Sunday, May 19, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต

วิทรูเวียนแมน เวอร์ชั่น ถวัลย์ ดัชนี

ภาพ/เรื่อง ตัวแน่น

‘Vitruvian Man’ พ.ศ. 2511
เทคนิคสีน้ำมันบนผ้า ขนาด 203 x 247.5 เซนติเมตร ศิลปิน ถวัลย์ ดัชนี

สำหรับคนรักศิลปะด้วยกันคงเข้าใจ หากชอบอะไรมากๆ เพียงแค่ได้เห็นรูปถ่ายเบี้ยวๆมัวๆที่ถ่ายติดเพียงเศษเสี้ยวของภาพวาด ก็สามารถส่งผลให้อดรีนาลีนหลั่งจนตื่นเต้นเกินคาด เสียจริตจะก้านเก็บอาการไว้ไม่ไหว หนึ่งในเหตุการณ์ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำชัดเจนเหมือนเพิ่งพบประสบเมื่อวาน เกิดขึ้นในค่ำวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2566 วันนั้นขณะที่เรากำลังมีความสุขกับอาหารจีนร้านโปรดอยู่ที่ย่าน Bayswater ณ กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ จู่ๆก็เห็นมีอีเมลล์จากผู้ส่งชื่อ Chris ส่งมาในกล่องจดหมายของบริษัทประมูลศิลปะที่เราบริหารอยู่ให้ช่วยประเมินมูลค่าภาพวาดลายเส้น และภาพพิมพ์ ฝีมือ ถวัลย์ ดัชนี เพราะเจ้าของอยากจะทำประกัน ภาพวาดลายเส้นนั้นเขียนขึ้นมาด้วยปากกาลูกลื่นบนกระดาษ ถวัลย์ค่อยๆบรรจงฝนหมึกทีละเส้นด้วยน้ำหนักอ่อนแก่จนเกิดเป็นภาพกลุ่มคนห้อมล้อมอยู่ด้วยกันในอิริยาบถต่างๆ ส่วนภาพพิมพ์นั้นเป็นรูปม้าหลายตัวอยู่ในภาพ ผลงานของถวัลย์ชุดนี้มีสไตล์ที่แปลกตาเพราะเป็นผลงานจากยุคเริ่มแรกสมัยที่ถวัลย์เพิ่งเรียนจบกลับมาจากต่างประเทศ แต่ยังไงก็มีกลิ่นไอของถวัลย์อยู่อย่างเต็มประดา

          เมื่อส่องดูรูป ตรงมุมของแต่ละภาพนั้นมีลายเซ็นที่เขียนด้วยภาษาอังกฤษว่า THAWAN แบบที่ยังพอจะอ่านออกเพราะลายเซ็นในยุคต่อๆมาถวัลย์นั้นบีบตัวหนังสือเข้าหากันจนอ่านไม่ได้ และถ้ามองไกลๆจะเห็นแค่ T ตัวเดียว ลายเซ็นบนภาพลายเส้นเขียนว่า THAWAN 69 B’KOK หมายความว่า ถวัลย์ วาดภาพนี้ขึ้นมาในปี ค.ศ. 1969 ที่กรุงเทพฯ ส่วนบนภาพพิมพ์เขียนว่า THAWAN B’KOK for Chris ซึ่งก็คือ ถวัลย์ สร้างสรรค์ผลงานที่กรุงเทพฯเพื่อมอบให้กับคริส เอ๊ะ! เดี๋ยวสิ ผู้ส่งอีเมลล์ก็ชื่อคริสหนิ หรือว่าเขารู้จักและได้รับภาพนี้มาจากถวัลย์ และถ้าเป็นเช่นนั้นเขาต้องได้มาตั้งแต่สมัยถวัลย์เป็นหนุ่มฟ้อด้วยเพราะสไตล์งานและปีที่เขียนกำกับไว้ตรงลายเซ็นมันฟ้องอยู่

ถวัลย์ ดัชนี ขณะกำลังวาดจิตรกรรมฝาผนัง ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน

         ในวงการโมเดิร์นอาร์ตของไทยหากจะให้จำแนกกันถึงผลงานระดับเบญจภาคี ประเภทว่าถ้าใครมีต้องถือว่าไม่ธรรมดา แม้แต่ระดับเซียนเห็นแล้วยังต้องร้องอู้วอ้า เพียงแค่ได้ยลก็ถือว่าเป็นบุญตา นั้นมีอยู่ไม่มากหากจะให้ไล่เรียงก็เช่น ภาพชุดอิตาลีสีน้ำมันของเฟื้อ หริพิทักษ์  ภาพชุดจักรวาลสีน้ำมันของ ประเทือง เอมเจริญ ภาพชุดนางรำสีน้ำมันของจักรพันธุ์ โปษยกฤต ภาพชุดทิวทัศน์สีน้ำมันของ ทวี นันทขว้าง และที่ขาดไม่ได้คือภาพสีน้ำมันยุคเริ่มแรกที่เต็มไปด้วยสีสันของ ถวัลย์ ดัชนี

         เราเลยคิดเลยเถิดไปเองว่า ไหนๆถ้าคริสสนิทกับถวัลย์ตั้งแต่สมัยนู้น อาจเป็นไปได้ว่าเขาพอจะมีผลงานเบญจภาคีสีน้ำมันฝีมือถวัลย์จากยุคนั้นเก็บเอาไว้บ้าง เพราะในอีเมลล์มีเบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่ออยู่เราเลยไม่เสียเวลาพูดพล่ามทำเพลงรีบโทรหาคริสเดี๋ยวนั้นเลยจากโต๊ะกลางร้านอาหารจีนที่ชื่อ Gold Mine เมื่อได้คุยกัน คริส หรือชื่อเต็มว่า คริส ปีเตอร์สัน นั้นเป็นคนที่มีอัธยาศัยดีมาก เขาเป็นชาวอเมริกันอายุราว 80 มีภรรยาเป็นชาวคิวบา คริสเคยทำงานในธุรกิจโรงแรมเครือระดับโลก เดินทางไปๆมาๆระหว่างอเมริกาบ้านเกิด กับเมืองไทยประเทศที่เขาหลงใหล คริสเล่าว่าสาเหตุที่ผูกพันกับประเทศไทยเพราะในปีพ.ศ. 2511 พ่อของคริสย้ายมาทำงานที่กรุงเทพฯ ทั้งแม่ พี่สาว และตัวเขาซึ่งยังอยู่ในวัยรุ่นเลยต้องย้ายตามมาด้วย พ่อของคริสสนิทสนมกับศาสนาจารย์ เรย์ ซี ดาวน์ส มิชชันนารี คณะเพรสไบทีเรียน ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งสำนักกลางนักเรียนคริสเตียน ตรงเชิงสะพานหัวช้าง ซึ่งภายในมีพื้นที่กว้างขวางมีตึกอาคารมากมาย ครอบครัวปีเตอร์สันจึงตัดสินใจเช่าบ้านอยู่ที่นั่นระหว่างพำนักอยู่ในเมืองไทยเป็นเวลาหลายปี

          ประจวบเหมาะพอดิบพอดีที่ในช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินหนุ่มไฟแรงผู้เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์และผังเมือง ผนวกด้วยปริญญาเอกด้านอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ จากราชวิทยาลัยศิลปะ Rijks Akademic van Beeldende Kunsten ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เดินทางกลับมาเมืองไทยเพื่อเริ่มอาชีพศิลปินอิสระ เรย์ ซี ดาวน์ส ผู้ซึ่งชื่นชมฝีมือของถวัลย์ และอยากสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ จึงอนุญาตให้ถวัลย์มาใช้บ้านหลังหนึ่งในสำนักกลางนักเรียนคริสเตียนเป็นที่พักอาศัยและเป็นสตูดิโอผลิตงานศิลปะ ซึ่งบังเอิญเหลือเกินว่าบ้านหลังนั้นอยู่ติดกับบ้านที่ครอบครัวปีเตอร์สันเช่าอยู่พอดี

ซองจดหมายพร้อมลายมือ ถวัลย์ ดัชนี จ่าหน้าถึง เจนนี่ ปีเตอร์สัน

          คริส เจอถวัลย์แทบทุกวัน หากมีเวลาว่างก็จะชอบไปดูถวัลย์วาดภาพในสตูดิโอ รวมถึงได้มีโอกาสเห็นช่วงเวลาขณะที่ถวัลย์วาดภาพพระเจ้าสร้างโลกอันใหญ่โตลงไปบนกำแพงโรงอาหารของสำนักกลางนักเรียนคริสเตียน คริสเล่าว่าถวัลย์มีพลังเหลือล้น และทำงานเร็วมาก ผลงานชิ้นใหญ่ๆแต่ละชิ้นถวัลย์วาดแค่วันสองวันก็เสร็จ คริส  และ เจนนี่ พี่สาวของคริสซึ่งทำงานเป็นอาจารย์สอนภาษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สนิทสนมกับถวัลย์มาก หากถวัลย์มีโชว์ผลงานที่ไหนก็จะเชิญสองศรีพี่น้องไปร่วมงานเปิดนิทรรศการเสมอๆ จนอยู่มาวันหนึ่งถวัลย์นึกครึ้มอกครึ้มใจยกภาพวาดสีน้ำมันขนาดใหญ่มากที่เพิ่งวาดเสร็จ สียังไม่ทันจะแห้ง มามอบให้เจนนี่ เพื่อแขวนไว้บริเวณห้องรับแขกเล็กๆของบ้าน ซึ่งก็มีพื้นที่ไม่ได้ใหญ่ไปกว่าภาพวาดซักเท่าไหร่

         ด้วยความสงสัยเราเลยถามคริสไปว่าภาพวาดที่เล่าถึงหน้าตาเป็นอย่างไร เขาก็อุตส่าห์ใจดีส่งรูปถ่ายมาให้ดูทางมือถือ รูปที่ได้เป็นรูปถ่ายไกลๆจากมุมเอียงๆแถมแง้มให้เห็นแค่มุมภาพเพราะถูกเอาผ้าห่มสีขาวห่อเอาไว้อย่างมิดชิด เห็นเพียงเท่านั้นทำเอาเราก็ถึงกับว้าวุ่นจนเสียทรง คริสเล่าว่ารูปนี้เจนนี่พี่สาวซึ่งปัจจุบันถึงแก่กรรมไปแล้วหวงแหนเป็นที่สุด หลังจากย้ายออกจากบ้านเช่าที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียนก็ห่อด้วยผ้าผืนใหญ่เก็บไว้อย่างมิดชิดไม่ให้โดนแสง ไม่ให้มีความชื้น มดไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม และไม่เคยแกะห่อให้ใครเห็นภาพนี้อีกเลย เรายังจำได้ดีว่าวันนั้นพอได้คุยกับคริสทางโทรศัพท์กันยาวเหยียด เป็ดย่าง ปลานึ่ง หอยหลอดราดซอส บะหมี่ลอบสเตอร์ เมนูเด็ดจากร้าน Gold Mine นั้นล้วนกลายเป็นหม้าย อิ่มทิพย์ลืมกินจนเย็นชืดไปทั้งหมด เพราะขณะนั้นสิ่งเดียวที่เราสนใจคือเรื่องราวของผลงานศิลปะอันล้ำค่ายิ่งกว่าทองมากมาย แล้วเพิ่งมานึกได้ว่าบังเอิญได้รับทราบเรื่องนี้ขณะอยู่ในร้าน Gold Mine หรือที่แปลว่าเหมืองทองด้วยสิ เลยรู้สึกเหมือนเราตั้งใจขุดหาแล้วก็เจอตามคาด

          บอกตามตรงว่าหลังจากนั้นไม่มีวันไหนที่เราไม่คิดถึงภาพวาดปริศนาภาพนี้ อยากจะเห็นชิ้นเต็มๆกับตาซักที แต่ก็ยังไม่มีโอกาสเพราะภาพวาดถูกห่อไว้อย่างมิดชิดมาก ทั้งคริส หรือเราเองก็ไม่กล้าแกะห่อออกมาทั้งหมด ได้แต่แง้มๆเพราะกลัวจะมีเนื้อสีติดผ้าที่ห่อ หรือเกิดมีอะไรผิดพลาดขณะเปิดจะทำให้ภาพเสียหาย ขืนเป็นอย่างนี้ต่อไปต่างคนต่างคงหลับกันไม่สนิท หลายเดือนต่อมาเราจึงตัดสินใจนัดกับคริสเพื่อจะนำภาพไปที่ห้องปฏิบัติการของ RSF Art Clinic ในกรุงเทพฯ สถาบันรักษาและบูรณะผลงานศิลปะที่มีประสบการณ์สูงที่สุดในประเทศไทย ที่มีทีมผู้เชี่ยวชาญในทุกแขนงพร้อมเครื่องมือครบครันเป็นผู้แกะห่อภาพให้ ในวันนั้น โรแบร์ นักอนุรักษ์ศิลปะชาวฝรั่งเศสผู้ก่อตั้งสถาบันมาควบคุมงานเองเพราะตื่นเต้นไปกับเรื่องราวด้วย และแล้วเมื่อทุกอย่างพร้อมวินาทีที่ผ้าค่อยๆคลายออกเผยให้เห็นรายละเอียดทีละส่วนของภาพวาดอย่างช้าๆ นั้นเปรียบเทียบอารมณ์ได้ราวกับการเปิดผ้าห่อมัมมี่ของฟาโรห์ผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งไม่มีใครเห็นหน้าค่าตาเป็นเวลานานจนถูกโลกลืมไปแล้ว หลังจากที่ผ้าถูกปลดออกไปด้วยความละเมียดละไมที่สุดจนได้เห็นสิ่งที่แอบซ่อนอยู่ภายใน ทุกๆคนในห้องนั้นต่างก็ตะลึงงัน ในขณะที่คริสมีน้ำตาซึมเพราะทันทีที่เห็นภาพวาด ความทรงจำในครั้งเก่าขณะที่ครอบครัวยังอยู่กันพร้อมหน้าอย่างอบอุ่นในบ้านกลางสำนักกลางนักเรียนคริสเตียนนั้นก็กลับหวนมาอีกครั้ง

ผลงานภาพพิมพ์ ที่ ถวัลย์ ดัชนี มอบให้ คริส ปีเตอร์สัน

ภาพวาดขนาดใหญ่ที่อยู่ตรงหน้าทุกคนในวันนั้นคือเป็นภาพชายหนุ่มร่างกำยำ แหงนหน้าอ้าปาก ชี้แขนไปทุกทิศทาง นั่งอยู่บนหลังควายสีดำทะมึนดูบึกบึนที่กำลังร้องคำราม ทุกสิ่งอย่างอยู่ภายในบรรยากาศครึ่งสว่างครึ่งมืดใต้สุริยุปราคา ถวัลย์มักนำภาพคนในอิริยาบทต่างๆ และภาพสัตว์มาใช้ในการสื่อความหมายที่ลึกซึ้งไปกว่าสิ่งที่ตาเห็น แนวคิดนี้ถวัลย์ได้มาจากการศึกษาแนวทางศิลปะของต่างประเทศอย่างอารยธรรม กรีก อียิปต์ เมโสโปเตเมีย ที่นำ คน สัตว์ หรือสิ่งมีชีวิตครึ่งคนครึ่งสัตว์มาใช้เปรียบเปรยแทนสิ่งอื่นๆอยู่เสมอ จากเรื่องราวที่ได้ฟังผลงานของถวัลย์ที่สร้างสรรค์ขึ้นในปี พ.ศ. 2511 ชิ้นนี้มีความหมายที่เป็นส่วนตัว แปลกแยกแตกต่างจากชิ้นอื่นๆที่มีความหมายยึดโยงไปในทางพุทธศิลป์ ถวัลย์สื่อถึงตนเองผู้ซึ่งเพิ่งสำเร็จการศึกษาจากยุโรป จนรู้แจ้งในศิลปะวิทยาการแขนงต่างๆของโลกตะวันตกด้วย วิทรูเวียนแมน (Vitruvian Man) ภาพวาดอันโด่งดังของ ลีโอนาร์โด ดาวินชี ที่แสดงถึงองค์ความรู้ในในการกำหนดสัดส่วนของมนุษย์ให้มีความถูกต้องตามหลักกายวิภาคศาสตร์ โดยใช้หลักการทางคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือ

           ส่วนสาเหตุที่วิทรูเวียนแมนมานั่งกางแขนขาอยู่บนหลังควายเพราะในบรรดาสิงห์สาราสัตว์ทั้งหมด ควาย มีความหมายสำหรับถวัลย์เป็นพิเศษ ถวัลย์มองว่าวิทยาการขั้นสูงที่เข้ามาทดแทนสิ่งต่างๆรวมถึงการเกษตรนั้นทำให้คนเป็นทาสของเทคโนโลยี แตกต่างจากควายที่รับใช้ชาวนาด้วยความอ่อนน้อม อดทน และซื่อสัตย์ ไม่มีพิษมีภัย สามารถพึ่งพา ฝากฝังชีวิตไว้ได้ ในผลงานชิ้นนี้ถวัลย์ใช้ควายในการสื่อถึงแผ่นดินไทย โดยเฉพาะชนบทห่างไกลของเชียงรายบ้านเกิด สถานที่อันเป็นที่รัก เต็มไปด้วยความผูกพัน ถึงถวัลย์ได้ทุนไปร่ำเรียนศิลปะขั้นสูง ได้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้ว เต็มไปด้วยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แต่ภายในใจก็ไม่มีความสุขเท่าการที่ถวัลย์ได้กลับบ้าน ถวัลย์สื่อความรู้สึกนี้ด้วยด้านมืดของสุริยุปราคาที่หันไปหาวิทรูเวียนแมน ในขณะที่ด้านสว่างทอแสงประกายรุ้งสดใสสาดส่องไปที่ควาย

          ผลงานสีน้ำมันบนผ้าดิบขนาดสูงถึง 2 เมตร กว้าง 2 เมตรครึ่งชิ้นนี้ถวัลย์ใช้สีดำลงพื้นจนเต็ม แล้วค่อยๆใช้เกรียงปาดสีหนาๆทีละปื้นให้เกิดเป็นภาพต่างๆและแสงสว่าง เว้นสีดำในส่วนที่เป็นเงาเอาไว้ เหมือนเป็นการวาดภาพแบบรีเวิร์สแตกต่างจากแบบปกติที่แต้มสีลงไปบนพื้นขาว

           เป็นที่น่าประทับใจมากที่ภาพวาดชิ้นนี้อยู่ในสภาพดีจนแทบเหมือนเพิ่งวาดเสร็จเมื่อวาน แต่ละทีเกรียงที่ถวัลย์ปาดป้ายสีน้ำมันลงไปบนผ้านั้นยังมีสีสดใสแสบตาจนไม่น่าเชื่อ และถึงเนื้อสีที่ใช้จะหนาแต่ก็แทบไม่มีรอยร้าวใดๆที่มักเกิดขึ้นกับผลงานที่มีอายุอานามมากขนาดนี้ ความพิเศษอีกอย่างคือเห็นได้ชัดว่าภาพนี้อยู่ในสภาพดิบๆเดิมๆ ถวัลย์ยังไม่ทันจะได้เคลือบภาพด้วยน้ำยาเคมีเพื่อรักษาเนื้อสี และทำให้เกิดความวาวแบบที่เราเห็นในผลงานของถวัลย์ชิ้นอื่นๆด้วยซ้ำ จึงไม่เป็นเรื่องเกินเลยที่จะกล่าวได้ว่าผลงานชิ้นนี้เป็นหนึ่งในภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบของถวัลย์จากยุคเริ่มแรกที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด และยังคงอยู่ในสภาพดีที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ ราวกับถูกแช่แข็งไว้ในแคปซูลการเวลาเป็นเวลา 55 ปี รอจนถึงวันที่ คริส เรา โรแบร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ มาล้อมวงกันด้วยจิตใจอันจดจ่อ เพื่อเป็นสักขีพยานในการเกิดใหม่ของผลงานศิลปะชิ้นสำคัญระดับชาติ ที่กำลังจะถูกบันทึกไว้ในอีกหน้าของประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทย

About the Author

Share:
Tags: ฉบับที่ 72 / TheArtAuctionCenter / นิตยสารอนุรักษ์ / พิริยะวัชจิตพันธ์ / อนุรักษ์ / anurakmagazine / ศิลปิน / ตัวแน่น / ศิลปินแห่งชาติ / ถวัลย์ ดัชนี / thaiartist /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ