Sunday, May 19, 2024
พระเครื่อง ชื่นชมอดีต

พระครูวิมลคุณากร ผู้ทรงอภิญญาฤทธิ์ เทพเจ้าแห่งสรรคบุรี (หลวงปู่ศุข)

หลวงปู่ศุขพิมพ์บัวเล็บช้างตัดชิดออกวัดคลองขอม

พระครูวิมลคุณากร

ผู้ทรงอภิญญาฤทธิ์ เทพเจ้าแห่งสรรคบุรี

หากจะกล่าวถึงปาฏิหาริย์ความศักดิ์สิทธิ์ของพระสงฆ์ผู้มีอภิญญาฤทธิ์สามารถเสก “หัวปลีเป็นกระต่ายได้”, “เสกคนให้กลายเป็นจระเข้” หรือ“สามารถระเบิดน้ำด้วยเทียนวิเศษเพื่อที่จะลงไปทำตะกรุดใต้น้ำ” เชื่อได้เลยว่าทุกท่านจะต้องนึกถึงพระเดชพระคุณ “หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า” อย่างแน่นอน เนื่องจากเรื่องเล่าตำนานการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ของหลวงปู่อย่างเป็นรูปธรรม มีมายาวนานกว่า ๑๐๐ ปี ดังนั้นจึงไม่มีใครกล้าปฎิเสธได้ว่าไม่รู้จักท่าน โดยเฉพาะนักนิยมพระเครื่องแล้ว แทบทุกคนต่างใฝ่หาพระเครื่องของหลวงปู่ศุขมาใช้เพราะเชื่อกันว่า พระหลวงปู่ศุขนั้นให้พุทธคุณ ทั้งด้านเมตตามหานิยม และ ด้านแคล้วคลาด คงกระพัน ครบเครื่องเลยทีเดียว
พระครูวิมลคุณากร-(ศุข-เกสโร)

พระครูวิมลคุณากร หรือ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ท่านมีนามเดิมว่า “ศุข” นามสกุล “เกษเวช” (ต่อมาลูกหลานได้ใช้ เกษเวชสุริยา ก็มี) เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๙๐ ที่บ้านมะขามเฒ่า (เรียกกันในสมัยนั้นปัจจุบันเรียกบ้านปากคลอง) ตำบลมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท โยมบิดาชื่อ “นายน่วม” โยมมารดาชื่อ “นางทองดี” ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลมะขามเฒ่า มีบุตรและธิดา ด้วยกัน ๙ คน โดยท่านเป็นพี่คนโต เมื่อหลวงปู่อยู่ในวัยฉกรรจ์ท่านได้เดินทางเข้ามากรุงเทพฯทำมาหากินค้าขายเล็กๆ น้อยๆโดยยึดลำคลองบางเขน ซึ่งมีปากคลองเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้จังหวัดนนทบุรีลงมา ปัจจุบันอยู่ข้างทางเข้าวัดทางหลวงเป็นที่ทำมาหากินคลองบางเขนนี้ทอดขึ้นไปเชื่อมกับคลองรังสิต เมื่อก่อนนี้เป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมทางน้ำที่สำคัญและกว้างขวางเป็น อย่างมาก เมื่อการคมนาคมทางบกเจริญขึ้น การสัญจรทางน้ำก็หมดความสำคัญลง ปัจจุบันคงจะตื้นเขินไปแล้วก็ได้ เพราะขาดการทะนุบำรุงเท่าที่ควร หลวงปู่ท่านทำมาหากินอยู่ในคลองบางเขนอยู่ระยะหนึ่ง จนอายุได้ ๑๘ ปี ได้ภรรยาชื่อ นางสมบูรณ์ และเกิดบุตรชายคนหนึ่งชื่อ สอน เกศเวชสุริยา หลวงปู่ท่านครองเพศฆราวาสอยู่ไม่นาน พออายุท่านครบ ๒๒ ปี ท่านได้ลาไปอุปสมบท ณ วัดโพธิ์บางเขนหรือปัจจุบันชื่อว่า วัดโพธิ์ทองล่าง ซึ่งอยู่ปากคลองบางเขนตอนล่าง ส่วนวัดโพธิ์ทองบน อยู่ตอนเหนือของปากคลองบางเขน

หลวงปู่ศุขท่านได้เข้ารับการอุปสมบทเมื่ออายุได้ ๒๒ ปี ณ พัทธสีมาวัดโพธิ์บางเขน ( ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดโพธิ์ทองล่าง ) โดยมี “หลวงพ่อเชย จนฺทสิริ วัดโพธิ์บางเขน” เป็น พระอุปัชฌาย์ พระถายม เป็นพระคู่สวด การอุปสมบทนี้มีลุงแฟงเป็นผู้จัดการให้ ส่วนโยมบิดามารดาไม่ได้มาร่วมพิธีด้วย เพราะการเดินทางสมัยนั้นลำบากมาก จากชัยนาทถึงกรุงเทพฯ ก็กินเวลาอย่างน้อย ๒ ถึง ๓ วัน จึงจะถึง กล่าวถึงพระอุปัชฌาย์ของท่าน พระครูเชย จันทสิริ เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทองล่าง ซึ่งเป็นพระสงฆ์ฝ่ายรามัญที่ถือเคร่งในวัตรปฏิบัติและพระธรรมวินัยเป็นอย่าง ยิ่ง โดยเฉพาะหลวงพ่อเชยนั้นท่านเป็นพระอาจารย์ทางฝ่ายวิปัสสนาธุระมีความรู้และความชำนาญรู้ แจ้งแทงตลอด อีกทั้งทางด้านวิทยาคมก็แก่กล้าเป็นยิ่งนัก หลวงปู่ ท่านได้รับถ่ายทอดวิชาความรู้จากอุปัชฌาย์ของท่านมาพร้อมกับ “อาจารย์เปิง วัดชินวนาราม” และ “หลวงปู่เฒ่า วัดหงษ์ จังหวัดปทุมธานี” ซึ่งเป็นศิษย์ในสายหลวงพ่อเชย วัดโพธิ์ทองล่างเหมือนกัน

หลังจากได้รับการอุปสมบทแล้วอยู่กับพระอุปัชฌาย์ เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยพอสมควรแล้ว ท่านก็ได้ออกเดินธุดงค์หาที่สงบฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐาน และวิชาอาคมต่าง ๆ จากสำนักที่มีชื่อเสี่ยงโด่งดังในสมัยนั้นจนชำนาญดีแล้วอาทิเช่น

รูปถ่ายหลวงปู่ศุข-วัดปากคลองมะขามเฒ่า

การเรียนกรรมฐานกับสำนักวัดพลับ(วัดราชสิทธาราม) กับ “พระสังวรานุวงศ์เถร (เมฆ)” พระอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญพระกรรมฐานลำดับแบบมัชฌิมาปฏิปทาในสมัยนั้น โดยครั้งหนึ่งได้ปรากฎเรื่องราวระหว่างหลวงปู่ศุขและพระสังวรานุวงศ์เถร(ชุ่ม) ศิษย์เอก พระสังวรานุวงศ์เถร(เมฆ) กล่าวคือในตอนนั้นหลวงปู่ศุขท่านได้ทดลองทำปาฏิหาริย์โดยการนำหัวปลี ๓ ลูกมาบริกรรมด้วยพระคาถาที่ท่านได้ร่ำเรียนมาเสกหัวปลีให้เป็นกระต่าย หลวงปู่เสกอยู่นานผลปรากฎว่าหัวปลีทั้ง ๓ ลูกก็ได้กลายเป็นกระต่าย ๓ ตัวในบัดดล พระสังวรานุวงศ์เถร (ชุ่ม) ท่านคงนึกสนุกจึงได้บอกสัพยอกหลวงปู่ศุขว่า “กระต่ายของคุณต้องมานั่งบริกรรมคาถา ดูของผมนี่สิ” ว่าแล้วหลวงปู่ชุ่มก็พลางเอาปลายไม้เท้ายอดตาลของวิเศษประจำสำนักวัดพลับของท่าน ชี้ไปที่ลูกหัวปลีที่กองไว้บนพื้นที่เหลือผลปรากฎว่าหัวปลีที่เหลือได้กลายเป็นกระต่ายจำนวนมาก สร้างความประหลาดใจให้กับหลวงปู่ศุขยิ่งนัก จากนั้นมาท่านจึงขวนขวายในการเรียนพระกรรมฐานลำดับแบบมัชฌิมาปฏิปทาจนแตกฉานโดยอาศัยอารามวัดอนงคารามเป็นที่จำวัด

About the Author

Share:
Tags: นิตยสารอนุรักษ์ / อนุรักษ์ / ชื่นชมอดีต / พระสวย / anurakmagazine / พระ / พระเครื่อง /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ