Sunday, May 19, 2024
ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

ทหารอาสา และบทบาทของสยาม ในมหาสงครามโลกครั้งที่ ๑

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 7
เรื่อง: ม.ล. ภูมิใจ ชุมพล
ภาพประกอบ: ภาพถ่ายทหารอาสา: มล. ภูมิใจ ชุมพล
ภาพ: นพพร ยรรยง

เมื่อ ๑๐๐ ปีที่แล้วมา คือในปีคริสต์ศักราช ๑๙๑๔ หรือพุทธศักราช ๒๔๕๗ แผ่นดินยุโรป ลุกพรึบขึ้นด้วยไฟแห่งสงคราม หลังจากที่ เกิดเหตุการณ์อันไม่คาดคิด นั่นคือการลอบปลงพระชนม์ขององค์รัชทายาทแห่งราชอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการี และพระชายา ในระหว่างที่ทั้งสองพระองค์เสด็จประพาสเยือนประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาอย่างเป็นทางการ ยังผลให้มีการประกาศสงครามของราชอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการี ต่อประเทศเซอร์เบีย ซึ่งก่อให้เกิดการประกาศสงครามต่อกันเป็นลูกโซ่ของประเทศต่างๆในยุโรป ด้วยประเทศเหล่านั้นล้วนมีสนธิสัญญาในการศึกที่ผูกมัดกันมาแต่เก่าก่อน อีกทั้งความ สัมพันธ์อันลึกซึ้งและซับซ้อนของเหล่าราชวงศ์ใน ราชอาณาจักรต่างๆ สงครามอันโหดร้ายครั้งนั้น จะกินเวลาต่อไปอีกถึง ๔ ปี และลามเลยไปถึงประเทศอื่นๆ ในทวีปต่างๆ จนกลายเป็นมหา สงครามครั้งใหญ่ยิ่ง ซึ่งในภายหลังถูกเรียกว่า สงครามโลกครั้งที่ ๑

ทหารอาสา

และบทบาทของสยาม ในมหาสงครามโลกครั้งที่ ๑

ครบรอบ ๑๐๐ปี ที่แผ่นดินยุโรปลุกพรึบขึ้นด้วยไฟแห่งสงคราม ส่งผลมาถึงพระราชอาณาจักรสยามที่ปรับเปลี่ยนไฟสุดร้อนรน ให้กลายเป็นแสงสว่างอันรุ่งโรจน์

ในความเป็นจริงนั้น ปัญหาของประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปถูกสะสมบ่มเพาะกันมาเป็นเวลานาน หลายศตวรรษ ตั้งแต่การแก่งแย่งผลประโยชน์และการแบ่งสรรอาณาเขตของดินแดนต่างๆ ใน ทวีปยุโรป ตลอดตั้งแต่สมัยยุคกลาง เรื่อยมาจนถึง การแข่งขันของการล่าอาณานิคมในดินแดนทวีป แอฟริกาและเอเชีย เพื่อค้นหาแหล่งแร่ธาตุ วัตถุดิบเครื่องเทศ และอาหารต่างๆ ที่จะนํามาป้อนจํานวนประชากรในยุโรปที่มีจํานวนทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆโดยที่มหาอํานาจในยุโรปอาศัยความได้เปรียบทางด้านความเจริญทางเทคโนโลยีที่นํามาสร้างสรรค์อาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งปวง ซึ่งพร้อมจะนํามาใช้ขู่เข็ญเหล่าประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า และเข้ายึดครองให้เป็นเมืองขึ้นได้โดยง่าย หลังจากนั้นก็จะดําเนินการปล้นทรัพยากรอันมีค่าทั้งปวงของประเทศเหล่านั้นจนหมดสิ้น

ราชอาณาจักรสยามในขณะนั้นก็ตกอยู่ในสภาวะอันตรายอย่างใหญ่หลวงเช่นกัน นโยบายการไล่ล่าอาณานิคมของกลุ่มมหาอํานาจในยุโรปกําลังเดินมาอย่างเต็มแรง โดยที่สยามถูกควบกลืนพื้นที่ชายแดนทางด้านทิศตะวันออกโดยสาธารณรัฐฝรั่งเศส และถูกขนาบโดยสหราช
อาณาจักรที่ยึดครองแหลมมลายูทางทิศใต้ รวมทั้งพม่าและฉานทางทิศตะวันตก และกําลังคืบก้าวเข้ามามีบทบาทในดินแดนล้านนาทางทิศเหนือของสยาม

กองทหารอาสาสยามเดินสวนสนามหน้าพระราชวังแวร์ซายส์หลังการประกาศสันติภาพ

“นโยบายเอนอ่อนแต่กล้าแข็งของสยามนั้นมีขึ้นได้เพราะการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ ซึ่งได้สร้าง อุทาหรณ์ให้กับชนชั้นปกครองของพระราชธานี แห่งใหม่ที่บางกอก”

ถ้าจะมองกลับไปถึงช่วงเวลานั้น เราจะเห็น ว่า ปัจจัยสําคัญที่สุดที่ดึงดูดเหล่าประเทศในยุโรปให้เข้ามาประชันเกมสงคราม ก็เนื่องด้วยผลพวง ของสนธิสัญญาระหว่างชาติที่ประเทศต่างๆ ทํากันไว้แต่เก่าก่อน ซึ่งแบ่งยุโรปออกเป็นสองฝ่าย หลักๆ กล่าวคือ ออสเตรียและเยอรมนีฝ่ายหนึ่ง กับอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งทั้ง สองฝ่ายคาดเดากันเอาเองว่าจะเป็นสงครามสุภาพ บุรุษ และจบลงด้วยความรวดเร็ว ไม่น่าจะเกินช่วง เทศกาลคริสต์มาสของปีนั้น โดยหารู้ไม่ว่า การ ศึกในครั้งนั้นจะยืดเยื้อและเผาผลาญทรัพยากร ทุกสิ่งอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเล่ากันว่า ชายหนุ่มทั้งรุ่นของช่วงเวลานั้นล้ม หายตายจากไปกันจนหมดสิ้น ในประเทศอังกฤษ ก็เช่นกัน ชายหนุ่มทั้งหมดถูกเกณฑ์ไปรบ และ เป็นที่น่าสังเกตว่า ทหารเหล่านั้นมาจากทุกชนชั้นในสังคม

สงครามทวีความหฤโหดขึ้นเรื่อยๆ และ กองทัพทั้งสองฝ่ายก็มาติดกับอย่างยืดเยื้อใน แนวรบทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ฝรั่งเศส กองทัพทั้งสองฝ่ายต่างต้องตั้งยันแนวรบ กันอย่างดื้อดัน ด้วยการขุดร่องทางเดินลึกลงไป ในพื้นดินเป็นแนวยาวหลายไมล์ ทหารต่างๆ จําเป็น ต้องอาศัยอยู่กินร่วมกันในสมรภูมินั้นเป็นเวลาแรมเดือนแรมปี และต้องเสียชีวิตลงเป็นจํานวนมาก จากอาวุธยุทโธปกรณ์ที่โถมกระหน่ําใส่กันอย่าง ไม่หยุดยั้ง และจากโรคระบาดที่เกิดขึ้นจากการอาศัยร่วมกันอย่างแออัดยัดเยียด ปราศจากสุขอนามัยเท่าที่ควร

ในช่วงต้นๆ แห่งสงครามโลกครั้งที่ ๑ นั้น สยาม… ซึ่งเมื่อดูอย่างผิวเผินเหมือนจะอยู่ห่างไกล จากความวุ่นวายของยุโรป แต่ในความเป็นจริง แล้ว ชายแดนของสยามทุกๆ ด้านกลับถูกขนาบ โดยมหาอํานาจฝรั่งเศสและอังกฤษที่เข้ามาข่มขู่ ครอบงําประเทศในอาณานิคมต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสเริ่มมีท่าที ก้าวร้าวเชิงรุกคืบกับสยามตั้งแต่ช่วงกลางๆ ของ สมัยรัชกาลที่ ๕ ยังให้สยามจําต้องยอมเสีย ดินแดนบางส่วนไปเพื่อรักษาเอกราชโดยรวมไว้ ให้นานที่สุด สยามยังต้องใช้นโยบายทางการทูต อันชาญฉลาด เพื่อเป็นการทานอํานาจของประเทศ ต่างๆ ในยุโรป ซึ่งต้องการเข้ามามีบทบาทในเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้อย่างต่อเนื่อง

ภาพถ่ายของกองทหารอาสา ส่วนหนึ่งที่เดินทางไปฝรั่งเศสในคราวนั้น

“การเซ็นสนธิสัญญาของสยามในช่วง รัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ นั้น ยังมาซึ่งการยกระดับของประเทศสยาม ให้เป็นคู่สัญญาที่ ถูกต้องและเท่าเทียมทางกฎหมายของ อารยประเทศในโลก สากลยุคใหม่”

สิ่งหนึ่งที่เป็นนโยบายอันสุขุมลึกซึ้งของสยาม ที่มีมาอย่างสืบเนื่องจากรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงรัชสมัยของพระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นั่นก็คือ การเลือกใช้บุคลากรจากประเทศยุโรปให้เป็นตัวแทนในการเจรจาเพื่อปกป้องสิทธิของสยาม โดยเลือกจาก ประเทศที่ไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันกับประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส เช่น ประเทศเบลเยียม เดนมาร์ก อิตาลี และเยอรมนี เป็นต้น มีทั้งบุคลากรทางการทหาร ทางด้านวิศวกรรม และทางด้านกฎหมายที่เริ่มเข้ามาปฏิรูปประเทศสยามให้เข้าสู่ ความเป็นสากลให้รวดเร็วที่สุด พระบาทสมเด็จ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นทรงไตร่ตรองอยู่ ยาวนานว่า ท่าทีของสยามในสงครามครั้งใหญ่ของ โลกครั้งนั้นควรจะเป็นอย่างไร สยามควรจะเข้าร่วมกับฝ่ายใดจึงจะนํามาซึ่งผลประโยชน์ต่อ ประเทศชาติได้มากที่สุดในอนาคต

จริงอยู่ว่ามหาอํานาจที่คุกคามสยามในขณะ นั้นคืออังกฤษและฝรั่งเศส เนื่องด้วยทั้งสองฝ่ายมีอาณานิคมที่ประชิดเขตแดนล้อมรอบสยาม และมีเจตนาที่จะแบ่งสยามออกเป็นสองส่วนในที่สุด ดังนั้น จึงเปรียบได้ว่าศัตรูโดยธรรมชาติของสยาม ในขณะนั้นก็คืออังกฤษและฝรั่งเศสนั่นเอง แต่แล้ว ด้วยเหตุใดเล่าที่ในที่สุดเมื่อสยามจําต้องตัดสินใจ เลือกข้างในมหาสงครามครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระบรมราช วินิจฉัยให้สยามเข้ารบในแนวร่วมกับฝ่ายอังกฤษ และฝรั่งเศส หรือจะพูดอย่างง่ายๆ คือ เข้าเป็นพวกกับศัตรู

นักประวัติศาสตร์หลายท่านกล่าวว่า นโยบาย เอนอ่อนแต่กล้าแข็งของสยามนั้น มีขึ้นได้เพราะการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ซึ่งได้สร้างอุทาหรณ์ให้กับชนชั้นปกครองของพระราชธานีแห่งใหม่ที่บางกอก พระมหากษัตริย์แห่งพระราชวงศ์ใหม่ทรงตระหนักเป็นอย่างดีว่า การที่จะทรงดื้อรั้นหรือยึดมั่นถือมั่นต่อพระอํานาจ ราชศักดิ์ที่มีมาแต่โบราณกาลนั้น อาจนํามาซึ่ง จุดจบได้อย่างน่าเสียดาย เฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับจักรวรรดิจีนและราชอาณาจักรพม่าที่ปฏิเสธการรุกล้ําเข้ามาของชาวตะวันตกอย่างแข็งกร้าวและเหยียดหยาม โดยหลงคิดไปเองว่าความยิ่งใหญ่ของกองทัพแบบโบราณที่มีอยู่ จะสามารถทัดทานกองทัพสมัยใหม่ของชาวตะวันตกที่ยกมาจากแดนไกลและมีกําลังพลน้อยกว่า โดยหารู้ไม่ว่าอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่นั้นทรง อานุภาพโหดร้ายเพียงใด ดังนั้นวิถีทางเดียวที่จะรักษาบ้านเมืองไว้ได้ก็ต้องใช้ความชาญฉลาดทางการทูตและการพาณิชย์ ยอมลดหย่อนการมีสิทธิขาดในการเก็บภาษีและเส้นทางเดินเรือ บรรทุกสินค้า โดยยอมเซ็นสนธิสัญญาทางการค้า กับประเทศสําคัญต่างๆ ซึ่งถ้าจะมองอย่างตื้นๆ แล้ว

ปลอกกระสุนปืนใหญ่จากสงครามโลก ครั้งที่ ๑ ที่นํามาดัดแปลงทําเป็นแจกัน และภาชนะอื่นๆ จนกลายเป็นของ ที่ระลึกของทหารอาสาที่ไปรบในคราวนั้น ส่วนหนึ่งมีการแกะสลักชื่อ วัน เดือน ปี และรหัสประจําตัวของ ทหารแต่ละคนด้วย

อาจดูว่าสยามเป็นฝ่ายเสียเปรียบ แต่ถ้าเรากลับ มองอย่างลึกซึ้ง จะเห็นว่า การเซ็นสนธิสัญญาของ สยามในช่วงรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ นั้น ยัง มาซึ่งการยกระดับของประเทศสยามให้เป็นคู่สัญญาที่ถูกต้องและเท่าเทียมทางกฎหมายของอารยประเทศในโลกสากลยุคใหม่ และสยามยังสามารถมีสัญญาทางการค้ากับประเทศต่างๆ ได้พร้อมๆ กันหลายประเทศ ทําให้เกิดการทาน อํานาจกันของมหาอํานาจต่างๆ ในสมัยนั้นอย่างชาญฉลาด

ในขณะเดียวกัน สยามเริ่มต้นปรับปรุงระบบ การปกครอง นิติบัญญัติ และการบริหารประเทศในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามามีบทบาท นําแนวคิดและสิ่งใหม่ๆมาบริหารประเทศ ไม่ปิดกั้นความเจริญต่างๆ ที่มาจากยุโรปโดยไร้เหตุผลอย่างหลายๆ ประเทศในเอเชียที่เคยกระทําผิดพลาด โดยทั้งหมดนี้จะเห็น เป็นรูปธรรมชัดเจนตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ ๔ เรื่อยลงมาจวบจนสมัยรัชกาลที่ ๖

ณ เวลาที่สงครามโลกครั้งที่ ๑ อุบัติขึ้นนั้น สยามได้ปฏิรูปตนเองมาไกลพอสมควร และเริ่ม ที่จะต้องการทบทวนสนธิสัญญาต่างๆ ที่ทํามากับ มหาอํานาจในอดีตเพื่อความเสมอภาคที่สยาม ควรได้รับมากขึ้น ดังนั้น สยามจึงมองว่าการร่วม ศึกในมหาสงครามครั้งนั้น อาจเป็นตัวแปรสําคัญ ที่จะสร้างประโยชน์ในหลายๆ ด้านให้สยามได้มากมาย ด้วยการประวิงเวลาการตัดสินใจจนเห็นได้ว่าทางเยอรมนีเป็นฝ่ายที่รุกราน แต่มีความเป็น ไปได้สูงว่าชัยชนะน่าจะตกกับฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสในที่สุด

ภาพถ่ายเพื่อเป็นที่ระลึก ของข้าราชการสถานทูตไทย ในปารีสขณะนั้น

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง ประกาศสงครามกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ พร้อมด้วย กับมาตรการอย่างฉับพลันทางการทหาร ที่มีการ เตรียมพร้อมอย่างลับๆ มาล่วงหน้าแล้ว ด้วยการ จับยึดตัวเชลย ๑๔๐ คน และทรัพย์สินของฝ่าย เยอรมนี เช่น เรือสินค้าที่เข้ามาในน่านน้ําของสยาม จํานวน ๒๕ ลํา เป็นต้น

หลังจากนั้นได้มีการประกาศให้รับสมัครทหาร อาสาที่จะไปรบที่ยุโรปเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐ ซึ่งมีชายฉกรรจ์เข้ามาสมัครเป็นจํานวนมาก ทั้งจากที่รับราชการเป็นทหารอยู่แล้วและ จากหน่วยงานอื่นๆ หลังจากที่ผ่านการคัดเลือก แล้วจึงได้ทหารอาสาสมัครรวม ๑,๒๓๓ นาย (ซึ่งในจํานวนนี้มีนักบิน ๙๕ นาย และหน่วยทหาร แพทย์) เพื่อเข้าฝึกหัดระเบียบวินัยและการใช้ อาวุธ โดยแบ่งออกเป็นสองกองคือกองบิน ทหารบก มีนายพันตรี หลวงทยานพิฆาฏ (ทิพย์ เกตุทัต) เป็นผู้บังคับการกองบิน ส่วนกอง ที่สองคือ กองทหารบกรถยนต์ มีนายร้อยเอก ต๋อย หัสดิเสวี (ภายหลังเป็นหลวงรามฤทธิรงค์) เป็นผู้บังคับกองทหารบกรถยนต์

ในที่สุดกองทหารอาสาสยามก็พร้อมที่จะออก เดินทางไปยังทวีปยุโรป โดยมีนายพลตรี พระยา พิชัยชาญฤทธิ์ เป็นผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทหารสยามในราชการสงครามครั้งนั้น และเมื่อ วันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑ ทางราชการไทยได้จัดพิธีอําลาและส่งกองทหารอาสาไปในการสงครามที่ท่าราชวรดิฐอย่างยิ่งใหญ่ทั้งสองฝั่งแม่น้ําเจ้าพระยาแน่นขนัดไปด้วยประชาชนที่พร้อมใจกันมาไชโยโห่ร้องให้พรแก่เหล่าทหารอาสา ที่จะต้อง จากบ้านเกิดเมืองนอนไปรบยังดินแดนไกลโพ้น

ส่วนหนึ่งของทหารอาสาสยามที่ถ่ายภาพร่วมกับ ทหารฝรั่งเศส ระหว่างการรบใน สงครามโลกครั้งที่ ๑

จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จมาร่วมในพิธีพร้อมด้วยนายทหารและ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และเมื่อได้เวลา ๖.๐๐ นาฬิกา อันเป็นมงคลฤกษ์ จอมพล สมเด็จพระเจ้าน้องยา เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลก ประชานาถ เสนาธิการทหารบก ได้ทรงนําเหล่าทหารอาสาขึ้นเรือรบหลวงสุครีพครองเมือง เรือ ศรีสมุทรและเรือกล้าทะเลเพื่อไปส่งขึ้นเรือกลไฟ เดินสมุทรชื่อเรือเอ็มไพร์ของอังกฤษ ที่ทางรัฐบาล ฝรั่งเศสจัดเช่าให้มารับทหารไทยและจอดสมอรอ อยู่ที่บริเวณเกาะสีชัง โดยมีนายพลเรือโท พระเจ้า บรมวงศ์เธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสนาธิการทหารเรือในขณะนั้น ทรงเป็นผู้อํานวย การการเคลื่อนย้ายพลตั้งแต่ท่าราชวรดิฐจนถึง เรือเอ็มไพร์ในวันรุ่งขึ้นด้วยพระองค์เอง คือเมื่อ เวลา ๙.๐๐ นาฬิกา ของวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๑

ส่วนทางเรือเอ็มไพร์ได้ชักธงไตรรงค์ (ซึ่งเป็นธงชาติใหม่ของสยามที่สถาปนาขึ้นโดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐) ขึ้นเหนือเสากระโดง เรือ เพื่อเป็นการให้เกียรติกับประเทศสยาม ซึ่งเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงประเทศเดียวที่ส่งทหารไปร่วมรบ (ถ้าไม่นับรวมกองพลชาวจีนและเวียดนามอีก ๑๔๐,๐๐๐ นาย ที่ฝรั่งเศสจ้างวานไปก่อนหน้านั้น) เมื่อเดินทางไป ถึงประเทศฝรั่งเศส กองทหารอาสาได้เรียนรู้วิชาเทคนิคทางการช่างและการรบในสมรภูมิจริง มี ทหารเสียชีวิต ๑๙ นาย ซึ่งได้ทําการฌาปนกิจที่ สุสานในประเทศเยอรมนี และนําอัฐิกลับถึงประเทศ สยามพร้อมๆ กันกับกองทหารอาสาที่เหลือทั้งหมด เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๔๖๒ (นอกเหนือจาก กองบินทหารบกที่เดินทางกลับมาก่อนหน้าพร้อม กับกองทูตทหารตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๑)

“กองทหารอาสาที่ไปในราชการ สงครามโลกครั้งที่ ๑ สิ้นสุด ภาระหน้าที่ด้วยความสําเร็จ งดงาม และได้สร้างเกียรติคุณของสยามให้เป็นที่ประจักษ์ต่ออารยประเทศไปอีกนานแสนนาน”

แต่ก่อนที่กองทหารอาสาจะเดินทางกลับ สยามนั้น ทหารไทยมีโอกาสได้ร่วมฉลองชัยชนะ หลังจากที่ฝ่ายเยอรมนียอมลงนามในหนังสือ สัญญาสันติภาพเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๒ และกองทหารอาสาของสยามได้รับเกียรติ ให้เข้าร่วมในงานสวนสนามในสถานที่ต่างๆ เช่น เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ในกรุง ปารีส ประเทศฝรั่งเศส, วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๖๒ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และ วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

อนุสาวรีย์และที่บรรจุอัฐิของทหารอาสาที่ไปเสียชีวิตในระหว่างการสู้รบ ของสงครามโลกครั้งที่ 9 ณ บริเวณท้องสนามหลวงกรุงเทพมหานคร

ในกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎ เกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรด กระหม่อมให้วันที่กองทหารอาสาเดินทางกลับถึง สยามคือวันที่ ๒๒ และ ๒๓ กันยายน เป็นวันหยุด ราชการ มีการจัดตกแต่งบ้านเมืองด้วยโคมไฟ สวยงาม และมีงานพระราชพิธีรับขวัญทหารผ่านศึกมีการสวนสนามต่อหน้าพระที่นั่ง รวมทั้งการ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่นายทหาร ชั้นสัญญาบัตรและนายทหารชั้นประทวน รวมทั้งยังมีเหรียญที่ระลึกในการพระราชสงครามทวีปยุโรปแก่บรรดานายทหาร นายสิบ ตลอดจนพลทหารที่กลับจากราชการสงครามทุกคนอีกด้วย

สําหรับอัฐิของทหารที่เสียชีวิตระหว่างราชการ สงครามในครั้งนั้น ได้จัดบรรจุกล่องซึ่งสร้างขึ้นเป็น พิเศษให้มีลักษณะคล้ายรูปกระสุนลูกปืนใหญ่ และ เชิญเข้าขบวนแห่ไปประกอบพิธีทางศาสนาและ บังสุกุลที่พระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุ หลังจาก นั้นจึงนําไปบรรจุไว้ภายในอนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของท้องสนามหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้าง ขึ้น โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรม พระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นผู้ออกแบบ ลักษณะของอนุสาวรีย์เป็นโครงสร้างทรงเจดีย์ ขนาดย่อม มีสีขาว ที่ฐานมีซุ้มประตูทั้งสี่ด้าน ล้อมรอบด้วยเสาหมุดห้อยโซ่สีดํา เมื่อทําการ บรรจุอัฐิทหารอาสาเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินสู่อนุสาวรีย์ ทรงวางพวงมาลาและ ทรงแสดงความเคารพต่อทหารผู้พลีชีพ แล้วเสด็จพระราชดําเนินกลับ ต่อจากนั้นมีการเดินสวนสนามของทหารผ่านอนุสาวรีย์เพื่อแสดงความเคารพ เป็นการสิ้นสุดพิธี (ส่วนทหารอาสาของสยามที่มี ชีวิตยืนยาวนานที่สุดนั้น คือคุณยอด แสงรุ่งเรือง ที่เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๔๖)

กองทหารอาสาที่ไปในราชการสงครามโลก ครั้งที่ ๑ สิ้นสุดภาระหน้าที่ด้วยความสําเร็จงดงาม และได้สร้างเกียรติคุณของสยามให้เป็นที่ประจักษ์ ต่ออารยประเทศไปอีกนานแสนนาน ในฐานะที่ สยามเป็นส่วนร่วมของฝ่ายพันธมิตร จึงได้รับสิทธิส่งผู้เข้าร่วมประชุมในการร่างสนธิสัญญาสันติภาพ ณ พระราชวังแวร์ซาย อนึ่ง การที่สยามอยู่ฝ่ายที่ ชนะสงคราม ทําให้สนธิสัญญาต่างๆ ที่สยามเคย ทําไว้กับประเทศต่างๆ ที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม มีอันต้องจบสิ้นไปโดยปริยาย คงเหลือแต่สนธิ

อัฐิของทหารที่เสียชีวิตระหว่างราชการสงครามใน ครั้งนั้น ได้จัดบรรจุกล่อง ซึ่งสร้างขึ้นเป็นพิเศษให้มี ลักษณะคล้ายรูปกระสุน ลูกปืนใหญ่ และเชิญเข้า ทางศาสนาและบังสุกุลที่ขบวนแห่ไปประกอบพิธีพระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุ

สัญญาที่ทําไว้กับประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งสยามเป็นฝ่ายเสียเปรียบตลอดมา สยามยังจะต้องใช้เวลาอีกถึงกว่าห้าปีในการวิ่งเต้นเพื่อให้เกิดการ เปลี่ยนแปลง ผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในการเรียก ร้องความยุติธรรมให้กับสยามในคราวนั้นคือ พระยากัลยาณไมตรี หรือ ดร. ฟรานซิส บี. แซร์ ซึ่งเป็นชาวอเมริกันโดยกําเนิด แต่เข้ามารับราชการ เป็นที่ปรึกษาทางการต่างประเทศของสยาม และ ในที่สุดก็ทําให้ประเทศต่างๆ ๑๓ ประเทศ รวมทั้ง สหราชอาณาจักรอังกฤษ และสาธารณรัฐฝรั่งเศสยอมตกลงแก้ไขสนธิสัญญาที่เคยทําไว้กับสยาม ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑

ผลพลอยได้จากสงครามอีกอย่างหนึ่งที่อาจมีความสําคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการได้ปรับยก สถานภาพของสยามในสายตาของอารยประเทศดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น คือ การที่สยามได้ปลุกจิตสํานึกของประชากรในชาติเองให้ตระหนักว่าชนชาติสยามสามารถที่จะก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ได้อย่างมั่นคงและเท่าเทียม ทั้งด้วยทรัพยากรทาง บุคคลที่อุดมด้วยภูมิปัญญา อีกทั้งทรัพยากรทางธรรมชาติมากมายนานาประการของสยามนั้นไม่เคยเป็นรองใคร หากเพียงเราเรียนรู้ที่จะรักชาติให้มากกว่ารักตนเอง

About the Author

Share:
Tags: world war / World War I / ฉบับที่ 7 / ทหารอาสา / ทหาร / สงครามโลกครั้งที่ ๑ / สงคราม / war / สงครามโลก / world war 1 /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ