Monday, May 6, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

สุนทราภรณ์ …ถึงห่างแสนไกล ยังติดหัวใจมิเลือน…

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 66
เรื่อง: เจนจบ ยิ่งสุมล
ภาพ: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

1

เสียงปรบมือดังสนั่น…ก้องกึก เมื่อดวงไฟในโรงภาพยนต์โอเดียนค่อยๆหรี่แสงลงทีละดวงๆ

ม่านเวทีถูกเปิดออก ไฟสปอต์ไลท์ทุกดวงฉายฉานจับไปที่เวทีเบื้องหน้า พร้อมกับเสียงดนตรีบรรเลงเพลงเปิดวง เพลงพระมหามงคลดังกระหึ่มกึกก้องกังวานไปทุกทิศทุกทางนักดนตรีเกือบ 20 ชีวิต ใส่ชุดสูทผูกหูกระต่าย หวีผมเรียบแปล้ เล่นเครื่องดนตรีของเขาอย่างทรนงงามสง่า ไพเราะจับจิตโน้ตทุกตัว ที่ล่องลอยออกมาจากเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น เต้นระรี้ระริกราวกับมีชีวิตจิตวิญญาณ ที่สัมผัสได้อย่างระรื่นในโสตประสาทของผู้ฟัง

สุภาพบุรุษหนุ่มใหญ่ ใส่แว่นสีชา ยืนเด่นเป็นสง่าอยู่หน้าวง เขากำลังสีไวโอลินอย่างเพลินเพลิด สลับกับการทำหน้าที่ควบคุมวงอย่างจริงจัง ทุกอริยบทแผ่วพลิ้วงามงด เสมือนนกกระสากำลังเริงระบำบนยอดปลายของสายลม จบเพลง…เสียงปรบมือกังวานก้องขึ้นอีกครั้ง คราวนี้ยาวนานกว่าเดิม เขาค้อมหลังโค้งคำนับให้ผู้ชมผู้ฟังของเขาอย่าง เสมือนที่เป็นมาทุกครั้งคราว

นักร้องสาวในชุดราตรีเพริศแพร้วแพรวพราว เดินออกมาจากหลีบหลืบด้านซ้ายแล้วบทเพลงไพเราะ อันเป็นอมตะก็กังวานก้องขึ้นมาอีกคำรบ เสียงปรบมือต้อนรับ ดังไม่แพ้กันหลากหลายบทเพล.สลับพ้นผ่านไปด้วยความประทับจิต และประทับใจ แล้วมาถึงบทเพลงสำคัญ ที่หัวหน้าวงต้องขับขานเอง

“ก่อนจากกัน คืนนั้นสองเรา แนบซบเนาเคล้าคลอพ้อพรอดภิรมย์ หวานล้ำบำเรอ เธอให้ชิดชม ฉันกอดเล้าโลม ชื่นใจ

จูบแก้มนวล ช่างยวนเย้าตรึง
จิตคะนึงถึงวันรักซ่านฤทัย  หอมหวลนวลปราง มิสร่างหายไป

ถึงห่างแสนไกล ยังติดหัวใจมิเลือน…”

เพลง”ขอให้เหมือนเดิม”เพลงนี้ คือบทเพลงอมตะหนึ่งในหลายพันบทเพลง ของวงสุนทราภรณ์ วงดนตรีที่ในอดีตมีชื่อเสียงโด่งดังคับฟ้าไปทั่วทั้งประเทศ

จวบจนกระทั่งวันนี้ สุนทราภรณ์ ก็ยังคงความเป็นอมตะเป็นวงดนตรีที่ไม่มีวันตาย ไปจากเมืองไทย ผ่านยุคสมัย

แม้จากจุดกำเนิดเกิดก่อ ผ่านพ้น พ.ศ.มากมายมาจนถึงวันนี้ จะเป็นเวลามากกว่า 84 ปี แล้วก็ตาม “บทเพลงล้ำค่า” เปรียบเสมือน “อนุสาวรีย์ที่งามสง่า” ของผู้ที่สรรสร้างมันขึ้นมาประทับประดับไว้เพื่อจรรโลงโลก และความสุนทรีย์แห่งอารมณ์เพลงของสุนทราภรณ์ ฟังครั้งใด หรือไม่ว่ากี่ร้อยกี่พันครั้งนอกจากความชื่นใจอันมีคุณค่าแล้วมโนภาพล้ำลึกแห่งอดีต ย่อมพรายผุดเพริศแพร้ว

ย้อนระยับกลับไปในยุคก่อน พ.ศ. 2500 ภาพของสุภาพบุรุษหนุ่มใหญ่ ที่ยืนงามสง่าสีไวโอลิน สลับกับการเป็นผู้ควบคุมวง อยู่หน้าวงดนตรีวงนั้น คือ สัญลักษณ์สำคัญของสุนทราภรณ์มาโดยตลอด “เอื้อ สุนทรสนาน” ชายผู้ให้กำเนิดวงสุนทราภรณ์ชายผู้เป็นดุริยคีตกวี 4 แผ่นดินใน

20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482

ประวัติศาสตร์ จดจารึกไว้ว่า เป็นวันที่วงดนตรีสุนทราภรณ์ แจ้งเกิดถือกำเนิดขึ้นในดุริยพิภพของเมืองไทย และเป็นวันเดียวกับที่มีการสถาปนากรมโฆษณาการ (ชื่อเดิมของกรมประชาสัมพันธ์)

เนื่องจากทางกรมฯ ได้จัดตั้งวงดนตรีประจำกรมโดยการผลักดันของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ วงดนตรีวงนั้นมี “ครูเอื้อ สุนทรสนาน” เป็นหัวหน้าวง ครูเวส สุนทรจามร เป็นผู้ช่วย ร่วมด้วยนักดนตรี ฝีมือชั้นบรมครู เช่น ครูสมพงษ์ ทิพยะกลิน, ครูสริ ยงยุทธ, ครูเจษฎา เดชอุดม เป็นต้น

ต่อมาวงดนตรีกรมโฆษณาการ ได้เปิดรับสมัครนักร้องรุ่นแรกรุ่นก้นกุฎิ เพิ่มเติมมาเสริมวงประกอบไปด้วย มัณทนา โมรากุล, รุจี อุทัยกร นักร้องชายคนแรก คือ ล้วน ควันธรรม และ สุภาพ รัศมิทัศ

หนึ่งปีผ่านไป จึงรับนักร้องเพิ่มขึ้นมาอีก คือ ชวลี ช่วงวิทย์, สุปาณี พุกสมบุญ, เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, วินัย จุลละบุษปะ และ เลิศ ประสมทรัพย์

สำหรับนักแต่งเพลง ชมี ครูเอิบ ประไพเพลงผสม, ครูนารถ ถาวรบุตร, ครูแก้ว อัจฉริยะกุล, และ ครูสุรัสน์ พุกกะเวส เข้ามาร่วมสร้างเพลงให้กับวง บทเพลงในระยะแรก มักจะเป็นเพลงแนวปลุกใจ ให้รักชาติ

จนกระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่าง พ.ศ.2484-2488 กิจกรรมความบันเทิงต่างๆในเมืองไทย พุ่งลงสู่ยุคตกต่ำเพราะผลพวงของไฟสงคราม โดยเฉพาะการฉายภาพยนตร์ต่างประเทศ

วงดนตรีของกรมโฆษณาการจึงได้มีโอกาสออกแสดงให้ประชาชนได้ชมแทนความบันเทิงอื่นๆ โอกาสนี้จึงเป็นเสมือนประตูทอง ที่เปิดออกให้คนไทยได้รู้จักวงดนตรีวงนี้เพิ่มมากขึ้น

ชื่อวงสุนทราภรณ์ ถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลานั้น เนื่องจาก อาจารย์ประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง ซึ่งสนิทสนมกับครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้นำคำ “สุนทร” จากนามสกุล “สุนทรสนาน” มาบวกกับ “อาภรณ์” อันเป็นชื่อของสตรีผู้เป็นที่รักของ ครูเอื้อ จึงได้คำว่า “สุนทราภรณ์”ขึ้นมา

หลังปี พ.ศ.248 สงครามยุติ การแสดงละครเวทีได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทางสุนทราภรณ์ก็มีงานละครเวทีเช่นกัน เรื่องแรกที่แสดงคือเรื่อง “จุฬาตรีคูณ”

ปี 2491 วงสุนทราภรณ์ได้นักแต่งเพลงเพิ่มเติมเช่น ธนิต ผลประเสริฐ, วิชัย ธาตรี, และชอุ่ม ปัญจพรรค์ ส่วนนักร้องมี พูลศรี เจริญพงษ์ ศรีสุดา รัชตวรรณ สมศักดิ์ เทพานนท์ และวรนุช อารีย์

จนถึงประมาณปี 2495 ความนิยมในการลีลาศ มีกระแสมาแรงขึ้น ทำให้สุนทราภรณ์ ซึ่งมีผลงานเพลงทุกจังหวะ และมีการบรรเลงที่ได้มาตรฐาน เป็นที่รู้จักมากขึ้น และได้ชื่อว่า เป็นราชาของเพลงลีลาศวงเดียวของเมืองไทย

กาลต่อมา พล.ท. ม.ล.ขาบ กุญชร อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ในขณะนั้น ได้มอบนโนบายให้ทางวงสุนทราภรณ์ นำทำนองเพลงไทยเดิมมาปรับใส่เนื้อร้องใหม่ โดยให้บรรเลงร่วมกันระหว่างดนตรีไทยเดิมและไทยสากล โดยเรียกชื่อการบรรเลงแบบนี้ว่า “สังคีตสัมพันธ์” ในระยะนี้ทางวงมีนักร้องเพิ่ม คือ พิทยา บุญรัตพันธ์ และ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

ปี 2498 นักร้องดาวรุ่งพุ่งแรง รวงทอง ทองลั่นธม เข้าร่วมงานกับวงดนตรีสุนทราภรณ์ และช่วงนี้นับได้ว่าวงได้รับความนิยมอย่างมากมีการแสดงประจำทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม และมีเพลงที่โด่งดังไปทั่วประเทศ คือเพลงขวัญใจเจ้าทุย และสวัสดีบางกอก

ต่อมาปี 2502 วงดนตรีสุนทราภรณ์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานเพลงไตเติลประจำวงคือเพลง “พระมหามงคล” เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีของวง ซึ่งครูเอื้อ สุนทรสนานได้อัญเชิญมาเป็นเพลงเปิดวงนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา หลังจากนั้น จึงก้าวเข้าสู่ยุคดาวรุ่งพรุ่งนี้

ต่อมาวงสุนทราภรณ์ มีนักร้องเข้ามาเสริมทัพอีกเป็นจำนวนมากเช่น บุษยา รังสี, มาริษา อมาตยกุล, ศรวณี โพธิเทศ, รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส, บรรยง เสลานนท์, อโศก สุขศิริพรฤทธิ์, สมคิด เกษมศรี ธรรมรัตน์ นวะมะรัตน์ และนพดล ชาวไร่เงิน ส่วนนักแต่งเพลงมีเพิ่มขึ้นอีกหลายคน เช่นศรีสวัสดิ์ พิจิตวรการ, พรพิรุณ, เล็ก โตปาน อาจินต์ ปัญจพรรค์, ทวีปวร และสวัสดิ์ ธงศรีเจริญ

ยุคนี้ได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของสุนทราภรณ์อีกวาระหนึ่ง ถึงกับมีคำกล่าวในวงการแผ่นเสียงไว้ว่า แผ่นเสียงดาวรุ่งพรุ่งนี้ของสุนทราภรณ์วางตลาด 10 ชุด แต่ฮิทติดอันดับล่วงหน้าไปแล้วถึง 12 ชุด

ไม่มีวงดนตรีวงไหน หาญกล้าขึ้นมาเทียบชั้นสุนทราภรณ์ได้อีกต่อไป

ในปี 2512 ซึ่งเป็นปีครบรอบ 30 ปี ของวง ก่อนที่ครูเอื้อจะเกษียณอายุราชการจากกรมประชาสัมพันธ์ ท่านได้ก่อตั้ง โรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรีขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน

เพื่อฝึกหัดนักร้อง นักดนตรีรุ่นใหม่ “เพื่อให้ร้องและบรรเลงเพลงของสุนทราภรณ์ได้อย่างมีคุณภาพที่สุด” อันเป็นจุดกำเนิดของนักร้องยุคปัจจุบันของวง ได้แก่ บรรจงจิตต์ พัฒนาสันต์, พรศุลี วิชเวช, สุพรรณิกา ฉายาพรรณ, เจือนศักดิ์ น้อยสุวรรณ, ทิพรักษ์ แสงเงิน และรัชตพันธ์ พงศบุตร เป็นต้น

หลังจากครูเอื้อถึงแก่กรรมในปี 2524 บุตรสาวคือ คุณอติพร และหลานชายคือ คุณพูลสุข สุริยะพงษ์รังษี ได้ดำเนินการสานต่อเจตนารมณ์ของครูเอื้อ ในอันที่ให้โรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรีผลิตนักร้องนักดนตรีให้กับวงดนตรีสุนทราภรณ์เพื่อเป็นต้นแบบของการบรรเลงเพลงสุนทราภรณ์ต่อไป

2


วันที่ 21 มกราคมพ.ศ. 2453 เด็กชายบุญเอื้อ ได้ถือกำเนิดขึ้น ที่ตำบลโรงหวี อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ภายในครอบครัวของ นายดี และ นางแส บิดาครูเอื้อมีอาชีพเป็นช่างแกะสลักหนังใหญ่ พี่ชายท่าน ชื่อ “อาบ สุนทรสนาน”รับราชการเป็นคนพากษ์โขนในกรมมหรสพ กระทรวงวัง ต่อมาได้บรรดาศักดิ์เป็น หมื่นไพเราะพจมาน


เด็กชายบุญเอื้อเป็นลูกคนสุดท้อง จากพี่น้องทั้งหมด 3 คน นอกจาก มีพี่สาวชื่อปาน สุนทรสนาน ชื่อ”บุญเอื้อ” นั้นถูกใช้เรียกมาตั้งแต่เกิดจนย่างเข้าวัยหนุ่ม คำว่า “บุญ” จึงถูกตัดทิ้งไปครูเอื้อเข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนในจังหวัดสมุทรสงคราม ต่อมาได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯอยู่กับพี่ชายคือ หมื่นไพเราะพจมาน
ท่านเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดระฆังโฆษิตาราม จนจบชั้นประถม3


ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวงขึ้นที่สวนมิสกวัน ถนนราชดำเนิน

ครูเอื้อถูกพี่ชายส่งเข้าศึกษาต่อเป็นนักเรียนประจำ …ที่นี่เอง ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะวิชาดนตรีให้แก่ครูเอื้อในเวลาต่อมา เพราะตอนเช้าท่านจะเรียนหนังสือวิชาสามัญในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ที่สวนมิสกวัน พอตอนบ่ายไปเรียนวิชาดนตรีที่สวนจิตรลดา

ครูเอื้อได้ครูและรุ่นพี่ที่มี่ความชำนาญทางดนตรีช่วยแนะนำสั่งสอนให้หลายคน อาทิ อาจารย์มนตรี ตราโมท, เจษฎา เดชอุดม, โฉลก เนตรสูตร ที่สอนวิชาสีไวโอลินให้ท่าน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวมาตลอดชีวิต
ครูเอื้อเรียนไวโอลินครึ่งวัน เรียนวิชาสามัญครึ่งวันได้เพียงปีแรก คุณหลวงเจนดุริยางค์ (บรรดาศักดิ์ในตอนนั้น) เห็นแววของนักดนตรีอนาคตไกล จึงมุ่งฝึกวิชาดนตรีให้อย่างเต็มที่ และให้ครูเอื้อเรียนวิชาดนตรีทั้งวันโดยไม่ต้องเรียนวิชาสามัญ


ครูเอื้อมีฝีมือเก่งกล้าพอที่จะเข้าร่วมวงซิมโฟนีได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ท่านผู้หญิงประจวบ ซึ่งเป็นภริยาเจ้าพระยารามราฆพ และเป็นน้องสาวของคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ให้คนมาตามครูเอื้อไปพบ เนื่องจากเห็นเป็นเด็กแต่เข้าร่วมวงเล่นดนตรีได้ดี จนประทานเงินรางวัลให้ 1 บาท ซึ่งในสมัยนั้นมีค่ามหาศาล

ครูเอื้อ เล่นไวโอลินในวงซิมโฟนีจนคุณพระเจนดุริยางค์เห็นแววว่ามีความชำนาญดีแล้ว ประกอบกับช่วงนั้นเป็นช่วงที่จะมีการจัดรายการหัสดนตรีขึ้นทางวิทยุกระจายเสียง ครูเอื้อจึงหันไปจับแซกโซโฟน แล้วก็ได้ความรู้ด้านเป่าแซกโซโฟนเพิ่มขึ้นอีกวิชาหนึ่ง

พระเจนดุริยางค์ท่านสั่งห้ามครูเอื้อ ไม่ให้ไปเล่นเพลงแจ๊สเด็ดขาดเพราะจะทำให้เทคนิคการเล่นไวโอลินเสีย ถึงเพลงไทยเดิมก็ ถูกห้ามด้วย ท่านว่าจะทำให้ “หูเสีย”
ครูเอื้อท่านเชื่อคุณพระเจนฯผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี ก็เลยมุมานะเล่นแต่เพลงคลาสสิคเป็นหลัก แล้วแอบ เล่นเพลงแจ๊สเป็นงานอดิเรก

ครูเอื้อเคยเล่าให้ฟังว่า ถึงช่วงสำคัญในชีวิตว่า
“เมื่ออยู่กรมศิลปากร ผมยังรักคลาสสิคอยู่ เล่นดนตรีแจ๊สเป็นงานอดิเรก จนกระทั่งครั้งหนึ่งนับเป็นครั้งสำคัญ ตอนนั้นมีการประชุมสภาผู้แทนเป็นครั้งแรก พอประชุมเสร็จมีการเลี้ยงอาหาร และมีดนตรี 2 วง มาบรรเลงวงใหญ่เล่นที่สนาม อีกวงบรรเลงชั้นบน เพราะผู้กินเลี้ยงชั้นบนมีการลีลาศด้วย…พอดีฝนตก มีคนหนึ่งวิ่งฝ่าฝนมาหาบ๋อย ผมจำได้จนบัดนี้ เขาบอกบ๋อยว่า ดนตรีข้างล่างคือวงคลาสสิค ไม่มีน้ำกิน ให้ช่วยจัดน้ำให้ด้วย

บ๋อยบอกว่าเดี๋ยวจะเอาไปให้ ตอนนี้ยังไม่ว่างและฝนตกด้วย ไม่มีคนไป ผมก็ได้คิด วงคลาสสิคนี่เป็นขนาดนี้ กินข้าวแล้วไม่มีน้ำกิน ไม่มีใครเอาใจใส่ วงแจ๊สถึงแม้ว่าเป็นวงที่มีฐานะด้อยกว่า แต่มีอาหาร มีน้ำ สุราอาหารครบครัน

ผมนึกย้อนไปอีก คุณหลวงสุขุมฯเคยชวน “มาเล่นดนตรีแจ๊สกันเถอะ หาเงินได้ง่าย”

ผมตัดสินใจในนาทีนั้นว่าเราเล่นเพื่ออาชีพ และเล่นง่ายกว่า คนก็ชอบ ถ้าขืนเล่นคลาสสิคต่อไปเห็นจะไม่รอด มีหวังอดตายแน่….”

ความสามารถของครูเอื้อในครั้งที่เรียนวิชาดนตรีนั้น มีชื่อเสียงระบือไกล ทั้งในหมู่เพื่อนฝูงและอาจารย์ เพราะเพียงแค่สองปีเท่านั้นครูเอื้อก็ได้รับการบรรจุให้เข้ารับราชการประจำอยู่กองเครื่องสายฝรั่งหลวง ในกรมมหรสพ กระทรวงวัง

ท่านได้รับพระราชทานยศจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็น “เด็กชา” กินเงินเดือน 5 บาทเด็กชาคือ ยศข้าราชการชั้นผู้น้อย ประจำอยู่ในกรมมหาดเล็ก

ครูเอื้อรับราชการในกรมมหรสพ กระทรวงวัง จนมีความชำนาญและประสบการณ์ทางดนตรีมากขึ้น จนได้เลื่อนขึ้นไปเล่นในวงใหญ่ รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็นเป็นเดือนละ 20 บาท…ต่อมาอีก 2 ปีก็ได้เลื่อนยศเป็น “พันเด็กชาตรี” และ “พันเด็กชาโท”

พ.ศ. 2475 ครูเอื้อโอนการรับราชการจากกรมมหรสพ กระทรวงวัง ไปสังกัดกรมศิลปากร ท่านมีความคิดและพยายามที่จะตั้งวงดนตรีขึ้นเองในปีพ.ศ.2480 โดยรวบรวมเพื่อนฝูงที่มีใจรักในทางดนตรีทั้งหมด 12 คน ตั้งเป็นวงดนตรีใช้ชื่อว่า “วงไทยฟิล์ม” อันเป็นชื่อบริษัทภาพยนตร์ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล

มีคุณหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ คุณพจน์ สารสิน และ คุณชาญ บุนนาค ช่วยกันประเดิมสร้างภาพยนตร์เรื่องแรก ชื่อเรื่อง “ถ่านไฟเก่า”

ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้มีโอกาสเข้ามาบรรเลงดนตรีเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ และที่สำคัญก็คือครูเอื้อได้มีโอกาสขับร้องเพลงแทนน้ำเสียงของพระเอกในเรื่อง ซึ่งเพลงที่ขับร้องนั้นชื่อเพลง “ในฝัน”

ถือว่าเป็นเพลงแรกสุดของชีวิตครูเอื้อที่ร้องสู่สาธารณชนและยังได้รับ-ความนิยมจากผู้ชมเป็นอย่างมาก แต่วงดนตรี “ไทยฟิล์ม” ต้องเลิกลาลง เมื่อบริษัทภาพยนตร์ดังกล่าวเลิกกิจการ

ปีพ.ศ. 2482 ทางรัฐบาลได้จัดตั้งกรมโฆษณาการ ขึ้นมาแล้วแต่งตั้งให้ คุณวิลาศ โอสถานนท์ เป็นอธิบดีคนแรก ในที่สุดได้ครูเอื้อและคณะมาเป็นวงดนตรีประจำกรมครั้งนั้น..ถือได้ว่าเป็นการเริ่มตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์เป็นครั้งแรก

พ.ศ. 2479 ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้เกิดไปตกหลุมรักสุภาพสตรีสาวสูงศักดิ์ชื่อว่า อาภรณ์ กรรณสูตร ธิดาของ พระยาสุนทรบุรี (อี้ กรรณสูตร) เทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี ในขณะที่เป็นนักดนตรียากจนครูเอื้อไปเช่าบ้านอยู่ใกล้กับบ้านของหญิงสาว

จากพ.ศ. 2479 กระทั่งถึง พ.ศ.2489 เป็นเวลาถึง 10 ปีเต็มๆประกอบกับความมานะบากบั่นของนักดนตรีหนุ่มได้ถูกพิสูจน์จากผู้ปกครองฝ่ายหญิงจนถึงที่สุดแล้ว ประตูวิวาห์ก็ถูกเปิดออกให้หนุ่มสาวทั้งคู่ได้จูงมือกันเดินเข้าไปตามจารีตประเพณีและกฎหมายว่าด้วยการมงคลสมรส กระทั่งได้ได้พยานแห่งความรักเป็นหญิงคนแรกและคนเดียว ชื่อ “อติพร”

ปัจจุบันนี้ คุณอติพร ได้ใช้นามสกุลของ พล.ต.ท.สันติ เสนะวงศ์ ผู้เป็นสามี จากการมงคลสมรสโดยได้รับพระราชทานน้ำสังข์สมรสจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีบุตรสาว 2 คน

About the Author

Share:
Tags: ฉบับที่ 68 / เพลง / ฉบับที่ 66 / สุนทราภรณ์ / นักร้อง / เอื้อ สุนทรสนาน / วงดนตรี / ดนตรี /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ