Wednesday, May 8, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

จิตรกร มือเทวดา ครูเหม เวชกร

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 16
เรื่อง/ ภาพ: วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์

จิตรกร มือเทวดา
ครูเหม เวชกร

จําความได้ว่า ในช่วงเวลาหลายปีก่อน พอย่างเข้า เดือนเมษายนจะต้องมีข่าวการจัดงาน หรือนิทรรศการหรือมีบทความบนหน้าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร อย่างน้อยหนึ่งเล่ม กล่าวถึง รําลึกถึง คิดถึง นึกถึง ครูเหม เวชกร (เกิด ๑๗ มกราคม ๒๔๔๖) จิตรกร มือเทวดาของเมืองไทยในด้านวาดภาพวรรณวิจิตร (ภาพเขียนจากวรรณคดี วรรณกรรม) และภาพวาด พุทธบูชา (ภาพวาดจากพุทธประวัติ-ชาดก) และ ภาพวาดบรรยากาศอดีตของเมืองไทย รวมถึงภาพ วาดผีสางน่ากลัวๆ ด้วย จากบรรดานักคิดนักเขียน คนที่เคารพนับถือครูเหมที่ยังมีชีวิตอยู่กลุ่มลูกศิษย์ ที่ใกล้ชิดโดยตรง หรือนักวาดภาพที่ได้รับแรงบันดาล ใจจากครูเหม มาร่วมกันจัดงาน มาพบปะสังสรรค์ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมชมภาพและ ผลงานของครูเหมกันอย่างมีความสุขและประทับใจ

ครั้นเวลาต่อมา ตามเหตุผลของกาล เวลา คนสถานที่สิ่งของกระจัดกระจาย ไม่เป็นเอกภาพเหมือนก่อน การจัดงานถูกยกเลิกมาหลายปีแล้ว หนังสือหรือ บทความก็ไม่มีใครเขียนถึง แต่สิ่งที่ยังกระทํา ได้อย่างเดียวก็คือ เมื่อถึงเดือนเมษายน หรือระบุลงไปว่า นับตั้งแต่วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๒ อันเป็นวันมรณกรรมของครูเหม เป็นต้นมาบรรดาคนรักครูเหมที่ยังคงความทรงจําถึงท่านอยู่จะหยิบหนังสือผลงานของท่านโดยตรงหรือหนังสือที่เกี่ยวข้องออกมาอ่าน เพื่อรําลึกถึงผลงานและคุณงามความดีของท่านอย่างเคารพบูชา

ในวาระแห่งการรําลึกถึงครูเหม เวชกร ผู้เขียนขอแนะนําหนังสือสําคัญ ๓ เล่ม หนังสือ ดังกล่าวนําเสนอเพื่อแสดงความเคารพ คิดถึง และยังเป็นแรงบันดาลใจในการค้นหาหนังสือภาพวาด งานเขียน ประวัติอันน่าประทับใจ ของครูเหม เวชกร

เล่มแรก “แด่ เหม เวชกร” หนังสือกระเป๋าปกอ่อน ชุดอาจินต์ ลําดับที่ ๓๔ จัดพิมพ์เมื่อ สิงหาคม ๒๕๑๒ พิมพ์จํานวน 5,000 ฉบับ ราคา ๕ บาท เป็นหนังสือรวมคําไว้อาลัยของ มิตร ศิษย์น้อง ในวงการวาดและเขียน สืบ เนื่องจากเมื่ออาจินต์ ปัญจพรรค์ออกนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย ในปี ๒๕๑๒ อาจินต์ได้เชิญ ครูเหมเขียนเรื่องราวความทรงจําในอดีตตาม ที่อยากเล่า ครูเหมจึงเขียนเกี่ยวกับบุคคลอัน เป็นที่รักท่านโดยตรง โดยเขียนรูปและภาพ ประกอบเสร็จสรรพ งานเขียนชุดนั้นชื่อว่า “จากย่ามความจํา ของ เหม เวชกร” ครูเหม ได้ทยอยวาดและเขียนไล่เรียงออกมา คือ ไม้ เมืองเดิม (ฟ้าเมืองไทย เล่ม ๑), ยาขอบ (ฟ้าเมืองไทย เล่ม ๒), น.ม.ส. (ฟ้าเมืองไทย เล่ม ๓), ถนอม มหาเปารยะ (ฟ้าเมืองไทย เล่ม ๔), จํานง วงษ์ข้าหลวง (ฟ้าเมืองไทย เล่ม ๕) แต่หลังจากนั้นครูเหมก็ถึงแก่กรรม ปัจจุบันทันด่วน ยังความโศกเศร้าแก่บุคคล ที่รักมากมาย

“แด่ เหม เวชกร” ให้มุมมองภาพชีวิต ครูเหมมีชีวิตชีวา น่าเคารพ จากมุมมองของ บุคคลสําคัญในแวดวงนักประพันธ์ อาทิ “คุณเหมคือศิลปินเพื่อศิลปะ” – สด กูรมะโรหิต, “คุณเวช กระตุกฤกษ์ให้ปืนพกพี่เหมไว้ใช้หนึ่ง กระบอก” – สันต์ ท. โกมลบุตร (สันต์ เทวรักษ์), “ครูเหมชอบดื่ม แต่ควบคุมตัวเองได้ ในการ เขียนรูป ครูเหมจะค้นคว้ารายละเอียดให้มาก ที่สุดเสียก่อน กว่าจะลงมือวาดหรือเขียน” – พ.เนตรรังษี, “เหม ฝังใจกับธรรมชาติและ ประเพณีเก่าๆ ของไทยอย่างยิ่ง” – ส. บุญเสนอ “กินนอนเขียนหนังสืออยู่บ้านครูเหม” – ยศ วัชรเสถียร, “ครูเหมเป็นนักสีไวโอลิน มือฉกาจ เคยบรรเลงเพลงในวงดนตรีที่ โรงหนังปีนัง โรงหนังบางลําภู โรงหนังบ้านหม้อ และโรงหนังฮ่องกงมาแล้ว” “พี่เหมเล่าเรื่องผีปากเปล่าน่ากลัวที่สุด” – แจ๋ว วรจักร (สง่า อารัมภีร) “ขึ้นป้าย “ศิษย์ ครูเหม” หน้าบ้าน – พ.บางพลี, “ฝากตัวเป็น ศิษย์ทางใจตลอดมา” – พนม สุวรรณบุณย์ “เหม ศิลปินรวยผลงาน” – รัตนะ ยาวะประภาษ และอาจินต์ ปัญจพรรค์ เล่าความผูกพันกับครู เหมจนถึงวาระสุดท้าย รวมถึงสุทธิชัย หยุ่น รายงานข่าวมรณกรรมของครูเหมในบางกอก โพสต์ให้ชาวต่างประเทศรับทราบ

เล่มสอง “เหม เวชกร” หนังสือพระราชทานเพลิงศพ นายเหม เวชกร วันอาทิตย์ที่ ๒๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๑๒ ณ เมรุสุสาน หลวงวัดเทพศิรินทราวาส หนังสืองานศพเล่มนี้เป็นหนังสือหายากและมีราคาแพงมากเพราะ ความโดดเด่นของปกหนังสือที่หล่อรูปปั้น นูนต่ําครูเหมประดับบนปก ด้วยเนื้อหาที่เขียน ประวัติและผลงานครูเหมในด้านต่างๆ อย่าง ละเอียด เช่น ด้านความเป็นครูสอนวาดภาพ ที่เมตตาแก่เด็กน้อยอายุ ๑๔ ชื่อ ปยุต เงากระจ่าง โดยครูเหมเขียนตําราวาดภาพให้ เด็กชายปยุตทางไปรษณีย์ ก่อนปยุตจะกลาย เป็นนักเรียนศิลปะ และกลายเป็นนักวาดภาพ การ์ตูนไทยในเวลาต่อมา หรือภาพถ่ายภาพวาดจากระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ห้องที่ ๖๙) ที่ครูเหมวาดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ รวมถึงลงปกหนังสือต่างๆ วาดโดยครูเหมในอดีต ส่งท้ายด้วยงานเขียนอาลัยจากบุคคล ต่างๆ ในเวลานั้นมากมาย อาทิ สมเด็จพระ วันรัต วัดพระเชตุพน, พรานบูรพ์, จอมพล ถนอม กิตติขจร, เวช กระตุกฤกษ์, จําเนียร สรฉัตร, เฉลิม วุฒิโฆสิต, มงคล วงศ์อุดม, เฉลิม นาคีรักษ์, เปล่ง ตันศุขะ, เอื้อม รุจิดิษ, สถิต เสมานิล และ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์ เป็นต้น

เล่มสุดท้าย “๑๐๐ ปี เหม เวชกร” จัด พิมพ์โดย “กลุ่มรักครูเหม” จัดพิมพ์เพื่อเฉลิม ฉลองวาระที่ครูเหมมีอายุ ปี ในปี ๒๕๔๖ เป็นหนังสือพิมพ์ด้วยกระดาษอาร์ตทั้งเล่ม ปกแข็งพิมพ์อย่างดี จัดว่าเป็นหนังสือที่รวบรวมผลงานของครูเหมอย่างครบถ้วน หรือมาก ที่สุดนับตั้งแต่มีการนําเสนอประวัติผลงานหรือ ภาพถ่ายครูเหมและภรรยาตลอดมา “๑๐๐ ปี ปี เหม เวชกร” เผยโฉมภาพปกผลงานต่างๆ
สวยงามด้วยการจัดพิมพ์เป็นภาพสี ภาพเขียน ต้นฉบับจริง และภาพพิมพ์จากหนังสือ ภาพ วาดลายเส้น และภาพร่างด้วยดินสอ นอกจากนั้นยังมีบทความลายมือของครูเหมที่เพิ่ง ค้นพบล่าสุด นับเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่ายิ่ง

ครูเหม เวชกร จากไปเกือบครึ่งศตวรรษ แล้ว แต่ผลงานของท่านและเรื่องราวของท่านยังปรากฏอยู่ตลอดไป หากมีโอกาสดูผลงาน หรืออ่านงานของครูเหมแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ทุกคนคือนอกจากหวนคิดถึงอดีตอันเรียบง่ายความงามของอดีตแล้ว ทุกคนที่ได้สัมผัสความ คิด ชีวิต และผลงานของครูเหม จะกลายเป็น ศิษย์ครูเหมโดยอัตโนมัติ และเมื่อเป็นศิษย์ ครูเหมแล้วก็จะกลายเป็นผู้มีความอ่อนน้อม ถ่อมตนและงดงามราวกับภาพวาดของครูเหมเวชกรเช่นเดียวกัน

About the Author

Share:
Tags: book / หนังสือ / ฉบับที่ 16 / ครูเหม เวชกร / นักเขียน /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ