Monday, May 6, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

ที่ระลึกเมื่อยามนึกถึง “เขียน ยิ้มศิริ”

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 65
เรื่อง/ภาพ: ตัวแน่น

‘เขียน ยิ้มศิริ’ พ.ศ. 2497
เทคนิค หล่อบรอนซ์
ขนาด 28 x 19 x 23 เซนติเมตร
ศิลปิน มิเคลเล เกอร์ริซี (Michele Guerrisi)

ที่ระลึกเมื่อยามนึกถึง

“เขียน ยิ้มศิริ”

              ปี พ.ศ. ๒๔๙๖ นับว่าน่าจะเป็นปีที่ดีที่สุดปีหนึ่งในชีวิตของ เขียน ยิ้มศิริ ประติมากรอันดับหนึ่งของบ้านเราในยุคบุกเบิกศิลปะสมัยใหม่ เพราะตั้งแต่ต้นปีเขียนได้รับรางวัลเหรียญเงินจากผลงานที่มีชื่อว่า “เริงระบำ” ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๔ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ถึง ๑๔ กุมภาพันธ์ การที่เขียนได้รับรางวัลครั้งนี้ผนวกกับเหรียญรางวัลอื่นๆ ที่ได้รับก่อนหน้า อันประกอบไปด้วยผลงาน “เสียงขลุ่ยทิพย์” ที่ชนะเลิศเหรียญทอง จากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๑ “ดินแดนแห่งความยิ้มแย้ม” ที่ชนะเลิศเหรียญทองจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๒ และ “แม่กับลูก” ที่ได้รับเหรียญเงินจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๓ ทำให้เขียนเป็นศิลปินสาขาประติมากรรมคนแรกของไทยที่ชนะ ๒ เหรียญทอง ๒ เหรียญเงิน ซึ่งเกณฑ์ของการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติระบุไว้ว่า ถ้าศิลปินผู้ใดได้เหรียญทอง ๓ ครั้ง หรือได้เหรียญทอง ๒ ครั้ง บวกกับเหรียญเงิน ๒ ครั้ง จะได้รับการยกย่องให้เป็น “ศิลปินชั้นเยี่ยม” ซึ่งนับเป็นรางวัลสูงสุดระดับชาติที่มอบให้แก่ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ

เมื่อเป็นศิลปินชั้นเยี่ยมแล้ว ในปีเดียวกันนี้นี่เอง เขียนยังได้รับคัดเลือกให้รับทุนไปศึกษาศิลปะต่อเพื่อเพิ่มพูนความรู้และเทคนิคในต่างประเทศอีกหน ทั้งๆ ที่เมื่อไม่กี่ปีก่อนเขียนก็เพิ่งกลับมาจากการได้ทุนไปศึกษาศิลปะที่ Chelsea School of Art ประเทศอังกฤษ โดยมีประติมากรระดับโลกอย่าง เฮนรี มัวร์ (Henry Moore) เป็นผู้ถ่ายทอดวิชาไปหมาดๆ โดยครั้งนี้เขียนได้ทุนจากรัฐบาลอิตาลีให้ไปศึกษาต่อที่ Academy of Fine Arts of Rome ซึ่งในขณะนั้นผู้อำนวยการของสถาบันคือ มิเคลเล เกอร์ริซี (Michele Guerrisi)

               เกอร์ริซี ชื่อนี้อาจไม่คุ้นหูชาวไทย แต่สำหรับวงการศิลปะในอิตาลีแล้ว เป็นที่รู้กันดีว่าท่านผู้นี้เป็นประติมากรที่มีความสามารถพร้อมสรรพรอบตัวทั้งในด้านวิชาการ และฝีไม้ลายมือในด้านศิลปะ เกอร์ริซีใช้ชีวิตวัยเด็กในเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ก่อนที่จะย้ายไปศึกษาจนจบปริญญาด้านวรรณกรรมจาก University of Naples และพ่วงด้วยประกาศนียบัตรด้านประติมากรรมจาก Academy of Fine Arts of Rome หลังจากนั้นจึงเริ่มมาเป็นศาสตราจารย์สอนศิลปะในมหาวิทยาลัย ในขณะเดียวกันก็ได้ตีพิมพ์หนังสือและบทความทางวิชาการมากมาย จนได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้อำนวยการ Academy of Fine Arts สถาบันศิลปะที่เก่าแก่และมีเกียรติที่สุดแห่งหนึ่งของอิตาลีซึ่งเกอร์ริซีเองก็เป็นศิษย์เก่าของสถาบันแห่งนี้ด้วย

          ในด้านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เกอร์ริซีน่าจะเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีงานชุกที่สุดท่านหนึ่งโดยเฉพาะการสร้างอนุสาวรีย์ เพราะในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ รัฐบาลอิตาลียุคฟาสซิสต์มีนโยบายสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงทหารกล้า และคนธรรมดาผู้สูญเสียชีวิตไปในสงคราม เกอร์ริซีได้รับความไว้วางใจให้ออกแบบก่อสร้างอนุสาวรีย์ธีมนี้เพื่อตั้งตระหง่านในหลายๆ เมืองสำคัญของอิตาลี เช่น Naples, Cittanova, Siderno, Montecalva Irpino, Castellabate, Reggio Calabria, Palmi, Catanzaro, Nicosia

          ประวัติชีวิตของเกอร์ริซีหากนำมาเทียบเคียงกับประวัติของ คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) หรือ อาจารย์ ศิลป์ พีระศรี แล้วจะเห็นว่ามีความคาบเกี่ยวกันทั้งช่วงเวลา สถานที่ และหน้าที่การงานอยู่มาก เกอร์ริซีเกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖ เป็นรุ่นน้องอาจารย์ศิลป์เพียง ๑ ปี แถมในวัยเด็กก็ยังเคยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองฟลอเรนซ์เหมือนกัน เมื่อเติบใหญ่ทั้งคู่ต่างก็ประกอบอาชีพเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย พ่วงกับการเป็นประติมากรสร้างอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ ๑ ให้รัฐบาลอิตาลีเช่นเดียวกันอีก จึงมีความเป็นไปได้ว่าทั้ง มิเคลเล เกอร์ริซี และอาจารย์ศิลป์ พีระศรี น่าจะรู้จักกันดีตั้งแต่ก่อนที่อาจารย์ศิลป์จะตัดสินใจเดินทางมาทำงานในแผ่นดินสยาม ครั้นเมื่ออาจารย์ศิลป์ก่อร่างสร้างหลักสูตร และขึ้นรับตำแหน่งคณบดีในมหาวิทยาลัยศิลปากร ก็เป็นเวลาเดียวกับที่เกอร์ริซีรับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันศิลปะ ณ กรุงโรม พอดิบพอดี จึงเป็นเหตุเป็นผลที่เหมาะเจาะ เข้าใจได้ว่าทำไมอาจารย์ศิลป์ถึงมักจะเลือกส่งลูกศิษย์ใกล้ตัวระดับหัวกะทิไปเรียนที่สถาบันแห่งนี้ ถึงแม้ลูกศิษย์บางท่านจะไม่มีปริญญาอะไรติดตัวมาเลย เช่น เฟื้อ หริพิทักษ์ ที่หอบผ้าหอบผ่อนมาอิตาลี ทั้งๆ ที่มีแค่จดหมายแนะนำตัวจากอาจารย์ศิลป์เพียงแผ่นเดียว แต่สถาบันที่โรมก็รับเข้าเรียนได้เลยโดยไม่เกี่ยง

‘เขียน ยิ้มศิริ’ พ.ศ. 2497 เทคนิค หล่อบรอนซ์
ขนาด 28 x 19 x 23 เซนติเมตร
ศิลปิน มิเคลเล เกอร์ริซี (Michele Guerrisi)
ภาพถ่ายจาก www.fondazioneragghianti.it
ศิลปิน มิเคลเล เกอร์ริซี (Michele Guerrisi)
ภาพจาก www.icsaicstoria.it
‘มิเคลเล เกอร์ริซี (ขวา) ขณะปั้นรูปเหมือน เขียน ยิ้มศิริ’ พ.ศ. 2497 เทคนิคภาพถ่าย ขนาด 9 x 6 เซนติเมตร

ส่วนหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่าง เขียน ยิ้มศิริ กับ มิเคลเล เกอร์ริซี นอกจากบันทึกที่จารึกไว้ว่าเขียนได้รับการถ่ายทอดวิชาหลากหลายที่ Academy of Fine Arts of Rome โดยการควบคุมของเกอร์ริซีแล้ว ยังมีผลงานศิลปะอยู่อีก ๑ ชิ้นที่แสดงสัมพันธภาพอันดีระหว่างบุคคลสำคัญทั้งสอง นั่นก็คือผลงานประติมากรรมหล่อบรอนซ์รูปเหมือน เขียน ยิ้มศิริ เฉพาะส่วนหัวขนาดเท่าจริงที่สร้างสรรค์โดยเกอร์ริซี ผลงานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในผลงานการปั้นรูปเหมือนบุคคลที่เกอร์ริชีมีความสามารถฉกาจฉกรรจ์ในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกลงบนผลงานจนได้รับรางวัลมากมาย โดยรูปบุคคลแทบทั้งหมดที่เกอร์ริชีเคยปั้นนั้นล้วนเป็นรูปเหมือนชาวยุโรป ซึ่งประกอบไปด้วยบุคคลสำคัญทางการเมือง ประวัติศาสตร์ และศิลปะ ประติมากรรมรูปเหมือนเขียน ยิ้มศิริ จึงมีความพิเศษมากๆ เพราะเป็นรูปเหมือนชาวเอเซียเพียงหนึ่งเดียวเท่าที่มีการบันทึกไว้

          และความพิเศษอีกอย่างคือ หลังจากที่เขียนนั่งเป็นแบบให้เกอร์ริซีปั้นจนผลงานประติมากรรมจนออกมาเสร็จสมบูรณ์แล้ว ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ ผลงานชิ้นนี้ยังถูกคัดเลือกไปจัดแสดงในงาน เวนิส เบียนาเล่ (Venice Biennale) งานแสดงศิลปะที่ยิ่งใหญ่ เก่าแก่ และมีความสำคัญที่สุดงานหนึ่งของโลก ซึ่งมีการจัดต่อเนื่องกันมาแบบปีเว้นปีจนถึงปัจจุบัน การที่ศิลปินจะมีผลงานจัดแสดงอยู่ในอภิมหาอีเวนท์ระดับนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่เว้นแม้แต่ประติมากรแถวหน้าของอิตาลีเองอย่างเกอร์ริซีก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าจะได้รับการคัดเลือกเสมอไปถ้าหากผลงานชิ้นนั้นๆ ไม่ได้ยอดเยี่ยมจริงๆ ในระดับที่สามารถไปวางโชว์ประชันกับผลงานศิลปะระดับแนวหน้าจากทั่วโลกได้อย่างไม่เคอะเขิน รูปเหมือน เขียน ยิ้มศิริ เลยน่าจะเป็นประติมากรรมรูปเหมือนชาวไทยเพียงชิ้นเดียวในประวัติศาสตร์ที่เคยถูกจัดแสดงในงานเวนิส เบียนาเล่อีกด้วย

          เมื่อเขียนสำเร็จการศึกษาถึงเวลาต้องอำลาอิตาลี เพื่อเดินทางกลับเมืองไทย เกอร์ริซีได้แสดงน้ำใจโดยการมอบผลงานประติมากรรมรูปเหมือนเขียน ยิ้มศิริ ให้เขียนเก็บไว้เป็นที่ระลึก ผลงานชิ้นนี้จึงถูกหอบหิ้วกลับมายังเมืองไทยโดยเขียนเองตั้งแต่ครั้งนั้น และถูกเก็บเป็นสมบัติส่วนตัวอันหวงแหนเรื่อยมาจนวาระสุดท้ายที่เขียนถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ในวัย ๔๙ ปี

          น่าแปลกที่เขียน ยิ้มศิริ ประติมากรผู้สร้างสรรค์ผลงานอันมีชื่อเสียงมากมาย ทั้งในรูปแบบสร้างสรรค์สมัยใหม่และรูปเหมือนบุคคล แต่กลับไม่เคยปั้นรูปเหมือนของตนเองขึ้นมาเลย ผลงานรูปเหมือน เขียน ยิ้มศิริ ที่สร้างสรรค์โดยศิลปินไทยร่วมยุคกับท่านก็เห็นจะมีเพียงชิ้นที่ปั้นหล่อด้วยปูนปลาสเตอร์ฝีมือ อำนาจ พ่วงสำเนียง ซึ่งปัจจุบันเสียหายเหลือแต่รูปถ่ายขาวดำแค่ไม่กี่รูปเท่านั้น ซึ่งผลงานชิ้นที่ว่าก็ไม่ใช่รูปเหมือนซะทีเดียวเพราะมีการประยุกต์เอาความเป็นเส้นสายเหลี่ยมคมของศิลปะแนวคิวบิสม์ (Cubism) ลงไปบนรูปปั้น

          เลยกลับกลายเป็นว่าประติมากรรมฝีมือเกอร์ริซีนี่แหละคือรูปเหมือน เขียน ยิ้มศิริ ชิ้นเดียวที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ด้วยความเป็นสามมิติ ขนาดเท่าจริง จึงเป็นตัวแทนที่ใกล้เคียงที่สุดของเขียนเพื่อระลึกถึงในวันนี้ที่ท่านไม่อยู่แล้ว และความพิเศษเหนืออื่นใดคือ ฝีมือการปั้นชั้นบรมครูที่สามารถถ่ายทอดชีวิตชีวาลงไปบนผลงาน จนราวกับเราสามารถรับรู้ได้ถึงเสียงกระซิบแผ่วๆ ของลมหายใจ ที่รินไหลเข้าออกจากใบหน้าชายหนุ่มผู้เบิกบานอิ่มเอิบ เปี่ยมล้นไปด้วยความสุข จากโอกาสอันหายากที่ได้เดินทางไกลมายังดินแดนอันเป็นแหล่งกำเนิดของศิลปะที่เขาหลงใหล ในห้วงเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตของประติมากรมือหนึ่งของประเทศไทย

ภาพจากหนังสือ ชีวิตและงานของอาจารย์เขียน ยิ้มศิริ
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมพร รอดบุญ

About the Author

Share:
Tags: art / ฉบับที่ 65 / เขียน ยิ้มศิริ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ