Sunday, May 19, 2024
ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

เกร็ดเก่า เล่าอดีต “จากศิลปากรถึงฟากฝั่งเจ้าพระยา”

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 66
เรื่อง/ ภาพ: ฬียากร เจตนานุศาสน์

เกร็ดเก่า เล่าอดีต

“จากศิลปากรถึงฟากฝั่งเจ้าพระยา”

ในวันที่แดดจัดจ้ากลางฤดูร้อน กลุ่มกรุงเทพศึกษา ร่วมกับโครงการบรรยายวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จัด “บางกอก Walking Tour” เดินชมและฟังเรื่องราว ประวัติศาสตร์รอบๆ ย่าน ตั้งแต่บริเวณท้องพระโรงวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร สวนแก้วมิวเซียมศิลปะกลางแจ้ง อาคารตลาดท่าช้าง จากนั้นนั่งเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาไปที่ท่าวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ชมตำหนักพระเจ้าตาก จิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์และหอไตร อดีตบ้านเจ้าพระยาจักรี ดังเราจะเล่าสั้นๆ พอสังเขป

ต้นกร่างระหว่างตึก

เมื่อเข้ามาในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ อย่างแรกที่เห็นคือต้นกร่างยักษ์อายุร้อยกว่าปีสูงเกินตึกหลายชั้น ขนาบไว้ด้วยตึก ๒ ด้าน กร่างต้นนี้เคยได้รับรางวัลต้นไม้ใหญ่ที่สุดจากการสำรวจของกรุงเทพมหานคร แต่ที่สำคัญกว่ารางวัลคือการดูแลรักษาปู่ต้นกร่างไว้ให้ยืนหยัดไปได้อีกนานๆ ภายใต้แรงกดดันจากปูนคอนกรีตที่มีการนำมาเททับถมเพื่อช่วยพยุงต้นปู่กร่างอยู่ในตอนนี้ด้วย และนี่คือวิถีหนึ่งของการอยู่ร่วมกันระว่างธรรมชาติ มนุษย์ และศิลปะ 

ถัดเข้ามาภายในบริเวณมหาวิทยาลัย จะเห็นเรือนไม้สีเขียว เป็นศาลาเก่าที่ผู้บรรยายเล่าว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

มักมาประทับเพื่อฟังการประชันวงปี่พาทย์ จึงเรียกที่นี่ว่าเป็นเรือนดนตรี ขณะที่อีกด้านเป็นอาคารโคโลเนียลสีเหลือง บ่งบอกถึงการรับเอาสถาปัตยกรรมแบบยุโรปเข้ามาในยุคนั้น ซึ่งผู้ที่ออกแบบตึกเป็นช่างชาวออสเตรีย ซึ่งเข้ามาช่วงศิลปะยุโรปกำลังแผ่อิทธิพลมาทางฝั่งเอเชีย จึงได้เห็นสถาปัตยกรรมลักษณะนี้อยู่มากในยุคนั้น

ในขณะด้านหน้าของตึกเป็นลานงานประติมากรรม หรือสวนแก้วมิวเซียม ศิลปกรรมกลางแจ้ มีรูปปั้นต่างๆ จัดวางคละระคนไปกับต้นแก้ว และถัดไปด้านในมีอาคารแสดงงานนิทรรศการ มีตำหนักพรรณรายสีเหลืองทรงโคโลเนียลเช่นเดียวกับอาคารด้านหน้า เรียกได้ว่าในพื้นที่เพียง ๘ ไร่ อัดแน่นไปด้วยงานศิลปะ สถาปัตยกรรม มีเรื่องราวและคุณค่าในทุกอณูพื้นที่ของมหาวิทยาลัยที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์แห่งนี้ ทำให้ความรู้สึกของคนที่ได้เข้ามาสัมผัสหัวใจพองโตได้เลยทีเดียว

ข้ามฟากฝั่งเจ้าพระยา

หลังได้รับความรู้และเรื่องราวของมหาวิทยาลัยศิลปากร อันถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์และการเมืองพอกรุบกริบ จากนั้นเราพากันเดินไปที่ท่าช้าง ตีตั๋วเรือสี่บาทห้าสิบสตางค์ข้ามฟากไปขึ้นที่ท่าวัดระฆังโฆสิตาราม หรือวัดบางหว้า ในชื่อเดิม

ด้วยความเป็นวัดหลวงตั้งแต่ช่วงกึ่งกลางสมัยกรุงธนบุรีมาถึงต้นรัตนโกสินทร์ จึงมีคุณค่าในเรื่องราวประวัติศาสตร์ทางศิลปกรรม จิตรกรรม และสถาปัตยกรรม มีเรือนไทยสร้างจากพระตำหนักเก่า คือตำหนักแดง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ถวายให้วัด สิ่งที่บ่งบอกว่าไม่ใช่บ้านของสามัญชนนั่นก็คือ ลักษณะของเรือนไทยเครื่องสัก เป็นไม้เนื้อแข็งทั้งหลัง ใช้ฝาไม้ปะกน หน้าจั่วมีการเจาะช่องบัญชรเล็กๆ ๒ ช่อง จำลองการซ้อนชั้น แสดงถึงการมียศฐานานุศักดิ์ของเจ้านายชั้นสูงหรือกษัตริย์

ขึ้นไปชมตำหนักแดง ภายในโถงกว้างขวาง งดงาม จากนั้นมาที่หอไตร ลักษณะของเรือนไม้สัก ๓ เรือนเชื่อมต่อกัน ด้านหน้ามีต้นจันทน์และต้นไม้ใหญ่หลายต้นให้ร่มเงา ภาพจิตรกรรมฝาผนังเก่าบนหอไตรและภายในโบสถ์หลังใหญ่ด้านหน้างดงาม แม้มีร่องรอยผ่านการซ่อมแซมหลังถูกไฟไหม้ในรัชกาลที่ ๓ มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรในบทกลอนที่จำติดหูได้ง่ายว่า “ทั้งพระเถรเณรตื่นยืนไม่ตรง” แสดงถึงความวุ่นวายโกลาหล จนแม้แต่พระสงฆ์ยังไม่อาจคุมสติได้ เป็นเรื่องราวที่ต้องบอกกล่าวให้รับรู้ว่า สถานที่ทางประวัติศาสตร์บางแห่งนั้นไม่ใช่ของเดิมแท้ทั้งหมด แต่ผ่านการซ่อมแซมขึ้นมาใหม่ เพียงแต่เป็นการซ่อมตามแบบครู คือยังคงตามแบบเก่าเอาไว้ให้ใกล้เคียงเดิมมากที่สุด

การเดินทางย้อนรอยประวัติศาสตร์ในเส้นทางสั้นๆ ที่เริ่มจากมหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วมาสิ้นสุดที่ท่าน้ำเจ้าพระยา ก่อนทุกคนจะแยกย้ายไปใช้ชีวิตในขณะปัจจุบัน บริเวณท่าช้างที่เคยเป็นตลาด มีพ่อค้าแม่ค้ามาขายของ ตอนนี้ปรับเปลี่ยนไปเป็นร้านค้าในตึกที่ทำขึ้นใหม่ แต่ยังคงทาสีเหลืองกึ่งจะเป็นแบบโคโลเนียล ล้อไปกับเรื่องราวของย่านนี้ แม้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้น เพราะทางเดินโล่ง ไม่มีเสียงขรมของคนพูดคุย ทุกอย่างจัดเข้าไปในตึก ทำให้เราได้แต่นึกถึงสิ่งที่เคยมีอยู่ในอดีต

เพียงแค่ไม่กี่ปีนี้หลายเรื่องราวก็แปรเปลี่ยนไปมาก ดังนั้น ต้นไม้ สายน้ำ ผู้คน สักวันหนึ่ง ไฉนเลยจะไม่เปลี่ยน…

 ขอบคุณข้อมูลจาก รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ และ รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

About the Author

Share:
Tags: ศิลปากร / มหาวิทยาลัยศิลปากร / วัด ประเพณี วัฒนธรรม การละเล่น / architecture / interior / เจ้าพระยา / วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร / ฉบับที่ 66 /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ