Thursday, May 9, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต

จิตรกรรมฝาผนัง วัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 4
เรื่อง: เนตรนภา แก้วแสงธรรม, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ภาพ: เรือนแพ

จิตรกรรมฝาผนัง

วัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี

พุทธศักราช ๒๕๕๗ เป็นปีแห่งการฉลองครบรอบ ๒๒๒ปี การสถาปนา “อุบลราชธานี” โดยมีเจ้าคำผง เป็นผู้ครองเมืองพระองค์แรก

จังหวัดตะวันออกสุดของประเทศนี้ เป็นเมืองสงบ ผู้คนมีอัธยาศัยดี มีความเป็นอยู่แบบง่ายๆ ค้าขาย ทำไร่ทำนา และเป็นเมืองศูนย์กลางการศึกษาของอีสานใต้

ยุคเสรีอาเซียน ทำให้การค้าของจังหวัดก้าวหน้ามากขึ้น ผู้คนไม่อาจฉุดรั้งความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองได้ กระแสธารความเจริญมีเข้ามาต่อเนื่อง หากแต่ยังมีมุมสงบแห่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง และได้รับการอนุรักษ์หวงแหน ราวกับเป็น “ประตู” ที่เชื่อมต่ออดีตกับปัจจุบัน นั่นก็คือ เรื่องราวของภาพเขียนบนฝาผนัง “วัดทุ่งศรีเมือง”

หากท่านอยากทราบชีวิตความเป็นอยู่ของคนอุบลราชธานี เมื่อเกือบสองร้อยปีก่อนจะเห็นได้จากภาพเขียนสองมิติของที่นี่

หอไตร กลางน้ำ

อุบลราชธานี กับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา

จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดที่มีวัดเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าหอไตร กลางน้ำ พระพุทธศาสนาได้ตั้งมั่น และเจริญรุ่งเรือง

ในจังหวัดนี้ ตั้งแต่อดีต “เมืองอุบล” เป็นทายาทสืบทอดพระพุทธศาสนาในวัฒนธรรมไต-ลาว ได้อย่างโดดเด่น

อุบลราชธานี เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ คู่แผ่นดินอีสานถึง ๓ องค์ด้วยกัน

  • พระเจ้าใหญ่อินแปง วัดมหาวนาราม(หรือวัดป่าใหญ่) อำเภอเมือง
  • พระเหลาเทพนิมิตร วัดพระเหลาเทพนิมิตร อำเภอพนา
  • พระแก้วบุษราคัม วัดศรีอุบลรัตนารามอำเภอเมือง

ส่วนมรดกทางพระพุทธศาสนา ที่ถือเป็นประวัติศาสตร์ชาวอุบลราชธานี ก็เช่นอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้รับการยกย่องว่าเป็นปรมาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ถือเป็นต้นกำเนิดของพระวัดป่าสายอีสาน, หลวงปู่ชาสุภัทโท วัดหนองป่าพง พระผู้เผยแผ่ธรรมะแนว “ธุดงควัตร” ซึ่งมีสาขากว่าร้อยแห่งทั่วโลกเป็นต้น

พุทธสถานที่สำคัญในอุบลราชธานี ได้แก่อุโบสถ วัดบ้านตำแย มีขนาดกะทัดรัดเรียบง่าย ยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นอุโบสถแบบอีสานแท้, อุโบสถ วัดบ้านนาควาย ลักษณะคล้ายอุโบสถ วัดบ้านตำเเย

แต่ฝีมือของช่างไม้ละเอียดกว่า มีจิตรกรรมฝาผนังเรื่องมาร-ผจญ (ปัจจุบันสภาพชำรุดมาก) ฝีมือช่างพื้นบ้าน และภายในอุโบสถมีจิตรกรรมเล่าเรื่องพุทธประวัติ, อุโบสถวัดแจ้ง ที่มีชื่อเสียง และสวยงาม, อุโบสถวัดหลวง, อุโบสถ วัดบ้านตากแดด

ส่วนแบบอุโบสถอีสานประยุกต์ พบได้ที่อุโบสถ วัดสุปัฏนาราม และอุโบสถ วัดทุ่งศรีเมือง (หอพระพุทธบาท) ซึ่งภาพจิตรกรรมที่วัดทุ่งศรีเมืองนี้เอง จะเป็น “ประตูเชื่อม”โลกอดีต และปัจจุบันให้กับเรา

กัณหา กับ ชาลี ในพระเวชสันดรชาดกตอนที่ ๑๑ (บริจาคกัณหาชาลี)

ความเป็นมาวัดทุ่งศรีเมือง

วัดทุ่งศรีเมือง ตั้งอยู่ที่ถนนหลวง อ.เมืองอุบลราชธานี มีชื่อสอดคล้องกับทุ่งศรีเมืองสถานที่สำคัญ และศูนย์กลางของจังหวัด ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๘๕ ตรงกับสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ หรือตรงกับเจ้าเมืองอุบลราชธานีที่ ๒ คือ พระวรราชสุริยวงศ์ สาเหตุที่ตั้งวัดขึ้นนั้นมาจากท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลราชธานีสังขปาโมกข์ (สุ้ย) แต่เดิมได้จำพรรษาอยู่ที่ วัดสระเกศราชวรมหาวิหารกรุงเทพฯ ต่อมาได้มาเจริญสมณธรรมอยู่ที่

ป่าหว้าชายดงอู่ผึ้ง เป็นประจำ เพราะเป็นที่สงบสงัด นานวันเข้า ก็มีคณะศิษยานุศิษย์ติดตามมาปฏิบัติธรรมมากขึ้น จนกระทั่งตั้งเป็นสำนักปฏิบัติธรรม และจัดตั้งเป็นวัดขึ้นให้ชื่อว่า “วัดทุ่งศรีเมือง”

ต่อมา ท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ฯริเริ่มก่อสร้างหอไตร และพระอุโบสถ โดยมีพระเถระ “ญาครูช่าง” เป็นพระมาจากนครเวียงจันทร์ ซึ่งได้มาพำนักอยู่วัดมณีวนารามเพื่อศึกษาปริยัติธรรม และวิปัสสนากัมมัฏฐานกับท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ฯ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ทำให้เกิดการผสมผสานศิลปะภาคกลาง และนครเวียงจันทร์เข้าด้วยกันจากลักษณะของสถาปัตยกรรมสันนิษฐานว่ามีช่างหลวงจากราชสำนักร่วมก่อสร้างด้วย

เมื่อหมดยุคท่านเจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์แล้ว ญาครูช่าง ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อมา และในช่วง พ.ศ. ๒๓๙๘ – ๒๔๘๕ที่พระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด นันตโร) เป็นเจ้าอาวาส มีการสร้างเสนาสนะภายในวัดขึ้นเป็นจำนวนมาก

ตัวอุโบสถของวัดทุ่งศรีเมือง ได้รับการจดทะเบียนเป็นโบราณสถาน และเป็นสถาปัตยกรรมอีสาน ที่ได้รับอิทธิพลจากกรุงเทพฯ สร้างประมาณต้นสมัยรัชกาลที่ ๓ภายในปรากฏภาพจิตรกรรมฝาผนัง

ภาพชาวต่างชาติล่องเรือมาถึงแผ่นดินไทย

จิตกรรมฝาผนังวัดทุ่งศรีเมือง

ปกติแล้วภาพเขียนในวัดอีสานจะเป็น “ฮูปแต้ม” เขียนตามสิม แบบชาวบ้าน ที่เน้นประโยชน์ใช้สอย

แต่จิตรกรรมฝาผนังอุโบสถของวัดทุ่งศรีเมือง เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบประเพณีนิยมภาคกลางที่เน้นความวิจิตรบรรจงซึ่งปกติพบได้น้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แต่ความสำคัญของจิตรกรรมฝาผนังอีสาน คือการแสดงออกถึงลักษณะของความรู้สึกนึกคิดของศิลปินอีสาน ทำให้จิตรกรรมอีสาน มีคุณค่าในด้านความมีอิสระในการแสดงออก ภาพวาดแสดงออกทางสีหน้า มีชีวิตชีวา ต่างจากแบบประเพณีภาคกลาง ที่ไม่ค่อยแสดงออกถึงความรู้สึก และเพราะอีสานรับอิทธิพลของพุทธศาสนามาจากลาว กัมพูชา และลานช้าง ผสมผสานกับความเชื่อท้องถิ่นในภูติผีปีศาจและสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติที่มองไม่เห็น ทำให้การถ่ายทอดหลักพุทธธรรมผ่านภาพจิตรกรรม

ฝาผนัง ผสมพระธรรมคำสั่งสอน กับสิ่งที่มองไม่เห็นเข้าด้วยกัน ตามวิถีชาวบ้าน

จัดเป็นจิตรกรรมฝาผนัง ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น วาดโดยใช้แบบอย่างการวาดภาพ หรือภาพที่เคยเห็นจากกรุงเทพฯ แต่ยังคงลักษณะเฉพาะตัวแบบพื้นบ้านเอาไว้ ด้วยลีลาและท่วงทำนองของภาพที่ดูครึกครื้น มีชีวิตชีวา การระบายสีพื้นด้วยสีแดงฉํ่า ทำให้เกิดบรรยากาศน่ารื่นเริงใจยิ่ง ถือเป็นจิตรกรรมฝาผนังเพียงไม่กี่แห่งในภาคอีสาน ที่วาดตามแบบกรุงเทพฯ ได้อย่างประณีต กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ส่งผลให้ชาวอุบลราชธานีนำเอาหลักธรรมในภาพวาดมาสืบทอด กลายเป็นประเพณีที่สำคัญ คือ เทศน์มหาชาติ

พระมาลัยบูชาพระเจดีย์จุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ลักษณะการเขียนภาพ เป็นแบบประเพณีภาคกลาง มีการปิดทองประดับที่เครื่องทรง หรือลำตัว

ภาพพื้นสีแดง ตัดเส้นด้วยสีดำ ทำให้โดดเด่น สะท้อนให้เห็นฝีมือของช่างที่มีความสามารถ วาดสมจริง สภาพยังสมบูรณ์พอสมควร มีเฉพาะภาพด้านหลังพระประธานที่มีการหลุดลอก เลือนราง และจืดจางมากกว่าจุดอื่น

การจัดองค์ประกอบของภาพ ที่ปรากฏอิทธิพลของศิลปะจีน เช่น ลายใบไม้ พุ่มไม้ดอกไม้ ต้นไม้ ทิวทัศน์ ก้อนหิน ฉากกั้นแบบจีน ฯลฯ ทั้งยังสอดแทรกวิถีชีวิตของชาวอีสานเช่น การร้องรำทำเพลง ด้วยเครื่องดนตรีไทย สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่สนุกสนาน ที่เสาโบสถ์มีการเขียนลาย และเรื่องราวด้วย บางช่วงมีตัวอักษรกำกับ ประตูและหน้าต่าง เขียนด้วยลายรดนํ้าที่สวยงาม

จิตรกรรมฝาผนัง วัดทุ่งศรีเมือง เป็นเรื่องพุทธประวัติ และเวชสันดรชาดก ที่สะท้อนเรื่องราว วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ของชาวชนบททางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะงดงาม ตามศิลปะไทยภาคกลาง ซึ่งหาได้น้อยในภาคอีสาน

ภาพนารีผล มักกะลีผล

หลักธรรมจากภาพจิตรกรรม

หลักธรรมจากภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดทุ่งศรีเมืองนั้น สรุปได้ว่า ภาพไตรภูมิแสดงถึงหลักธรรม เรื่องหลักเบญจศีล (หรือศีล ๕) หลักกรรม และปฏิจจสมุปบาท ทำให้คนอุบลเชื่อเรื่องบุญ บาป นรก สวรรค์ ชาตินี้ ชาติหน้าเชื่อผี และเทวดา ดึงให้พวกเขาอยู่กับความเรียบง่าย พอเพียง การทำทาน และการแบ่งปันและยังสืบทอด “พิธีบุญผะเหวด”

ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา ประเพณีแห่นางแมวขอฝน ประเพณีการแข่งเรือ และประเพณีการบวชเอาไว้ไม่ให้จางหายไป

About the Author

Share:
Tags: อุบลราชธานี / ฉบับที่ 4 / วัดทุ่งศรีเมือง /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ