพิเศษ คือการประดับกระเบื้องแตกซึ่งถือเป็นลายกระบวนจีนแบบหนึ่ง ทำเลียนแบบแผ่นกระเบื้องแตกเป็นชิ้นย่อยๆด้วยการตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาเรียงร้อยเป็นลวดลายพรรณพฤกษาอย่างวิจิตรตระการตา อาทิ ซุ้มประตูภายในวัดพระเชตุพนฯ ซึ่งมีตุ๊กตาศิลาจีนแต่งกายแบบฝรั่งบ้าง แบบนักรบจีนบ้าง ขนาดสูงใหญ่ยืนขนาบข้างละตัว เพื่อทำหน้าที่ปกป้องสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามากรายกล้ำ เรียกกันว่า “ลั่นถัน” คล้าย “ทวารบาล” หรือผู้รักษาประตูในคติพราหมณ์-ฮินดู

ศิลปะบาโรกถ่ายเทสู่สังคมไทยในช่วงรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๕ และบางกรณีก็มีการนำเอาคติการตั้ง “ปูรณฆฏะ” กับ “บาโรก โทรฟี” มาผสมกลมกลืนกันเสียเลย

ศิลปะประดับกระเบื้องถ้วยเคลือบสี เป็นศิลปะพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เครื่องถ้วยประดับเป็นรูปดอกไม้ ที่หน้าบันพระอุโบสถวัดจำปา

ทว่าบางซุ้มประตูภายในวัดพระเชตุพนฯ มีงานประดับกระเบื้องแตกเป็นรูปลักษณ์แปลกตา แลคล้ายแจกันดอกไม้ ชวนให้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็น “ปูรณฆฏะ” (ปู-ระ-นะ-คะ-ตะ) แปลว่าหม้อดอกไม้แห่งความรุ่งเรืองไพบูลย์ สัญลักษณ์มงคลที่นิยมมากในคติอินเดีย และส่งอิทธิพลถึงมอญ พม่าล้านนา และล้านช้าง

ทว่าในเรื่องนี้ รศ. ดร. เชษฐ์ ติงสัญชลีผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีแห่งคณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ทัศนะว่า งานประดับกระเบื้องแตกรูปแจกันดอกไม้เหนือซุ้มประตูในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ นี้ น่าจะได้รับอิทธิพลจากศิลปะ “บาโรก โทรฟี” (Baroque Trophy) ของชาวตะวันตก ที่นิยมนำถ้วยรางวัลมาตั้งโชว์บนหลังคา โดยพัฒนามาจากการนำของที่ระลึก หรืออาวุธที่ยึดได้จากข้าศึกมาตั้งโชว์มากกว่า ซึ่งหากเป็นไปตามข้อวิเคราะห์นี้ เท่ากับเป็นการผสมผสานศิลปะกระเบื้องเคลือบแบบจีนกับศิลปะบาโรกของฝรั่งอย่างน่าทึ่งในความคิดสร้างสรรค์ของช่างไทยสมัยรัชกาลที่ ๓ ยิ่งนัก

ทั้งนี้ ศิลปะบาโรกถ่ายเทสู่สังคมไทยในช่วงรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๕ และบางกรณีก็มีการนำเอาคติการตั้ง “ปูรณฆฏะ” กับ “บาโรก โทรฟี” มาผสมกลมกลืนกันเสียเลยเช่น ประติมากรรมประดับซุ้มประตูและกำแพง วัดมหาวัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ลวดลายประดับกระเบื้องถ้วยเคลือบสี ที่มณฑป วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ
ศิลปะประดับกระเบื้องถ้วยเคลือบสี มณฑปพระพุทธบาท วัดอมรินทรารามวรมหาวิหาร
ครุฑยุดนาค ศิลปะประดับกระเบื้องถ้วยเคลือบสี

อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่าศิลปะกระเบื้องถ้วยเคลือบสีแบบจีนเป็นศิลปะพระราชนิยมในรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ประดับโดดเด่นให้เห็นในหลายวัดที่สร้างขึ้นใหม่ หรือปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นอกจากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ และวัดจำปาแล้ว ยังปรากฏที่วัดอมรินทรารามวรมหาวิหารวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร รวมถึงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นอาทิ

บ่งบอกถึงเนื้อแท้ของสังคมไทย ที่เป็น “พหุวัฒนธรรม” หรือสังคมผสมผสานหลากหลายวัฒนธรรมเข้าด้วยกันอย่างแนบสนิทและงดงามตระการตา


เอกสารอ้างอิง
๑. พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๓๒
๒. ปรัชญา ปานเกตุ. ศัพทานุกรมวัฒนธรรมไทย. กรุงเทพฯ: พิมพ์คำ, ๒๕๕๘
๓. วิบูลย์ ลี้สุวรรณ.พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรมไทย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, ๒๕๕๙

About the Author

Share:
Tags: วัด / วัด ประเพณี วัฒนธรรม การละเล่น / ฉบับที่ 23 / กระเบื้องเคลือบ / กระเบื้อง /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ