Sunday, May 19, 2024
ภูมิปัญญาไทย บทความแนะนำ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง…น้ำพระทัยดั่งสายฝนฉ่ำเย็นต่อสรรพสัตว์


ศูนย์ศึกษาการพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์ปู ป่าทุ่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ถ้าไม่มีนายทุนเห็นแก่ได้ โครงการอนุรักษ์พันธุ์ปูคงไม่เกิด

โครงการอนุรักษ์พันธุ์ปูตั้งอยู่ไม่ไกลจากชายหาดทุ่งทะเลมากนัก สามารถแวะชมธรรมชาติก่อนเข้าไปศึกษาเรียนรู้ที่ศูนย์ฯ ได้ โดยต้องทำหนังสือขออนุญาตเข้าชม

“ป่าทุ่งทะเลนี้ถูกนายทุนบุกรุก ชาวบ้านก็เลยรวมตัว รวบรวมรายชื่อถวายสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง แล้วท่านก็เสด็จมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน ๒๕๔๓ พร้อมในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ซึ่งขณะนั้นยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช โดยในวันที่มาทรงให้กรมประมงมาด้วย แล้วพระองค์ท่านก็มีพระราชเสาวนีย์ให้ตัดตั้งหน่วยเพาะพันธุ์เน้นสัตว์น้ำ ๒ ชนิด คือ ปลาเก๋ากับปู ซึ่งปูมีทั้งปูม้า และ ปูทะเล กรมประมงจึงได้เริ่มก่อสร้างศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ปู ป่าทุ่งทะเลขึ้นมา และเปิดดำเนินการในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖” “คุณมีชัย แก้วศรีทอง” นักวิจัยประจำศูนย์ศึกษาการพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์ปู ป่าทุ่งทะเล เล่าประวัติการก่อตั้งศูนย์ฯ ให้ฉันฟังด้วยท่าทีจริงจัง

งานของศูนย์ฯ จะมีงานหลักๆ คือ ผลิตพันธุ์ปู และสำรวจติดตาม โดยทำวิจัยในส่วนพ่อแม่พันธุ์ทำอย่างไรให้ผลิตไข่ที่มีคุณภาพ และเทคนิคการอนุบาลที่ช่วยเพิ่มเปร์เซนต์การรอดชีวิต ซึ่งจากปกติลูกปูวัยอนุบาลจะรอดชีวิตกันอยู่ที่ ๓ เปอร์เซนต์ แต่ศูนย์ฯสามารถทำให้อัตราการรอดชีวิตสูงถึง ๘ เปอร์เซนต์ เลยทีเดียว องค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยนี้ทางศูนย์ฯ ก็ไม่ได้เก็บงำไว้แต่เพียงผู้เดียว แต่ได้นำไปส่งเสริมอาชีพ และพัฒนาอบรมเยาวชน ในเรื่องการเลี้ยง การเพาะพันธุ์ การอนุรักษ์ และเรื่องกฎหมายให้กับบุคคลทั่วไป 

อุปกรณ์การส่องลูกปูเพื่อดูความหนาแน่น

“ป่าทุ่งทะเลนี้ถูกนายทุนบุกรุก ชาวบ้านก็เลยรวมตัว รวบรวมรายชื่อถวายสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง แล้วท่านก็เสด็จมาเมื่อวันที่ 20 เมษายน ๒๕๔๓ พร้อมในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ซึ่งขณะนั้นยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช โดยในวันที่มาทรงให้กรมประมงมาด้วย แล้วพระองค์ท่านก็มีพระราชเสาวนีย์ให้ตัดตั้งหน่วยเพาะพันธุ์เน้นสัตว์น้ำ ๒ ชนิด คือ ปลาเก๋ากับปู ซึ่งปูมีทั้งปูม้า และ ปูทะเล กรมประมงจึงได้เริ่มก่อสร้างศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ปู ป่าทุ่งทะเลขึ้นมา และเปิดดำเนินการในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖” “คุณมีชัย แก้วศรีทอง” นักวิจัยประจำศูนย์ศึกษาการพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์ปู ป่าทุ่งทะเล เล่าประวัติการก่อตั้งศูนย์ฯ ให้ฉันฟังด้วยท่าทีจริงจัง

งานของศูนย์ฯ จะมีงานหลักๆ คือ ผลิตพันธุ์ปู และสำรวจติดตาม โดยทำวิจัยในส่วนพ่อแม่พันธุ์ทำอย่างไรให้ผลิตไข่ที่มีคุณภาพ และเทคนิคการอนุบาลที่ช่วยเพิ่มเปร์เซนต์การรอดชีวิต ซึ่งจากปกติลูกปูวัยอนุบาลจะรอดชีวิตกันอยู่ที่ ๓ เปอร์เซนต์ แต่ศูนย์ฯสามารถทำให้อัตราการรอดชีวิตสูงถึง ๘ เปอร์เซนต์ เลยทีเดียว องค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยนี้ทางศูนย์ฯ ก็ไม่ได้เก็บงำไว้แต่เพียงผู้เดียว แต่ได้นำไปส่งเสริมอาชีพ และพัฒนาอบรมเยาวชน ในเรื่องการเลี้ยง การเพาะพันธุ์ การอนุรักษ์ และเรื่องกฎหมายให้กับบุคคลทั่วไป 

ตัวอ่อนปูในระยะซูเอีย

งานวิจัยเพื่อให้เจ้าพวกปูวัยละอ่อนรอดชีวิตให้มากที่สุดนั้นเป็นเป้าประสงค์ แต่ที่สำคัญในกระบวนการคือ “ต้องประหยัดด้วย” คุณมีชัยได้เล่าถึงปัญหาเรื่องการควบคุมอุณหภูมิว่า ฮีทเตอร์นั้นมีราคาแพง จึงนึกถึงวัยเด็กที่ไปนั่งบนกองทรายกลางแดด มันช่างระอุเหลือทน จึงเกิดความคิดขึ้นว่า

“บ่อพวกนี้ผมก่ออิฐแล้วใส่ทรายเข้าไปข้างใน กลางวันมันก็จะอบ พอกลางคืนมันก็จะยังร้อนอยู่” คุณมีชัยเล่าถึงที่มาของฮีตเตอร์รุ่นไทยประดิษฐ์ ก่อนจะเดินนำไปยังโรงเรือนสำคัญหลังต่อไปที่อยู่ห่างกันเพียงแค่ทางโรยกรวดเล็กๆ กั้น

พื้นที่ส่วนนี้คือ “บ่อเพาะเลี้ยงอาหารปู” ซึ่งมีทั้งส่วนที่เพาะเลี้ยง “คลอเรลลา” ซึ่งเป็นแพลงก์ตอนพืชที่จะไปเลี้ยง “ลูติเฟอร์” ซึ่งเป็นแพลงก์ตอนสัตว์ และสุดท้ายลูติเฟอร์จะถูกนำมาเลี้ยงปูอีกต่อหนึ่ง

ตัวอ่อนปูในระยะเมกาโลปา ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่าหน้าตาคล้ายแมงป่อง ซึ่งภายหลังส่วนหางนั้นได้ม้วนเข้ามาเป็นจับปิ้งในระยะแครบ

ไม่เพียงแต่อาหารของปูเท่านั้น ทางเจ้าหน้าที่วิจัยประจำศูนย์ฯ ยังได้เพาะสาหร่ายพวงองุ่นเอาไว้ ๒-๓ บ่อยาวด้วย แม้จะออกตัวว่า “เลี้ยงเล่นๆ” แต่รายได้จากการขายสาหร่ายที่ได้สมญานามว่าคาร์เวียร์สีเขียวนี้ก็ช่วยทุนรายจ่ายต่างๆ ของศูนย์ได้พอดูทีเดียว

นักวิจัยปูใช้สวิงช้อนเอาปูไข่นอกกระดองจาก “บ่อเพาะฟัก” ขึ้นมาให้ดูเป็นตัวอย่าง

“นี่คือไข่นอกกระดอง มันจะมีเรื่องพัฒนาการโดยการเปลี่ยนสีของไข่ใช้เวลา ๕ ถึง ๗ วัน จาก เหลือง ส้ม เทา ดำ ซึ่งสีดำคือพร้อมที่จะวางไข่แล้ว ปูตัวผู้เวลาผสมพันธุ์น่ะจะฝังน้ำเชื้อไว้ที่ตัวเมีย เป็นการกระตุ้นให้ตัวเมียสร้างไข่ขึ้นมา ไข่จะพัฒนาเป็นระยะที่ ๑ ๒ ๓ ๔ พอระยะที่ ๔ เตรียมพร้อมปล่อยออกมา ก็จะฉีดน้ำเชื้อที่ตัวผู้ได้ฝากเอาไว้มาผสมแล้วปล่อยลงไปบนพื้นทราย”

ตัวอ่อนปูในระยะแครบที่เริ่มดูคล้ายปูแล้ว

เมื่อได้ไข่ปูมาแล้วก็ไม่ใช่แค่เลี้ยงไปเรื่อยๆ โตเมื่อไรก็จึงขายเมื่อนั้น แต่มันยังต้องมีความพิถีพิถันในการเลี้ยงด้วย คือเรื่องของการ “ปรุงน้ำ” ดังที่ได้กล่าวถึงตัวอ่อนในระยะซูเอียว่า ในระยะแรกต้องเตรียมน้ำให้ความเค็มอยู่ที่ ๓๐ พีพีที ก่อนจะลดลงมาเหลือ ๑-๒ พีพีที เป็นการเลียนแบบวงจรชีวิตของปู ซึ่งตัวอ่อนในระยะต้นจะหากินตามชายฝั่งซึ่งมีความเข็มข้นของน้ำทะเลสูงกว่า

นอกจากการปรุงน้ำยังต้องมี “อาวุธลับ” อีกอย่าง อาวุธลับที่ว่านี่ไม่ใช่อาวุธลับเพื่อการประหัตประหารชีวิต แต่เพื่อเพิ่มปริมาณการรอดชีวิตต่างหาก เนื่องจากว่าปูเมื่อเข้าสู่ระยะเมกาโลปาพวกมันจะอ่อนแอมาก คลับคล้ายว่าจะหมดเรี่ยวแรงนอนกองกันที่ก้นบ่อเต็มไปหมด

ปูไข่นอกกระดอง ซึ่งไข่สีเทาดำแบบนี้แปลว่า วันพรุ่งนี้แม่ปูก็พร้อมวางไข่แล้ว

คุณมีชัยทนเห็นพวกปูที่สู้อุตส่าห์เลี้ยงกันมาอย่างทะนุถนอมนอนตายกองกันไม่ไหว จึงลองใช้ออกซิเจนเติมลงไป กวนน้ำให้พวกตัวอ่อนแขวนลอยกระตุ้นความตื่นตัวกันหน่อย ปรากฏว่า สำเร็จ! อัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น

“โครงการนี้ชาวบ้านให้ผลตอบรับอย่างไรบ้าง”

“เขาชอบมาก โดยเฉพาะปูขาวเนี่ย เพราะเราขายให้แค่ตัวละบาท แต่เขาเอาไปทำมูลค่าได้ตัวละ ๒๐๐ ถึง ๓๐๐ บาท ทีเดียว” นักเพาะพันธุ์ปูยิ้ม

ช่วงเวลากว่า ๓ ชั่วโมง ในการรับชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์ปู ป่าทุ่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จบลงอย่างรวดเร็วในความรู้สึก คุณมีชัยออกตัวอย่างเขินๆ ว่า “ขอบคุณที่สนใจโครงการเล็กๆ ของเรา” แม้จะกล่าวเช่นนั้น แต่ศูนย์  ศึกษาการพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์ปู แห่งนี้ก็เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จ ในด้านการอนุรักษ์และสร้างอาชีพให้ชาวบ้านได้มีรอยยิ้มอย่างเยี่ยมยอดทีเดียว


โครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์เต่าทะเล เกาะมันใน

ตอนนี้ฉันกำลังถูกโยนขึ้นลงราวกับนั่งรถไฟเหาะในสวนสนุก…

ลูกเต่าตนุทำหน้าไม่พอใจที่ไม่ให้อาหารสักที

จากท่าเรืออ่าวมะขามป้อมไปยังเกาะมันใน คลื่นลูกโตทำให้เรือโดยสารถูกโยนขึ้นๆ ลงๆ ฉันรู้สึกทั้งสนุก ตื่นเต้น และลุ้น ไปในคราวเดียวกัน น้ำทะเลกระเซ็นเปียกหน้าอย่างไม่อาจหลบได้พ้น ใช้เวลาเพียง ๒๐ นาทีก็มาถึง “โครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล”

            การมาเที่ยววันธรรมดามันช่างเงียบเชียบ มีเพียงชิงช้าที่ห้อยอยู่กับต้นไม้ริมหาดแกว่งไกวราวกับจะกล่าวคำยินดีต้อนรับ ฉันค่อยๆ เดินช้าๆ ไปตามหาดรูปจันทร์เสี้ยวมุ่งหน้าไปทางอาคารสำนักของโครงการฯ ที่นั่น “คุณเกรียงศักดิ์ ดิษฐวุฒิ” เจ้าหน้าที่ประจำโครงการฯ ที่นัดหมายไว้ ได้มารอให้ความรู้อยู่แล้ว

            “เต่าทะเลที่มีอยู่ ๓ สายพันธุ์ คือ เต่าตนุ เต่ากระและเต่าหญ้า เราใช้อาหารเม็ดสำหรับเลี้ยงปลากระพง ปลานิล และปลาข้างเหลือง เป็นอาหารเต่า” คุณเกรียงศักดิ์ เริ่มต้นเล่าเรื่องราวที่ขอบบ่อเพาะเลี้ยง

บ่อพ่อแม่พันธุ์เต่าหญ้า

เมื่อได้กลิ่นอาหาร เจ้าพวกลูกเต่าตนุรีบกรูกันเข้ามา พลางใช้ตีนเล็กๆ ที่เหมือนไม้พายตีน้ำเปาะแปะเหมือนเด็กเอาแต่ใจ เจ้าลูกเต่าพวกนี้ถูกแบ่งตามช่วงวัย และขนาดตัวเพื่อไม่ให้ทำร้ายรังแกกัน เพราะส่วนสำคัญที่สุดคือ “ตีน” ถ้าหากบาดเจ็บหรือขาดไปจะทำให้ไม่สามารถว่ายน้ำหรือพุ้ยทรายเพื่อวางไข่ได้

            พูดถึงเรื่องพุ้ยทรายวางไข่ คุณเกรียงศักดิ์ก็นำฉันมาถึงบ่อพ่อแม่พันธุ์พอดี เห็นขนาดของตัวพ่อตัวแม่แล้วก็อดที่จะตื่นตะลึงไม่ได้เพราะใหญ่กว่าที่ฉันคิดไว้มาก จนอดนึกถึงนิทานญี่ปุ่นเรื่องอุราชิมาทาโร่ที่ขี่เต่าลงไปยังดมื่องบาดาลไม่ได้ แต่เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการเลี้ยงเต่ากลับหัวเราะว่าถ้าขี่จริงๆ จะพากันจมเสียล่ะมากกว่า ก่อนจะเล่าต่อว่า

            “พ่อแม่พันธุ์ที่เห็นตัวใหญ่ๆ พวกนี้อายุอยู่ในช่วง ๑๕ ถึง ๒๐ ปี ตัวจะไม่โตไปกว่านี้แล้ว มีแต่อายุที่เพิ่มขึ้น ยืนยาวตั้งแต่ ๗๐ ถึง ๑๐๐ ปีทีเดียว จะผสมพันธุ์และวางไข่ปีละ ๕ ครั้ง ก่อนจะหยุดไป ๓ ปี แล้วจึงเริ่มผสมพันธุ์ใหม่ หลังจากผสมพันธุ์ เราก็นับไปอีก ๑ เดือน แล้วจัดสถานที่บริเวณชายหาดอีกด้านให้เขาวางไข่”

เต่าที่อยู่ในบ่อจะต้องคัดขนาดเท่าๆ กัน เพื่อป้องกันการรังแกทำร้ายกัน

ที่เกาะมันในนี้ร้างราจากการมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่มานาน ทางโครงการฯ ต้องไปอาศัยเก็บไข่เต่าตามเกาะต่างๆ ที่มีการวางไข่มาเพาะเลี้ยง เช่น เกาะทะเลบ้าง  เกาะครามบ้าง และจากในพื้นที่โครงการฯ เองด้วย จนกระทั่งราว ๑๐ ปีที่แล้ว จึงได้มีการกลับมาวางไข่ที่เกาะมันในอีกครั้ง”

            ย้อนกลับมาที่บ่อพ่อแม่พันธุ์ หลังจากแต่งงานกันเรียบร้อยทางเจ้าหน้าที่ก็จะเริ่มกาปฏิทินนับไปอีก ๓๐ วัน ก็จะได้เวลาว่างไข่พอดี คนต้องรีบไปห้องคลอดอย่างไร เต่าก็ไม่ต่างกัน โดยทางเจ้าหน้าที่ของโครงการฯ จะเตรียมสถานที่ไว้ให้ที่ชายหาดอีกด้านหนึ่งของบริเวณบ่อเพาะพันธุ์และอนุบาล แต่ไม่ต้องห่วงว่าจะมีตัวไหนเดินเซอะหลงทาง เพราะเจ้าหน้าที่เขาจะล้อมอาณาเขตเอาไว้ให้เรียบร้อยเชียว ให้พวกแม่เต่าวางไข่ได้อย่างสบายใจ

            “เอ…แล้วเวลาที่เราเดินไปตามหาด เราจะทราบได้อย่างไรว่าที่ตรงนี้มันมีไข่ที่เต่าเขาขึ้นมาวางไข่ตามธรรมชาติ”

            “มันจะมีรอย ซึ่งต้องอาศัยประกอบการว่ารอยไหนมีไข่หรือไม่มีไข่ อีกวิธีคือเอาเหล็กแทงทรายดูก็รู้ว่าอยู่ตรงไหน ทรายจะเป็นลักษณะหลวมๆ ไม่อัดตัวกันแน่น พอไม่แน่นเราก็ยั้งมือไว้กันไข่แตก”

เหมือนกำลังวางแผนอะไรกัน

หลังจากที่เก็บไข่เต่ามาฟักกันจนเป็นตัวแล้ว จะมีการทำบัตรประจำตัวประชาเต่าด้วยนะ โดยการฝังไมโครงชิปไว้ที่กล้ามเนื้อตรงหัวไหล่ซ้าย เพื่อให้รู้ประวัติ ช่วงเวลาการวางไข่ และติดตามการเดินทาง ซึ่งบางตัวที่ชอบกินข้าวนอกบ้านก็ไปหากินไกลถึงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เลยทีเดียว

            ที่นี่ไม่ได้มีเพียงงานเพาะเลี้ยงและอนุบาลเท่านั้น บริเวณข้างกันยังมีบ่อพยาบาลสำหรับเต่าทะเลที่ป่วยหรือบาดเจ็บด้วย เมื่อมองข้ามขอบบ่อเข้าไปเห็นเจ้าสัตว์โลกหลังตุงแต่ละตัวลอยคอนิ่งๆ ไร้ท่าทีคึกคักแบบบ่อที่ผ่านมา ถ้าเป็นคนก็เรียกได้ว่าหน้าตาซีดเซียวน่าสงสาร แต่ไม่ต้องเป็นห่วงที่โครงการฯ มีสัตวแพทย์คอยดูแล เมื่อรับเต่าป่วยมาก็จะทำการตรวจเลือด และเอ็กเรย์ ตามขั้นตอนการวินิจฉัยโรคไม่ต่างจากโรงพยาบาลของคนเลย

            จากบ่อพยาบาลเต่าซึ่งเป็นเขตหวงห้าม คุณเกรียงศักดิ์จึงชักชวนให้ฉันลองขึ้นไปชมบนอาคารพิพิธภัณฑ์บ้าง ที่ผนังด้านบนภายในอาคารมีภาพวาดสีน้ำมันเข้ากรอบสี่เหลี่ยมแขวนบนผนัง เป็นภาพของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในอิริยาบถทรงกำลังปล่อยลูกเต่าคืนสู่ท้องทะเล ทรงแย้มพระโอษฐ์น้อยๆ แลดูอ่อนโยนเปี่ยมพระเมตตาเหลือเกิน ฉันพิศดูภาพนั้นนิ่งนาน คุณเกรียงศักดิ์เห็นดังนั้นจึงเล่าว่า นั่นเป็นภาพเมื่อครั้งที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงเสด็จพระราชดำเนินมาปล่อยลูกเต่าลงสู่ทะเลในวันที่เปิดโครงการฯ วันแรก เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒

อาหารเม็ดสำหรับเต่าซึ่งทำจากอาหารเลี้ยงปลากระพง

“ทรงเล็งเห็นว่าหากยังมีการใช้ทรัพยากรสัตว์ทะเล เช่น เต่า อย่างฟุ่มเฟือยสักวันหนึ่งคงสูญพันธุ์ไปแน่ จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการอนุรักษ์เต่าทะเล โดยได้ทรงพระราชทานเกาะมันใน จังหวัดระยองให้เป็นสถานที่ปฏิบัติงาน ซึ่งรัฐบาลสมัยนั้นถวายให้เป็นสมบัติส่วนพระองค์ จัดเป็นศูนย์กลางอนุรักษ์และเพาะขยายพันธุ์เต่าทะเล ทรงพระราชทานชื่อว่า “โครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล”

            “ตั้งแต่ทำโครงการนี้ขึ้นมาเห็นความสำเร็จอย่างไรบ้าง”

            “จากเมื่อก่อนชาวบ้านที่เคยกินๆ กัน เดี๋ยวนี้ก็แทบจะไม่มีคนกินแล้ว แถมยังกลับมาให้ความร่วมมือกันเยอะ บางครั้งคนวิ่งเรือไปเจอเต่าป่วย ถ้าเขารู้เบอร์ของโครงการฯ ก็จะโทรมาบอก หรือ วิ่งเรือผ่านเขาก็จะเอามาให้ บางคนที่เอามาส่งตอนป่วย เขาก็คอยติดตามข่าวเลยว่าหายหรือยัง และขอเลยว่าถ้าหายแล้วเขาจะมาปล่อยคืนทะเลได้ไหม ผมก็ว่าได้เลย ขาประจำก็มีอยู่หลายคนที่เจออยู่เรื่อยๆ”

            จากคำบอกเล่าของคุณเกรียงศักดิ์คงเป็นคำตอบแล้วว่า โครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงนั้นไม่ได้ประสบความสำเร็จแค่ที่ตัวเลขของประชากรเต่าที่เพิ่มขึ้น แต่ผลที่แท้จริงของมันเป็นเรื่อง “ความผูกพัน” ระหว่างชาวบ้านและเต่าทะเลนั่นละเป็นคำตอบที่ชัดเจน

ที่เกาะมันในแห่งนี้เคยมีเต่ามะเฟืองว่ายมา ๑ ตัว แต่เป็นเต่าป่วยและเสียชีวิตในเวลาต่อมา หลังจากนั้นยังไม่ปรากฏเต่ามะเฟืองที่เกาะแห่งนี้อีกเลย

ขอขอบคุณ

มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

โครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติ

โครงการวิจัยการเพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนสายพันธุ์ไทย

โครงการศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์เขียดแลวแบบธรรมชาติ ตามพระราชเสาวนีย์

โครงการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ชะมดเช็ดในกรงเลี้ยง

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์ปู ป่าทุ่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

โครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์เต่าทะเล เกาะมันใน และคุณวัชระ ทองนาค

About the Author

Share:
Tags: ธรรมชาติ / สิ่งแวดล้อม / สัตว์ป่า / ต้นไม้ / ป่า / สัตว์น้ำ / ฉบับที่ 70 / สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ