Sunday, May 19, 2024
ภูมิปัญญาไทย บทความแนะนำ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง…น้ำพระทัยดั่งสายฝนฉ่ำเย็นต่อสรรพสัตว์


โครงการศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์เขียดแลวแบบธรรมชาติ ตามพระราชเสาวนีย์

“หากมีความสามารถในการสร้างประชากรได้เยอะ ก็จะต้องมีเนื้อที่รสชาติอร่อย” เป็นการสร้างสมดุลโดยธรรมชาติ แต่เจ้าเขียดแลวนี่คงจะอร่อยเกินไป จึงทำให้ตัวเองอยู่ในสถานการณ์อันตราย หมุดหมายครั้งนี้ของฉันจึงอยู่ที่ “โครงการตามพระราชดำริปางตอง ๒” บ้านรวมไทย อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ช่วงฤดูฝนแบบนี้ทำให้สองข้างทางแทบจะเป็นเมืองร้าง ร้านรวงต่างๆ ปิดตัวเงียบเชียบเนื่องจากไม่ใช่ฤดูกาลท่องเที่ยว ผ่านโค้งแล้วโค้งเล่าไปโดยไม่ต้องนับ เพราะเขามีบันทึกไว้อยู่แล้วว่ามี ๔,๐๘๘ โค้ง ในที่สุดก็มาถึงปางอุ๋งในตอนค่ำ “คุณอังคณา สุขสมัย” เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของปางอุ๋งแจ้งว่าได้เตรียมที่พักไว้ให้แล้ว อย่าเพิ่งงงว่าว่าไปผิดที่หรือเปล่า ใจเย็นๆ โครงการศูนย์เพาะเลี้ยงเขียดแลวฯ อยู่ที่นี่เอง

คืนนั้นฝนถล่มปางอุ๋งจนบ้านดินที่รับรองปรากฏรอยชื้นเป็นดวงใหญ่ กระทั่งรุ่งเช้าจึงเหลือเพียงลงเม็ดปรอยๆ คุณอังคณานำทางฉันไปยังบ่ออนุบาลเขียดแลว โดยมี “คุณโสภิณ พึ่งบุญ” เจ้าหน้าที่ดูแลเขียดแลวควบมอเตอร์ไซค์มาพร้อมลูกสมุนหูตูบ

คุณโสภิณเป็นผู้ที่เข้ามาช่วยดำเนินการเลี้ยงตั้งแต่ช่วงแรกเลยทีเดียว ชายสูงวัยนึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นก่อนจะเล่าว่า

“สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงท่านเสด็จมาวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ตอนนั้นท่านมาพร้อมรัชกาลที่ ๑๐ ตอนนั้นยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และเจ้าฟ้าหญิงองค์เล็ก สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน มาดูโครงการอาหารชุมชนที่สวนป่า ตามพระราชดำริ ปางตอง ๑ (ห้วยมะเขือส้ม) ท่านก็มีพระราชดำริกับอธิบดีกรมป่าไม้ว่า กลัวประชาชนมีอาหารโปรตีนไม่เพียงพอ เขียดแลวเป็นกบที่มีเฉพาะแม่ฮ่องสอน เป็นที่นิยมทำให้จำนวนลดลงก็ทรงวิตกว่าจะสูญพันธุ์ในอนาคต ขอให้กรมป่าไม้จัดหาพื้นที่เพาะขยายพันธุ์แบบธรรมชาติ

“ตอนนั้นกรมชลประทานก็รับผิดชอบเรื่องสร้างแหล่งน้ำ กรมประมงก็จัดหาพันธุ์มาปล่อย ให้ราษฎรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ ทรงประทับทรงงานใกล้กับน้ำตกเล็กๆ ที่มีลำธารไหลผ่านตรงนี้ วันแรกที่เปิดศูนย์ก็มีการเตรียมเขียดแลวมาให้พระองค์ท่านปล่อย ๒๐๐ คู่ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์กับชาวบ้านว่า ถ้าจับได้ให้นำมาขายให้กับศูนย์ฯ”

“เมื่อก่อนหนูก็กินเพราะรสชาติอร่อยดี แต่ตั้งแต่มาทำงานที่นี่หนูก็เลิกกินไปโดยปริยาย” สาวน้อยฝ่ายประชาสัมพันธ์เล่าแบบเขินๆ

พ่อแม่พันธุ์เขียดแล้วขนาดตัวปานกลาง
ทางโครงการได้มีการเพาะจิ้งหรีดเพื่อเป็นอาหารของเขียดแล้วด้วย

โดยหลังจากวันที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จมาจึงได้มีการจัดตั้งโครงการขึ้นในวันที่ ๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ เป็นต้นมา โดยวัตถุประสงค์ในการตั้งโครงการไม่เพียงให้สถานที่นี้เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงตามธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนเท่านั้น ยังเพื่อเป็นช่องทางหารายได้ของประชาชนในท้องถิ่น ยังเป็นแหล่งศึกษาและท่องเที่ยวอีกด้วย

ลุงโสภิณพาฉันเดินผ่านกรงที่จำลองสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ พลางชี้ให้ดูแอ่งน้ำที่พวกเขียดแลวมาวางไข่เอาไว้ มันเป็นหลุมขนาดใหญ่บนพื้นโรยกรวดแม่น้ำทำให้ฉันข้องใจเป็นอันมากว่า เจ้าเขียดตัวกระจ้อยร่อยที่คุ้นตาสามารถขุดหลุมที่ทั้งลึกทั้งกว้างขนาดนี้ได้อย่างไร แต่ไม่กี่อึดใจฉันก็พบคำตอบ

การกรองน้ำด้วยวิธีธรรมชาติ

และคำตอบนั้นอยู่ไม่ไกล อยู่ที่บ่อพ่อแม่พันธุ์ใกล้ๆ กันนี่เอง มันเป็นบ่อที่ไม่เพียงติดกรง แต่ยังคลุมด้วยมุ้งไนล่อนสีฟ้าป้องกันการหลบหนีสุดฤทธิ์ และแล้วก็มีกรณีศึกษา หางตาฉันเหลือบเห็นอะไรแว้บๆ พุ่งตัวออกไป “ป้าหยอม” ผู้ดูแลเขียดกระโจนตะครุบอย่างมืออาชีพ รวบเจ้าตัวพ่อพันธุ์ไว้ได้อย่างทันท่วงที ตัวมันใหญ่เสียจนฉันทึ่ง

“นี่ยังเล็กนะ ตัวที่ลุงเคยเจอบนภูเขาหนักถึง ๓ กิโลกรัมก็มี แต่น่าเสียดายที่ตัวใหญ่ขนาดนั้นไม่ได้เจอนานแล้ว” ลุงโสภิณยิ้มบางๆ ก่อนจะกวักมือเรียก “เอ้า…มาดูทางนี้กัน”

ลักษณะรังวางไข่ของเขียดแล้วในห้วยปางตอง โดยมันจะขุดหลุมให้ลึกราว ๕ เซนติเมตร ใช้กรวดแม่น้ำมากั้นเป็นสันเขื่อนรอบหลุมป้องกันน้ำพัดไข่ไป เมื่อวางไข่แล้วพวกมันจะใช้กรวดกลบเอาไว้

เป็นถาดเพาะฟักไข่ของเขียดแลว ไข่ของพวกมันดูคล้ายสาคูเม็ดโตๆ อย่างไรอย่างนั้น การฟักไข่กบภูเขาพวกนี้ต้องใช้ความประณีตเป็นอย่างมากไม่ได้ง่ายแบบกบเขียดพื้นราบแถวบ้านเราเลย เพราะการฟักตัวของพวกมันขึ้นกับอุณหภูมิของน้ำด้วย ถ้าน้ำมีอุณหภูมิต่ำกว่า ๑๘ องศาเซลเซียส จะใช้ระยะเวลาฟักตัวประมาณ ๙-๑๐ วัน แต่ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า ๒๐ องศาเซลเซียส จะใช้เวลาฟักเพียง ๗-๙ วัน

เจ้าหน้าที่อาวุโสตบที่ถาดฟักเบาๆ เจ้าพวกลูกอ๊อดกรูกันออกมาจากแพไข่เก่าที่ใช้ซ่อนตัว เจ้าพวกนี้อีกไม่นานก็จะได้ไปอยู่ที่บ่ออนุบาลที่อยู่ด้านหน้าโครงการกันแล้ว

ป้าหยอมแนะว่าให้ดูโรงเพาะเลี้ยงอาหารของเจ้าเขียดแล้วกันเสียก่อน จะได้ไม่ต้องเสียเวลาย้อนไปมา ลุงโสภิณพยักหน้าหงึกหงักก่อนจะเดินนำเข้าไปด้านใน

“โรงเพาะอาหารมันจะมืดสักหน่อยนะ” ลุงหันมาเตือน

“มันไม่ชอบแสงกันเหรอคะ”

“เปล่า ที่นี่ไฟฟ้ายังมาไม่ถึงน่ะ”

ตึ่งโป๊ะ! เสียงจังหวะตบมุขดังขึ้นในหัวโดยอัตโนมัติ คำตอบของลุงทำเอาฉันกลั้นหัวเราะไม่อยู่ เนื่องจากงบประมาณน้อย การเพาะเลี้ยงอาหารจะช่วยให้การเพาะขยายพันธุ์เขียดแลวนั้นประหยัดต้นทุนและยั่งยืนขึ้น ซึ่งอาหารที่เจ้ากบภูเขาพวกนี้กินได้แก่ หนอนนก ไส้เดือน ปลวก และจิ้งหรีด โดยต้องกินกันแบบสดๆ ดิ้นดุกๆ ดิกๆ เพราะถ้ามาแบบแน่นิ่งแล้วพวกมันจะไม่ชายตาแลเลยเชียว

วิธีการดักไข่ของเขียดแลวเพื่อนำไปเพาะฟักเป็นลำดับต่อไป

“อยากให้ป้าหยอมแสดงวิธีหาไข่เขียดแล้วให้ดูไหมคะ” คุณป้านักล่าเขียดเสียงหวาน

โธ่! โอกาสดีๆ แบบนี้ใครจะปฏิเสธกันล่ะ ว่าแล้วป้าหยอมจึงเตรียมอุปกรณ์พร้อมสรรพอันได้แก่ ถาดสังกะสี กระชอน และผ้าขาวบาง เดินนำเราไปยังบริเวณห้วยปางตอง

“ในบริเวณพื้นที่ ๕๐๐ ไร่ จะล้อมรั้วไว้ประมาณ ๖๐ ไร่ เป็นเขตที่ปล่อยเขียดแลว ในช่วงเดือนธันวาคม พวกเขียดจะขึ้นเขาไปหาคู่กัน ตัวเมียจะร้องเรียกหาตัวผู้เสียงดังมาก ดัง ดึกๆๆๆ เหมือนปืนกลเลยล่ะ แล้วพอเดือนมีนาคมถึงเมษายนจึงลงมาวางไข่” ฟังลุงโสภิณเล่าเพลินๆ จนมาถึงริมห้วยเมื่อไรไม่รู้ต้ว

บริเวณห้วยปางตองจะมีจุดวางไข่อยู่ ๓ จุด มีรหัสในการเรียก คือ หาดยาว หาดไม้ตอง และสะพาน โดยแต่ละจุดจะมีมากหลุมน้อยหลุมบ้างแล้วแต่โอกาส

ที่ริมห้วยป้าหยอมเดินลุยน้ำไปที่รังวางไข่แล้วสาธิตวิธีดักไข่เขียดแลวให้เราดู

“ตอนแรกที่เจออย่าเพิ่งทลายรังมันนะคะ น้ำจะพัดไข่ไปเสียหมด”

ว่าแล้วป้าหยอมก็โกยเอากรวดหินในลำธารนั่นล่ะ มาก่อเป็นเป็นแนวขนาบรังของเขียดแลว เพื่อกำหนดทิศทางการไหลของน้ำ ใช้กระชอนดักไว้ที่ตอนปลายของแนวหินทั้งสองข้าง แล้วค่อยๆ ทลายรังวางไข่ ปล่อยให้กระแสน้ำจากลำธารพัดไข่ไปติดในกระชอนที่ดักไว้

“อยากให้ป้าสาธิตวิธีที่เขียดมันสร้างรังไหมคะ” เมื่อเห็นฉันยิ้มแฉ่งมาแทนคำตอบ คุณป้าตัวเล็กจึงหัวเราะ ก่อนจะสวมบทบาทเป็นกบภูเขาตอนสร้างรัง

“นี่มันจะทำหลุมแบบนี้นะคะ ขุดลึกประมาณ ๕ เซนติเมตร แล้วเอาหินแม่น้ำที่โกยขึ้นมากั้นไว้เป็นเขื่อน กันไม่ให้กระแสน้ำพัดพาไข่ไป ขั้นสุดท้ายมันจึงค่อยโกยหินมากลบเป็นกองๆ ไว้” ป้าหยอมจบขั้นตอน พร้อมยืดแข้งขาสลัดความเมื่อยขบ

บรรยากาศของโรงเรือนบ่ออนุบาลให้ความรู้สึกเหมือนเป็นกระท่อมเชิงเขา

วิธีการสร้างรังวางไข่ของเขียดแลวช่างดูเหมือนวิศกรในภาคสัตว์สะเทินบกสะเทินน้ำอย่างไรอย่างนั้น จากตรงนี้เราจะไปดูบ่ออนุบาลกันต่อโดยมีสมุน ๔ ขา ของลุงโสภิณนำขบวน

พวกลูกอ๊อดที่อพยพมาอยู่ที่บ่ออนุบาลนี้อายุได้ ๔๒ วันแล้ว และเริ่มมีขางอกออกมา มีการพัฒนาจากการหายใจทางผิวหนังมาเป็นปอด มันจึงชอบขึ้นมาโชว์หุ่นบนโขดหินเล็กๆ ที่ลุงทำไว้ให้ในแต่ละบ่อ แต่ติดตรงที่หางยังอยู่ๆ จึงต้องทำระบบน้ำเปิดเป็นฝอยๆ ตลอดเวลาเพื่อป้องกันหางบางๆ นั้นติดโขดหิน

“นอกจากคนกินแล้ว มันยังมีศัตรูตามธรรมชาติบ้างไหมคะ”

“ก็พวกมันเองนี่แหละ มีกัดกันเองด้วย ถึงขนาดเลือดตกยางออกเลยทีเดียว ปล่อยไป ๑๐๐ ตัว ก็จะรอดสัก ๕๐ ตัวได้ นอกจากนี้ก็วัยอนุบาลนี่แหละที่ตายกันมาก โดยเฉพาะหลังฝนตกที่ทำให้น้ำขุ่น ก็พยายามเดินระบบกรองน้ำแบบพื้นบ้าน คือ กรวดหยาบ กรวดละเอียด ทราบหยาบ ทรายละเอียด และสำลี เข้ามาให้”

ฟังวิธีการเพาะเลี้ยงเขียดแลวที่ลุงโสภิณเล่าแล้ว บอกได้เลยว่าไม่ง่าย ใครที่ไปเที่ยวปางอุ๋งอย่าลืมแวะไปเยี่ยมชมโครงการศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์เขียดแลวแบบธรรมชาติตามพระราชเสาวนีย์เพื่อให้กำลังใจลุงโสภิณและป้าหยอมด้วยนะ

ลูกเขียดที่เพิ่งสลัดหาง ตัวเล็กกว่าเหรียญสลึงเสียอีก

โครงการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ชะมดเช็ดในกรงเลี้ยง

จากปางอุ๋งฉันเร่งเดินทางย้อนกลับไปยังเชียงใหม่ ที่หมู่บ้านดงเย็น ตำบลบ้านแปะ อำเภอจอมทอง อันเป็นที่ตั้งของ “โครงการศึกษาพฤติกรรมการเพาะขยายพันธุ์ และเก็บสารคัดหลั่งชะมดเช็ด”

ลักษณะการเช็ดไขของชะมด (ขอบคุณภาพประกอบจากทางโครงการ)

“ถ้าทำได้ก็เป็นเทวดาแล้ว” คำบอกเล่าของสัตวแพทย์รุ่นพี่ถึงคำปรามาสของชาวบ้านเมื่อรู้ว่ากำลังพยายามจะเพาะพันธุ์ชะมด ฉายภาพขึ้นในความคิด

“น.ส.พ.ดร. บริพัตร ศิริอรุณรัตน์” อดีตผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์ วิจัย และศึกษา องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมป์ ถึงจะมีตำแหน่งยาวเฟื้อยห้อยท้าย แต่ก็ยังคงเป็นพี่หมอของน้องๆ ชาวสัตวแพทย์เช่นเดิม วันนี้มีโอกาสได้เจอกัน พี่หมอจึงได้เล่าเบื้องหลังการเตรียมโครงการเพาะเลี้ยงชะมดให้ฟังว่า

“เรื่องพระราชเสาวนีย์พระองค์ท่านว่า ให้ช่วยดูเรื่องชะมดเช็ดหน่อย เพราะเกษตรกรพอชะมดตายแล้วก็จับมาเลี้ยงใหม่มันไม่ยั่งยืน ให้ช่วยหาวิธีเพาะขยายพันธุ์ได้ก็ไม่ต้องจับมาจากป่า

“ช่วงหาข้อมูลพบว่าไขชะมดนอกจากจะเป็นส่วนประกอบสำคัญของหัวน้ำหอมอย่าง แชแนล นัมเบอร์ ๕ หรือ น้ำหอมที่ทางอาหรับนิยมใช้ ช่วยให้กลิ่นติดทนนาน สำหรับตำรับยาไทยโบราณที่ได้ไปคุยกับผู้รู้ที่มีสูตรเครื่องยาหอม ก็ทำให้ทราบว่าประโยชน์ของไขชะเม็ดเช็ดเนี่ยมันเป็นตัวนำสารสำคัญ (active ingradient) เข้าไปที่หัวใจ ทำให้มันแก้ลมได้เร็วขึ้น ซึ่งตำรับในอินเดียมันสูญหายไปแล้ว นี่เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ อย่างไปจีนต้องไปซื้อบัวหิมะ ไปเกาหลีต้องซื้อโสม ต่อไปมาไทยก็มาซื้อยาหอม มันสามารถพัฒนาในเชิงท่องเที่ยวได้ด้วย”

บรรยากาศโรงเรือนในป่าไผ่ที่เงียบสงบ

“เราไปได้ชะมดมายังไง ทำยังไงให้ได้ผลเชิงเศรษฐกิจมากกว่าที่ชาวบ้านเลี้ยงกันมาหลายชั่วคน” ฉันซัก

“เราไปเจอว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่เลี้ยงชะมดเช็ดมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่านี่คือ ‘ลาวโซ่ง’ เป็นอาชีพภูมิปัญญาก็ว่าได้ เราไปทำวิจัยกับ ๒๐ ครอบครัว เป็นเวลา ๓ ปี ตอนแรกคนก็ว่ากันว่า ‘ถ้าทำได้ก็เป็นเทวดาแล้ว’ แต่เมื่อภูมิปัญญาถึงทางตันเราก็ต้องใช้วิทยาการเพื่อที่จะก้าวข้ามไป ก็เอาเรื่องพฤติกรรมสัตว์เข้ามาช่วย ทำให้ได้ลูกเป็นผลสำเร็จ ที่สำคัญลูกที่เกิดจากเราเลี้ยงนั้นไม่กัด ไม่มีพยาธิ เพราะฉะนั้นพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง สำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว” นายสัตว์แพทย์รุ่นพี่ของฉันสรุปพร้อมยกกาแฟขึ้นจิบ

ฉันตื่นจากห้วงความคิดเมื่อเส้นทางเปลี่ยนจากเมืองเข้าสู่สวนลำไย สวนแล้วสวนเล่า ชนิดที่ว่าคืบก็ลำไยศอกก็ลำไย แต่ละสวนคล้ายกันไปหมด โทรศัพท์ถามทางเจ้าหน้าที่ที่นัดหมายจนเกรงใจ แต่ในที่สุดฉันก็มาถึง “โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริบ้านดงเย็น” ในเวลาฉิวเฉียด

ส่วนเพาะเลี้ยงชะมดอยู่ในป่าไผ่ที่เงียบสงบ มีเพียงเสียงลมพัดกิ่งไผ่ดังซ่าๆ “คุณพิทยา แสงสุริยัน” หัวหน้าโครงการฯ อธิบายว่าที่ต้องมาอยู่ไกลหน่อยเพราะพวกมันเป็นสัตว์รังเกียจสังคมก็ว่าได้ ถ้ามีความชุลมุนจะมีผลกับการคลอดและการเลี้ยงลูกของแม่พันธุ์ได้

“ตอนที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงเสด็จมาเยี่ยมราษฎรที่บ้านห้วยสะแพด เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ทรงมีพระราชดำริกับคุณสหัส บุญญาวิวัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ (ขณะนั้น) ให้จัดหาพื้นที่บริเวณใกล้เคียง เพื่อสร้างอาชีพให้ราษฎรที่มีฐานะยากจนได้มีงานทำ ก็เกิดเป็นโครงการฟาร์มตัวอย่าง ตามพระราชดำริบ้านดงเย็น

“ครั้งนั้นสมเด็จพระราชชนนีพันปีหลวงทรงมีดำริกับคุณสหัส ให้ดำเนินการเลี้ยงชะมดในโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ บ้านดงเย็น ให้ดำเนินการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากน้ำมันชะมดเช็ด โดยขอความร่วมมือกับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดำเนินการเพาะเลี้ยงและศึกษาการเพาะขยายพันธุ์ชะมดเช็ด เพื่อการอนุรักษ์พันธุ์ชะมดเช็ดตามพระราชดำริ”

ที่จริงแล้วชะมดพวกนี้ได้มาจากจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งการขนย้ายมาถึงจังหวัดเชียงใหม่นั้นมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อย ทั้งจากสภาพอากาศที่แตกต่างจากถิ่นที่อยู่เดิม มาเจอที่ที่ฤดูหนาวยาวนานกว่า ความเครียดของสัตว์อาจจะทำให้สุขภาพไม่ดีหรือตาย ช่วงพุทธศักราช ๒๕๔๙ ที่นำเข้ามานั้นวัตถุประสงค์หลักคือให้เจ้าตัวผลิตไขปรับตัวกับสภาพธรรมชชาติเสียก่อนโดยยังไม่มีการจับคู่ ระยะเวลาผ่านมาจนถึงพุทธศักราช ๒๕๕๑ จึงได้ทดลองจับคู่ แต่ยังไม่ติดลูก ทีมงานจึงนับวันเป็นสัดแล้วปล่อยฝห้เข้าคู่กันใหม่ จนกระทั่งพุทธศักราช ๒๕๕๒ จึงติดลูกเป็นผลสำเร็จ

โรงเลี้ยงชะมดนี้มีความเป็นอยู่สุขสบายราวกับมาพักรีสอร์ทก็ไม่ปาน ฤดูร้อนมีสปริงเกอร์เหนือหลังคาให้เย็นสบาย ฤดูหนาวก็ปูที่นอนด้วยฟางหรือหญ้า ทั้งยังเพิ่มหลอดไฟกกให้อบอุ่น แถมยังมีเมนูอาหารประจำวันพร้อมเสริฟที่โรงเรือนอีกด้วย เช่น

วันจันทร์ และ พฤหัสบดี กินไข่กับนมแพะ

วันอังคาร ศุกร์ และอาทิตย์ กินเนื้อหมู เนื้อไก่ ปีกบนไก่

วันพุธ และ เสาร์ กินกล้วยน้ำหว้า กล้วยไข่ อาหารแมวสำเร็จรูป หรือปลาไหล กบ อึ่งอ่าง

ห้องวงจรปิดเพื่อคอยสังเกตพฤติกรรมชะมด
ไขที่ชะมดเช็ดไว้ ซึ่งถูกทิ้งไว้นานจนปนเปื้อนแบคทีเรียแล้ว จึงเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีน้ำตาล

“บ้านของพวกชะมดมี ๒ แบบ คือ โรงเรือนเลี้ยงเพื่อเก็บไข จะเป็นกล่องไม้ระแนงเรียงราย ๑ กล่อง ต่อ ๑ ตัว และโรงเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์ จะมีโพรงไม้ไว้ให้เขาทั้งโพรงไม้จริงๆ และโพรงไม้ปลอมที่ทำจากท่อซีเมนต์” คุณจอมทิพย์ ขาวป้อ นำชมทีละส่วน  คุณจอมทิพย์ เป็นผู้ดูแลเหล่าชะมด เรียกว่ารู้ใจกันเป็นอย่างดีเลยทีเดียว   

เจ้าพวกชะมดขี้ระแวงไม่ใช่เล่น พอเห็นคนแปลกหน้าเข้าไปก็พากันเก็บตัวเงียบในโพรง ส่วนพวกที่อยู่ในกล่องก็ไม่ยอมให้ถ่ายรูปโดยง่าย หลบหลีกปราดเปรียวอยู่ในกล่องเล็กๆ จนฉันอ่อนใจจะถ่ายรูปไปเอง คุณจอมทิพย์จึงให้ดูภาพจากกล้องวงจรปิด เพื่อแอบดูพฤติกรรมของพวกมันแทน ที่แท้พวกแม่ๆ ที่อยู่ในโพรงกำลังให้นมลูกอยู่นี่เอง

คุณจอมทิพย์ผลุบเข้าไปในโรงเลี้ยง ครู่หนึ่งก็กลับออกมาพร้อมกิ่งไม้ยาวในมือ ส่งให้ฉันดูบางสิ่งที่ติดอยู่บนกิ่งไม้

“ไขชะมดเช็ด” ฉันทัก เมื่อเห็นผู้ดูแลชะมดพยักหน้าแทนคำตอบ โดยไม่พูดพล่ามทำเพลงฉันยกมันขึ้นมาสูดเข้าเต็มปอด ก็ได้ยินว่าหอมนักนี่ ก่อนจะสำลักกลิ่นแอมโมเนียที่ฉุนขึ้นจมูกจนน้ำตาไหล

“ไขชะมดน่ะต้องฆ่าด้วยความร้อนเสียก่อนจึงจะใช้ทำเครื่องหอมได้ ส่วนอันที่ดมไปน่ะทิ้งไว้นานจนปนเปื้อนแบตทีเรียแล้วใช้ไม่ได้แล้วล่ะ” คำเฉลยของเจ้าหน้าที่ทำเอาฉันอาย

“การเช็ดนี่ที่จริงแล้วคือการป้ายฟีโรโมนเพื่อเรียกเพศตรงข้าม และแสดงอาณาเขต พวกนี้เขาจะเริ่มเช็ดเมื่ออายุประมาณ ๑ ปี แต่ตอนนี้ทางเรายังไม่ขายไขชะมดในเชิงธุรกิจเพราะต้องการขยายพันธุ์เพียงอย่างเดียว จะมีต่อยอดก็คือให้คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปต่อยอดงานวิจัยต่างๆ” หัวหน้าพิทยาเสริม

เมื่อถามถึงความสำเร็จของโครงการฯ หัวหน้าพิทยายิ้มกว้างขวางอย่างภูมิใจ พร้อมกับบอกว่าตอนนี้ถือว่าสำเร็จ สามารถขยายพันธุ์ได้ถึงรุ่นหลาน โดยที่นี่เป็นที่แรกในสังกัดกรมอุทยานสัตวป่าและพันธุ์พืช ที่ขยายพันธุ์สำเร็จทีเดียว ฟังแล้วก็อดยิ้มตามไม่ได้ว่า อนาคตที่ลูกหลานเจ้าชะมดเหล่านี้มีส่วนในการสร้างพลังอ่อน (soft power) ให้กับบ้านเราคงไม่ไกลเกินฝันแล้ว

About the Author

Share:
Tags: ธรรมชาติ / สิ่งแวดล้อม / สัตว์ป่า / ต้นไม้ / ป่า / สัตว์น้ำ / ฉบับที่ 70 / สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ