Sunday, May 19, 2024
ภูมิปัญญาไทย บทความแนะนำ

“ผ้าขาวม้า” ผ้าสามัญประจำบ้าน

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 66
เรื่อง: ศิริลักษณ์ บางจริง

“ผ้าขาวม้า”

ผ้าสามัญประจำบ้าน

ก่อนที่ผ้าขาวม้าไทยจะกลายเป็นผ้าขาวม้าโลกจากการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้นำเสนอผ้าขาวม้าต่อองค์การยูเนสโก เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ขอชวนย้อนที่มาของผ้าลายตาหมากรุก และรู้จัก 4 ชุมชนที่ยังคงสืบสานการทอผ้าขาวม้าทอมืออย่างภาคภูมิใจ

อีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่พอถึงเทศกาลสงกรานต์ทีไร เราจะได้เห็นสีสันสดใสของผ้าขาวม้าที่ทั้งคนไทยและต่างชาติ สวมใส่มาเล่นสาดน้ำกัน และใช้เป็นผ้าไหว้ในประเพณีรดน้ำดำหัว ผ้าขาวม้าได้ขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทาง วัฒนธรรมของชาติ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ด้วยคุณค่าที่มีมากมายในหลายมิติ เป็นผ้าเอนกประสงค์ที่พันผูกอยู่ในวิถีชีวิต คนไทยมาเนิ่นนาน ทั้งใช้ในชีวิตประจำวัน ในประเพณีพิธีกรรม ตลอดจนมอบเป็นของฝากของขวัญในเทศกาล ผ้าขาวม้า ยังนำกลับมาใช้ซ้ำใหม่ได้เรื่อยๆ จนกว่าจะขาดหมดสภาพ นับเป็นผู้มาก่อนกาลด้านความยั่งยืน (Sustainable) ที่ช่วยให้ ผู้ใช้รับผิดชอบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

แม้วันนี้บทบาทของผ้าขาวม้าจะลดน้อยลง คนรุ่นใหม่ไม่ได้มีผ้าขาวม้าเป็นผ้าสามัญประจำบ้านเหมือนคนรุ่นก่อนแต่ใช่ว่าคุณค่าของผ้าขาวม้าจะหายไป

ต่างที่มาของผ้าสารพัดชื่อ

รู้หรือไม่ว่าผืนผ้าขนาดกว้างสองศอกยาววาซึ่งเดิมทีคนไทยเรียกว่า “ผ้าเคียนเอว” (ผูกเอว) แล้วเปลี่ยนมาเรียก “ผ้าขะม้า” และ “ผ้าขาวม้า” นั้น ไม่ใช่คำไทยแท้ บ้างก็ว่าเป็นคําที่หยิบยืมมาจากภาษาเปอร์เซียคือ คำว่า กามาร์ บันด์ (Kamar Band) หมายถึง เข็มขัด ผ้าพันหรือคาดสะเอว หรืออาจมาจาก “ผ้าก่าม่า” ผ้าตาหมากรุกผืนเก่าแก่ของญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังอาจแผลงมาจาก “ผ้ากรรมา” ของกัมพูชาที่มีการมอบผ้าให้ผู้ใหญ่เพื่อขอล้างกรรม ซึ่งไทยเราก็มีการนำผ้าขาวม้า ไปไหว้ผู้ใหญ่ในประเพณีรดน้ำดำหัว รวมถึงใช้เป็นผ้าไหว้ในพิธีแต่งงานและขอขมาในโอกาสต่างๆ เช่นกัน

สันนิษฐานกันว่าคนไทยเริ่มใช้ผ้าขาวม้ามาหลายร้อยปีแล้ว หลังได้รับอิทธิพลจากชาวไทยใหญ่ใช้เป็นผ้าโพกศีรษะ แต่ไทยเรามาดัดแปลงเป็นผ้าเคียนเอว ในภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน และภาพจิตรกรรม ในสมุดภาพไตรภูมิสมัยอยุธยาก็มีภาพการแต่งกายของคนสมัยก่อนที่ใช้ผ้าคล้ายผ้าขาวม้าพาดบ่า คาดพุง หรือใช้ คล้องคอ ผ้าขาวม้าในยุครัตนโกสินทร์กลายเป็นผ้าอเนกประสงค์ที่ผู้ชายใช้ได้ ผู้หญิงใช้ดี เป็นผ้าห่อของ ใช้หนุนแทน หมอน ใช้นุ่งอาบน้ำ เช็ดตัว เป็นผ้าคาดอก ใช้ผูกเปลเลี้ยงเด็ก คลุมหัวบังแดด เมื่อผ้าเก่าขาดยังทำเป็นผ้าขี้ริ้วได้อีกด้วย

ผ้าขาวม้ายังแทรกตัวอยู่ในความเชื่อของคนไทย เช่น ในพิธีขึ้นบ้านใหม่มักใช้ผูกเสาเอก แขวนไว้ที่ขื่อเพื่อ ป้องกันเสนียดจัญไร หนำซ้ำผ้านี้ยังมีชื่อเรียกต่างกันไป คนภาคกลางเรียก ผ้าขาวม้า ภาคเหนือเรียก ผ้าหัว ผ้าตะโก้งหรือตาโก้ง หมายถึง ผ้าลายตาราง ภาคอีสานเรียก แพรขาวม้า ผ้าอีโป้ ทางภาคใต้เรียก ผ้าซักอาบ ผ้าผลัด ผ้าชุบ ตามลักษณะการใช้งาน แต่ไม่ว่าจะมีที่มาหรือมีชื่อเรียกต่างกันอย่างไร ผ้าขาวม้าก็ตอบโจทย์วิถีไทยไปเต็มๆ

สีสันลวดลาย ชุมชนทอผ้าขาวม้า

ผ้าขาวม้าในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกันทั้งในด้านวัตถุดิบ สีสัน ลวดลาย คุณภาพ และความเป็นมา เมื่อถูก ถ่ายทอดลงบนผืนผ้า ด้วยประสบการณ์และฝีมืออันชำนาญของช่างทอ ผ้าขาวม้าจึงเปรียบเสมือนบทบันทึกบน ผืนผ้าที่บอกเล่าถึงวัฒนธรรมชุมชนและภูมิปัญญาการทอผ้าที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น อาทิ

ผ้าลายตาโก้งบ้านเชียงราย อ.เมือง จ.น่าน

กลุ่มส่งเสริมอาชีพทอผ้าบ้านเชียงรายได้สร้างสรรค์ผืนผ้าที่เป็น เอกลักษณ์ด้วยโทนสีดำ แดง และขาว เป็นโทนสีดั้งเดิมที่บรรพบุรุษชาวไทลื้อทอกันมานานปีเรียกว่า “ผ้าตาโก้ง” ใช้ทอ ผ้าขาวม้าและผ้าห่มลายตาราง ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเมื่อนุ่งห่มแล้วจะคุ้มครองให้พ้นภัยอันตราย ปัจจุบันได้พัฒนาเนื้อผ้า และสีสัน โดยการนำเส้นฝ้ายที่ปั่นเองมาย้อมสีธรรมชาติและสีเคมีด้วยเทคนิคเฉพาะทำให้เนื้อผ้านุ่มสบายเมื่อสัมผัสผิว เพิ่มเฉดสีให้ผ้าขาวม้าดูคลาสสิกขึ้นด้วยสีเขียว ฟ้า และน้ำตาลที่กลมกลืนกับธรรมชาติ พร้อมออกแบบลวดลายใหม่ๆ ที่ได้แรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัว ได้แก่ ลายดอกพริก ลายดอกพิกุล และลายผักแว่น รวมถึงแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าตาโก้ง ให้หลากหลาย เช่น ผ้าพันคอ เสื้อผ้า หมวก กระเป๋า และพวงกุญแจ ส่งผลให้ชุมชน มีรายได้มากขึ้น

www.facebook.com/profile.php?id=100057566855530: “ผ้าขาวม้า” ผ้าสามัญประจำบ้าน

ผ้าขะม้าอีโป้มงคล 9 สี อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

เกิดจากการสืบทอดวิถีทอผ้าขาวม้าลายอีโป้จากบรรพบุรุษ ไทพวน เดิมทีมีแค่ลายตารางเล็กสีขาว แดง และดำ ปัจจุบันได้สร้างสรรค์ลายผ้าขึ้นใหม่เพื่อสื่อถึงอัตลักษณ์ของชุมชน คือ ลายต้นผือ ลายต้นข้าว และลายหอนางอุสา ซึ่งเป็นเพิงหินธรรมชาติอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทที่สมมติ ให้เป็นสถานที่ในนิทานพื้นบ้านเรื่อง “อุสา-บารส” แล้วนำลายเหล่านี้มาทอเก็บขิดที่เชิงผ้าขาวม้าอย่างสวยงาม รวมถึง ได้พัฒนาการย้อมฝ้ายเข็นมือด้วยสีธรรมชาติ กลายเป็นผ้าขะม้าอีโป้มงคล 9 สี ที่มีความหมายแตกต่างกัน เช่น สีแดง จากเปลือกประดู่ หมายถึง ชื่อเสียง สีทองจากดอกจาน หมายถึง ความมั่งคั่ง สีส้มจากดอกคำแสด หมายถึง ความชีวิตชีวา

www.facebook.com/thaipuanbaanphue?locale=th_TH

ผ้าขาวม้าร้อยสีบ้านหนองขาว อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี

ผลผลิตจากความร่วมมือร่วมมือใจของชุมชนที่ยังคง อนุรักษ์การทำผ้าทอผ้ามือด้วยกี่กระตุกโบราณ แต่ได้พัฒนาคุณภาพของเนื้อผ้าและสีสันให้ทันสมัยขึ้น ด้วยการผสาน เส้นใยฝ้ายกับไหมประดิษฐ์สารพัดสี ผ้าขาวม้าที่ได้จึงมีสีสดโดดเด่น น้ำหนักเบา เนื้อผ้ามันวาวคล้ายผ้าไหมส่องสะท้อน ลายผ้าให้แจ่มชัด เช่น ลายตาคู่ ลายหมากรุก ลายตาเล็ก แต่ลายสำคัญอันเป็นเอกลักษณ์ของบ้านหนองขาวคือ ลายตาจัก โดยเฉพาะตาจักแดงที่มักใช้เป็นผ้าในงานประเพณีและพิธีทางศาสนา เช่น ใช้เป็นผ้ารับไหว้นาคในพิธีบวช เป็นผ้าประจุคาถาเมื่อจะลาสิกขา ใช้เป็นผ้าสวมใส่ตักบาตรในงานแต่ง หรือใช้คล้องคอพาดบ่าไปทำบุญฟังเทศน์ที่วัด

www.facebook.com/phakoawmarroisi/?locale=th_TH

ผ้าขาวม้ายกดอกเกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา

ด้วยฝีมือการทอสุดประณีตและมีสีสันสวยงาม ทำให้ผ้าขาวม้า เกาะยอเป็นที่รู้จักกันดี มีทั้งการทอผ้าสลับสีทั้งด้ายยืนและด้ายพุ่งทำให้เกิดลายตาราง ซึ่งใช้ในการทอผ้าขาวม้าและ ผ้าโสร่ง และการทอยกดอกที่ทำให้เกิดลวดลายต่างๆ ที่มีขนาดเล็กและนูนขึ้นเนื้อในผ้า มีเส้นลายที่ละเอียดซับซ้อน ช่วยให้เนื้อผ้าแน่นและนุ่ม บวกกับการเลือกใช้สีที่ลงตัวช่วยขับเน้นลายผ้าให้ชัดเจน นอกจากลายหมากรุกที่เรียบง่าย ยังมีลายดั้งเดิมของเกาะยอ เช่น ลายราชวัตร ลายคชกริช ลายสมุก ลายดอกพยอม ฯลฯ ผ้าขาวม้าเกาะยอมักทอจาก เส้นใยฝ้ายคุณภาพดีและฝ้ายยกไหม เนื่องจากเป็นผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันจึงมีความคงทน สวยงาม และใช้ได้นาน 

http://www.facebook.com/profile.php?id=100057383352944

ยังมีอีกหลายชุมชนที่มีอาชีพ มีรายได้จากการทอผ้าขาวม้า ดังนั้น อนาคตของผ้าขาวม้าไทยจะยังไปต่อได้ เป็นที่นิยมทั้งในคนไทยและต่างชาติ คงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและดีไซน์ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ทันสมัยของ คนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะพลิกแพลงไปเป็นของใช้ เครื่องประดับ เสื้อผ้า หรือของแต่งบ้าน เมื่อผู้ใช้มองเห็นคุณค่าของผ้า ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้ ถึงตอนนั้นไม่ว่าบ้านไหนๆ ก็ต้องมีผ้าขาวม้าติดบ้านไว้เสมอ

About the Author

Share:
Tags: กาญจนบุรี / น่าน / ฉบับที่ 66 / ผ้าขาวม้า / ร้อยเอ็ด / สงขลา /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ