Wednesday, May 8, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

ไทรทัน และ เนียรีอิด เทพเจ้าผู้ดลใจให้ศิลปะไทยล้ำสมัย

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 72
เรื่อง/ ภาพ : ตัวแน่น

‘Triton and Nereid’ พ.ศ. 2464 เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาด 109 x 158 เซนติเมตร ศิลปิน คาร์โล ริโกลี

         เมื่อราว 100 ปีที่แล้ว ‘ดุสิตสโมสร’ คฤหาสน์สไตล์อิตาลีที่ออกแบบโดย มาริโอ ตามานโญ (Mario Tamagno) นั้นเพิ่งจะแล้วเสร็จใหม่ๆ ในยุคนั้น ตามานโญ นับว่าเป็นสถาปนิกมือหนึ่งในสยาม ขนาดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ยังทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งขนาดใหญ่โตโอ่อ่า อลังการที่สุดเท่าที่เคยมีมา ด้วยรสนิยม และความช่ำชองผู้ออกแบบ ดุสิตสโมสรจึงพร้อมสรรพไปด้วยรายละเอียดพิเศษอันหรูหรา กลายเป็นบ้านพักส่วนตัวหลังงามที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ใดก็ตามที่มีโอกาสได้มาเยี่ยมเยียน ซึ่งรวมถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่เคยเสด็จพระราชดำเนินมาเยือนเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย

          พระยาประเสริฐศุภกิจ {เพิ่ม ไกรฤกษ์) เจ้าของบ้านดุสิตสโมสร เป็นผู้สืบสายสกุลมาจากพระยาไกรโกษา (ฤกษ์) ต้นตระกูลไกรฤกษ์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระยาประเสริฐศุภกิจเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้ามหาดเล็ก และยังเคยตามเสด็จฯประพาสยุโรปครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2440 ท่านเป็นน้องชายแท้ๆของพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ มหาดเล็กประจำห้องพระบรรทม และดำรงยศเป็นอธิบดีกรมชาวที่

พระยาประเสริฐศุภกิจ ภาพจากหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาประเสริฐศุภกิจ

         ด้วยประสบการณ์จากการได้พบเห็นความงดงามของบ้านเมืองอันเจริญแล้วในยุโรป มีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดผ่านเข้าออกในพระราชฐานชั้นใน พระที่นั่ง ปราสาทราชวังแทบจะทุกแห่ง ทั้งยังรู้จักมักคุ้นกับเหล่าสถาปนิก ศิลปิน และช่างฝีมือในราชสำนัก พระยาประเสริฐศุภกิจ จึงเอาใจใส่กับการสร้างบ้านหลังใหม่ของท่านมากทั้งเรื่องแบบและวัสดุซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องเป็นของที่วิเศษที่สุด เช่นกระดานไม้สักทองแผ่นใหญ่ หินอ่อนนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ก็เป็นแบบเดียวกับในพระที่นั่งสำคัญต่างๆ

          ในบรรดาสมบัติพัสถานอันล้ำค่าของดุสิตสโมสร ณ ห้องรับรองแขกหลัก สถานที่ที่แขกเหรื่อคนพิเศษทุกท่านจะถูกเชื้อเชิญมายังห้องอันโอ่อ่าที่สุดในบ้านแห่งนี้ มีผลงานศิลปะอันแสนอลังการอยู่ชิ้นหนึ่งซึ่งทำหน้าที่เผยความงดงามต้อนรับผู้มาเยือนให้ติดตาตรึงใจ ผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ที่สร้างสรรค์ด้วยสีน้ำมันบนผ้าใบ บรรจุอยู่ในกรอบไม้แกะสลักสีทองที่ออกแบบมาอย่างวิจิตรพิศดารให้พอเหมาะพอดีกับภาพนี้โดยเฉพาะ และถูกแขวนประดับไว้บริเวณเก้าอี้โซฟาสไตล์ยุโรปที่หรูหราไม่แพ้กัน

ภาพร่าง ‘Triton and Nereid’ โดย อาร์โนลด์ บ๊อคลิน
ภาพจากหนังสือ Arnold Bocklin โดย Hans Holenweg และ Franz Zelger

           เพราะเป็นผลงานภาพวาดชิ้นหลักของบ้าน ศิลปินผู้สร้างก็ต้องเป็นผู้ที่มีฝีมือ และชื่อเสียงไม่ธรรมดา พระยาประเสริฐศุภกิจจึงพิถีพิถันคัดสรรมาเป็นพิเศษ และก็ประจวบเหมาะพอดิบพอดีที่ คาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) จิตรกรชาวอิตาเลียนถูกราชสำนักสยามว่าจ้างมาวาดภาพประดับเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม ภาพวาดฝีมือริโกลีที่สร้างขึ้นระหว่างอยู่ในกรุงเทพฯจึงถูกคัดเลือกมาเป็นภาพหลักที่ใช้ประดับอัครสถานแห่งนี้ เพราะคงไม่มีอะไรแล้วที่จะพิเศษลงตัวไปกว่าการที่ได้ทั้งสถาปนิกผู้สร้าง และจิตรกรผู้วาดภาพประดับพระที่นั่งอนันตสมาคมมาร่วมแสดงฝีมือในบ้านหลังเดียวกัน

          ผลงานของริโกลีที่ถูกนำมาติดตั้งในห้องรับรองมีชื่อว่า ‘ไทรทัน และ เนียรีอิด’ (Triton and Nereid) เป็นภาพเกี่ยวกับเรื่องราวเทพปกรณัมของกรีก ประกอบไปด้วย ไทรทัน ผู้แจ้งข่าวแห่งท้องทะเล กำลังเกาะก่ายโขดหินท่ามกลางท้องทะเลสีเขียวครามที่มีคลื่นซัดสาดรุนแรง ไทรทันมีร่างกายท่อนบนเป็นมนุษย์ผู้ชาย ท่อนล่างเป็นปลา เรียกว่า เมอร์แมน (Merman) หรือ นายเงือก ไทรทันเป็นโอรสของ โพไซดอน เทพเจ้าผู้ครองมหาสมุทร กับ แอมฟิไทรที มารดาแห่งทะเล ว่ากันว่าไทรทันสามารถดลบันดาลให้ทะเลที่พิโรธสงบลงได้ด้วยเพียงเสียงสังข์ที่ไทรทันเป่า

          ในภาพวาด ยังมีหญิงสาวร่างกายเปลือยเปล่านอนแผ่หราอยู่บนโขดหินด้านหน้า ซึ่งก็คือ เนียรีอิด ภูตแห่งทะเล ในตำนานของกรีกโบราณเล่าว่า เนียรีอิด มีลักษณะเป็นหญิงสาวรูปร่างหน้าตางดงาม สวมผ้าคลุมไหมสีขาว ชอบร้องเพลงด้วยเสียงที่ไพเราะ ทั้งยังใจดีมีเมตตา โดยจะคอยช่วยเหลือลูกเรือที่เดินทางไปมาในทะเลหากประสบภัย

ผลงานชิ้นนี้ ริโกลี ได้แบบอย่างมาจากภาพที่วาดโดย อาร์โนลด์ บ๊อคลิน (Arnold Boklin) ศิลปินชาวสวิสเซอร์แลนด์ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในช่วงปลายยุคศตวรรษที่ 19 ผู้สร้างสรรค์ผลงานโดยการนำเรื่องราวเทพปกรณัมโบราณในยุโรปมาตีความและจัดวางองค์ประกอบใหม่ด้วยสไตล์เหนือจริงที่ทันสมัยขึ้นกว่าเก่า

ภาพจากหนังสือ Arnold Bocklin โดย Hans Holenweg และ Franz Zelger

          นอกจากความสวยงามเพื่อการประดับประดา ภาพ ไทรทัน และ เนียรีอิด ของริโกลี ยังมีความสำคัญยิ่งในแง่วิวัฒนาการศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้ผลงานของริโกลีที่สร้างสรรค์ขึ้นในสยามล้วนแล้วแต่เป็นภาพพระราชกรณียกิจของกษัตริย์สยาม  พระบรมสาทิสลักษณ์ และภาพเหมือนบุคคล วิถีชีวิตของผู้คน รวมถึงวิวทิวทัศน์ ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดนี้คือการจำลองภาพเหตุการณ์ และบุคคล ที่เกิดขึ้นจริง และมีตัวตนจริง ให้เหมือนต้นแบบที่สุด แต่ด้วยแรงบันดาลใจจากภาพวาดแนวเหนือจริงจากเทพปกรณัมฝรั่งของบ๊อคลิน ผลงานในยุคต่อๆมาของริโกลีโดยเฉพาะช่วงที่ได้ถวายงานกับสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ จึงมีการนำเรื่องราวเทพปกรณัมของไทยมาตีความและจัดวางภาพใหม่ด้วยทฤษฎีทางศิลปะที่ริโกลีได้ร่ำเรียนมาจากยุโรป ทั้งเรื่องการเลือกกลุ่มสี การจัดแสงเงา รวมถึงนำหลักสรีรศาสตร์ที่ถูกต้องมาใช้กับตัวละคร เกิดเป็นผลงานจิตรกรรมไทยในรูปแบบใหม่ที่ผสมผสานความเป็นตะวันออก และตะวันตกอย่างลงตัว ดังเช่นจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดรชาดกในวัดราชาธิวาสฯ ภาพเหล่าเทพยดาของไทยในพระที่นั่งบรมพิมาน หรือภาพเรื่องรามเกียรติ์ในบ้านพิบูลธรรม

          คาร์โล ริโกลี จึงนับได้ว่าเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการปฏิวัติรูปแบบศิลปะไทยครั้งใหญ่อีกครั้ง ต่อเนื่องจากครั้งก่อนหน้าในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ขรัวอินโข่งตัดสินใจแหวกกฎประเพณีดั้งเดิมอันเข้มงวดอย่างกล้าหาญชาญชัย เป็นการเบิกทางให้ศิลปินรุ่นต่อๆมาได้กล้าปลดปล่อยจินตนาการอันลึกล้ำมาประยุกต์ใช้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

About the Author

Share:
Tags: รัชกาลที่ 5 / ไทรทัน / เนียรีอิด / Triton and Nereid / คาร์โล ริโกลี / พระยาประเสริฐศุภกิจ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ