Monday, May 20, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต

“ประหยัด พงษ์ดำ” ในยามย่ำค่ำที่โกแกงแปลงร่างเป็นแมว

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 67
เรื่อง/ภาพ: ตัวแน่น

‘กลัว’ พ.ศ. 2500 เทคนิคสีนํ้ามันบนกระดานไม้
ขนาด 54.5 X 53 เซนติเมตร
ศิลปิน ประหยัด พงษ์ด่า

เมื่อปลายศตวรรษที่แล้ว ยุคที่อินเทอร์เน็ตยังไม่มี ทีวีขาวดำบ้านเรายังมีช่องเดียว สำหรับหนุ่มบ้านนอกที่มีความสามารถ ได้โอกาสมาเรียนโรงเรียนเพาะช่างและมหาวิทยาลัยศิลปากร ณ เมืองกรุง การจะท่องไปในโลกกว้าง เห็นสิ่งมหัศจรรย์ร้อยแปด โดยเฉพาะรูปผลงานของศิลปินเลื่องชื่อระดับคับฟ้านั้นเป็นไปได้เพียงแค่ในห้องสมุด สถานที่สุดหรรษาสำหรับคนบ้าอาร์ตที่รวบรวมหนังสือศิลปะจากทั่วหล้าฟ้าเขียวเท่าที่สถานศึกษาพอมีปัญญาจะหาได้เอาไว้ในที่เดียว เลโอนาร์โด แวนโก๊ะห์ โมเนต์ และบรรดาชื่อฝรั่งจากหนังสือที่อาจไม่คุ้นปากหากแรกรู้จัก แต่เมื่อได้ยลผลงานแม้เพียงรูปถ่ายต่างต้องตราตรึงจดจำได้ไปตลอดชีวิต ปรากฏการณ์นี้ได้เกิดขึ้นกับนักศึกษาวัย ๒๐ ต้นๆ จากต่างจังหวัดที่ชื่อ ประหยัด พงษ์ดำ เช่นกัน รูปผลงานของ พอล โกแกง (Paul Gauguin) ศิลปินแนวโพสต์-อิมเพรสชันนิสม์ชาวฝรั่งเศส จากหนังสือห้องสมุด ถึงบางเล่มสีจะซีดๆ เซียวๆ หรือเพี้ยนๆ บ้าง แต่กระนั้นก็ยังถูกจริตประหยัดเสียนี่กระไร 

ประหยัดมีพื้นเพมาจากชนบทห่างไกล เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ที่บ้านบางน้ำเชี่ยว หมู่บ้านอันแสนจะทุรกันดารในอำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ในครอบครัวที่ไม่มีใครเป็นศิลปินเลยสักกะคนและเหตุการณ์ที่ทำให้รู้ว่าตนเองมีความสามารถด้านการวาดภาพ คือสมัยเด็กที่บ้านมอบหมายให้ประหยัดไปเฝ้าไร่ไม่ให้อีกามากินข้าวโพด ไร่ที่ว่าอยู่อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ซึ่งก็ไม่ใกล้กับบ้านเท่าไหร่ ทุกวันตั้งแต่ก่อนรุ่งสางประหยัดต้องขี่ม้าไป และมีหมาหางกุดชื่อไอ้ด้วนวิ่งตามไปด้วยเป็นประจำ วันหนึ่งเมื่อไปถึงไร่ ประหยัดเห็นไอ้ด้วนหอบลิ้นห้อยเพราะวิ่งตามมาไกล ดูน่าสนใจ เลยคว้าเอาก้อนถ่านมาวาดรูปไอ้ด้วนบนไม้กระดาน เผอิญวันนั้นมีชาวนาผ่านมาเห็นเข้าพอดีและคอมเมนต์ว่าภาพหมาสวยสมจริงอย่างกับมีชีวิต คำชมอันแสนง่าย สไตล์ซิมเปิ้ลนี้ทำเอาเด็กชายประหยัดถึงกับใจพองฟูฟ่อง

ไหนๆ ก็ตัดสินใจจะเอาดีทางศิลปะ พอโตขึ้นประหยัดเลยมาสอบเข้าโรงเรียนเพาะช่างที่กรุงเทพฯ ตามคำแนะนำของ ประยูร พงษ์ดำ พี่สาว และครูจรูญ วินิจ ครูสอนศิลปะที่โรงเรียนมัธยม ประหยัดสอบผ่านฉลุยได้เป็นนักศึกษาสมใจ แถมที่โรงเรียนเพาะช่างประหยัดยังได้พบกับอาจารย์ระดับตำนานมากมาย เช่น ทวี นันทขว้าง บรรจบ พลาวงศ์ พูน เกศจำรัส ซึ่งท่านทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีอาจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย เป็นผู้ถ่ายทอดวิชาให้ บิลด์กันไปบิลด์กันมา ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ในขณะที่เรียนอยู่ปี ๒ ประหยัดเลยสอบเทียบเข้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรตามรอยอาจารย์ไปด้วยซะเลยให้รู้แล้วรู้รอด 

เมื่อประหยัดจบปี ๓ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ตามเกณฑ์ถือว่าสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา แต่ถ้าใครอยากจะเรียนต่อปี ๔ และ ๕ จนจบปริญญาตรี ต้องมีคะแนนอย่างน้อย ๗๐% ทุกวิชาถึงจะมีสิทธิ์เรียนต่อได้ รุ่นนั้นมีนักเรียนแค่ ๓ คนที่ผ่านเกณฑ์ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประหยัด เมื่อต้องเลือกวิชาหลักระหว่างจิตรกรรมและประติมากรรม ประหยัดดันเลือกประติมากรรมด้วยเหตุผลว่าตนเองถนัดทุกอย่างจะปั้นก็ได้จะวาดก็ดี อีกทั้งประหยัดตั้งใจจะประหยัดเพราะไม่มีสตางค์ซื้อสีซื้อผ้าใบหากเลือกเรียนจิตรกรรม พอเรื่องถึงหูอาจารย์ศิลป์ซึ่งอ่านขาดเห็นว่าประหยัดมีแววจะเป็นจิตรกรที่ประสบความสำเร็จในภายภาคหน้า เลยจัดแจงย้ายประหยัดมาเรียนจิตรกรรมแถมให้ยืมเงินไปซื้ออุปกรณ์สำหรับการเรียน หลังจากนั้นพอประหยัดเริ่มขายผลงาน ได้รวบรวมเงินมาคืนอาจารย์ศิลป์ อาจารย์ก็ไม่รับแต่กลับบอกให้เอาเงินก้อนนี้ไปซื้ออุปกรณ์มาฝึกเพิ่ม 

พอประหยัดขึ้นปี ๕ มีอาจารย์ในมหาวิทยาลัยศิลปากร ๒ ท่านคือ สิทธิเดช แสงหิรัญ และแสวง สงฆ์มั่งมี ถึงแก่กรรม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างอาจารย์ศิลป์เลยมอบหมายให้ประหยัดช่วยสอนวิชาพื้นฐาน คือทฤษฎีศิลป์และกายวิภาค เมื่อประหยัดจบการศึกษาศิลปบัณฑิตด้านจิตรกรรมคนแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ได้รับการบรรจุให้เป็นอาจารย์ประจำคณะจิตรกรรม ประติมากรรมในตำแหน่งอาจารย์ตรี ได้เงินเดือน ๙๐ บาท 

จนอยู่มาวันหนึ่งระหว่างที่ประหยัดขึ้นรถเมล์ไปสอนที่มหาวิทยาลัย ก็ได้ยินวิทยุประกาศว่าสถานทูตอิตาลีประจำประเทศไทยกำลังประกาศเปิดรับผู้สอบชิงทุนเพื่อไปเรียนศิลปะที่กรุงโรม หลังจากประหยัดสอบผ่านข้อเขียน ก็ต้องไปสอบสัมภาษณ์ ในวันที่ประหยัดไปสอบเจ้าหน้าที่สถานทูตซักถามประหยัดหลายคำถาม รวมถึงให้เล่าเกี่ยวกับผลงานของประหยัดที่มีคนรู้จัก ด้วยความบังเอิญขั้นสุดในห้องสัมภาษณ์มีภาพวาดที่สถานทูตซื้อไว้ ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติแขวนอยู่ และผลงานชิ้นนั้นก็ดันเป็นผลงานของประหยัดพอดิบพอดี เมื่อถูกถามประหยัดเลยไม่รอช้าชี้ไปที่ภาพว่า นั่นไงภาพที่ฉันวาดเอง เจอจังหวะซิดคอมแบบนี้ถ้าคนสัมภาษณ์ไม่ให้ผ่านก็แปลก

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ประหยัด และทวี นันทขว้าง ศิลปินอีกท่านที่ได้รับทุนพร้อมๆ กันจึงเดินทางไปศึกษาต่อที่ Academia Di Belle Arti Di Roma เมื่อไปถึงมีการสอบวัดความสามารถ ปรากฎว่าประหยัดและทวีเก่งจัด มหาลัยฯ เขาให้ข้ามชั้นไปเรียนปี ๓ ได้เลย ถึงประหยัดจะมีอุปสรรคด้านภาษาแต่ก็สามารถสอบผ่านได้ เพราะวิชาส่วนใหญ่เคยเรียนมาจากอาจารย์ศิลป์แล้วแทบทั้งสิ้น แถมหลายวิชายังเคยเป็นครูผู้สอนเองเสียอีก แถมระหว่างอยู่ที่อิตาลีประหยัดยังกวาดรางวัลมากมายจากการประกวด เช่น รางวัลชนะเลิศภาพวาดทิวทัศน์ของแคว้น Gubbio และรางวัลยอดเยี่ยมจากการแข่งขันวาดภาพทะเลสาปในแคว้น Bracciano แต่ประสบการณ์ที่มีอิทธิพลกับผลงานของประหยัดในยุคต่อๆ มามากที่สุดคือ การได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์งานภาพพิมพ์ เพราะเมื่อประหยัดสำเร็จการศึกษาและกลับมาประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ผลงานที่ออกสู่สายตาสาธารณชนหลังจากนั้นก็แทบจะเป็นภาพพิมพ์เกือบทั้งหมด จนเราชาวไทยรู้จักประหยัดในฐานะศิลปินแห่งชาติสาขาทันศิลป์ (ภาพพิมพ์) ผู้เป็นสุดยอดปรมาจารย์ทางด้านนี้ 

อารัมภบทเล่าเรื่องประหยัดในวัยละอ่อนมาซะยาวเหยียด แล้วนึกสงสัยกันไหมว่าก่อนประหยัดจะหันมามุ่งเอาดีทางเทคนิคภาพพิมพ์ที่เราคุ้นตาหลังกลับมาจากอิตาลี ผลงานจิตรกรรมที่สร้างชื่อให้ประหยัดจากงานประกวดทั้งในและต่างประเทศในยุคแรกเริ่มนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร อย่างที่จั่วหัวตอนต้นไว้ว่าประหยัดนั้นบ้าโกแกง และที่คลั่งไคล้เป็นพิเศษคือ ผลงานที่โกแกงวาดวิถีชีวิตของชาวเกาะตาฮิติ เหตุเพราะประหยัดรู้สึกว่าภาพชาวเกาะผิวคล้ำๆ นุ่งผ้าถุงในอิริยาบถต่างๆ ท่ามกลางไอแดดอันอบอุ่น บนผืนดินสีน้ำตาลแดง มันชี้ชวนให้หวนนึกถึงบรรยากาศอันบริสุทธิ์ปราศจากความวุ่นวายของเมือง ถึงแม้ตาฮิติจะห่างจากสิงห์บุรีไปประมาณครึ่งค่อนโลก แต่ฟีลลิ่งในภาพของโกแกงนั้นช่างเหมือนกันกับบ้านเกิดที่ประหยัดมีความผูกพันลึกซึ้งซะเหลือเกิน

ภาพวาดที่อยู่ด้านหลังภาพ ‘กลัว’

ก็เพราะรักเพราะชอบอย่างนี้ ผลงานในยุคปฐมบทของประหยัดจึงเป็นภาพวิถีชนบทที่ดูอินสไปร์บายโกแกงมากๆ เช่นภาพ ‘ช่างปั้นหม้อ’ ที่ประหยัดลองส่งเข้าแข่งขันในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๗  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ และได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ผลงานชิ้นนี้เป็นภาพกลุ่มหญิงชาวบ้านในชุดผ้าถุง บ้างก็กำลังเตรียมดิน บ้างก็กำลังกลึงหม้อ ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ถ้อยทีถ้อยอาศัย สัมผัสได้ถึงอารมณ์ชนบทแบบไทยๆ 

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกถ้าประหยัดจะส่งผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากโกแกงไปประกวดอีก ก็ครั้งก่อนภาพแนวนี้เพิ่งได้รับรางวัลมาหมาดๆ นี่หน่า นั่นแสดงว่ากำลังเดินมาถูกทางแล้ว ประหยัดจึงได้วาดภาพหนึ่งขึ้นมาเป็นภาพชายหญิงกำลังตระเตรียมข้าวของอยู่ในตลาด วาดด้วยสีน้ำมันบนแผ่นไม้อัด โดยประหยัดเลือกใช้ธีมสีน้ำตาลแดงแบบที่โกแกงชอบใช้ แต่แล้วจู่ๆ ด้วยเหตุใดไม่รู้ก็กลับเปลี่ยนใจพลิกเอาด้านตรงข้ามของแผ่นไม้มาวาดรูปขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นคนละสไตล์กับงานยุคก่อนๆ แบบสุดขั้ว 

นอกจากโกแกงกับวิถีชีวิตชนบทแล้ว สิ่งที่ประหยัดอินมากเป็นพิเศษอีกอย่างคือ ความลี้ลับ นั่นคือเหตุผลที่ประหยัดชอบสีดำมากที่สุด สมกับนามสกุล ‘พงษ์ดำ’ และเวลาที่ประหยัดหัวแล่น มือลื่น วาดรูปได้ดีก็มักเป็นเวลาโพล้เพล้ย่ำค่ำ ถ้ามีแสงแบบกลางวันแสกๆ นี่ ประหยัดไม่สันทัดเลย

อีกทั้งหากสังเกตดีๆ สัตว์ที่ประหยัดเลือกสรรมาใช้ประกอบในผลงานบ่อยครั้งมักเป็นตัวอะไรที่ใช้ชีวิตยามค่ำคืน มีธรรมชาติที่ลึกลับ เดี๋ยวผลุบ เดี๋ยวโผล่ เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวหาย หาตัวยาก เช่น แมว นกฮูกนกเค้าแมว ตุ๊กแก งู เมื่อประหยัดตัดสินใจจะวาดภาพอีกด้านของกระดานไม้ คราวนี้เลยจัดหนักปลดปล่อยความชอบที่นอกเหนือจากโกแกงออกมาอย่างพรั่งพรูแบบเต็มคาราเบล เกิดเป็นภาพแมวดำและแมวขาวกำลังจ้องเขม็งมาที่รังนกพิราบซึ่งเต็มไปด้วยลูกนกที่ยังไม่มีขน ช่วยตัวเองไม่ได้ ได้แต่อ้าปากร้องขอความช่วยเหลือ แต่ก็ดูเหมือนจะหมดหนทางสุดท้ายคงต้องกลายเป็นอาหารแมว เพราะเหล่าพ่อแม่นกพิราบที่อยู่รายรอบต่างก็มีไข่ และลูกๆ ตนเองที่ต้องปกป้อง ในใจคงหวังว่าแมวจะอิ่มจากการกินลูกๆ ของเพื่อนบ้านและไม่มากินลูกๆ ของพวกมัน เนื้อหาช่างกระทบใจย้อนแย้งกับศีลธรรม แต่มันก็คือเรื่องจริงที่แท้ทรูปฏิเสธไม่ได้ในธรรมชาติหรือแม้แต่ในสังคมของมนุษย์ 

ภาพ ‘ช่างปั้นหม้อ’ โดย ประหยัด พงษ์ด่า ภาพจาก หนังสือ 5 ทศวรรษ ศิลปกรรมแห่งชาติ 2492-2541

ประหยัดวาดภาพนี้ด้วยสีน้ำมันโทนสีดำมะเมี่ยมสะใจคนวาด และยังสมกับเนื้อหาของภาพและเพื่อไม่ให้มืดตึ๊ดตื๋อไปหมดประหยัดยังได้ริเริ่มนำเทคนิคปิดทองคำเปลวลงไปยังบริเวณจุดที่อยากจะเน้นความสว่างให้ดูเปล่งปลั่งมีชีวิตชีวา เช่นบริเวณดวงตาของสัตว์ ไข่ และลูกนกที่ดิ้นทุรนทุรายคล้ายกำลังจะถูกกิน ประหยัดตั้งชื่อผลงานชิ้นนี้ว่า ‘กลัว’ และส่งผลงานสไตล์ใหม่แกะกล่องนี้เข้าประกวดในงานศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๘ ที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ผลปรากฏว่าภาพ‘กลัว’ คว้ารางวัลเหรียญเงินมาครองได้ 

การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติในยุคแรกๆ ยังไม่มีกติการะบุว่าภาพที่ได้รางวัลเหรียญทองหรือเหรียญเงินจะต้องตกเป็นสมบัติของมหาวิทยาลัยศิลปากรเหมือนสมัยหลัง ผลงานชิ้นใดที่ได้รับรางวัลจึงมักมีลูกค้ามารอซื้อ ซึ่งผู้ที่สนใจซื้อหาผลงานศิลปะในสมัยนั้นส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ อย่างชิ้น ‘กลัว’ ก็เช่นกัน มีนักธุรกิจเชื้อสายโปแลนด์ได้ไปเพื่อใช้ตกแต่งบ้านพักในย่านเพลินจิต

ต้องถือว่าดีที่ประหยัด ‘กล้า’ พลิกกระดานวาดภาพ ‘กลัว’ ในวันนั้น เพราะทั้งได้รางวัล ทั้งได้ลูกค้า อีกทั้งยังได้ค้นพบสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ ที่ไม่มีใครมาครหาได้ว่าไปคล้ายผลงานของศิลปินคนนั้นคนนี้ จนปัจจุบันหากใครเห็นภาพสัตว์ ในมิติที่แบนๆ ฉากสีมืดๆ และตาที่ลงทองแบบนี้ ถึงจะสร้างสรรค์ด้วยเทคนิคอะไรก็ช่าง จะวาดหรือจะพิมพ์ต่างก็รู้ทันทีแบบไม่ต้องขยี้ตาว่า นี่คือผลงานของประหยัด พงษ์ดำ ไม่ใช่ โกแกง แน่นอน 

About the Author

Share:
Tags: ฉบับที่ 67 / ประหยัด พงษ์ดำ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ