Sunday, May 19, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป บทความแนะนำ

ผจญภัยนัยรสชาติส่านซี “เจ่าซ่างห่าว”

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับ กุมภาพันธ์ 2567
เรื่อง/ภาพ: นัทธ์หทัย วนาเฉลิม

ที่ชั้นสูงสุดของอาคารวังสวรรค์ ประดิษฐานพระพุทธรูปจากประเทศอินเดีย ซึ่งว่ากันว่าพระพักตร์เหมือนพระนางบูเช็คเทียนเมื่อพระชนมายุ ๘๓ พรรษา

ผจญภัยนัยรสชาติส่านซี

“เจ่าซ่างห่าว”

เสียงมอร์นิ่งคอลจากทางโรงแรม ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ทำไมนาฬิกาในประเทศจีนถึงเดินเร็วนักนะ ข้างนอกหน้าต่างฝนตกอากาศเหน็บหนาวจนกระจกเป็นฝ้า แต่จะมัวโอ้เอ้ไม่ได้ ฉันกระชากตัวออกมาจากผ้านวมหนานุ่มรีบอาบน้ำแต่งตัว ก็รถไฟความเร็วสูงที่จะไปลั่วหยางต้องไปเตรียมตัวอย่างน้อย ๔๕ นาที น่ะสิ

เช้าวันรีบด่วนที่พักแรมคืนได้จัดเตรียม “มันฝรั่งเส้นผัดน้ำมันงาใส่พริกหวาน” และ “ขนมสือหนี่เก๊า” เอาไว้ให้

            เป็นอาหารที่ดูหน้าตาธรรมดาแต่ให้รสสัมผัสที่ไม่เลวเลย แต่ที่ฉันชอบมากคือขนมสือหนี่เก๊า

            “สือหนี่” หมายถึง ข้าวสีม่วง

            “เก๊า” หมายถึง ขนม หรือ ก้อนกลมๆ

            หน้าตาเหมือนข้าวเหนียวแก้วบ้านเราแต่ว่าใช้ข้าวก่ำ รสชาติหวานเย็นไม่แหลมบาดคอ ถ้าได้จิบชาเถี่ยกวานอิมไปด้วยคงวิเศษ

            วันนี้ฝนตกรถค่อนข้างติด แต่การจราจรก็สามารถระบายรถได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มาถึงชานชลา A13 ได้อย่างทันท่วงที รถไฟความเร็วสูงขบวนที่ G656 เคลื่อนตัวอย่างช้าๆ ก่อนจะเพิ่มความเร็วจนเกือบเต็มสปีดมุ่งหน้าสู่เมืองลั่วหยาง ผ่านเมืองย่อยต่างๆ ที่มีการกสิกรรมหลักแตกต่างกันไปบางเมืองทำนาบัว บางเมืองทำสวนส้ม บางเมืองทำสวนทับทิม

มันฝรั่งเส้นผัดน้ำมันงา… “มันฝรั่ง” กลายเป็นเมนูที่พบได้ กลายเป็นเมนูที่พบได้ทั่วไปภายหลังค.ศ. ๒๐๑๕ นอกจากปรุงสดแล้วยังมีการแปรรูปเป็นแป้งผสมในแป้งสำเร็จรูปสำหรับทำบะหมี่หรือซาลาเปาอีกด้วย
ขนมสื่อหนี่เก๊า คล้ายกับข้าวเหนียวแก้วบ้านเราแต่นิ่มกว่าและใช้ข้าวก่ำ
ท้องถิ่นซีอานมีการปลูกต้นทับทิมมาก เจ้าหน้าที่บนรถไฟความเร็วสูงจึงนำมาประดับแจกันประจำแต่ละโต๊ะในตู้เสบียง ดูเก๋ไก๋ไม่หยอก

สำหรับบ้านเรือนทั่วไปที่ประเทศจีนจะมีนโยบายให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทุกตารางนิ้ว ดังนั้นแต่ละบ้านจึงปลูกแอปเปิ้ลบ้าง ต้นพลับบ้าง ต้นท้อบ้าง แถมยังแซมด้วยพืชผักสวนครัวจนเต็มบริเวณ บางพื้นที่จะมีบริษัทการเกษตรแจกเมล็ดพันธุ์มาให้ปลูกแล้วรับซื้อกลับไป ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทาง

ของว่างที่ขายในตู้เสบียงทำมาจากคอเป็ดพะโล้อบกรอบ ไม่ใช่คอเป็ดที่ทำจากแป้งนุ่มนิ่มคลุกงาเป็นขนมอย่างบ้านเรา

รถไฟความเร็วสูง ๓๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางจากซีอานถึงลั่วหยางราว ๓ ชั่วโมง นอกจากชมทิวทัศน์จากนอกหน้าต่างแล้ว ตู้เสบียงก็เป็นพื้นที่ที่น่าสนใจไม่น้อย อากาศที่หนาวเย็นทำให้นักเดินทางจึงนิยมกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันมาก เพราะทั้งอุ่นและหนักท้อง จึงมีการผลิตเครื่องเคียงบรรจุถุงสูญญากาศออกมาวางขายหลากหลายรูปแบบทั้งตีนเป็ด น่อง ปีก เครื่องใน และสำหรับบนตู้เสบียงนี้เครื่องเคียงที่นิยมกินกันมากๆ ถึงมากที่สุดเห็นจะเป็น “คอเป็ดอบกรอบ” เคี้ยวกันกร้วมๆ ทุกโต๊ะทีเดียว

จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานว่าข้าวฟ่างมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา ก่อนนจะมีผู้นำไปปลูกที่อินเดียเมื่อประมาณ ๑,๗๒๕ ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ จากนั้นจึงแพร่ไปยังประเทศจีนเมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓

มาถึงลั่วหยางเอาตอนเที่ยววันพอดี ความที่เป็นคนตรงต่อเวลาพอเห็นเข็มนาฬิกาทับกันที่เลข ๑๒ จึงอดใจไม่ได้ที่จะแวะร้านอาหารท้องถิ่นเสียก่อน

            เรียกน้ำย่อยด้วยโจ๊กสีเหลืองสดใส ตอนแรกนึกว่าเป็นสีสันที่ได้จากฟักทอง แต่พอได้ชิม กลับรู้สึกหอมและหวานปะแล่มที่แท้คือ “โจ๊กข้าวฟ่าง” หลังจากกระเพาะอบอุ่นดีแล้ว อาหารจานหลักจึงถูกลำเลียงออกมา มี “มะเขือม่วงผัดซอสสามรส” พ่อครัวใช้มะเขือม่วงหั่นเป็นเส้นยาว คลุกแป้งสาลีบางๆ ทอดจนกรอบ แล้วผัดเร็วๆ กับซอสสามรสเปรี้ยวหวาน และ “ปลาหลูอวี๋นึ่งซีอิ๊ว” ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่พบได้ในแม่น้ำฮวงโห รสชาติเหมือนปลานิล แต่ก้างเยอะและแตกแขนงเป็นฝอยอย่างปลาจีนเพื่อช่วยในการว่ายน้ำเลี้ยวลด แสดงว่าเป็นปลาที่มีความลื่นไหลคล่องตัวสูง

โจ๊กข้าวฟ่างตุ๋นในน้ำซุปกระดูกหมูมีรสชาติกลมกล่อม
มะเขือม่วงผัดสามรส มีรสชาติเปรี้ยวหวาน
ปลาหลูนึ่งซีอิ๊ว เป็นปลาก้างเยอะอย่างมหัศจรรย์ ถ้าพ่อครัวรู้จักการบั้งแบบไทยๆ น่าจะทำให้ผู้กินปลอดภัยมากขึ้น
“ขนมหัวเช้าเหมี่ยนถ่วน” ครึ่งบนเป็นแป้งขาว และครึ่งล่างเป็นแป้งข้าวก่ำ

ที่น่าสนใจคือขนมพื้นเมืองเป็นแป้งทอด เรียกว่า “หัวเช้าเหมี่ยนถ่วน” หัว หมายถึง เอาไปทอด ขนมชนิดนี้เวลากินจะต้องจิ้มกับซอสสีน้ำตาลเข้ม ทีแรกฉันเข้าใจว่าเป็นงบน้ำอ้อยเคี่ยวจนงวด จึงจิ้มลงไปแบบเน้นๆ แล้วกัดคำโต เมื่อความเค็มปี๋แผ่ซ่านไปทั่วปาก ตามมาด้วยอาการลิ้นชาน้ำตาไหล จึงได้ทราบว่าเป็นเต้าเจี้ยวที่เคี่ยวจนงวด เจ้าถิ่นอธิบายว่าในตำรายาโบราณเชื่อว่า ความเค็มช่วยให้ร่างกายอบอุ่น และเป็นการอวดความร่ำรวยอย่างหนึ่ง เพราะสมัยก่อนเกลือถือว่าเป็นของหายากจึงมีราคาสูง จนได้ฉายาว่าเป็น “ทองคำขาว” ทีเดียว

ยังมีของว่างอีกชนิดที่ฉันชอบมากเป็นมันฝรั่งหั่นลูกบาศก์ทอดชุบน้ำผึ้งแล้วคลุกข้าวพองที่ทำจากข้าวฟ่าง รสชาติหอมหวาน รสสัมผัสหลากหลายทั้งนุ่มนวลและกรุบกรอบ เป็นขนมที่ชื่นใจมากสำหรับผู้ที่เดินทางมาเหนื่อยๆ

ช่วงหลังแต่ละครั้งที่มาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนจะพบว่ามีเมนูมันฝรั่งหรือ “ถู่โต้ว” หลากรูปแบบขึ้นโต๊ะอยู่เสมอ เป็นผลจากช่วงเดือนมกราคม คริสต์ศักราช ๒๐๑๕ กระทรวงการเกษตรของจีนได้ประกาศผลักดันให้มันฝรั่งเป็น “ธัญญาหารหลัก” อีกชนิดหนึ่ง นอกเหนือจากธัญญาหารหลักดั้งเดิม คือ ข้าวเจ้า ข้าวสาลีและข้าวโพด

ด้วยความที่เป็นพืชใช้น้ำน้อย สามารถปลูกได้ทุกภูมิภาค ทั้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการหลากหลายและอิ่มนาน เมื่อรัฐบาลมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็วควบคู่กับการเร่งแก้ปัญหาความยากจน และภาวะทุพโภชนาการในสังคม มันฝรั่งจึงกลายเป็นคำตอบด้านความมั่นคงทางอาหารของจีน

ขนมชนิดนี้เป็นอีกเมนูที่สร้างสรรค์ขึ้นมาจากมันฝรั่ง มีทั้งรสสัมผัสนิ่มนวลของมันฝรั่งและกรุบกรอบจากข้าวพอง
พุทธศาสนาฝ่ายมหายานเปรียบสะพานหินที่ทอดยาวไปยังตัวอาคารว่าเหมือนกับสะพานรุ้งที่เชื่อมโลกมนุษย์และสวรรค์
ประตูสุสานฝังศีรษะของกวนอู…เมื่อครั้งที่กวนอูแพ้สงครามจึงถูกจับตัดศีรษะ เพื่อยุให้โจโฉและเล่าปี่ทะเลาะกัน ซุนกวนได้นำศีรษะของกวนอูส่งไปให้โจโฉ โจโฉซึ่งชื่นชมในตัวกวนอูจึงได้นำศีรษะของกวนอูไปฝังอย่างสมเกียรติ บริเวณรอบๆ ปลูกต้นสนมากมายจนเป็นป่าสน จึงได้ชื่อว่า “กวนหลิน”

            เมื่ออิ่มท้องสมองก็พร้อมจะเรียนรู้ ไม่ไกลจากร้านอาหารเป็น “ศาลเจ้ากวนอู” ปกติเราจะได้ยินว่าท่านเปรียบเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ ที่จริงแล้วท่านยังเป็นเทพไฉ่ซิงเอี้ยฝ่ายบู๊ด้วยภายในศาลเจ้ากวนอูแบ่งเป็น ๓ ส่วน ชั้นในสุดจึงเป็นสุสาน แต่เป็นสุสานที่ฝังแค่ศีรษะ โดยส่วนลำตัวนั้นฝังอยู่ที่เมืองตังหยาง ฟังแล้วรู้สึกสงสารเหลือเกินที่ท่านต้องถูกฝังอย่างไม่สมบูรณ์ เหล่าต้นสนโบราณภายในกวนหลินลู่ลมพัดเสียงดังซ่าๆ ราวกับสะทกสะท้อนใจไปด้วยกัน

            ที่สุสานนั้นมีช่องเล็กๆ อยู่ ๒ ช่อง สำหรับให้นักท่องเที่ยวหย่อนเหรียญเพื่ออธิษฐาน ช่องซ้ายสำหรับเรื่องโชคลาภและช่องขวาสำหรับเรื่องสุขภาพ เห็นนักท่องเที่ยวหลายๆ ท่านต่างเลือกหย่อนเหรียญลงในช่องที่ตนเองปรารถนา ฉันจึงลองหย่อนดูบ้างเพื่อหยั่งดูว่าสุสานนั้นลึกแค่ไหน พลางจินตนาการถึงซีรีย์คนขุดสุสานว่าภายในจะเป็นอย่างไรบ้างนะ เสียงเหรียญกระทบกับแผ่นหินเบื้องล่างเสียงดัง “กริ๊ก” ฉันอธิษฐานขอให้ผู้ที่ฉันหวงใยทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง

ถ้ำหินหลงเหมิน เป็นถ้ำหินที่มีขนาดใหญ่ ๑ ใน ๓ ถ้ำที่มีการแกะสลักของจีน ตั้งอยู่ทางทิศใต้ โดยห่างตัวเมืองออกไปราว ๑๒.๕ กิโลเมตร เป็นพุทธสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศจีน

จากกวนหลินฉันเดินทางต่อไปยัง “วัดถ้ำประตูมังกร” (หลงเหมินสือคู) วัดถ้ำพระพุทธแห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมของจีนเมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๓

หลงเหมินสือคูเป็นถ้ำที่มีขนาดใหญ่ ๑ ใน ๓ ถ้ำของจีน การสร้างถ้ำพระพุทธแห่งนี้ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียและเอเชียกลาง สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศักราช ๑๐๓๗ ในสมัยราชวงศ์เว่ยเหนือ และสร้างเพิ่มเติมมาเรื่อยๆ จนถึงสมัยราชวงศ์ถัง มีความยาวถึง ๑ กิโลเมตร

            หน้าผาที่ถูกเจาะเป็นคูหาน้อยใหญ่มองไกลๆ ดูคล้ายรังผึ้งอย่างไรอย่างนั้น ในแต่ละคูหามีภาพสลักพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ เทวดา นางฟ้า และทวารบาล รวมทั้งมีภาพจิตรกรรมภายในถ้ำด้วย เพื่อเป็นการปกป้องหน้าผาอันล้ำค่าจากเขม่าควันรถ ทางผู้ดูแลสถานที่จึงกำหนดให้ผู้เข้าชมต้องจอดรถที่จุดบริการซึ่งห่างออกไปราว ๓ กิโลเมตร และจัดให้มีรถไฟฟ้าบริการไป ๒ กิโลเมตร และให้นักท่องเที่ยวลงเดินเท้าต่ออีก ๑ กิโลเมตร แต่ใครจะเลือกเดินมาตั้งแต่กิโลเมตรแรกเลยก็ไม่ผิดกติกา เพราะทิวทัศน์ที่งดงามและอากาศเย็นสบาย ทำให้เพลิดเพลินจนไม่รู้สึกเหนื่อยสักนิด

ในสมัยที่พระนางบูเช็คเทียนยังเป็นฮองเฮาในพระเจ้าถังเกาจงได้ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการบูรณะถ้ำหินหลงเหมินแห่งนี้ ภาพสลักพระพุทธเจ้าขนาดใหญ่ที่ตอนกลางของหน้าผาจึงลือกันว่าได้ต้นแบบมาจากพระพักตร์ของพระนางเมื่อพระชนมายุ ๖๓ พรรษา

ปัจจุบันยังคงเหลือถ้ำผาแกะสลักอยู่กว่า ๒,๑๐๐ คูหา โพรงแท่นบูชา ๒,๓๔๕ ช่อง  ศิลาจารึก อักษรจารและหมายเหตุบันทึกต่างๆ อีก ๓,๖๐๐ กว่าหลัก รวมถึงเจดีย์พุทธกว่า ๕๐ แห่ง พระพุทธรูปสลักมากกว่า ๑๐,๐๐๐ องค์ โดยองค์ที่ใหญ่ที่สุดสูงถึง ๑๗ เมตร ในขณะที่องค์เล็กสุดมีขนาดเพียง ๒ เซนติเมตร เท่านั้นเอง

ไหนๆ ก็กล่าวถึงจักรพรรดินีบูเช็คเทียนแล้ว ย้อนกลับเข้าเมืองลั่วหยางไปชมพระราชวังของพระองค์ก็น่าจะช่วยให้เข้าใจถึงตัวตนของพระองค์ได้ดีขึ้น

แต่ละคูหาภายในถ้ำหลงเหมินบ้างสลักภาพพระโพธิสัตว์ เทวดา นางฟ้า พระพุทธรูปและทวารบาล

            เมืองลั่วหยางได้ชื่อจากแม่น้ำลั่วเหอที่ไหลผ่านตัวเมือง ทั่วไปแล้วเหตุผลในการย้ายราชธานีมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ศูนย์กลาง” เช่น ศูนย์กลางการค้า ศูนย์กลางอำนาจทางการทหาร มีความอุดมสมบูรณ์ ปราศจากภัยธรรมชาติ และเพื่อลดบทบาทของกลุ่มอำนาจราชวงศ์เดิมเป็นต้น

แต่ประวัติศาสตร์ฉบับซุบซิบเล่าไว้ว่า ความที่พระนางรักชอบดอกโบตั๋นมาก ในขณะเดียวกันลั่วหยางก็ได้ชื่อว่าเป็นราชธานีของดอกโบตั๋น เวลาถึงฤดูกาลที่ดอกโบตั๋นบานพร้อมกันทั่วทั้งเมืองงดงามด้วยดอกโบตั๋นหลากสี อวลกลิ่นหอมหวาน องค์จักรพรรดินีพอทราบข่าวก็รีบเสด็จมาชม แต่ยุคโบราณยังไม่มีรถไฟความเร็วสูง อย่างเร็วสุดก็ไปได้ด้วยรถม้า กว่าจะไปถึงดอกโบตั๋นก็เหี่ยวเสียแล้ว อย่ากระนั้นเลย ย้ายราชธานีไปอยู่ที่แหล่งโบตั๋นเลยดีกว่า

ที่จริงรัชสมัยของฮ่องเต้หญิงเพียงหนึ่งเดียวพระองค์นี้นับว่าเป็นยุคทองแห่งศิลปะวิทยาการก็ว่าได้ ทุกเพศ ทุกชนชั้น สามารถเรียนหนังสือและสอบรับราชการ ผู้คนมีกินมีใช้ ถึงขนาดนอนไม่ปิดประตูบ้านของก็ไม่หาย ที่สำคัญพระองค์เป็นผู้มีปัญญามาก สามารถประดิษฐ์คำและตัวอักษรขึ้นมาใหญ่กว่า ๒๐ คำ ทีเดียว โดยเฉพาะคำว่า “ว่าน” ที่หมายถึง หมื่น ในสมัยโบราณจำนวนหมื่นนั้นมีเยอะมาก มีค่าเทียบได้กับอนันต์ในปัจจุบันทีเดียว สติปัญญาของพระนางล้ำเลิศขนาดนี้ จึงไม่น่าจะย้ายราชธานีด้วยเหตุผลจิ๊บจ๊อยกระมัง

“มะเขือม่วงผัดปลาเค็ม” มีเครื่องปรุงพิเศษทำจากถั่วปากอ้าหมักกับเกลือและเครื่องเทศ เรียกว่า “โต้วป้านเจี้ยง” เครื่องปรุงชนิดนี้ค้นพบโดยบังเอิญ เนื่องจากชายขายถั่วปากอ้าคนหนึ่งจะขนถั่วไปขาย แต่ถั่วนั้นโดยความชื้นทำให้เกิดความเสียหายจึงนำเกลือและพริกมาหมักหวังกลบเกลื่อนความเสียหาย ปรากฏว่าได้เครื่องปรุงที่มีรสชาติอร่อย

ยังไม่ถึงเวลาเปิดให้เข้าชมพระราชวัง สถานที่ที่ใช้หลบลมหนาวได้ดีที่สุดเห็นจะเป็นร้านอาหารท้องถิ่น เมนูประจำวันนี้เป็น “เส้นก๋วยเตี๋ยวผัด” หน้าตาคล้ายผัดไทยบ้านเราอย่างกับฝาแฝด แต่รสชาติออกเผ็ดสักหน่อย ส่วนอีกจานเป็น “มะเขือม่วงผัดปลาเค็ม”

            ความน่าสนใจของมื้อเย็นนี้อยู่ที่จานมะเขือม่วงผัดปลาเค็ม แต่ความน่าสนใจนั้นไม่ได้อยู่ที่มะเขือม่วงลอกเปลือกนุ่มนิ่ม หรือ แหล่งที่มาของปลาเค็ม แต่อยู่ที่เครื่องปรุงรสที่เรียกว่า “โต้วป้านเจี้ยง”

ซาลาเปาผัก ทั้งแบบไม่มีไส้และมีไส้

โต้วป้านเจี้ยงเป็นเครื่องปรุงรสชนิดหนึ่งของจีน หน้าตาคล้ายกะปิ ทำจากถั่วปากอ้าหมักกับเกลือและเครื่องเทศชนิดอื่นๆ เครื่องปรุงจากถั่วปากอ้ามี ๒ แบบ คือ แบบเผ็ดและไม่เผ็ด โต้วป้านเจี้ยงแบบเผ็ดจะใส่พริก เรียกว่า “ล่าโต้วป้านเจี้ยง” อาหารทั้งสองจานรสชาติออกเผ็ดซ่า จึงคาดว่าพ่อครัวจะเป็นชาวเสฉวน จึงได้นำจิตวิญญานแห่งเสฉวนปรุงลงไปด้วย

ภายในวังสว่างที่สร้างครอบชั้นดินเดิมของลั่วหยางสมัยจักรพรรดินีบูเช็คเทียน ที่ตำแหน่งนี้ถูกระบุว่าเป็นที่ตั้งเสาเอกของตำหนักว่าราชการ

ประวัติศาสตร์ฉบับซุบซิบ (อีกแล้ว) เล่าว่าตำหนักหลังนี้ต้องผจญอัคคีภัยหลายครั้ง แต่ครั้งที่รุนแรงที่สุดเกิดจากพิษรักแรงหึงของสนมชายในพระนางเอง

            ภายหลังการค้นพบจึงได้มีการสร้างอาคารขึ้นมา ๒ หลัง ตามภาพสันนิษฐานในยุคนั้น คือ “วังสวรรค์” (เทียนถาน) และ “วังสว่าง” (หมิงถาน) ขึ้น เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของเมืองลั่วหยางในรัชสมัยของจักรพรรดินีหนึ่งเดียวในประวัติศาสตรืจีน

            เมื่อประตูไม้หนาหนักถูกเปิดออกเหล่าผู้เข้าชมต่างตะลึงลานด้วยการตกแต่งอันหรูหราจากทองคำ ๒๔K และ คริสตัล ๙,๙๙๙ เม็ด ที่ห้อยระย้าลงมาจากเพดาน ระยิบระยับสมชื่อวังสว่างจริงๆ เมื่อการแสดงนาฏลีลาจบลง เจ้าหน้าที่จึงเปิดทางให้เข้าชมในส่วนของพิพิธภัณ์ที่ชั้นหนึ่งนั้นเป็นพื้นกระจกทำให้มองเห็นชั้นดินในยุคราชวงศ์โจว และยังมีบริเวณที่ยังขุดค้นไม่เสร็จเป็นส่วนเสาเอกของพระราชวังแห่งนี้ ณ ที่นั้นฉันสุดที่จะตื่นเต้น จนแทบจะกระโดดลงไปเพื่อสัมผัสชั้นดินนั้นด้วยมือของตนเอง แต่เกรงตำรวจจะกรูกันเข้ามารุมเสียก่อน

วังสว่างนั้นมีด้วยกัน ๓ ชั้น เดิมใช้เป็นที่ว่าราชการ ภายหลังการค้นพบจึงได้มีการสร้างอาคารครอบบริเวณเดิมไว้ เพื่อบอกเล่าชีวประวัติของพระนางบูเช็คเทียนนับตั้งแต่ยังทรงเป็นเพียงไฉ่เหริน (ผู้เข้าคัดเลือกพระสนม) จนกระทั่งก้าวสู่การเป็นจักรพรรดินี รวมทั้งเรื่องการเมืองการปกครองและศิลปวัฒนธรรมในยุคนั้นด้วย

            จากวังสว่างเดินทอดน่องชมดอกโบตั๋นท่ามกลางอากาศเย็นฉ่ำไปชมวังสวรรค์บ้าง วังสวรรค์แห่งนี้คือสถานที่พักผ่อนเปลี่ยนอิริยาบถส่วนพระองค์ ปัจจุบันเป็นอาคารสูง ๙ ชั้น

            ฉันเลือกขึ้นลิฟท์ไปยังชั้นสูงสุดเพื่อนมัสการพระพุทธรูปจากอินเดียเสียก่อน พระพุทธรูปองค์นี้ว่ากันว่า พระพักตร์เหมือนกับฮ่องเต้หญิงเมื่อพระชนมายุ ๘๓ พรรษา กราบพระแล้วจึงค่อยใช้บันไดเดินลงมาเพื่อชมงานศิลปะและของสะสมในแต่ละชั้น ส่วนชั้นสุดท้ายเป็นร้านขายของที่ระรึก แน่นอนว่าต้องเป็นอาร์ตทอยอู่เม่ยเหนียงในรูปแบบอิริยาบถต่างๆ น่ารักน่าเอ็นดู

            กว่าจะชมพระราชวังเสร็จฟ้าก็มืดแล้ว จากเนินที่ตั้งโบราณสถานเมื่อมองลงมาแสงไฟจากบ้านเรือนประชาชนพร่างพราวราวกับดารารายบนผืนดินก็ไม่ปาน

เกี๊ยวแบบต่างๆ โดยถ้วยสุดท้ายเป็นเกี๊ยวซีอานในน้ำแกงไข่มุกมังกร

รุ่งเช้าเป็นวันที่ต้องกลับซีอานแล้ว ที่พักได้จัดเตรียมซาลาเปาผักไว้ให้ มีทั้งแบบเป็นก้อนกลมๆ ไส้หมูสับผสมผัก และ แบบฟั่นเป็นเกลียวสวยงามโดยผักมาในเนื้อแป้ง ต้องขอบคุณคุณแม่บ้านประจำที่พักอีกรอบที่เตรียมชาแดงเหวินซานร้อนๆ สำหรับกรอกใส่กระบอกน้ำในวันเดินทางที่อากาศเหน็บหนาวเช่นนี้

เถ้าแก่ร้านขายโร่วเจียมั่วยิ้มเมื่ออาหมวยต่างถิ่นบอกว่ามาจาก “ไท่กั๋ว” หมายถึง ประเทศไทย

ฉันมุ่งหน้าสู่เมืองเติ้งฟงหรือเมืองหยางเฉิงในอดีต เมืองนี้เคยเป็นราชธานีในยุคราชวงศ์เชี่ย รถค่อยๆ ไต่ระดับความสูงขึ้นไปบนเขาซงซานโดยมีหมุดหมายอยู่ที่ “วัดเส้าหลิน” วัดที่นิยายกำลังภายในทุกเรื่องต้องกล่าวถึง ยืนยันความเป็นจ้าวยุทธ์ได้เป็นอย่างดี วัดเส้าหลินอยู่ทางทิศตะวันตกของเทือกเขาซงซาน ยิ่งใกล้ถึงวัดเท่าใด จำนวนโรงเรียนฝึกวิทยายุทธ์ยิ่งถี่ขึ้นเท่านั้น

กำแพงเมืองโบราณมีขนาดใหญ่และแข็งแรง สามารถรองรับน้ำหนักอาคารสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ได้หลายชั้นและหลายหลัง แสดงถึงภูมิปัญญาอันน่าทึ่งด้านวิศกรรมในสมัยโบราณ โดยฝั่งทางทิศใต้ยังมีความสมบูรณ์อยู่มาก และกลายเป็นฉากในการถ่ายทำภาพยนตร์และละครอยู่หลายเรื่อง

วัดโบราณแห่งนี้ก่อตั้งโดยภิกษุชาวอินเดียนามว่า “พระโพธิธรรม” ท่านเป็นผู้นำพุทธศาสนานิกายเชนเข้ามาเผยแผ่ในแผ่นดินจีนเมื่อพุทธศักราช ๑๐๗๐ โดยเน้นการฝึกญาณสมาธิเพื่อให้เข้าถึงสัจธรรมต่อมาจึงได้กลายเป็นศูนย์กลางการฝึกศิลปะการป้องกันตัว

            บันไดหินสูงขึ้นไปสู่บริเวณวัดไม่ได้สูงลิบลิ่ว หรือโหดร้ายกับหัวเข่าแบบในหนังเลย บันไดแต่ละขั้นก้าวเดินได้อย่างสบาย เหมือนมาตรฐานการสร้างบันไดในปัจจุบันที่ใช้ระยะ ๖๐ เซนติเมตร ซึ่งเป็นช่วงก้าวเดินที่กำลังสบายของมนุษย์

คุณครูใหญ่ของโรงเรียนฝึกยุทธ์วัดเส้าหลิน “หลีเหล่าซือ” ไม่ได้มาแสดงวิทยายุทธ์แบบเด็กๆ นักเรียน แต่ถ่ายทอดพลังลงในตัวอักษร ผู้เข้าชมต่างแย่งประมูลกันใหญ่

            สถานที่แรกที่ต้องไม่พลาดการเข้าชมคือ “ยิมเนเซียม” มีการแสดงศิลปะกังฟูของนักเรียนในแต่ละระดับชั้น รวมถึงคุณครูใหญ่ของโรงเรียนด้วย จากการแสดงที่ตื่นตา สถานที่ต่อมาคือ “วิหารสหัสพุทธ” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานประติมากรรมพระพุทธเจ้าในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต สำหรับใครที่หลงใหลนิยายกำลังภายในก็ได้ตื่นตาไปกับประติมากรรมวิชา ๑๘ อรหันต์ ของปรมาจารย์ตั๊กม้อ

ป่าเจดีย์ หรือ สุสานเจ้าอาวาสวัดเส้าหลิน มีหมู่เจดีย์กว่า ๒๐๐ องค์

สถานที่สุดท้ายที่สำคัญของวัดที่ทุกคนต่างมุ่งไปเรียกว่าเป็น “ป่าช้า” ก็ไม่ผิด เพราะเป็นสถานที่รวบรวมอัฐิธาตุของเจ้าอาวาสแต่ละท่าน มองไปดูเหมือนเป็นทะเลเจดีย์กว่า ๒๐๐ องค์ สุดทางเดินชมวัดเส้าหลินที่ “ป่าเจดีย์” (ถ่าหลิน) นี่เอง รถไฟความเร็วสูงพุ่งทะยานกลับสู่ซีอานเสียงผู้ดูแลบนรถไฟประกาศเตือนว่าสำหรับผู้ที่มีจุดหมายอยู่ที่ซีอานอย่าหลับเพลินเพราะอาจได้ไปลงที่ฉงชิ่งแทน

ที่ซีอานหลังชมการศิลปะการแสดงในสมัยราชวงศ์ถังที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ช่วงเวลาที่รอคอยก็มาถึง “งานเลี้ยงเกี๊ยว” (เจี่ยวจือเหยียน)     

            ๑ เกี๊ยว ๑ สไตล์ แป้งบางเฉียบ ริ้วจีบประณีต บางลูกไส้หมู บางลูกไส้กุ้ง บางลูกไส้เห็ดหูหนู เกี๊ยวบางลูกแป้งที่ห่อเป็นสีส้ม บอกเป็นนัยว่าเนื้อแป้งนั้นเผ็ดจี๋ และจานสุดท้ายที่ยกออกมาคือ “เกี๊ยวซีอาน” เถ้าแก่เสริฟมาพร้อมกับน้ำแกงไข่มุกมังกร อากาศเย็นๆ เมื่อซดแล้วเป็นต้องร้อง “เชงเชง” กันเลยทีเดียว

            เดิมเกี๊ยวซีอานนั้นมีแค่เกี๊ยวโดดๆ ส่วนน้ำแกงไข่มุกมังกรที่มาคู่กันในภายหลังนั้นเรื่องมีที่มาจากซูสีไทเฮา แห่งราชวงศ์ชิง ที่เวลาเสวยพระกระยาหารมื้อหนึ่งๆ จะต้องมีอาหารมาขึ้นโต๊ะ ๑๐๐ จาน แต่ละจานก็ตักชิมแค่หนึ่งคำตามคอนเซ็ปต์ “เสพความอร่อย”

            พ่อครัวหลวงมีหน้าเสริฟก็เสริฟไป พระนางมีหน้าที่เสวยก็เสวยไป จนกระทั่งมาถึงจานเกี๊ยวซีอาน ซึ่งพระนางรู้สึกธรรมดาเกินไปจึงไม่พอพระทัย พ่อครัวที่คิดว่าตนเองดวงกำลังจะถึงฆาตจึงขอโอกาสอีกครั้ง เค้นสมองคิดค้นน้ำแกงไข่มุกมังกรขึ้นมากินคู่กับเกี๊ยวซีอาน เพื่อให้พระนางพอพระทัย สุดท้ายจึงรักษาศีรษะเอาไว้ได้

            ซูสีไทเฮาอาจจะเสพความอร่อย แต่สำหรับฉันการเสพบรรยากาศเรื่องเล่าก็ทำให้อาหารมื้อนี้เลิศรสไม่ต่างกัน…ค่ำคืนนั้นกระเพาะของฉันยิ้มอย่างเปี่ยมสุข

ด้วยความหนาของกำแพง ชั้นบนจึงเป็นเหมือนทางกว้างๆ อย่าว่าแต่ม้าวิ่งได้เลย ปัจจุบันสามารถนำรถยนต์ขึ้นไปวิ่งยังได้ แต่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าของทางการสำหรับตรวจความเรียบร้อย
หลังจากที่มีการค้นพบหุ่นทหารดินเผา ทางรัฐบาลได้เวนคืนที่ดินทั้งบ้านเรือนและแปลงนาของเกษตรกรเพื่อทำการขุดค้นอย่างจริงจัง โดยได้สร้างทาวน์เฮาส์ใกล้กับบริเวณสุสานให้ผู้ถูกเวนคืนได้อาศัยแทน โดยชาวบ้านได้ทำการค้าแทนการปลูกข้าวสาลี ร้านสุกี้ร้านนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น และความที่ซีอานเป็นเมืองที่มีอากาศหนาวเย็น อาหารหลายๆ อย่างจึงมักทำจากแป้งเพื่อให้ร่างกายมีพลังงาน

ฝนปลายฤดูตกทั้งคืนจนกลีบดอกกุหลาบป่าหน้าห้องพักบ้างชอกช้ำบ้างร่วงหล่น พาลทำให้อาหารที่หนาวอยู่แล้วยิ่งเย็นขึ้นไปอีกจนต้องกระชับผ้าพันคอให้แน่นเข้า เช้าวันนี้ฉันตัดสินใจจะออกไปหาอาหารรสชาติท้องถิ่นนอกที่พัก “แฮมเบอร์เกอร์ส่านซี” (โร่วเจียมั่ว) จึงน่าจะเป็นอาหารเช้าที่ให้พลังงานแก่ร่างกายได้ดีในวันที่เหน็บหนาว

            อาหารชนิดนี้มีมาแต่โบราณ เดิมเรียกว่า “โร่วเจียหยีว์มั่ว” (เนื้ออยู่ในขนมปัง) แต่เนื่องจากผู้คนคิดว่ายาวเกินไป จึงตัดคำว่า “หยีว์” (อยู่ใน) ทิ้งไปเหลือความหมายเพียงสั้นๆ ว่า “ขนมปังห่อเนื้อ”

            “เอาเนื้อไหม ไข่ต้มไหม ผักดองไหม ใส่หอมไหม ใส่พริกไหม” ฉันและเถ้าแก่สื่อการกันจนเมื่อยมือ (ก็ภาษามือเป็นภาษาสากลนี่นะ) ในที่สุดก็ได้โร่วเจียมั่วมาชิมสมใจ ตั้งใจว่าจะนำไปกินบน “กำแพงเมืองโบราณ” (กู่เฉิงเฉียง) คงได้บรรยากาศดี

ฝนปลายฤดูตกทั้งคืนจนกลีบดอกกุหลาบป่าหน้าห้องพักบ้างชอกช้ำบ้างร่วงหล่น พาลทำให้อาหารที่หนาวอยู่แล้วยิ่งเย็นขึ้นไปอีกจนต้องกระชับผ้าพันคอให้แน่นเข้า เช้าวันนี้ฉันตัดสินใจจะออกไปหาอาหารรสชาติท้องถิ่นนอกที่พัก “แฮมเบอร์เกอร์ส่านซี” (โร่วเจียมั่ว) จึงน่าจะเป็นอาหารเช้าที่ให้พลังงานแก่ร่างกายได้ดีในวันที่เหน็บหนาว

            อาหารชนิดนี้มีมาแต่โบราณ เดิมเรียกว่า “โร่วเจียหยีว์มั่ว” (เนื้ออยู่ในขนมปัง) แต่เนื่องจากผู้คนคิดว่ายาวเกินไป จึงตัดคำว่า “หยีว์” (อยู่ใน) ทิ้งไปเหลือความหมายเพียงสั้นๆ ว่า “ขนมปังห่อเนื้อ”

            “เอาเนื้อไหม ไข่ต้มไหม ผักดองไหม ใส่หอมไหม ใส่พริกไหม” ฉันและเถ้าแก่สื่อการกันจนเมื่อยมือ (ก็ภาษามือเป็นภาษาสากลนี่นะ) ในที่สุดก็ได้โร่วเจียมั่วมาชิมสมใจ ตั้งใจว่าจะนำไปกินบน “กำแพงเมืองโบราณ” (กู่เฉิงเฉียง) คงได้บรรยากาศดี

ได้ชิมแล้วโร่วเจียมั่ว หรือ แฮมเบอร์ส่านซี ปัจจุบันไม่ได้ใส่แค่เนื้อ แต่ยังประยุกต์ใส่ไส้อื่นๆ ได้ด้วย
ที่หลุมขุดค้นที่ ๑ ถือว่าเป็นทัพหน้า บริเวณนี้เจอหุ่นทหารดินเผาราว ๖,๐๐๐ ตัว สังเกตว่าภายในหลุมจะมีสันดินอยู่ สันดินนี้เป็นสันดินโบราณทำขึ้นเพื่อรองรับน้ำหนัก บนสันดินช่างก่อสร้างได้ใช้ท่อนซุงทั้งท่อนเรียง แล้วเอาเสื่อคลุม สุดท้ายท้ายจึงใช้ดินกลย ต่อมามีคนร้ายเข้ามาปล้นสุสาน มีการเผาสุสานทำให้ซุงไหม้ จึงเห็นเพียงสันดินที่เป็นลอนๆ เหมือนร่องไม้ซุง

กำแพงเมืองโบราณซีอานสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง ก็ราวๆ ช่วงที่สุโขทัยเป็นราชธานี มีความยาว ๑๔ กิโลเมตร จึงมีธุรกิจเช่าจักรยานปั่นชมทิวทัศน์บนกำแพงเมือง ซึ่งกำแพงทางด้านทิศใต้ได้ชื่อว่าเก่าแก่ที่สุด ที่กำแพงเมืองโบราณนี้ยังเป็นฉากในซีรีย์เรื่องดังอย่างทุกชาติภพกระดูกงดงาม ภาคอดีต ด้วย

            จากกำแพงเมืองโบราณมุ่งหน้าสู่ “สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้” ตลอดทางแน่นขนัดไปด้วยสวนทับทิม ชาวบ้านต่างนำผลผลิตสดๆ มาขายริมถนน ใครที่ขี้เกียจแกะเปลือกก็มีแบบคั้นเป็นน้ำสดๆ บรรจุขวดขาย ส่วนเปลือกนั้นจะมีรายขายยาแผนโบราณมารับซื้อไปเป็นวัตถุดิบในสูตรยา

ก่อนจะเข้าชมภายในสุสานตามคอนเซปต์กองทัพต้องเดินด้วยท้องจึงแวะร้านสุกี้มองโกลที่อยู่โซนร้านค้าในเขตสุสาน ที่จริงสุกี้มองโกลมีเครื่องเคราเหมือนสุกี้ทั่วไป แต่สิ่งที่ไม่เหมือนใครคือ มีชิ้นแป้งอบให้ใส่ลงไปในน้ำซุปด้วย ชาวซีอานนิยมกินอาหารประเภทแป้งกันมาก อาจเป็นเพราะอากาศที่หนาวเย็นอาหารในแต่ละวันจึงต้องให้พลังงานสูง

            บริเวณขายของที่ระลึกหากโชคดีจะได้พบอาจารย์หยางจื้อฟาด้วย อาจารย์หยางท่านนี้คือชาวนาที่ขุดบ่อน้ำแล้วได้พบกับสุสาน ท่านเล่าว่าในตอนนั้นรัฐบาลได้ถามท่านว่า ต้องการเงินหรือความช่วยเหลือใดๆ ไหม ท่านจึงตอบว่าต้องการเรียนโบราณคดี ทางรัฐบาลจีนจึงได้ส่งให้ท่านเรียนจนจบปริญญาตรี

ที่หลุมขุดค้นที่ ๓ ทางการจีนไม่รีบร้อนในการขุดหุ่นทหารดินเผาออกมา เพราะรอให้มีเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการปกป้องโบราณวัตถุใต้ดินจากความเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมภายนอก

            ปัจจุบันอาจารย์เขียนหนังสือเกี่ยวกับสุสานจิ๋นซีขาย และในช่วงกลางวันก็ออกมาพบปะพูดคุยกับนักท่องเที่ยวด้วย น่าเสียดายที่ท่านอายุกว่า ๙๐ ปีแล้ว สุขภาพไม่สู้ดี จึงต้องกลับไปพักผ่อนเร็วสักหน่อย

            กองทัพทหารดินเผาถูกฝังไว้ใต้ดินพร้อมกับจักรพรรดิจิ๋นซี สุสานทหารนี้ อาจารย์หยางจื้อฟาเมื่อครั้งเป็นชาวนาได้ค้นพบเมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๗ ต่อมารัฐบาลจีนได้ค้นพบเพิ่มอีกกว่า ๗,๐๐๐ ตัว

            ว่ากันว่าหุ้นทุกตัวมีขนาดเท่าคนจริงและมีใบหน้าแตกต่างกัน ฉันพยายามจ้องจับผิด แต่ก็ตาลายไปหมดเพราะเยอะเหลือเกิน มีบันทึกว่าสุสานแห่งนี้ใช้แรงงานทาสเป็นจำนวนถึง ๗๒๖,๐๐๐ คน และใช้เวลาสร้างถึง ๓๖ ปี

            ปัจจุบันหลุมขุดค้นที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมมี ๓ หลุมด้วยกัน หลุมแรกเป็นกองทัพทหารดินเผา เมื่อที่เอาขึ้นมาทหารดินเผาที่อยู่ใต้ดินมานานพอสัมผัสกับอากาศ แสง อุณหภูมิ และความชื้น ในโลกปัจจุบันสีสันที่สดใสก็กลับสลายไป บางตัวถึงกับแตกเสียหาย เจ้าหน้าที่นักอนุรักษ์ต้องใช้กาวชนิดพิเศษยึดไว้ และเข้าเฝือกให้คงรูปไว้อีกขั้นตอนหนึ่ง

            หลุมขุดค้นที่ ๒ มีการควบความคุมอุณหภูมิและแสง ภายในหลุมขุดค้นนี้จึงค่อนข้างมืดและเย็น หลุมขุดค้นที่ ๒ เป็นกองบัญชาการ ศูนย์กลางในการสั่งการ หุ่นดินเผาที่พบจึงมีเครื่องแต่งกายอย่างระดับแม่ทัพ เป็นจุดที่มีการเตรียมรถม้าพร้อมสารถี เตรียมพร้อมสำหรับเสด็จพระราชดำเนินออกจากสุสานเมื่อพระองค์ฟื้น

หลุมขุดค้นที่ ๒ พบ สารถีพร้อมพาฉินสื่อหวงออกจากสุสาน
หุ่นทหารดินเผาเมื่อแรกที่เจอยังมีสีสันสดใส แต่เมื่อสัมผัสกับอากาศภายนอกสีก็สลายไป คงเหลือแต่ตัวนี้ที่ยังมีสีแดงติดอยู่เล็กน้อยที่ชายเสื้อเครื่องแบบ

            หลุมขุดค้นที่ ๓ ค้นพบหุ่นนักแสดงที่มีหน้าที่สร้างความบันเทิงในกองทัพ เป็นหลุมที่ประชาชนสามารถสามารถเห็นภาพการขุดค้นของนักโบราณคดีภายในหลุมได้

            ที่จริงมีข่าวว่ามีการค้นพบจุดที่ตั้งของสุสานแล้ว แต่ยังไม่มีการเปิดสุสาน เนื่องจากอยู่ในระหว่างการศึกษาหาวิธีป้องกันการเสื่อมสภาพของโบราณวัตถุเมื่อสัมผัสกับสภาพแวดล้อมภายนอก ฟังแล้วอดจินตนาการตามไปด้วยไม่ได้ว่า จะมีกลไกอาวุธลับป้องกันสุสานแบบในภาพยนตร์ที่เคยดูด้วยไหมนะ

สุสานฉินสื่อหวงนั้นยิ่งใหญ่เหลือเกิน กว่าจะเดินชมจนครบทุกจุดสำคัญ รวมทั้งโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ก็ใช้เวลาไปนานโข กลับเข้าตัวเมืองซีอานอีกทีก็เย็นย่ำแล้ว วันเวลาในมหานครช่างหมุนเร็วเสียจริง ที่คิดว่าจะไปชมเจดีย์ห่านป่าเล็กจึงต้องปรับแผนเล็กน้อย เปลี่ยนเป็นไปเดิน “ตลาดมุสลิม” (หุยหมินเจีย) แทน เผื่อได้ชิมอะไรแปลกๆ

            ชาวชุมชนมุสลิมแห่งนี้เรียกตนเองว่า “หุย” (ระลึกถึงบ้านเกิด) มีวิถีชีวิตสุขสงบมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง เป็นย่านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทันทีที่ก้าวเท้าเข้ามายังเขตถนนคนเดินแห่งนี้ถึงกับโดนสีสันของถนนทำเอาตาพร่า อย่างกับจักจั่นมุดออกจากรูดำมืด เห็นฟ้าครามเป็นครั้งแรก มองเห็นสิ่งใหม่ที่ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ แต่กลับโดนดึงดูดอย่างไม่อาจละสายตาได้เลย เพียงร้านแรกที่เห็นก็พุ่งตัวเข้าไปลิ้มลองทันที

“ร้านหมึกย่าง” ที่จริงจะเรียกย่างก็ไม่ถูก เรียกว่านาบกระทะจะเหมาะกว่า ทาด้วยซอสหมาล่าเผ็ดร้อน แต่หมึกนั้นตัวใหญ่เนื้อจึงเหนียวเกินไป ไม่แนะนำสำหรับสาวๆ และผู้ที่ไม่ได้พบทิชชู่เปียกไปด้วย เพราะน้ำซอสหมาล่านั้นกระเด็นเลอะจนดูไม่จืดทีเดียว

ภายในตลาดมุสลิมของกินยอดฮิตอย่างหนึ่งคือ หมึกย่างทาซอสหมาล่าเผ็ดจี๋
“โหยวฉาหมาฮวา” หรือ ขนมเกลียว กินกับชาเนยตอนเช้าๆ

ร้านต่อไปเป็นร้าน “ขนมเกลียว” (โหยวฉาหมาฮวา) เถ้าแก่ของร้านแนะนำว่าเป็นอาหารเช้าอย่างหนึ่งของชาวส่านซี วอธีรับประทานให้แช่ลงในชาเนย โรยด้วยงาขาว ถั่วลิสง เครื่องเทศ ๕ ชนิด และถั่วเหลือง แต่ยามนี้ในมือไม่มีชาจึงได้แต่ซื้อติดมือกลับไปทดลองชิม

เดินจนสุดทางเป็นหอกลอง มีร้านขนมเจ้าหนึ่งโชยกลิ่นหอมหวาน สีเหลืองสดใสดูสะดุดตา ชายหนุ่มเจ้าของร้านตอบเสียงดังว่า นี่คือ “ขนมดอกกุ้ย” (กุ้ยฮวาเกา) ทำจากข้าวเหนียวและดอกกุ้ย วางพุทราแดงอบน้ำผึ้งไว้ด้านบนแล้วนำไปนึ่งให้สุก เวลารับประทานหั่นเป็นชิ้นพอดีคำจิ้มกับน้ำเชื่อมดอกกุ้ย

“ขนมกุ้ยฮวา” อันหอมหวาน
“หวงกุ้ยซื่อจื่อปิ่ง” หรือขนมลูกพลับทอด อากาศหนาวๆ ได้กินขนมนิ่มๆ อุ่นๆ ทำให้คนต่างถิ่นรู้สึกอบอุ่นในใจขึ้นมาบ้าง

จำได้ว่าเวลาดูซีรีย์ประเภทวังจักรพรรดิ์หลายต่อหลายเรื่อง บทละครมักเขียนให้บรรดาพระสนมนิยมทำขนมดอกกุ้ยเพื่อเอาใจฮ่องเต้ จึงคิดว่ามันน่าจะมีรูปลักษณ์ที่วิจิตร  เมื่อเห็นว่าเป็นของว่างหน้าตาพื้นๆ จึงรู้สึกผิดหวังเล็กน้อย แต่เมื่อได้ชิมจึงถึงบางอ้อว่า มันวิจิตรที่รสชาตินี่เองขนมชนิดนี้เคี้ยวหนึบๆ รสชาติหอมหวานราวกับอยู่ในความฝันทีเดียว

ระหว่างขากลับออกมา พ่อค้าหนุ่มร้านขายเนื้อแพะ กระโดดขึ้นยืนบนเก้าอี้ ป่าวร้องเรียกลูกค้าให้แวะมาลองชิมเนื้อแพะย่างเสียบไม้ที่ร้านตน ส่วนสาวน้อยร้านตีนแพะตุ๋นข้างๆ ก็ไม่น้อยหน้ากัน คีบขาแพะตุ๋นใส่ถุงส่งให้ลูกค้ามือเป็นระวิง

ข้างหน้าเป็นขนมแป้งทอดสีส้มสดใส สัญชาตญาณของฉันบอกว่ามันต้องเกี่ยวข้องกับลูกพลับแน่ๆ ลางสังหรณ์เรื่องของกินที่ไม่เคยทรยศทำให้ฉันนึกกระหยิ่มเมื่อเจ้าของร้านอธิบายว่ามันคือ “ขนมลูกพลับทอด” (หวงกุ้ยซื่อจื่อปิ่ง

ขนมชนิดนี้มีความพิเศษตรงที่ใช้ “ลูกพลับหัวจิ่ง” ของท้องถิ่นมาทำแป้งและเปลือกขนม ส่วนไส้นั้นทำจากดอกหวงกุ้ย ดอกกุหลาบ เมล็ดท้อ น้ำตาลทราย น้ำตาลกรวด น้ำมันคุณภาพดี นำมาผสมจนเข้ากัน อบในหม้อที่ให้ความร้อนด้วยเตาถ่าน ความนุ่มนิ่มของเนื้อขนม ความหวานละไม และกลิ่นหอมของดอกหวงกุ้ย ขนมลูกพลับทอดสองชิ้นจึงลงไปนอนนิ่งอยู่ในท้องอย่างว่าง่าย

ขนมแป้งอบแบบนี้มักพบในภาพยนตร์จีนย้อนยุคใช้เสบียงกรังในฉากที่ต้องเดินทางไกล
คุณ Jark shi และ “ขนมไช่เขอ” ที่เขาภูมิใจนำเสนอ

ที่ตลาดมุสลิมยังมีพุทราจักรพรรดิด้วย เป็นพุทราลูกโตเท่าใบหูทีเดียว พุทราสายพันธุ์นี้นำเมล็ดมาจากซินเจียง เพาะจนงอกแล้วรดด้วยน้ำซาวข้าว ทำให้ได้รสหวานเป็นพิเศษ เป็นอีกหนึ่งของกินที่ขึ้นชื่อของซีอาน ยังมีน้ำสาลี่หวานฉ่ำ ตำรายาจีนว่าช่วยล้างปอด แก้ไอละลายเสมหะ อ้อ! วอลนัตที่นี่ก็มีชื่อเสียงเช่นกัน แย่แล้วฉันควรหยุดกินได้แล้ว

เช้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายในซีอานแล้ว อาหารเช้าที่ทางที่พักเตรียมให้จึงเป็นอาหารที่กินง่ายและสามารถพกพาเป็นเสบียงกรังได้ มองข้างนอกเหมือนแป้งห่อทอดทั่วๆ ไป แต่ข้างในเป็นกุ๋ยช่ายผัดกับหอมหัวใหญ่ เมนูนี้เรียกว่า “ไช่เขอ” คนที่รักขนมกุ๋ยช่ายน่าจะชอบ ต้องขอบคุณพ่อครัวของที่พัก “คุณ Jark Shi” เมื่อเขาเห็นฉันสนใจเรื่องอาหารจึงพาเข้าไปดูในครัวให้สะใจเสียเลย

            หลังมื้ออาหารจบลงยังมีเวลาอีกหลายชั่วโมงก่อนที่เครื่องบินจะออก ฉันจึงแวะไปชมพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองซีอาน มีโบราณวัตถุที่จัดแสดงตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคประวัติศาสตร์ที่มีการจัดสร้างภาชนะ เครื่องประดับต่างๆ จากวัตถุมีค่าด้วยฝีมืออันวิจิตร ไปจนถึงเรื่องราวในยุคปฏิวัติโดยกองทัพแดง ทำให้มีความเข้าใจในเมืองซีอานเพิ่มขึ้นไม่น้อยทีเดียว

ทางโรงเรียนพาเด็กๆ ไปทัศนศึกษาประวัติศาสตร์ของเมืองที่พิพิธภัณฑ์ซีอาน

            จากพิพิธภัณฑ์ประจำเมืองเมื่อเดินทะลุผ่านสวนสาธารณะจะพบกับ “เจดีย์ห่านป่าเล็ก” (เสี่ยวเยี่ยนถ่า) เป็นเจดีย์ทรงเหลี่ยม ๑๓ ชั้น โครงสร้างไม้ก่ออิฐ สร้างในสมัยราชวงศ์ถัง เคยเกิดรอยร้าวจากแผ่นดินไหวถึง ๓ ครั้ง แต่รอยร้าวนั้นก็หายไปราวปาฏิหาริย์ทุกครั้ง จึงมีชื่อเสียงในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์คงกระพัน ปัจจุบันเจดีย์ห่านป่าเล็กได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โบราณวัตถุภายในพิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจจากพุทธศาสนา
ภายในสวนสาธารณะติดกับพิพิธภัณฑ์ มีอาคารโบราณสถานและต้นไม้โบราณอยู่ไม่น้อย ในภาพคุณครูพาเด็กๆ มาฝึกวาดรูปในสถานที่จริง

            ที่สนามบินภาพผู้โดยสารระหว่างรอขึ้นเครื่องหลายคนรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างจริงจังดูคุ้นตา การเดินทางมายังลั่วหยางและซีอานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลส่านซีครั้งนี้ ได้พบทิวทัศน์ที่แปลกตา ลิ้มรสอาหารหลากรสชาติที่ปรุงจากวัตถุดิบหลากหลาย

            วัสถุดิบในการปรุงบางอย่างเช่น มันฝรั่ง มะเขือเทศ หรือข้าวโพด ต้องขอบคุณพระภิกษุเสวียนจั้ง หรือพระถังซัมจั๋ง เพราะเส้นทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกยังชมพูทวีปนั้น ได้กลายเป็นการเปิดประตูทางการค้าจากโลกตะวันตก มาสู่ตะวันออก ผ่านวันเวลาจนกลายเป็นความกลมกล่อมทางวัฒนธรรมที่น่าประทับใจ…ว่าแต่ถึงเมืองไทยแล้ว พรุ่งนี้จะกินอะไรดีล่ะ

เจดีย์ห่านป่าเล็กอยู่ภายในบริเวณวัดเจี้ยนฝู สร้างขึ้นในรัชสมัยของฮ่องเต้ถังจงจงระหว่างช่วงปี ค.ศ.707-709 เป็นวัดที่อยู่ในความดูแลของราชสำนักถังแล้ว วัดแห่งนี้ก็ยังเป็นสถานที่แปลและเก็บ พระไตรปิฎก พระธรรมวินัย และคัมภีร์ทางพุทธศาสนาที่ พระอี้จิง อัญเชิญมาจากอินเดียและอาณาจักรศรีวิชัยอีกด้วย

About the Author

Share:
Tags: กุมภาพันธ์ 2567 / ประเทศจีน /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ