Friday, May 17, 2024
ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

ตึกเก่าเกิดใหม่ ตึกเจ้าจอมมารดาเลื่อน อายุกว่า ๑๐๐ ปี

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 65 เรื่อง: ผศ.ประเทือง ครองอภิรดี ภาพ: อาวุธ มะลาศรี
แขกรับเชิญในสารคดี: คุณ วทัญญู เทพหัตถี (สถาปนิกนักอนุรักษ์) และ ผศ.ประเทือง ครองอภิรดี (นักเขียนด้านสถาปัตยกรรม)

ตึกทรงยุโรปสีเหลืองหลังนี้ตั้งอยู่ริมคลองสามเสน ตรงข้ามกับ สถานีตำรวจนครบาลดุสิต ช่วงหนึ่งเคยใช้เป็นตึกอำนวยการของโรงเรียนนันทนศึกษาอยู่ถึง ๖๐ ปี จากนั้นก็ถูกทิ้งร้างทรุดโทรมอยู่นาน บัดนี้ได้รับการอนุรักษ์ซ่อมแซมแล้วเป็นอย่างดี

เจ้าจอมมารดาเลื่อน ในรัชกาลที่ 5
Cr: วิกิพีเดีย

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช
Cr: วิกิพีเดีย

เจ้าจอมมารดาเลื่อนเป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ เป็นพระมารดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช ซึ่งเป็นพระโอรสองค์ที่ ๗๕ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันที่จริงท่านยังมีพระธิดาก่อนหน้านั้น ๑ พระองค์ คือพระองค์เจ้าหญิงลวาดวรองค์ แต่สิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่พระชันษาได้ ๑ ขวบ

เจ้าจอมมารดาเลื่อนเข้าวังตั้งแต่อายุ ๙ ขวบ ต่อมาได้ถวายตัวรับใช้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง เป็นละครหลวง ด้วยมีน้ำเสียงอันไพเราะ ในหลวงรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าฯ ให้อ่านหนังสือถวายก่อนจะทรงพระบรรทมเสมอ นอกจากน้ำเสียงไพเราะแล้วยังอ่านได้นานโดยเสียงไม่แหบแห้งเลย นับว่าเป็นเจ้าจอมที่ได้ถวายงานรับใช้ใกล้ชิดมาก

ความสำคัญของเจ้าจอมมารดาเลื่อนอยู่ที่ว่าเป็นพระมารดาของพระองค์เจ้าอุรุพงศ์ฯ ซึ่งเป็นพระโอรสองค์เล็กที่พระราชบิดาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ใกล้ชิดติดตามพระองค์ตลอดเวลา ด้วยว่ายามนั้นในหลวงรัชกาลที่ ๕ ทรงชราภาพแล้ว พระพลานามัยก็ไม่สู้สมบูรณ์ และกิจการบ้านเมืองเกี่ยวกับการเสียดินแดนก็เป็นเหตุให้กำลังพระทัยถดถอย พระโอรสองค์อื่นก็ทรงเติบโตไปทรงศึกษาวิชาในยุโรปกัน บ้างก็จบกลับมาช่วยบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ทรงมีแต่เจ้าชายอุรุพงศ์คอยอยู่เป็นเพื่อนมิห่างวรกาย ประดุจ “ไม้เท้าของพ่อ” ที่คอยพยุงองค์

แม้พระราชบิดามิได้ทรงส่งไปเรียนเมืองนอกเหมือนเจ้าพี่องค์อื่นๆ เขา แต่ก็โปรดเกล้าฯ ให้มีครูฝรั่งมาถวายพระอักษรทุกวัน และเมื่อเจริญวัยแล้วก็มิได้สร้างวังให้แยกออกไปประทับข้างนอกพระราชวัง ตามธรรมเนียมเหมือนพระโอรสองค์อื่นๆ   แต่ก็โปรดเกล้าฯ ปลูกพระตำหนักเล็กๆ พระราชทานให้อยู่ใกล้พระตำหนักสวนอัมพรในพระราชวังสวนดุสิต ที่พระบิดาประทับอยู่ในขณะนั้นนั่นเอง มีชื่อว่า “พระตำหนักราชฤทธิ์รุ่งโรจน์” จะได้ไม่ต้องห่างพระองค์

แม้ในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๕๐ เจ้าชายน้อยอุรุพงศ์ในวัย ๑๔ พระชันษาก็ได้โดยเสด็จฯ ด้วย เป็นตัวละครที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ “ไกลบ้าน” ตลอดทั้งเรื่อง เจ้าชายอุรุพงศ์ทรงมีรูปโฉมน่ารัก ผิวขาว องค์เล็ก แคล่วคล่อง อารมณ์รื่นเริง ดังนั้น เมื่อโดยเสด็จฯ ยุโรป เจ้านายฝรั่งน้อยใหญ่ในเมืองต่างๆ พากันเอ็นดูรักใคร่และพระราชทานของขวัญให้มากมาย ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน

หลังกลับจากยุโรป ๒-๓ ปี พระชนมายุได้ ๑๗ พระชันษา เจ้าชายอุรุพงศ์ก็ประชวรกระทันหันด้วยโรคพระอันตะอักเสบ (ไส้ติ่งหรือไส้ตันอักเสบ) ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ทรงเป็นทุกข์ในพระหทัยมาก ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่มีถึงพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ซึ่งเสด็จฯ กลับไปเยี่ยมพระญาติที่เชียงใหม่ตอนหนึ่ง

 “…การที่ลูกเจ็บคราวนี้ได้รับความเดือดร้อนเต็มที่ เพราะยังเหลืออยู่เพียงคนเดียวเท่านั้น นอกนั้นก็ต่างคนต่างแยกกันไปแล้ว…”

ในที่สุดต่อมาไม่นาน เจ้าชายอุรุพงศ์ก็สิ้นพระชนม์ มีพระราชหัตถเลขาไปเชียงใหม่อีกว่า

“…จนทนอยู่ในกรุงเทพไม่ไหว ด้วยรู้สึกไม่สบายมาก จึงจะออกไปพักอยู่เพชรฯ สบายดีจึงจะกลับ…”

เพียง ๑ ปีต่อมา ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ก็เสด็จสวรรคต เจ้าจอมมารดาเลื่อนถวายบังคมลาออกจากพระราชวัง ในหลวงรัชกาลที่ ๖ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกตึกริมคลองสามเสนนี้พระราชทานให้คุณท่านพำนักอยู่ตึกนี้ ตราบจนเข้าวัยชราภาพมากๆ จึงย้ายไปพำนักที่บ้าน ถนนเพชรบุรี อำเภอปทุมวัน (คือบริเวณหัวมุมตลาดประตูน้ำ) จนสิ้นอายุขัย

อาจารย์เพี้ยน สุวรรณมาลิก ได้เข้ามาเช่าตึกหลังนี้จากสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ ใช้เป็นตึกอำนวยการของโรงเรียนนันทนศึกษา และได้สร้างอาคารเรียนเป็นอาคารไม้ ๓ ชั้น ยาวเป็นรูปตัว L เพิ่มขึ้นภายในบริเวณด้วย โรงเรียนดำเนินการอยู่ ๖๐ ปี จึงเลิกกิจการไป ทางตระกูลสุวรรณมาลิกได้ถวายสิทธิ์การเช่าแด่สมเด็จพระขนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระองค์ท่านโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ส่วนหนึ่งของอาคารเรือนไม้ ๓ ชั้น ให้เป็นโรงเรียนพาทยกุลดนตรีไทยและนาฏศิลป์ มาจนปัจจุบันนี้ อาคารเรียนส่วนที่ไม่ได้ใช้ สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้รื้อเพื่อนำไม้ไปใช้อนุรักษ์อาคารอื่นๆ ส่วนตัวตึกโบราณนั้นก็ถูกทิ้งร้างอยู่นาน

บัดนี้ สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ทำการอนุรักษ์จนคืนสภาพสวยงามแล้ว โดยมอบหมายให้คุณวทัญญู เทพหัตถี สถาปนิกอนุรักษ์มือเอกของไทย ทำการอนุรักษ์อย่างพิถีพิถัน เพื่อรักษาคุณค่าของอาคารโบราณไว้อย่างเต็มความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาหาร่องรอยสีเดิมของอาคาร ลวดลายต่างๆ ตลอดจนการหาวัสดุ และเทคนิกการก่อสร้างซ่อมแซมให้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด

ตัวตึกปัจจุบันถูกดีดยกให้สูงขึ้นกว่าเดิม ๑ เมตร และเสริมฐานรากให้แข็งแรง งานอาคารเสร็จสมบูรณ์ทั้งภายในภายนอกแล้ว รอแต่การตกแต่งภูมิทัศน์โดยรอบ และตกแต่งภายในด้วยเครื่องเรือน เพื่อใช้เป็นหอประวัติและที่ทำการของราชบัณฑิตยสภาต่อไป

เชิญติดตามเรื่องราวรายละเอียดการอนุรักษ์ที่น่าสนใจ ซึ่งคุณวทัญญู กรุณานำชมด้วยตนเองในคลิปท้ายนี้

แขกรับเชิญในสารคดี: คุณ วทัญญู เทพหัตถี (สถาปนิกนักอนุรักษ์) และ ผศ.ประเทือง ครองอภิรดี (นักเขียนด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม)

About the Author

Share:
Tags: รัชกาลที่ ๕ / ฉบับที่ 65 / ตึกเจ้าจอมมารดาเลื่อน / ตึกเก่า / architecture / วทัญญู เทพหัตถี / ผศ.ประเทือง ครองอภิรดี / ฉบับที่ 66 /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ