Friday, May 17, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป

ดอยเชียงดาว

มหัศจรรย์พรรณไม้กึ่งอัลไพน์

ดอยเชียงดาว

เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๖๔ มีข่าวที่คนไทยทั้งประเทศต้องดีใจ คือมีการประกาศให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ได้ขึ้นทะเบียนเป็น “เขตสงวนชีวมณฑล” (Biosphere Reserve) ตามเกณฑ์ของ UNESCO เพราะคุณค่าทางธรรมชาติที่หาได้ยากยิ่ง เนื่องจากในพื้นที่มีสังคมพืชแบบกึ่งอัลไพน์ (Sub-Alpine Vegetation) ที่แท้จริงแห่งเดียวในเมืองไทย อีกทั้งยังถือเป็นส่วนหนึ่งของปลายเทือกเขาหิมาลัยทางด้านตะวันออก อีกด้วย จึงพบพืชและสัตว์หายากนับร้อยๆ ชนิด การเดินป่าขึ้นดอยเชียงดาวสักครั้งในชีวิต จึงถือเป็นประสบการณ์พิเศษที่ยากจะลืมเลือน

ปัจจุบันประเทศไทยมีเขตสงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve) รวมทั้งหมด ๕ แห่ง ได้แก่

๑. พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา (ประกาศ พ.ศ. ๒๕๑๙)
๒. พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จังหวัดเชียงใหม่ (ประกาศ พ.ศ. ๒๕๒๐)
๓. พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสักห้วยทาก จังหวัดลำปาง (ประกาศ พ.ศ. ๒๕๒๐)
๔. พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จังหวัดระนอง (ประกาศ พ.ศ. ๒๕๔๐)
๕. พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ (ประกาศ พ.ศ. ๒๕๖๔)

บรรยากาศการเดินผจญภัยขึ้นดอยเชียงดาวช่างสนุกสนาน และต้องแกร่งทั้งกายใจอยู่ไม่น้อย เพราะการเดินขึ้นตามเส้นทางเด่นหญ้าขัด ต้องใช้เวลา ๑ วันเต็ม กับระยะทาง ๘.๕ กิโลเมตร ดีหน่อยที่หนทางไม่ชันมาก มีจุดแวะพักและป่าชนิดต่างๆ ให้ได้สัมผัส ตั้งแต่ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าสน จนถึงป่ากึ่งอัลไพน์ในส่วนยอดสุดที่เป็นเขาหินปูน ความโดดเด่นของดอยเชียงดาวคือ เป็นภูเขาหินปูนลูกมหึมารูปเกือกม้า ประกอบด้วยยอดดอยต่างๆ สูงๆ ต่ำๆ ภูมิทัศน์อลังการมากทั้งยอดดอยหลวง ดอยสามพี่น้อง ดอยป่าคา ดอยกิ่วลม ดอยพีระมิด ดอยหนอก ดอยเจดีย์แป้น ฯลฯ ซึ่งยอดดอยหลวง สูง ๒,๕๖๕ เมตร ถือว่าเป็นภูเขาสูงอันดับ ๓ ของไทย (รองจากดอยอินทนนท์ และดอยผ้าห่มปก) อากาศจึงหนาวเย็นเกือบทั้งปี

การเดินขึ้นดอยเชียงดาวหนึ่งวัน แม้จะเหนื่อยล้าแต่ก็เต็มไปด้วยความสุข จุดกางเต็นท์อนุญาตไว้แห่งเดียวคือที่บริเวณอ่างสลุง เราต้องกางเต็นท์นอนใต้แสงดาว ก่อกองไฟคลายหนาว และหุงหาอาหารกินกันเองอย่างเรียบง่าย จากนั้นเมื่ออรุณรุ่งของวันใหม่มาเยือน ราวๆ ตีสี่ก็ต้องตื่น เพราะต้องรีบเดินขึ้นสู่ยอดดอยหลวง เพื่อรอชมแสงแรกของตะวันเคลือบคลุมเทือกเขาหินปูนมหึมาเป็นภาพสุดประทับใจ จากนั้นก็ได้เวลาเดินกลับลงมากินอาหารเช้าร้อนๆ เติมพลัง เพราะตลอดวันจะต้องเดินไปตามจุดต่างๆ เพื่อชมพรรณไม้หายาก (Rare Plants) และพรรณไม้เฉพาะถิ่น (Endemic Plants) นับร้อยชนิด

สังคมพืชกึ่งอัลไพน์ดอยเชียงดาว เป็นสังคมพืชบนที่สูงเกิน ๑,๙๐๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล อากาศหนาวเย็นและแห้ง ลักษณะเป็นหินปูนและไม้พุ่ม โดยไม่มีต้นไม้ใหญ่อยู่เลย ยกเว้นชนิดเดียวคือ ค้อเชียงดาว ลำต้นสูงชะลูดกว่า ๑๐ เมตร ส่วนพืชหายากที่จะไม่พบในที่อื่นเลยแต่จะมีเฉพาะที่นี่ เช่น ชมพูเชียงดาว ชมพูพิมพ์ใจ ขาวปั้น เทียนนกแก้ว ฟ้าคราม ฟองหินเหลือง พิมสาย สุวรรณนภา แสงแดง หรีดเชียงดาว กุหลาบขาว-เชียงดาว บัวทอง รวมถึงกล้วยไม้เฉพาะถิ่นสุดหายากอย่าง นางอั้วเชียงดาว และสิงโตเชียงดาว เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบสัตว์หายากอีกนานาชนิด ทั้งปลาค้อถ้ำตาบอดเชียงดาว ด้วงคีมยีราฟ ซาลามานเดอร์ (กะท่าง) และโดยเฉพาะ “ผีเสื้อสมิงเชียงดาว” ซึ่งในอดีตพบที่ภูฏาน พม่า และดอยเชียงดาวเท่านั้น แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปแล้ว เวลาเพียง ๓-๔ วัน ที่เราได้สัมผัสดอยเชียงดาว ช่างน้อยนัก เพราะอาณาจักรธรรมชาติกึ่งอัลไพน์แห่งนี้ ช่างยิ่งใหญ่ตระการตา ลึกลับ น่าค้นหาแน่นอน ว่าต้องกลับมาทำความรู้จักอีกหลายครั้งหลายครา จนกว่าจะลึกซึ้งถึงความงดงามที่เต็มไปด้วยคุณค่าในดอยเชียงดาวแห่งนี้

ข้อมูลท่องเที่ยว

  • โดยปกติจะอนุญาติให้ขึ้นดอยเชียงดาวได้ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
  • การเดินทาง จาก อ.เชียงดาว เลี้ยวซ้ายที่ กม. ๗๒ ไปตามถนนสายเชียงดาว-เมืองคอง ผ่านบ้านถ้ำและถ้ำเชียงดาว ประมาณ ๕ กม. เลี้ยวซ้ายอีกครั้งไปตามทางเข้าวัดถ้ำผาปล่อง ประมาณ ๓๐๐ ม. จนถึงที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ทำเรื่องขออนุญาตเข้าพื้นที่ แล้วขับรถต่อไปผ่านจุดตรวจสันป่าเกี๊ยะ เข้าสู่หน่วยพิทักษ์ป่าเด่นหญ้าขัด จุดเริ่มเดินขึ้นดอยเชียงดาว
  • ทำเรื่องขออนุญาตขึ้นดอยเชียงดาวได้ ๒ วิธีคือ ติดต่อสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ โทร. ๐ ๒๕๖๑ ๐๗๗๗ ต่อ ๑๖๖๐ หรือไปทำเรื่องที่สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาว / ติดต่อลูกหาบ ได้ที่สำนักงานเขตฯ ดอยเชียงดาว หรือที่ร้านแกละแปดริ้ว ถ้ำเชียงดาว โทร. ๐๘ ๑๙๙๓ ๘๓๙๗
  • ดอยเชียงดาวไม่มีที่พัก จึงต้องเตรียมเต็นท์ อาหาร น้ำ และอุปกรณ์ทุกอย่างขึ้นไปเอง
  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โทร. ๐ ๕๔๒๒ ๑๓๐๙

เรื่อง/ ภาพ: ชาธร โชคภัทระ

About the Author

Share:
Tags: นิตยสารอนุรักษ์ / เที่ยวไปรักษ์ไป / anurakmagazine / ดอยเชียงดาว / เที่ยว / ดอย /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ