Monday, May 6, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป บทความแนะนำ

ปลา ใต้กระชัง

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 18
เรื่อง / ภาพ: นภันต์ เสวิกุล

สมัยที่ผมเริ่มหัดดําน้ําใหม่ๆ พอใกล้จะวันเสาร์ หัวใจก็จะเริ่มพองโต เต้นตึกตัก งานการไม่ยอมทํา เตรียมตัวจัดกระเป๋า จัดอุปกรณ์ รื้อเข้ารื้อออกอยู่นั่นแล้วไม่รู้จบ นิสัยนี้ตามลงไปถึงใต้น้ํา เพราะเห็นอะไรเข้า ก็จะตื่นเต้นไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นปะการังชิ้นจิ๋ว กุ้ง ปูตัวเล็ก ทุ่งปะการัง หลากสี ฝูงปลาหลายขนาดต่างสายพันธุ์ รวมทั้งปลาใหญ่ตัวเท่ารถเก๋ง อย่างกระเบนราหูที่พยายามหยอดกระปุกเพื่อหาโอกาสเดินทางไปพบกัน ใต้น้ําสักครั้ง โดยเฉพาะเจ้าตัวที่ใหญ่ขนาดน้องๆ รถเมล์ หรือฉลามวาฬ ปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก อันเป็นความฝันที่เป็นไปแทบไม่ได้เลย

ระทั่งราวๆ สักสิบปีที่ผ่านมานี่ เราก็เริ่ม รู้จักกับฉลามวาฬมากขึ้น มีข่าวการพบ ฉลามวาฬบ่อยขึ้น เราเริ่มรู้จักแหล่งที่อยู่ อาศัย รวมทั้งที่เล่ากันถึงพฤติกรรมแปลกๆ ที่เริ่มได้ยินมากขึ้น เช่น การเข้ามารวมตัวกัน ๔๐-๕๐ ตัวในอ่าว Oslob เพื่อผสมพันธุ์ก่อนเดินทางไกลไปถึงติมอร์ และบางจํานวนข้ามไปถึงชายฝั่งทวีปแอฟริกาหลังจากนั้นก็มีการ พูดถึงฉลามวาฬตามเข้ามากินแพลงก์ตอนที่ ชาวบ้านป้อนให้ที่ Moalboal ในฟิลิปปินส์

แต่ที่โจษจันกันมากก็คือ เรื่องที่ฝรั่งเอา ไปเขียนเรื่องราวของ “ปลาใต้กระชัง” ในอ่าว Cendrawasih ที่พวกเราเพียรเปิดแผนที่ควานหากันอุตลุดว่ามันอยู่ตรงส่วนไหนของโลก ครั้นชี้นิ้วลงบนแผนที่สําเร็จก็ได้แต่ส่ายหน้าเมื่อพบว่าเมืองเล็กๆ แห่งนี้อยู่ใกล้ปลายขอบฟ้าถึงปาปัวตะวันตกโน่นทีเดียว

ปลา

ใต้กระชัง

จำไม่ได้แล้วว่านานแค่ไหนที่ไม่ได้นั่งเครื่องบินผ่าน “แผ่นดิน” ผืนใหญ่ๆ ที่ไร้บาดแผลของการบุกรุกทำลายจากน้ำมือมนุษย์…กระทั่งครั้งนี้ที่ได้บินร่วม ๒ ชั่วโมงผ่านป่าใหญ่สีมรกตของ West Papua
นาบิเรเป็นเพียงเมืองใหญ่ทางตะวันตกของเวสต์ปาปัวไม่ได้เป็นเมืองหลวง นั่งมอเตอร์ไซค์เดี๋ยวเดียวก็รอบเมือง ทุกอย่างแพงหมดยกเว้นปลา ขนาดเงาะร่วงๆ ยังพวงละ ๒๐๐ บาท
สินค้าทุกอย่างที่นี่ ทั้งข้าวปลาอาหารส่งมา จากเกาะชวาทั้งสิ้น จึงมี ราคาแพง น้ําดื่มถึงขวดละ ๑๐,๐๐๐ รูเปียส หรือ ๓๐ บาท รองเท้าแตะฟองน้ํา ธรรมดาๆ บ้านเราคู่ละ ๔๐-๕๐ บาท ที่โน่นคู่ละ ๓๐๐ บาท ปูนซิเมนต์ ถุงละเป็นพัน

กระทั่งความหวังเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็น ร่างมากขึ้น เมื่อเรือท่องเที่ยวชื่อ “ภาณุนี” จากประเทศไทยนี่แหละ แล่นไปให้บริการอยู่ ที่นั่น ทีนี้ก็ถึงคราวของคนอยากเห็นที่พร้อมใจ กันทุบกระปุกดังเปรี้ยง แล้วจัดแจงพาตัวเอง บินข้ามน้ําข้ามทะเลไปหา คณะอื่นไม่ทราบ แต่ตัวผมเองถือว่าไปดําน้ําครั้งนั้นสนุกสาหัส สากรรจ์!! เพราะอย่างที่บอกแต่ต้นว่าเป็น พวก “บ้าเห่อ” อยากเห็นก่อนใครๆ จึงเลือก ไปตั้งแต่เที่ยวแรกที่เขาบริการ นั่งเครื่องบิน จากกรุงเทพฯ ไปสองวันก็ถึงจุดหมายปลายทาง ที่เมืองนาบิเร (Nabire) เพื่อที่ได้รับการยืนยัน ว่าเรือยังมาไม่ถึง!! ต้องแกร่วอยู่ที่นั่นนาน ๕ วัน กว่าจะได้เจอกัน เอาละสิ ตัวยังไม่ทันเปียก ก็สนุกเสียแล้ว

ระหว่างอยู่ที่นาบิเรก็วนเวียนเตร็ดเตร่อยู่ ในเมือง (แบบค่อยรู้อนาคต) มีข้อมูลพอเล่า ให้ฟังได้ว่า ตรงที่มา “ติดเกาะ” อยู่นี่เป็น ก้นอ่าว Cendrawasih อยู่ทางด้านเหนือของ ดินแดนในปกครองของอินโดนีเซีย ที่เรียกว่า West Papua ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของเกาะ Papua New Guinea (เกาะใหญ่เป็นอันดับสอง ของโลก รองจากกรีนแลนด์) ใครนึกไม่ออก ก็พยายามนึกถึงเกาะที่อยู่เหนือทวีปออสเตรเลีย นั่นแหละครับ แต่ที่อาจจะนึกไม่ถึงก็คือ ๙๙.๙๙% ของประชากรที่นี่ คือต้นไม้นานาชนิด สัตว์ เลื้อยคลาน และแมลง เฉพาะอย่างยิ่งมาเลเรีย ทุกสายพันธุ์ เป็นดินแดนดึกดําบรรพ์ที่เต็มไป ด้วยป่าอันรกชัฏ ไม่มีเส้นทางคมนาคมใดๆ ติดต่อถึงกันได้

ดังนั้น ชุมชนต่างๆ บนเกาะนี้จึงยังขยาย ตัวไปไหนไม่รอด ได้แค่วางตัวอยู่ตามชายฝั่ง แคบๆ พื้นที่เพาะปลูก และปศุสัตว์มีน้อย หรือ แทบจะไม่มีเลย ชาวบ้านเพาะปลูกพืชผักได้ ก็เพียงเล็กน้อย ดังนั้น บรรดาของกินของใช้ เครื่องอุปโภคบริโภคประดามีบนเกาะจึงต้อง ขนมาจากเกาะอื่นๆ ทั้งสิ้น ทําให้หายสงสัยว่า ทําไมค่าครองชีพบนเกาะนี้จะสูงลิ่วพอๆ กับ สิงคโปร์ เพราะเอื้อมมือไปหยิบอะไรแพง จดไม่ติดทั้งนั้น

ตลาดสด ตลาดผักในนาบิเรคือที่รวมของชาวเมืองอารมณ์ดีกับชีวิตไร้ความกังวล ทุกใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้มและมีมิตรไมตรีกับคนแปลกหน้า
ตลาดปลาในนาบิเรเป็นอะไรที่สุดมหัศจรรย์ เช่น ทูน่าครีบเหลือง ที่บ้านเราราคาแพงระยับ ซื้อที่นี่ตัวใหญ่กว่าตัวที่เห็น นี้ ราคาแค่ ๔๐๐ กว่าบาท เอาขึ้นเรือไป ๒ ตัว นักดําน้ํา ๒๐ คนกินกันทั้งอาทิตย์!!

คนพื้นเมืองบนเกาะนี้มีหลายร้อยเผ่า เชื่อ กันว่ามีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษาวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีมากที่สุดของโลก เพราะบนเกาะเดียวมีภาษาพูด มากถึงกว่า ๖๕๐ ภาษา ซึ่งทั้งหมดที่ว่านั่น มีเพียงครึ่งเดียวที่ “พอจะ” พูดกันรู้เรื่อง แต่ที่แย่ก็คือ ผู้คนเหล่านี้แทบไม่ได้รับการ เอาใจใส่จากรัฐบาลกลางเลย เรียกได้ว่าอยู่กัน ไปตามยถากรรม เนื่องจากไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้เป็นอินโดนีเซียน พูดกับคนในเมือง ก็ไม่รู้เรื่อง จึงไม่มีงานทํา ถูกเหยียดหยาม และดูถูกดูหมิ่นว่า “ขี้เกียจสันหลังยาว เดิน ตีนเปล่า เมาไปวันๆ” เอานิยามสั้นๆ ไปแค่นี้ก็แล้วกัน สําหรับเจ้าของแผ่นดินตัวจริงในเวสต์ปาปัวของอินโดนีเซีย ซึ่งผมพบด้วย ตัวเองว่า บางภาพใช่ บางภาพไม่ใช่ และบางภาพขัดกันโดยสิ้นเชิง เพราะขนาดเห็นๆ กันว่าชีวิตที่นั่น “อยู่ยาก” ขนาดนั้น แต่ผมก็ พบว่าหัวจิตหัวใจของคนพื้นเมืองเหล่านี้ สะอาดแจ่มใส พวกเขายิ้มทั้งหน้า ยิ้มทั้งตา ไปเดินตลาดนี่รู้เลยว่าเขาน่ารักแค่ไหน บางคน โบกไม้โบกมือ ขอชิมอะไรก็ให้

บากัน หรือกระชัง ภัตตาคารปลาสดกับพ่อครัวใจดีของเหล่าฉลามวาฬในอ่าวเซนดราวาสี

พูดถึงปลากับความยากจนข้นแค้นของ คนที่นี่ สมมุติว่าถ้าเราเป็นคนปาปวนที่ยากจนหลังขดหลังแข็งหาปลาแทบแย่กว่าจะจับมาได้สัก ๑๐ กิโลกรัม ถามว่าเราจะทําอะไรกับ ปลาเหล่านั้น? “ก็เอาไปขายน่ะสิ…” และนั่น น่าจะเป็นคําตอบที่สมเหตุสมผลที่สุดแล้ว แต่ถ้าไม่ใช่ ไม่ได้เป็นอย่างนั้นล่ะ จะว่าอย่างไร? เพราะมีชาวประมงที่ประกอบอาชีพจับปลา/เลี้ยงปลาในกระชัง แทนที่จะเอาปลาไปขายพวกเขากลับเอาปลาเหล่านั้นไปเลี้ยงปลา

ที่จริงปลาฉลามวาฬถูกตั้งชื่อให้น่ากลัวไปอย่างนั่นเอง เพราะ อาหารของฉลามวาฬเล็กเท่าปลายก้อย… เขาจะอ้าปากกว้าง แล้วว่ายผ่านไปในบริเวณที่มี แพลงก์ตอนลอยเป็นแพเหนือน้ํา หาอาหารเหมือนเครื่องดูดฝุ่นว่าอย่างนั้นเถอะ

ตัวเบ้อเริ่มที่มาป้วนเปี้ยนอยู่ใต้กระชัง คุณจะว่าอย่างไร?? …. พวกเขาเป็นคนแบบไหนกัน ละนั่น??

เรื่องชาวประมงที่ว่านั้น เกิดขึ้นในอ่าว ขนาดใหญ่ชื่อ Cendrawasih ที่โค้งทอดยาวต่อ ขึ้นไปถึงปาปัวตะวันตก ที่ก้นอ่าว ชาวประมง พื้นบ้านเอาอวนมาโยงกับเรือขนาดใหญ่ (ที่ดู คล้ายแพ) เรียกว่า “บากัน” พอตกค่ําก็เอา อวนตาถี่ๆ ขึงตึง หย่อนลงไปในน้ําแล้วเปิดไฟล่อปลาแองโชวี (หน้าตาเหมือนปลาเกล็ดเงิน ตัวเขื่องกว่าปลาชิ้งทั้งสักหน่อย) ที่มีอยู่ชุกชุม จะเข้ามาตอมไฟ และค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นจน เป็นก้อนกลมสะท้อนแสง สว่างจ้าอยู่ใต้กระชัง เป็นสัญญาณให้กว้านอวนขึ้นมา ปลาก็จะติด ขึ้นมาเป็นจํานวนมาก ชาวประมงก็จะช้อน ปลาใส่ถุงตาข่าย หย่อนเก็บไว้ข้างเรือ เตรียม เอาไปไปทําปลาแห้ง ปลาเค็มตามวิถีประมงของเขา

ความมหัศจรรย์และความผูกพัน ระหว่างฉลามวาฬราว ๕๐ ตัว กับชาวประมงพื้นบ้านแห่งเมือง นาบิเร กลายเป็นเรื่องเล่าขาน ไปทั่วโลก ในไม่ช้า ที่นี่จะเป็น จุดหมายของนักดําน้ําที่ต่างปรารถนามาพบเห็นความ มหัศจรรย์นี้

แต่ใครจะคิดว่า พอเช้าๆ จะมีปลาตัวใหญ่ เข้ามาด้อมๆ มองๆ ขอปลากิน ชาวประมง ปาปวน คนใจใหญ่ ปลาของตัวยังไม่ทันได้ทํา เป็นปลาเค็มเลย ก็กระวีกระวาดเอากระชอนด้ามยาวตักปลาจากในกระชังป้อนใส่ปากคุณ ปลาใหญ่เสียก่อน แต่ป้อนเท่าไรก็คงไม่พออิ่มเพราะปลาที่เข้ามาไม่ได้เป็นปลาสวายอย่างเขตอภัยทานบ้านเรา แต่เป็นปลาฉลามวาฬตัวเท่ารถตู้ เข้ามาทีละ ๕-๖ ตัว บางวันชาว ประมงได้ปลาน้อยไม่พอแบ่งให้ พ่อฉลามวาฬขัดใจ ไม่ป้อนให้ก็ดูดเอาจากถุงตาข่ายเหมือน เด็กดูดนมจากขวด

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ปลาฉลามวาฬมา ขอลูกปลากินจากชาวประมงที่กระชังปลานั้นโดยความเห็นส่วนตัว ผมว่าเขาไม่ได้เข้ามาหา อาหารหรอก เพราะเพียงแค่เขาอ้าปาก ก็น่า

จะกว้างสัก ๑ ลูกบาศก์เมตร ลูกปลาที่ชาว ประมงโยนใส่ปากครั้งละ ๑๐ ตัวติดอยู่ซอก ฟันตรงไหนยังไม่รู้เลย และถ้าจะใส่ปาก ฉลามวาฬให้ “อั้ม!!” แบบเต็มปากเต็มคํา แล้ว กี่อั้มจึงจะอิ่มในแต่ละวัน ต่อให้กินปลาหมด ทั้งกระชัง ผมก็ว่ายังไม่พออิ่ม… ดูๆ แล้ว เหมือนคนกับปลาต่างก็ “อ้อน” ใส่กัน เป็น ความผูกพันที่มีให้แก่กันเสียมากกว่า

เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างปลากับคน เลี้ยงปลาในกระชังที่เมืองนี้แพร่กระจายไปทั่ว ทุกมุมโลก แล้วใครๆ (รวมทั้ง UNESCO) ก็ พยายามขวนขวายข้ามน้ําข้ามทะเลมาดู รวม ทั้งผม ซึ่งไปดูเขาอ้อนกันอย่างนี้ ๕ วันเต็ม โดยเรือภาณุนี้จะไปทอดสมออยู่ไม่ไกลจาก กระชังปลา แล้วก็ส่งนักดําน้ําลงไปดําผุดดํา ว่ายไปถ่ายรูปกับฉลามวาฬหลายต่อหลายตัว อยู่กันอย่างนี้ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นไปจนค่ำมืดดึกดื่น แล้วพอรู้จักกันมากขึ้น คุ้นเคยกันมาก ขึ้น เราก็พอจะมีคําตอบให้กับตัวเองว่า ฉลาม วาฬเป็นสัตว์ขี้เล่น เดาใจยาก บางครั้งเขาก็ ตื่นกลัวและไม่อยากให้ใครเข้าใกล้ แต่ถ้าอยู่ ในอารมณ์ที่เขาอยากสนุกด้วยแล้วละก็ จะ เข้ามาหาและพันพัวอยู่กับเราไม่ยอมห่างเลย ทีเดียว เพราะบางเวลา พ่อฉลามวาฬก็ว่ายน้ํา คลอๆ มากับพวกเราตอนว่ายน้ํากลับเรือ แล้ว ก็เพลิดเพลินเล่นอยู่กับเราอีกนานนับชั่วโมง

ถ้าจะใส่ปากฉลามวาฬให้ “อั้ม!!” แบบเต็มปากเต็มคํา แล้วที่อั้มจึงจะอิ่มในแต่ละวัน ต่อให้กินปลาหมดทั้งกระชัง ผมก็ว่ายังไม่พออิ่ม…

๕ วันดําน้ํากับปลาใต้กระชัง และอีก ๕ วันกับชีวิตในเมือง NABIRE, CENDRAWASIH ไม่ได้เป็นเพียงทริปดําน้ําแสนดีเท่านั้น เพราะ สําหรับผม นับจนถึงนาทีที่เครื่องบินเล็กเชิด หัวขึ้นจากสนามบิน ผมบอกตัวเองว่า ตลอด ระยะเวลานั้นเป็นช่วงชีวิต “สุดมหัศจรรย์” ที่จะไม่มีวันลืมเลือน

About the Author

Share:
Tags: สิ่งแวดล้อม / ทะเล / ปลา / สัตว์น้ำ / ฉบับที่ 18 / ปลาใต้กระชัง /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ